เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิว หนังสือแนวดิสโทเปีย Dystopian Booksper.hours
#perhoursreview: ดินแดนคนตาบอด The country of the blind
  •                                    *หากเนื้อหามีส่วนผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยด้วยค่ะ*


                                 'ในดินแดนคนตาบอด คนตาเดียวคือพระราชา’



    __________________________________

    เขียนโดย: H.G Wells
    แปล: มโนราห์
    บทกล่าวตาม: มุกหอม วงษ์เทศ
    สำนักพิมพ์: สมมติ
    พิมพ์ครั้งที่: 2
    จำนวนหน้า: 120
    __________________________________

    Intro:

             หนังสือเรื่อง ดินแดนคนตาบอด เป็นนิยายขนาดสั้นของเวลส์ นักเขียนชาวอังกฤษ มีผลงานการเขียนมากมาย ผลงานที่มีชื่อเสียงเช่น เดอะ ไทม์ แมชชีน (ไว้ว่างๆเเล้วเราจะมารีวิวในครั้งต่อไปนะคะ) The Invisible man (ส่วนตัวเเล้วได้มีโอกาสอ่านเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษตอนมัธยม ใครที่อยากฝึกภาษา ลองหาซื้อมาอ่านได้นะคะ เป็นเเนวไซไฟ-แฟนตาซีค่ะ) The war of the worlds คร่าวๆประมาณนี้ค่ะ
              หนังสือเล่มนี้จะประกอบไปด้วย 5 ส่วนหลักๆ ได้เเก่ ประวัติผู้เเต่ง เนื้อเรื่อง เชิงอรรถ ภาคผนวก เเละบทกล่าวตาม โดยในส่วนของเชิงอรรถนั้นจะเป็นเนื้อหาบางส่วนที่เวลส์ได้ปรับเปลี่ยนแก้ไขใหม่เล็กๆน้อยๆ เช่นการเปลี่ยนคำเรียก หรือรายละเอียดในบทสนทนา ส่วนของภาคผนวก จะประกอบไปด้วยตอนจบแบบใหม่ของเรื่อง เท่ากับว่าหนังสือเรื่องนี้ จะมีตอนจบสองเเบบ (ใครชอบตอนจบเเบบไหนก็เลือกกันได้ตามใจชอบ) และบทวิเคราะห์ โดย กฤตพล วิภาวีกุล
              จากที่เห็นว่า ในจำนวน100กว่าหน้าของหนังสือนั้น ได้แยกย่อยออกเป็นหลายส่วนมาก เพราะฉะนั้นในส่วนของเนื้อเรื่องหลัก จะมีเเค่ประมาณ40กว่าหน้าเท่านั้น ใช้เวลาอ่านเเป๊ปเดียวก็จบค่ะ เเต่สิ่งที่ได้มาจากการอ่าน อาจจะติดฝังเเละเปลี่ยนความคิดของเราไปอีกนาน
    _____________________________________________________________________________________________________

    เนื้อเรื่อง: (ไม่สปอยล์เนื้อหา)


              พ้นจากยอดเขา และภูเขาไฟที่มีหิมะปกคลุม กลางป่ารกชัฎบนเทือกเขาเเอนเดสเเห่งเอกวาดอร์ ยังมีหุบลึกลับกลางขุนเขาที่ตัดขาดจากโลกภายนอก เราเรียกที่เเห่งนี้ว่า ดินแดนคนตาบอด ผู้คนที่อาศัยอยู่ในสถานที่แห่งนี้ ได้ประสบกับโรคติดต่อประหลาด ที่ทำให้ตาของพวกเขา เริ่มฝ้าฟาง เลือนราง เเละบอดสนิทในที่สุดตั้งเเต่เด็กเเรกเกิดไปจนถึงผู้ใหญ่ พวกเขาใช้ชีวิตเเบบเรียบง่ายเเละสงบสุขเรื่อยมา การขาดศักยภาพในการมองเห็นของพวกเขาไม่ได้เป็นปัญหาในการใช้ชีวิตเเต่อย่างใด 
              เเต่เเล้วเรื่องราวทั้งหมดก็ได้เปลี่ยนไป เมื่อชายนามว่า นูเนซ จากคณะปีนเขาได้มาเยือนเขาเอกวาดอร์เเละพลัดตกลงมา ณ ดินเเดนเเห่งนี้ เมื่อนูเนซได้มาถึง เขาประหลาดใจกับสถานที่เเห่งนี้เป็นอย่างมาก ทุกอย่างดูเเปลกประหลาดไปเสียหมด ทั้งรูปร่างบ้าน ทางเดิน รวมไปถึง ผู้คน เเละเเล้วเขาก็ได้ตระหนักว่า แท้จริงแล้วผู้คนในหมู่บ้านแห่งนี้ล้วนเเต่ตาบอด เเละไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเองนั้นตาบอด เเม้ว่าเขาจะพยายามอธิบายให้พวกคนตาบอดได้ฟังถึง การมองเห็น รูปร่างของ ต้นไม้ ลำธาร ท้องฟ้า มากเพียงใด ก็ไม่มีใครเชื่อ อีกทั้งยังหาว่าเขานั้นสติไม่สมประกอบ 
              นูเนซจึงเกิดความคิดที่จะเป็นผู้ปกครองที่เเห่งนี้ เขาจะทำการ รัฐประหารซะ เพื่อให้พวกเขาได้รู้ซึ้งเสียทีว่า ตนเองนั้นโง่เขลาเบาปัญญาขนาดไหน ดังคำที่กล่าวกันว่า ในดินแดนคนตาบอด คนตาเดียวคือพระราชา 
              เเต่เเล้วความฝันที่จะรัฐประหารของนูเซสก็ต้องล้มเหลว ทั้งๆที่เขาไม่ได้เป็นเพียงคนตาเดียวในดินเเดนคนตาบอดเท่านั้น เเต่เป็นถึงคนตาดีที่มองเห็นชัดเจนทั้งสองข้าง ทำไมกันล่ะ?! เพราะนอกจากชาวบ้านจะไม่ยอมจำนนต่อเขาเเล้ว กลับหาว่าเขาเป็นภัยอันตราย เเตกต่างจากคนอื่นๆ ต้องขับไล่ออกไปเท่านั้น นูเนซจะทำอย่างไรต่อไป จะสามารถขึ้นเป็นราชาตาดีเเห่งดินเเดนคนตาบอดได้หรือไม่ ติดตามต่อได้ในเล่ม
    _____________________________________________________________________________________________________

    Talk:
              นอกจากในส่วนของเนื้อเรื่องเเล้ว เราคิดว่าบทวิเคราะห์เเละบทกล่าวตามก็ดีมากเหมือนกันค่ะ อย่างที่เห็นว่าถ้าได้อ่านจนจบ ตัวเนื้อเรื่องได้แฝงประเด็นต่างๆไว้หลายประเด็นอยู่เหมือนกัน เเล้วเเต่เราจะมอง ผู้เขียนไม่ได้ให้คำตอบตายตัวกับผู้อ่านว่าในท้ายที่สุดเเล้ว ใครกันเเน่ที่เป็นฝ่ายถูก ระหว่าง คนตาบอดกับคนตาดี เพราะทั้งสองฝ่ายต่างยึดมั่นในความคิดของตนเอง ไม่หันหน้าเข้าหากันหรือรับฟังความเห็นของอีกฝ่ายเลย คนตาบอดไม่รู้ถึงข้อบกพร่องของตนเอง คนตาดีก็มัวเเต่ยกย่องเทิดทูนในความสูงส่งของการมองเห็น(ที่ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลยในดินเเดนเเห่งนี้) เเม้ว่าถ้าจะพูดกันในความเป็นจริง ตาดี ย่อมดีกว่าตาบอดอยู่เเล้ว เพราะ ตาดี รู้ว่าตาบอดเป็นอย่างไร กลับกันตาบอดไม่มีทางรู้ได้เลย ว่าอะไรคือสิ่งที่เรียกว่า การมองเห็น 
              เเต่ ตาบอด ในที่นี้ อาจไม่ได้หมายถึง ตาบอดในเเง่ของลักษณะทางกายภาพเพียงอย่างเดียว อาจหมายถึงอาการ ตาบอด ทางด้าน ความคิด สติปัญญา หรือหมายถึง คนที่ปิดกั้นความคิด ไม่พร้อม(หรืออาจจะเรียกว่าไม่ยอม) เผชิญหน้ากับสิ่งที่เเตกต่างจากที่ตนเองฝังหัวหรือเชื่อมั่นมาตลอดทั้งชีวิต ถ้าอ่านจากในเรื่อง คนตาบอดนั้นค่อนข้างที่จะมีความเชื่อที่ ฝังรากลึก อยู่ในกลุ่มของตนเองมาอย่างยาวนาน เราขอยกตัวอย่างในบางส่วนนะคะ พวกคนตาบอดนั้นเชื่อว่าโลกของตนมีอยู่เเค่ในหุบเขาเเห่งนี้เท่านั้น ตีนเขาที่ล้อมรอบพวกเขาไว้คือสุดขอบโลก เเละมีเพดานเรียบลื่นครอบพวกเขาไว้อีกที หรือความคิดที่ว่าโลกใบนี้ประกอบไปด้วยสองช่วงเวลา คือเวลาอุ่นกับเวลาเย็น พวกเขาจะนอนหลับในเวลาอุ่นเเละทำงานในเวลาเย็น (สลับกับมนุษย์ปกติทั่วไป เพราะยังไงเเสงสว่างก็ไม่มีผลอะไรอยู่เเล้วในดินแดนแห่งนี้) ขนาดตอนที่นูเนซเข้ามาที่หมู่บ้านนี้ใหม่ๆ พวกคนตาบอดยังเป็นฝ่ายเดินจูงเขาเสียนี่ (คนตาบอดดันเดินจูงคนตาดี มีอย่างที่ไหนกัน!) เเละเมื่อนูเนซพยายามจะบอกว่าความเชื่อเหล่านี้ที่พวกเขาเชื่อกันมานั้นผิดหมด เเละน่าขันมาก กลับทำให้พวกเขารับไม่ได้ เเละบอกว่านูเนซเองต่างหากที่เป็นฝ่ายไม่รู้เรื่องอะไรเลย (จนเกือบจะทำให้นูเนซเชื่อว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เเละสิ่งที่เขาเห็นมาตลอดกับตาเองที่ผิด)
              เมื่ออ่านมาถึงตรงส่วนนี้เเล้วจะเห็นได้ว่าสามารถนำมา Relate กับสังคมในปัจจุบันนี้ได้เป็นอย่างดี (โดยเฉพาะในสังคมไทย) บ้านเมืองที่มืดบอดไม่เห็นคุณค่าของเสรีภาพคงประสบความสำเร็จได้ยากยิ่ง ซ้ำร้ายการเรียกร้องเสรีภาพด้วยความรุนเเรงของคนตาดี อาจทำให้พวกเขาเป็นฝ่ายถูกไล่ออกไปเสียเอง 
              นอกจากนี้เเล้ว ยังมีตลกร้ายที่เเฝงอยู่ในเรื่องมากมายดังเช่นบทสนทนาในเรื่องที่ว่า
     
                                     “There is no such word as see,” said the blind man.
                                                   “What is blind?” ask the blind man

                                                           มันช่างย้อนเเย้งอะไรขนาดนี้!

               หรือเเม้เเต่สำนวนการพูดที่ใช้ในภาษาอังกฤษจากตอนที่พ่อตาบอดพูดกับลูกสาวตาบอดว่า “You see, he’s an idiot” คำว่า You see หรือ I see ในภาษาอังกฤษยังเปรียบ การมองเห็น ว่าคือ ความเข้าใจ เลย (ปล: I see ในที่นี้ไม่ได้แปลว่า ฉันเห็น เเต่แปลว่า ฉันเข้าใจเเล้ว เช่น ถ้ามีฝรั่งมาบอกข้อมูลใหม่อะไรกับเราสักอย่าง ถ้าเราเข้าใจหรือรับรู้ เราก็จะตอบว่า I see.)

            * ในบทกล่าวตามยังมีการยกอุปมานิทัศน์ว่าด้วย ถ้ำ ของเพลโต ที่เราอ่านเเล้วชอบมากๆไว้อีกด้วยค่ะ*
              เพลโตเปรียบเทียบการรับรู้ความจริงทั่วไปของมนุษย์ว่าเหมือนนักโทษที่ถูกล่ามโซ่ตรวน จับนั่งหันหลังให้กับกองไฟเเละวัตถุต่างๆ โดยจับมัดไม่ให้หัวหันหรือขยับไปทางไหนได้นอกจากด้านหน้า ดังนั้นสิ่งที่นักโทษเห็นมาตลอด จึงเป็นเพียง เงา ของวัตถุที่สะท้อนบนผนังถ้ำเท่านั้น เเต่ไม่สามารถเห็นว่าต้นกำเนิดของเงา(วัตถุที่เเท้จริง) นั้นคืออะไร ผู้ที่ถูกจองจำเหล่านี้ไม่สามารถเห็นอะไรอื่นได้เลยทั้งผู้จองจำคนอื่นหรือเเม้กระทั่งตัวเอง การ บอด ต่อความเป็นจริง เเละหลงคิดว่าสิ่งนั้นคือความจริงคือความเขลาของมนุษย์ทั้งหลาย คนเหล่านี้ มีภาพมายาเเละเชื่อในสิ่งที่ตัวเองเห็นว่าเป็นความจริงมาทั้งชีวิต แต่เมื่อพวกเขาคนใดคนหนึ่งได้เผชิญหน้ากับ แสงสว่าง (ความจริง) เเละวัตถุจริงๆ (ข้อมูลหรือหลักฐาน) ครั้งเเรก จะต้องเกิดอาการสับสน ช็อค ไม่อยากเชื่อ เพราะเงาที่ตัวเองคิดว่าเป็นโคนันมาตลอด กลับกลายเป็นนกเเองกรี้เบิร์ดบนขอนไม้ซะได้! เเต่เเล้วเมื่อพวกเขาได้ปรับสายตาเเละก้าวผ่านความเชื่อของตนเอง เเละพยายามกลับไปบอกเพื่อนในถ้ำ (ว่าเฮ้ย! พวกเรา มันไม่ใช่ไอ้นักสืบจิ๋วหัวหลายเเฉกซะหน่อย มันคือไอ้นกตัวเเดงที่เป็นกระสุนไว้ถล่มบล็อกไม้ต่างหากเล่า!!) กลับถูกหัวเราะเยาะเป็นตัวตลก เเละเเม้ว่าจะพยายามชักชวนให้เพื่อนออกไปดูความจริงข้างนอก ก็อาจจะลงเอยด้วยการถูกทำร้ายเเละขับไล่ออกจากจากกลุ่มเเทน
                                                                              *ภาพโคนัน vs แองกรี้เบิร์ด?*


               เเต่ในท้ายที่สุดเเล้ว ไม่ว่า ดินเเดนคนตาบอด พยายามจะสื่อหรือบอกอะไรกับเรา ก็เป็นเพียงเเค่หนังสือโจทย์ที่ไม่มีเฉลย คนเขียนได้ตั้งโจทย์ไว้กับคนอ่านมากมายหลายข้อ เป็นคำถามเเบบปรนัยที่คำตอบเป็นเเบบปลายเปิด ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างคำตอบไว้ให้เราอยู่เเล้ว ไม่มีถูกผิด เเล้วเเต่เราจะเลือก ว่าอยากจะตอบเเบบไหน


    _____________________________________________________________________________________________________          

    Ps:

              หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในหนังสือชุด ดิสโทเปีย&ยูโทเปีย 8 เล่ม ที่ทางสำนักพิมพ์ได้นำมาตีพิมพ์แบบรวมเซ็ตเเละเปลี่ยนปกใหม่ บางเล่มอาจตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์อื่นมาเเล้ว เเต่เซ็ตนี้สวยมากค่ะ ควรค่าเเก่การสะสมอย่างยิ่งTwT (เเต่เราไม่ได้ซื้อยกเซ็ตนะคะ ขอหมุนเงินก่อน แหะๆ) โดยในเซ็ตนี้จะประกอบด้วย
    - 1984 โดย George Orwell
    - เอเรวอน ดินเเดนไร้เเห่งหน โดย Samuel Butler
    - วี โดย Yevgeny Zamyatin
    - โลกแบน เริ่องหลากมิติ โดย Edwin A. Abbott
    - ยูโทเปีย โดย Sir Thomas More
    - มองกลับ โดย Edward Bellamy
    - เดอะ ไทม์ แมชชีน โดย H.G. Wells
    - ดินเเดนคนตาบอด โดย H.G. Wells
    _____________________________________________________________________________________________________

    *จบเเล้วนะคะสำหรับรีวิวหนังสือเรื่องนี้ของเรา ชอบไม่ชอบ หรือมีเรื่องจะติชมอะไรก็ทักมาเเลกเปลี่ยนเรื่องราวกันได้นะคะ☺️?*

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
น่าอ่านมากเลยค่ะ
น่าอ่านมากเลยค่ะ