เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
WEIRD MATE คู่สัตว์คู่สมSALMONBOOKS
INTRO
  • INTRO

    บนโลกของเรามีสัตว์มากมายหลากหลายกว่า 8.7 ล้านสปีชีส์ ตั้งแต่ฟองน้ำ แมงกะพรุน หนอนตัวแบน หนอนตัวกลม แมลง ปลิงทะเล ฉลาม ปลา กบ กิ้งก่า นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไปจนถึงมนุษย์ สัตว์แต่ละชนิดมีรูปร่างและหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไปตามแต่สภาพแวดล้อมที่มันอาศัยอยู่ ยีราฟที่กินใบไม้บนยอดต้นไม้มีคอที่ยาว นกฮูกที่หากินเวลากลางคืนมีดวงตาที่ใหญ่ สามารถมองเห็นในที่มืดได้ดี โลมาที่อาศัยอยู่ในน้ำมีท่อหายใจอยู่บนศีรษะแทนรูจมูก ฯลฯ

    เราคิดว่าทำไมสิ่งมีชีวิตจึงได้มีร่างกายที่พอเหมาะกับความต้องการใช้งานของมัน? กลไกอะไรทำให้สิ่งมีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปเป็นสิ่งที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้?

    วิวัฒนาการ (Evolution)

    แรงผลักดันทางธรรมชาติที่มีพลังมากที่สุดอย่างหนึ่งคือ ‘วิวัฒนาการ’

    วิวัฒนาการคือสิ่งที่ทำให้สิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกมีลักษณะอย่างที่เป็นอยู่ วิวัฒนาการส่งผลให้สิ่งมีชีวิตเกิดการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนรูปร่าง และพัฒนาไปจนกระทั่งเราได้ สิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะเหมาะสมที่สุดในการอยู่รอด 

    คนที่ตั้งทฤษฎีวิวัฒนาการเป็นคนแรกคือ Charles Darwin ระหว่างที่เขาเดินทางไปเกาะกาลาปากอสกับเรือ HMS Beagle เขาได้สังเกตว่านกฟินช์ที่อาศัยอยู่บนเกาะที่กินเมล็ดกระบอง-เพชรเป็นอาหารจะมีจะงอยปากที่ยาวเรียวเหมาะแก่การเข้าไปจิกกินเมล็ด นกบนเกาะที่กินเมล็ดที่อยู่ตามพื้นเป็นอาหารจะมีจะงอยปากสั้นเหมาะแก่การคุ้ยเขี่ยตามพื้น ส่วนนกที่กินแมลงเป็นอาหารก็จะมีจะงอยปากผอมยาว เหมาะแก่การล้วงเข้าไปจิกแมลงกิน นี่จึงหมายความว่านกที่อยู่คนละเกาะก็จะมีรูปร่างต่างกันไป ดาร์วินจึงสันนิษฐานว่าสัตว์ในสปีชีส์หนึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอีกสปีชีส์หนึ่งได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสภาพแวดล้อม โดยนกฟินช์ทั้งหมดนี้อาจจะมาจากต้นกำเนิดเดียวกัน แต่มีการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นสปีชีส์ที่แตกต่างกันสามสปีชีส์ ตามลักษณะสภาพแวดล้อม ซึ่งต่อมาก็ถูกนำไปคิดต่อเป็นทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน

  • ทั้งนี้ วิวัฒนาการไม่ใช่สิ่งที่มีตัวตนและสามารถวางแผนได้ การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่สิ่งที่ ‘วิวัฒนาการ’ ออกแบบเอาไว้และสิ่งมีชีวิตไม่ได้เปลี่ยนแปลงโดยตัวของมันเอง แต่วิวัฒนาการเป็น ‘กระบวนการ’ ที่เกิดขึ้นเมื่อสิ่งมีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากการคัดเลือกของธรรมชาติ โดยหลักของ ‘ผู้ที่เหมาะสมที่สุดถึงจะอยู่รอดได้’ (Survival of the Fittest)

    ความจริงแล้ว ทฤษฎีวิวัฒนาการเป็นสิ่งที่ควรจะตามมา จากหลักการทางตรรกะอย่างง่ายๆ เรารู้ว่าลูกมักจะหน้าตาคล้ายพ่อแม่ ได้รับการถ่ายทอดลักษณะทุกอย่างมาจากพ่อแม่ของมัน และเราก็รู้ว่าสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างกันย่อมจะมีโอกาสเอาชีวิตรอดและสามารถถ่ายทอดลักษณะของมันต่อไปได้ไม่เท่ากัน

    ยกตัวอย่าง สมมติว่าเราฉีดยากำจัดแมลงในบ้านของเรา ซึ่งมีทั้งแมลงสาบที่สามารถทนยาฆ่าแมลงได้น้อยและตายทันทีที่เจอ กับชนิดที่ทนได้มากและไม่สะทกสะท้านกับยาฆ่าแมลงนี้ก่อนที่เราฉีดยาฆ่าแมลง บ้านของเราอาจจะเต็มไปด้วยแมลงสาบที่ทั้งทนและไม่ทนต่อยาฆ่าแมลง แต่เมื่อเราฉีดยาฆ่าแมลงไปก็เท่ากับว่าเรากำจัดแมลงสาบส่วนมากที่ไม่ทนต่อยาฆ่าแมลง และเหลือแต่ตัวที่ทนทาน ซึ่งแมลงสาบที่ทนต่อยาเหล่านี้ จะมีโอกาสได้สืบพันธุ์ต่อไป ส่วนแมลงสาบที่ไม่ทนยาก็ถูกกำจัดไปหมด เมื่อเรากลับมาฉีดยาฆ่าแมลงอีกครั้งเราจึงพบว่าแมลงสาบได้ ‘วิวัฒนาการ’ และพัฒนาลักษณะดื้อยานี้ไปแล้ว
  • หากมองจากภายนอก เราอาจรู้สึกว่าแมลงสาบค่อยๆ พัฒนาความดื้อยาขึ้นจากการใช้ยาของเรา ทั้งที่แท้จริงแล้ว ลักษณะดื้อยานั้นมีอยู่แล้วในประชากรแมลงสาบ เพียงแต่ว่าอาจเป็นเพียงส่วนน้อย ก่อนหน้าที่จะมีการใช้ยาฆ่าแมลง ลักษณะดื้อยาอาจจะไม่ได้ทำให้แมลงสาบได้เปรียบในการอยู่รอดแต่อย่างใด แต่ทันทีที่เราฉีดยา แมลงสาบทุกตัวที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อยานี้จึงเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบและถูกกำจัดทิ้งไป ขณะที่แมลงสาบที่ทนต่อยากลายเป็นผู้ที่ถูกคัดเลือก และมีโอกาสถ่ายทอดลักษณะที่ดื้อยานี้ให้กับประชากรแมลงสาบรุ่นถัดไป

    นี่ก็คือหลักการของ ‘ผู้ที่เหมาะสมที่สุดถึงจะอยู่รอดได้’ เราจะสังเกตได้ว่าการอยู่รอดนั้น เป็นเรื่องของ ‘ผู้ที่เหมาะสมที่สุด’ ไม่ใช่ของ ‘ผู้ที่แข็งแกร่งที่สุด’ แมลงสาบที่รอดจากการใช้ยาฆ่าแมลงอาจจะเป็นแมลงสาบที่อ่อนแอ แต่ปัจจัยสภาพแวดล้อมนั้นได้ทำให้มันกลายเป็นพวกที่เหมาะสมที่สุดในขณะนั้น

    ในธรรมชาติก็เช่นกัน มนุษย์ไม่ได้ยืนหยัดอยู่บนโลกได้เพราะว่าเป็นสัตว์ที่แข็งแกร่งที่สุด แต่เป็นเพราะว่าเราเป็นสัตว์ที่เหมาะสมที่สุดกับสภาพแวดล้อมปัจจุบัน แต่สภาพแวดล้อมไม่ใช่สิ่งคงที่ มันเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาเช่นเดียวกับยาฆ่าแมลง สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป อาจจะทำให้กติกาของเกมเปลี่ยนแปลง และผู้ที่เคยเสียเปรียบก็กลับมาได้เปรียบ เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พลิกเกมกลับมายึดครองโลกแทนที่ไดโนเสาร์เมื่ออุกกาบาตหล่นใส่โลกเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว และผู้ที่เคยได้เปรียบก็อาจจะกลับมาเสียเปรียบได้ เช่น ช้างแมมมอธที่สูญพันธุ์ไปในช่วงสิ้นยุคน้ำแข็ง
  • สิ่งหนึ่งที่คนมักจะลืมกันไปอยู่เสมอคือ คนมักจะคิดว่าสิ่งมีชีวิตที่มีชีวิตอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ ย่อมต้องเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดีที่สุดที่ถูกคัดเลือกเอาไว้โดยวิวัฒนาการ แต่ความจริงแล้ววิวัฒนาการนั้นไม่เคยสิ้นสุด และมีการคัดเลือกอยู่เสมอ

    บางครั้ง มนุษย์อาจจะหลงผิดคิดว่าเราต้องเป็นสัตว์ที่ฉลาดที่สุดที่ผ่านการคัดเลือกของวิวัฒนาการ แต่แท้จริงแล้วเราอาจจะกำลังถูกวิวัฒนาการคัดเลือกทิ้งไปก็ได้...

    นอกจากนี้ การวิวัฒนาการบางครั้งก็ไม่ได้ซึ่งผลลัพธ์ที่เป็นคำตอบดีที่สุดเพียงคำตอบเดียว แต่คำตอบที่ถูกต้องอาจจะเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เช่น นกชนิดหนึ่งอาจจะมีพฤติกรรมแบ่งออกเป็น ‘นกตกปลา’ ที่จับปลากินเอง กับ ‘นกขี้ขโมย’ ที่ขโมยปลาจากนกตกปลาตัวอื่น เราอาจจะคิดว่าสังคมนกที่มีแต่ขี้ขโมยย่อมไม่ยั่งยืน และผลลัพธ์สุดท้ายควรจะเป็นของนกตกปลา แต่ความจริงแล้วเมื่อใดก็ตามที่มีนกตกปลาอยู่เยอะ นกขี้ขโมยก็จะได้เปรียบอย่างมาก และสามารถส่งต่อลักษณะต่อไปได้ดีกว่า แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อนกขี้ขโมยเยอะเกินไป การขโมยก็ยากขึ้น และนกที่สามารถตกปลาได้ด้วยตัวเองก็กลับมีโอกาสที่จะรอดสูงกว่า คำตอบสุดท้ายของนกชนิดนี้จึงไม่ได้มีคำตอบเดียว แต่เป็นสัดส่วนระหว่างสองคำตอบระหว่างประชากรนกที่ตกปลา และนกที่ขโมยปลา หากเป็นสัดส่วนอยู่ในประชากรทั้งคู่
  • การคัดเลือกทางเพศ (Sexual Selection)

    เราจะเห็นว่า วิวัฒนาการไม่ได้สนใจเลยว่าสิ่งมีชีวิตนั้นจะแข็งแกร่งเพียงใด สิ่งเดียวที่สำคัญก็คือความสามารถในการส่งต่อลักษณะสายพันธุ์นั้นต่อไป

    สิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะทุกอย่างสมบูรณ์แบบและสามารถอยู่รอดในสภาพแวดล้อมใดก็ได้แต่เป็นหมัน ย่อมจะสูญพันธุ์ไป เพราะไม่สามารถให้กำเนิดทายาทที่ช่วยส่งต่อลักษณะดังกล่าวต่อไปได้ ดังนั้นในเชิงวิวัฒนาการ สิ่งที่สำคัญก็คือ การมีลูกที่จะสามารถอยู่รอดไปจนมีลูกของตัวเองได้เป็นจำนวนมากที่สุด

    วิธีหนึ่งที่ทำได้คือ การมีลูกให้มากที่สุด ปลาบางชนิดอาจจะวางไข่นับพันฟองเพื่อให้ได้ลูกจำนวนมากที่สุด แต่การวางไข่ที่มากก็ไม่ได้หมายความว่าจะประสบผลสำเร็จ หากไข่เหล่านั้นไม่สามารถเอาชีวิตรอดพัฒนาไปเป็นตัวเต็มวัยที่สามารถวางไข่ต่อไปได้

    อีกวิธีหนึ่งก็คือการออกลูกจำนวนน้อยลง แต่ใช้พลังงานในการเลี้ยงดูเพื่อให้แน่ใจว่าลูกจะมีโอกาสสามารถเติบโตอยู่รอดได้มากขึ้น หรือไม่ก็ต้องสรรหาสายพันธุ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกของตัวเอง โดยการเลือกคู่ครองที่มีลักษณะดีที่สุด สัตว์หลายๆ ชนิดจึงแสดงพฤติกรรมการคัดเลือกทางเพศ นั่นก็คือสัตว์เพศเมียจะคัดเลือกสัตว์เพศผู้ที่มีลักษณะสมบูรณ์เพียงพอควรค่าแก่การยอมผสมพันธ์ุ ซึ่งการคัดเลือกทางเพศนี้ สามารถช่วยเร่งกระบวนการวิวัฒนาการได้เร็วขึ้นอีกมาก

    ด้วยกระบวนการคัดเลือกทางเพศนี้เอง ที่ทำให้สัตว์โลกแต่ละชนิดสามารถวิวัฒนาการรายละเอียด เทคนิคการสืบพันธุ์ที่สุดแสนจะแปลก พิสดาร มากมาย และหลากหลายจนควรคู่แก่ความเป็น ‘สัตว์โลกสัปดน’ บนโลกของเรา

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in