“อย่างนี้เขาก็ไม่เคยคิดถึงความเดือดร้อนของพวกเราเลยน่ะสิครับ”
“ก็เขื่อนหนึ่งสร้างขึ้นมานี่ราคาแพงมากนะครับ สร้างมาแล้วต้องรักษาไว้ให้ดี ถ้าเป็นอะไรไปก็แย่”
. บทสนทนาบางบทระหว่างนักศึกษา กับนายทองปาน ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำปาวที่กาฬสินธุ์ พอทำให้เห็นประเด็นสำคัญยิ่งของภาพยนตร์เรื่อง “ทองปาน” ในปี 2518–2520 ที่ครั้งหนึ่งถูก “ห้ามฉาย” ในไทย
ตัวเค้าโครงเรื่องของทองปานอิงมาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2518 เมื่อตอนนายคำสิงห์ ศรีนอก ได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาหัวข้อ ‘เขื่อนผามอง ปัญหาการตั้งรกรากใหม่และการเคลื่อนย้ายประชากร’ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ จัดขึ้นที่เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมีการเชื้อเชิญนักวิชาการ ข้าราชการ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักศึกษา และชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือนายทองปาน ซึ่งพักอาศัยในโรงแรมห้องเดียวกัน จึงมีโอกาสพูดคุยสนทนาอะไรหลายๆอย่าง
ท้องเรื่องในหนัง เล่าถึง “ทองปาน” ชาวนาผู้เคยต้องย้ายที่ทำกินมาแล้วถึง 2 ครั้ง เนื่องจากการสร้างเขื่อน ทองปานกำลังเดินทางไปซื้อยารักษาวัณโรคให้ภรรยา และถูกเชิญชวนให้มาร่วมการสัมมนาเรื่องผลกระทบจากการสร้างเขื่อนผามองกั้นแม่น้ำโขง ตามเหตุการณ์ที่เกิดจริงข้างต้น
……..สัญลักษณ์ที่ปรากฏในฉากแรกที่ฉายชัดขึ้นมาในคลองจักษุ คือ หญิงชาวนาหาบน้ำ หญิงชาวนาคนนั้นคือภรรยาของทองปาน ซึ่งกลายเป็นตัวขับเคลื่อนเรื่องราวในภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้เดินตัดผ่านเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงและควายเป็นฉากหลัง ทำให้เกิดภาวะคู่ตรงข้ามสำคัญระหว่างวิถีชีวิตของชาวบ้านส่วนล่าง. และการพัฒนาในมุมมองรัฐจากส่วนบน. สัญลักษณ์ต่างๆที่ปรากฏล้วนเป็นนัยยะของพฤติการณ์ ในสารที่ภาพยนตร์สื่อ
ฉากแรกเป็นช็อตที่เหมือนจะไม่มีอะไร แต่นำเสนอสองเหตุการณ์เกิดขึ้นคู่ขนาน
เบื้องหน้าคือ ทองปาน ภรรยา และลูกๆ กำลังพยายามจับปลา จับกบ จับปู หาอาหารประทังชีพ ตัดสลับกับกลุ่มคนกำลังอพยพออกเดินทาง เพราะการมาถึงของเขื่อนทำให้ชีวิตทุกข์ยากลำบาก ต้องแสวงหาหนทางที่ดินทำกินใหม่
เรียกได้ว่าช็อตนี้นำเสนอวิถีชีวิตของชาวชนบท ซึ่งมีเพียงสองทางออกเท่านั้นคือ ต่อสู้ดิ้นรน และยินยอมจำนนในสิ่งเกิดขึ้นโดยมิอาจแก้ไขปรับเปลี่ยนแปลงอะไรได้อย่างการ “ญ่ายหนีการพัฒนา”
………วัตถุสัญลักษณ์ดังกล่าวปรากฏในหนังอยู่โดยตลอด การฉายภาพซ้ำ ๆ ของการทำนา จับสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน นี่เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตและการดำรงอยู่ของผู้คน ซึ่งฉากจะตัดสลับกับการสัมมนาในห้องประชุมอย่างมีนัยยะสำคัญ กล่าวคือในขณะที่ผู้แทนจากองค์กรต่างๆ พูดถึงข้อดีข้อด้อยของเขื่อนในห้องประชุม ภาพยนตร์กลับฉายภาพในห้วงความคิดของทองปานที่อยู่กับท้องนา. ลำน้ำ ครอบครัว. ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำปาว. เช่น น้ำลดอย่างรวดเร็วจนผันน้ำเข้านาไม่ทัน น้ำขึ้นจนท่วมชานบ้าน การอพยพโดยเกวียน (ทองปานเป็นคนกาฬสินธุ์ที่อยู่ใต้ลำน้ำปาวก่อนอพยพมา) เป็นการอุปลักษณ์ถึงเสียงที่ทองปานกำลังโต้แย้งกับบรรดาผู้เชี่ยวชาญในห้องประชุม
“กาล” ในภาพยนตร์เรื่องนี้มีปัจจุบันกาลคือการประชุมสัมมนาซึ่งเป็นองค์ประธานของเรื่อง ดังนั้นการตัดสลับทุกฉากในระหว่างการประชุมคือการฉายภาพความคิดและประสบการณ์ของทองปาน หรืออาจอุปลักษณ์ได้ถึงผลกระทบของผู้คนในโครงสร้างส่วนล่างในสังคมได้ในที. ฉะนั้นการประชุมสัมมนาที่ปรากฏในภาพยนตร์นี้มีเสียงของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน. รวมถึงประชาชนในพื้นที่ในการโต้แย้งต่อข้อดี ข้อเสีย ของโครงการสร้างเขื่อน. ถึงแม้ว่าทองปานซึ่งเป็นภาพตัวแทนของชาวบ้านจะลุกหนีออกจากห้องประชุมไปและไม่ได้แถลงความคิดของตัวเองต่อที่ประชุม แต่เสียงของทองปานถูกถ่ายทอดออกมาให้ปรากฏแก่ผู้คนอย่างแนบเนียน
. จะเห็นได้ว่าในท้ายที่สุดแล้ว “เสียง” ของทองปานจึงไม่ได้หายไปไหน เพราะมันปรากฏในตัวบท แต่มันถูกทำให้ไม่มีเพราะเงื่อนไขที่เกิดขึ้นจริงทางสังคม เพราะคำว่า “การพัฒนา” และ “ความเป็นชายขอบ”
วาทกรรมการพัฒนา: สภาวะถูกทำให้เป็นชายขอบ
ด้วยการที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นกึ่งสารคดีซึ่งอิงจากเรื่องจริง ดังนั้นจึงมีโครงสร้างของเหตุการณ์บางอย่างที่สะท้อนภาพของสังคมไทย. นั่นคือ. “การพัฒนา” ซึ่งเป็นคำสวยหรูที่สร้างอิทธิพลมหาศาลต่อสภาพเศรษฐกิจ. สังคม การเมือง. กล่าวคือในยุค. พ.ศ. 2499 เป็นต้นมา รัฐบาลได้ตกลงจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ. โดยในการวางแผนรัฐบาลได้ใช้ที่ปรึกษาทางวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ. ดร.จอห์น เอ โลฟตัส ที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลังอเมริกันมาช่วยวางแผนเมื่อถึงยุคจอมพลสฤษดิ์. ธนรัชต์ จึงได้ดำเนินแผนพัฒนาประเทศระยะ 6 ปีครั้งแรก และกลายสภาพมาเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติภายหลัง
. ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2500 – 2535. นี่เองที่โครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของรัฐ ตลอดจนโรงงานอุตสาหกรรมของเอกชนลุกลามสู่พื้นที่ชนบท. อันเป็นการไปปะทะกับโครงสร้างสังคมแบบเดิมที่มีวิถีเกษตรกรรม. ทำให้ชาวบ้านกลายสภาพเป็นผู้โดนกระทำจากภาครัฐ จากตรงนี้จะเห็นได้ว่าโครงการขนาดใหญ่มักเกิดจากการตัดสินใจจากส่วนกลาง. ที่ละเลยความเข้าใจต่อความหลากหลายในบริบทเชิงพื้นที่ท้องถิ่น. ด้วยการอาศัย “อำนาจ” ที่ว่าด้วยองค์ความรู้จากตะวันตก ผู้เชี่ยวชาญ “การพัฒนา” เข้าไปช่วงชิงพื้นที่ความคิดของคำว่า “อยู่ดีกินดี” ของชนบทนั่นเอง
. ฟูโกต์กล่าวว่า ความเข้าใจในเรื่องหนึ่งๆซึ่งส่งผลต่อการกำหนดว่าอะไรคือความรู้ ความจริง เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยสังคมทั้งโดยกลุ่มที่ครองอำนาจและกลุ่มที่ต่อต้านอำนาจ จัดเป็นเทคโนโลยีทางอำนาจที่ถูกใช้ทั้งการเก็บกดปิดกั้นและจัดระเบียบวิถีชีวิตของคนในสังคม ( Foucault, 1980) และในที่นี้กลุ่มครองอำนาจได้สถาปนาการพัฒนาที่ใช้องค์ความรู้แบบอเมริกันมากดทับองค์ความรู้ของชาวบ้านในชนบท
. ฉากซึ่งเกี่ยวกับวิถีชีวิตเกษตรกรรมในห้วงคิดของทองปาน สะท้อนภาพความคาดหวังในการ. “อยู่ดีกินดี” เพราะการตัดสลับไปสู่ชีวิตของท้องปาน คือการเสนอจักรวาลวิทยาของคนชนบทที่ว่า “การทำมาหากินอิงกับธรรมชาตินั่นก็คือทุกอย่างในชีวิต” ปฏิบัติการสร้าง “สัญญาประชาคม” จึงเกิดขึ้นเมื่อรัฐซึ่งมีพันธะต้องบริหารนโยบายสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชน. คำว่า “การพัฒนา” จึงเป็นวาทกรรมสำคัญที่พวยพุ่งออกจากปากนักการเมืองนักบริหารเพื่อหวังสร้างความเจริญของประเทศในแง่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ โดยนำมาซื้อใจชาวบ้านโดยให้ “สัญญาว่าจะสร้าง” ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับชาวบ้านเอง
ดูเหมือนว่าสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนจะเป็นดังนั้น นั่นคือเมื่อเขื่อนถูกสร้างขึ้นมันสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งเข้าไปเลี้ยงโรงงานอุตสาหกรรม สร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค. แต่ทว่าผลกระทบในเชิงสภาพแวดล้อมและจิตใจกลับเกิดแก่คนในพื้นที่กลับถูกละเลยไป. สัญญาว่า “ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” จึงมีผลเชิงประจักษ์แก่ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ และบรรดาพ่อค้านักลงทุนเท่านั้น ผู้สูญเสียผลประโยชน์จึงเป็นชาวบ้านดังปรากฏในฉากของภาพยนตร์ ในช่วงการสัมมนาที่มีเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวว่า “จะต้องมีการเสียสละเสมอเพื่อสิ่งที่ดีขึ้น” เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ภาพยนตร์ได้ฉายภาพ “คู่ตรงข้าม” ในสังคมได้อย่างชัดเจน
. คู่ตรงข้ามที่เป็นนครชนบท และรัฐกับชาวบ้าน ซึ่งภาพยนตร์ได้สะท้อนนออกมาให้เห็นภาพการปะทะสังสรรค์กันต่อนโยบายของรัฐเสมอ ในหลายกรณีจึงขอยกประเด็นร่วมสมัยมาช่วยอภิปราย. เช่น กรณีเหมืองแร่ทองคำ. ที่ อ.วังสะพุง. จังหวัดเลย. ที่รัฐออกสัมปะทานให้นายทุนทำการขุดได้แทบจะทุกพื้นที่ซึ่งกินเขตป่า อันกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐิกิจ และวิถีชีวิตของชาวบ้าน. ซึ่งนี่คือผลผลิตที่ถูกกดทับและจัดระเบียบโดย “วาทกรรมการพัฒนา” ของรัฐ อย่างไรก็ตามชาวบ้านก็ได้รวมตัวกันเพื่อคัดค้านด้วยการปะท้วงเชิงสัญลักษณ์[1] เช่น การสร้างกำแพงใจ การแต่งเพลง ฯลฯ ตลอดจนการประท้วง หรือการขัดขวางการกระทำของนายทุนที่มีความรุนแรง
. จะเห็นได้ว่าในหลายกรณี รัฐกับนายทุน มักจะยืนอยู่ในขั้วเดียวกันเสมอ ซึ่งสิ่งนี้การจากการกำหนดนโยบายสาธารณะที่รัฐพยายามลดภาระตนเองโดนแบ่งงานบางอย่างให้เอกชน. แต่ทว่ารัฐได้หลงลืมภารกิจอีกหนึ่งอย่างของการกำหนดนโยบายสาธารณะคือการเปิดพื้นที่แห่งความคิดเห็นให้คนในท้องถิ่นได้มาแสดงเจตนารมณ์ ดังประโยคของ ส. ศิวลักษณ์ ที่กล่าวในภาพยนตร์เรื่องทองปาน
“นี่เป็นครั้งแรกนับแต่หลัง 14 ตุลา ที่เราเชิญทุกคนมาร่วมแสดงความคิดเห็น”
ซึ่งท้ายที่สุดทองปานซึ่งมีภาพแทนเป็นชาวบ้านในภาพยนต์ และในข้อเท็จจริงก็เป็นชาวบ้านในพื้นที่ด้วย ซึ่งสุดท้ายเขาก็ “ไม่ได้พูด” เพราะได้ลุกหนีจากห้องประชุมไปเสียก่อน เช่นเดียวกับการอพยพ “ญ่ายหนี” ของครอบครัวตน 2 ครั้งในชีวิต คำถามคือ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
. แม้ว่าในเชิงกระบวนการ “การสัมมนารับฟังความคิดเห็น” จะเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การกระทำแต่ทว่า ในเชิงโครงสร้างทางสังคม คำว่า “สัมมนา” เป็นเรื่องที่ยากแก่การเข้าถึงของประชาชนรากหญ้า ดังประโยคที่ภรรยาของทองปานพูดกับเขาว่า
“เจ้าสิไปคุยกับเจ้ากับนายเพิ่นรู้เรื่องหรือ”
ทำให้เห็นชัดเจนเลยว่า ชาวบ้านยังคงอยู่ในสภาพถูกกดและกีดกันออกไปเป็นคนชายขอบในปริมณฑลแห่งการพัฒนา
. อาจด้วยสำนึกทางชนชั้นด้วย และโดนกดทับด้วยอำนาจของความรู้แจ้งอีกทีหนึ่ง เป็นการเบียดขับให้ทองปานเลือกที่จะเดินออกจากห้องประชุมไป. เพราะตนรู้ว่าเสียง หรือความคิดเห็นที่ตนแสดงออกไป. จะถูกเบียดตกทันที. เพราะเขื่อนมันแพงกว่าชีวิตของเขา
. ทองปาน ภาพยนตร์ที่ผลิตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 ไม่ได้สะท้อนแค่อดีตเท่านั้นแต่ในปัจจุบัน เขื่อนไซยบุรี เขื่อนดอนสะโฮง เขื่อนปากมูล เหมืองแร่ต่างๆ โรงไฟฟ้าถ่านหิน และอีกสารพัสารเพโครงการ ล้วนแล้วแต่มีโครงสร้างการปฏิบัติการ ด้วยวาทกรรมแห่งการพัฒนาที่คร่ำครึไม่ได้สนใจในมิติของชีวิตและสภาพแวดล้อมแต่อย่างใด มาตรว่าจะมีการสร้างวาทกรรมไปต่อต้าน แต่สุดท้ายเสียงของชาวบ้านเป็นแค่สิ่งที่ถูกปัดตกไป หรือไม่ชาวบ้านก็ลุกหนี “ญ่ายหนี” เพราะโครงการพวกนี้มัน “ราคาแพง” กว่าชีวิตของชาวบ้าน
. หากไม่มีการทบทวนวิธีคิด และบริบทของการ. “พัฒนา” ในเชิงนโยบายสาธารณะเสียใหม่ให้สอดรับกับคุณค่าและความหมายที่เปลี่ยนไปของกระแสการตื่นตัวในหมู่ประชาชนในท้องถิ่นด้วยความไวของข่าวสารเช่นปัจจุบัน
สุดท้ายแล้ว “ทองปาน” อาจกลายร่างเป็นข้าพเจ้า หรือท่านผู้อ่าน ในสักวันหนึ่ง เมื่อการพัฒนาอย่างรู้แจ้งนี้เข้าไปคุกคามสิ่งที่เราเรียกว่า “บ้าน”
. สุดท้ายจริงๆ คือ เสียงของชาวบ้าน ในภาพยนต์เรื่องทองปาน (2518–2520) ไม่ใช่สิ่งที่หายไป. มันยังกู่ร้องอยู่เรื่อยๆ แต่มันถูกทำให้หายไปเพราะเพลงชาติตอนเช้านั้นดังยิ่งกว่า.
………………………………………………………………………………………………………..
[1] เป็นการสร้างวาทกรรมเพื่อใช้ต่อต้านอำนาจ (Counter discourse) ต่อต้านระเบียบที่วาทกรรมหลักครอบงำอยู่
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in