เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
หัวใจวายBUNBOOKISH
02: WHY


  • ภายใต้ภาพรวมของคำว่า ‘สาววาย’ ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในคำถามที่สาววายจะต้องพบเจออยู่เสมอก็คือ สาววายแปลว่าอะไร ทำไมต้องสาว และทำไมต้องวาย…

    เราคงไม่สามารถพูดถึงสาววายต่อไปได้ หากยังไม่ได้อธิบายถึงความหมายและที่มาเพื่อตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับคำว่าสาววายกันเสียก่อน

    คำว่า ‘สาว’ นั้นแน่นอนว่าหมายถึงผู้หญิง ส่วนคำว่า ‘วาย’ นั้นก็คือตัวอักษร Y ที่มาจากคำว่า Yaoi (ยาโอยหรือยาโออิ) ในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเดิมทีใช้เป็นคำบอกประเภทของงานโดจินชิ (ผลงานวาดล้อเลียนมังงะหรือแอนิเมะต้นฉบับ) ว่ามีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชายหนุ่ม และอีกวายหนึ่งก็คือ Yuri (ยูริ) ซึ่งแปลว่าดอกลิลลี่นั้น หมายถึงผลงานที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างหญิงสาวนั่นเอง

    ต่อมาทั้งคำว่า Yaoi และ Yuri นอกจากจะถูกใช้เป็นคำเรียกประเภทผลของงานโดจินชิแล้ว ก็กลายเป็นคำที่ใช้เรียกรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างชายรักชาย และหญิงรักหญิงด้วยตามลำดับ

    แต่เมื่อเราได้ย้อนหาที่มาที่ไป ทั้งของคำว่า Yaoi และ Yuri เรากลับพบสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ฉบับย่อของการถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันโดยเฉพาะในรูปแบบชายรักชายที่มีมานาน ก่อนการมาถึงของคำว่า Yaoi เสียอีก
  • ย้อนกลับไปที่ประเทศญี่ปุ่นราวปี ค.ศ. 1960 งานมังงะและนวนิยายแบบ Tanbi (ตันบิ) ได้ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกโดยให้ความสนใจเกี่ยวกับการบูชาและแสวงหาความรัก เน้นเรื่องราวความรักแนว Fatherly ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้ Tanbi จะให้ความสำคัญกับความรัก แต่ก็เลือกที่จะไม่เคร่งครัดกับศีลธรรมและจริยธรรม เพราะพูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือการเน้นเรื่องราวความสัมพันธ์ลึกซึ้งที่เกิดขึ้นระหว่างพ่อกับลูกโดยผู้สร้างและผู้เสพผลงาน Tanbi ส่วนใหญ่ล้วนเป็นหญิงสาว ในช่วงอายุ 15-30 ปี ที่เรียกตัวเองว่า Fujoshi (ฟุโจฉิ)

    คำว่า Tanbi มีความหมายตรงกับภาษาอังกฤษว่า Being addicted to beauty หรือ Aestheticism ซึ่งหมายถึงการเสพติดความงาม หรือลัทธิที่เชื่อว่าความงามเป็นรากฐานของสรรพสิ่ง

    เรื่องราวความรักระหว่างผู้ชายด้วยกันที่ปรากฏจึงถูกบอกเล่าในรูปแบบงานวรรณกรรมชั้นสูง ผ่านการใช้ภาษาและตัวอักษรคันจิที่แตกต่างไปจากงานเขียนทั่วไป

    ข้อสังเกตอีกอย่างของงาน Tanbi ก็คือ ตัวละครฝ่ายรับจะมีคาแรกเตอร์เข้มแข็ง ต่างจากทั่วไปที่ฝ่ายรับมักถูกกำหนดให้อ่อนแอและบอบบางอยู่เสมอ

    ต่อมา Tanbi ได้รับความนิยมน้อยลง เพราะกฎเกณฑ์และข้อจำกัดที่เคร่งครัด ทั้งด้านภาษาและการวางเส้นเรื่องกระทั่งปี ค.ศ. 1970 จึงได้มีผลงานที่เรียกว่า Shonen-ai (โชเน็นไอ) ซึ่งเกิดโดยกลุ่มนักวาดการ์ตูนหญิงชื่อว่า Year 24 เข้ามาดึงดูดความสนใจนักอ่านสาววายทดแทนการอ่านงาน Tanbi

    Shonen-ai มีที่มาจากการรวมคำว่า Shonen ที่แปลว่าเด็กชาย และ Ai ซึ่งแปลว่าความรัก และกลายเป็นคำที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางในช่วงปี ค.ศ. 1970-1980 ซึ่งมีการผลิตงาน Shonen-ai ออกมาทั้งในรูปแบบแอนิเมะ ภาพยนตร์ และวรรณกรรมเป็นจำนวนมาก
  • สิ่งที่ Shonen-ai แตกต่างจาก Tanbi ก็คือ การใช้ภาษาที่ไม่เคร่งครัดและเน้นเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างชายหนุ่มที่มีวุฒิภาวะกับเด็กหนุ่ม (วัยเยาวชน) และแม้จะไม่ได้คำนึงถึงความประณีตสวยงามทางภาษาเท่ากับ Tanbi แต่ผู้อ่านก็ยังจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับวรรณกรรมดั้งเดิม ประวัติศาสตร์ หรือแม้แต่วิทยาศาสตร์อยู่บ้าง เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่ของ Shonen-ai นอกจากจะพูดถึงความสัมพันธ์ของตัวละครแล้ว ยังเต็มไปด้วยปรัชญาและนามธรรมที่ลึกซึ้งเพื่อท้าทายผู้อ่านวัยหนุ่มสาว

    ด้วยเหตุนี้ ทำให้ความน่าสนใจของ Shonen-ai ตกไปอยู่ที่ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของตัวละครชายมากกว่าที่คนอ่านจะพยายามทำความเข้าใจในเนื้อหา และความนิยมในงาน Shonen-ai ก็เริ่มลดลงในช่วงปลาย ค.ศ. 1980 ไล่เลี่ยกับการมาถึงของการสร้างผลงานรูปแบบใหม่ที่เรียกกันว่า Yaoi

    ค.ศ. 1979 ผลงานประเภท Yaoi ได้ถือกำเนิดขึ้นในงานโดจินชิซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นผลพลอยได้จากการเกิดขึ้นและมีอยู่ของ Shonen-ai ก็เป็นได้

    Yaoi เป็นคำซึ่งเกิดจากความตั้งใจของนักวาดการ์ตูนอย่าง ยาซุโกะ ซากาตะ (Yasuko Sakata) และอะกิโกะ ฮัตสึ (Akiko Hatsu) ที่ย่อคำศัพท์สามคำอย่าง Yama Nashi (ยามะ นาชิ) แปลว่าไม่มีจุดเด่น Ochi Nashi (โอชินาชิ) แปลว่าไม่มีประเด็น และ Imi Nacho (อิมินาโช) แปลว่าไม่มีความหมาย หรือแปลรวมๆ ได้ว่าเป็นเรื่องราวที่ไม่มีเนื้อหาสาระใดๆ นับเป็นการแสดงตัวว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับผลงาน Shonen-ai อย่างชัดเจน
  • ในเวลาต่อมา Yaoi ได้กลายเป็นรูปแบบงานที่ได้รับความนิยมในหมู่หญิงสาวญี่ปุ่นที่สนใจเรื่องราวความรักและความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายด้วยกันทั้งในแง่ของความโรแมนติกและอีโรติก

    ต่อมาใน ค.ศ. 1998 คำว่า Yaoi ได้ถูกพิจารณาให้เป็นศัพท์ทั่วไปที่แฟนมังงะควรทราบ นอกจากนี้ในหมู่ Fujoshi ยังเอาคำว่า Yaoi มาแปลงความหมายเป็นแสลงในภาษาญี่ปุ่น จนได้มาเป็นประโยคอย่าง ‘Yamete, oshiri ga itai’ แปลเป็นไทยได้ว่า ‘หยุดนะ ฉันเจ็บก้น’ อีกด้วย (เล่นกันแบบนี้เลย!)

    แม้ว่ารูปแบบการสร้างผลงานที่พูดถึงความรักระหว่างเพศชายอย่าง Tanbi, Shonen-ai และ Yaoi จะมีความเป็นมาและจุดเด่นที่แตกต่างกัน ทว่าสิ่งหนึ่งที่มีร่วมกันก็คือผลงานส่วนใหญ่เกิดจากผู้หญิง เพื่อผู้เสพที่เป็นผู้หญิง และการพยายามที่จะแยกตัวออกจากผลงานแบบ Bara (บาระ) ที่ถูกสร้างขึ้นโดยผู้ชายและมีเนื้อหาเน้นที่ความสัมพันธ์ทางเพศของผู้ชายด้วยกันแบบฮาร์ดคอร์ ปราศจากความสวยงาม อ่อนหวาน และความรักโรแมนติกใดๆ

    ส่วนผลงานที่เล่าเรื่องความรักระหว่างผู้หญิงด้วยกันนั้นถูกเรียกด้วยคำว่า Yuri เป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1976 โดย อิโต บังงากุ (Itou Bungaku) บรรณาธิการของนิตยสารเกย์ Barazoku ซึ่งมีความหมายว่า Rose Tribe และมักใช้คำว่า Bara ที่แปลว่าดอกกุหลาบเป็นสัญลักษณ์แทนกลุ่มชายรักชาย 

    ซึ่งเขาเห็นว่ากลุ่มหญิงรักหญิงก็ควรมีดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของตัวเองบ้าง จึงนำไปสู่การเรียกหญิงรักหญิงว่า Yurizoku ซึ่งมีความหมายว่า Lily Tribe และใช้ดอกลิลลี่เป็นตัวแทนของความรักอันบริสุทธิ์ อ่อนหวาน แม้จะไม่ค่อยได้รับการยอมรับในวงกว้าง แต่คำว่า Yuri ก็มักถูกนำไปใช้ในมังงะหรือโดจินชิที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักระหว่างหญิงสาวและได้รับการเผยแพร่เรื่อยมา

    จึงอาจกล่าวได้ว่า คำว่า ‘สาววาย’ ที่หลายคนตั้งคำถามนั้นมีที่มาจากรสนิยมในการเลือกเสพผลงานในรูปแบบของชายรักชายหรือหญิงรักหญิง ก่อนที่จะกลายเป็นคำเรียกแทนหญิงสาวที่ชื่นชอบในความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน โดยไม่จำกัดว่าจะต้องอยู่ในรูปแบบการนำเสนอของนิยาย มังงะ หรือแอนิเมะอีกต่อไป
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in