เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Go Back To Our SongG
00 : Careless (1976) ค่ำคืนเสมือนฝัน ที่เราทั้งคู่อาจจะไม่ได้พบกันอีก
  • สวัสดี ... แล้วก็ขอบคุณนะที่เข้ามาอ่านไม่ว่าจะหลงทางหรือตั้งใจก็ตาม เราไม่แน่ใจว่าทุกคนจะงงกับหัวเรื่องที่เราตั้งเอาไว้รึเปล่า แต่ถ้าอ่านแล้วคิดว่าบทความนี้มีความเกี่ยวข้องกับเสียงเพลง นั่นก็แสดงว่าทุกคนไม่ได้งงอย่างที่เราสงสัยเอาไว้ตั้งแต่แรกเลย : )


    เราชื่อ 'จี' นะ เรายังคงเป็นวัยรุ่นเท่าที่อายุในตอนนี้จะสามารถให้เราเป็นได้ เอ๊ะ แต่มีใครบางคนเคยบอกเราเอาไว้ว่า "สถานภาพแห่งวัยรุ่นนั้นไม่สามารถวัดจากอายุได้จริง ๆ หรอกนะ" แต่ช่างมันเถอะ ยังไงคน ๆ นั้นก็ไม่ได้อยู่กับเราแล้วอยู่ดี - เราเติบโตในครอบครัวที่นับถือศาสนาดนตรี โดยมีศาสดาเป็น Pink Floyd แน่นอนว่านั่นทำให้เรารักเพลง Progressive เอาอย่างมาก แต่ข้อดียิ่งกว่านั้นคือมันทำให้เรารักดนตรีแทบทุกชนิดบนโลกไปด้วย เราจึงอยากเขียนแนะนำ อัลบั้ม ศิลปิน และเพลงต่าง ๆ ในแบบที่เราเผลอไปตกหลุมรักอย่างฟรีฟอร์ม เพราะเราพูดไม่เก่งเราจึงต้องพิมพ์เอา และเพราะเราเคยฝึกงานบนโต๊ะตัวนั้นในห้องข้าง ๆ กับ Minimore เราจึงอยากเขียนลงที่นี่ ฝากครั้งแรกของเราด้วยนะ (สัญญาว่าฉบับหน้าเราจะไม่ร่ายยาวแบบนี้อีกแล้ว)
  • *** หน้าจอทีวีในวันนั้นคือรายการ 'The Ed Sulivan Show' ซึ่งเปิดโชว์ด้วยการแสดงของวงดนตรีที่ชื่อว่า The Beatles เด็กหนุ่ม Stephen Bishop จับตาดูอย่างไม่กระพริบพร้อมกับปณิธานแน่วแน่ว่าจะต้องเป็นศิลปินบ้างให้ได้ - ช่วงปลายของปี 60's สตีเฟนในวัยที่เกือบรรลุนิตาภาวะพาตัวเองมุ่งหน้าสู่ลอสแอลเจลลิสเพื่อเติมเต็มความฝันนั้น ... 7 ปีต่อมาเขาได้เซ็นสัญญากับ ABC Records และกลายเป็นศิลปินผู้โด่งดังด้วยความสามารถของการแต่งเพลง และ Careless คือหนึ่งในอัลบั้มมาสเตอร์พีซของเขา *** 

       


    เสียงเพลงในอัลบั้มนี้ได้บันทึกช่วงเวลาแห่งความฝัน ณ ปี 70's เอาไว้อย่างละเอียด ความโรแมนติกคืออาหารจานหลักแสนอร่อยที่ไม่มีทางเลี่ยงได้เมื่อเปิดฟัง  ซึ่งชวนให้เราฝันไปไกลถึงภาพความจริงที่มีฉากหลังอันสวยงามราวกับหนังอย่าง Slepless In Seattle (1993) , Manhattan (1979) หรือ When Harry met Sally (1989)

    ทั้ง 12 แทร็กของ สตีเฟน คือ soft pop ที่เป็น 'ป๊อปชั้นดี' (ชั้นดีคือคำยอดฮิตที่พ่อเรามักใช้ต่อท้ายเมื่อเจอเพลงเจ๋ง ๆ) ดนตรีเบาสบายฟังง่าย กลมกล่อม เนื้อเพลงเต็มไปด้วยไวยกรณ์ที่สละสวย และเต็มไปด้วยความหมายจากมุมมองความรักที่งดงาม (เราชอบคำว่า "when the first time is the last time" ใน On and On มากกก) มีทางคอร์ดดี ๆ ในทุกวรรค วรรค วรรค (แต่เราเชื่อว่ากว่าจะมาเป็นไฟนอลอันลงตัวแบบนี้ต้องผ่านการเรียบเรียงยากมากแน่ ๆ) และเนื่องจากสตีเฟนเป็นคนเล่นกีตาร์โปร่งที่เก่ง เสียงอะคูสติกจากเครื่องนี้จึงโดดเด่นและเพราะเอามาก ๆ ที่มาบอกแบบนี้เพราะเรากลัวคุณจะหลงกับเสียงร้องอันนุ่มนวล สุภาพ ทรงเสน่ห์ จนเผลอที่จะไม่ฟังอย่างอื่นไปเลย

    พาร์ทเครื่องสาย (string) คือสิ่งที่ทำให้เพลงของสตีเฟนชวนฝันที่สุดสำหรับเรา เขาเรียบเรียงให้มันมาได้อย่างถูกจังหวะเสมอ ยิ่งฟังยิ่งใจสลาย (ในทางที่ดีนะ) เพลงของสตีเฟนออกจะมินิมอลนิด ๆ คือเราจะได้ยินเครื่องดนตรีอยู่ไม่กี่ชิ้นในทุก ๆ หนึ่งเพลง (แต่ไม่เคยน่าเบื่อทั้งยังเพราะไปซะหมด) และอีกหนึ่งในนั้นที่โดดเด่นคือเหล่าบรรดาเครื่องเป่า (brass section) อันจัดจ้าน ซึ่งตัวเขาเองก็มีความสามารถในการเป่าทรอมโบนด้วย เพลงดังในอัลบั้มอย่าง Careless ที่มีท่อนโซโล่ทรอมโบนหวาน ๆ ก็เกิดจากลมของสตีเฟนนี่ล่ะ

          



    จำที่เราเรียกอัลบั้มนี่ว่าป๊อปชั้นดีได้มั้ย (พึ่งผ่านมาไม่กี่บรรทัดเองใครมันจะจำไม่ได้เล่า) ถ้าลองอ่านเครดิตนักดนตรีแบ๊คอัพของ Careless ดูดี ๆ ก็จะพบว่าการที่สตีเฟนเลือกตำนานอย่าง Eric Clapton , Lee Ritenour , Larry Carlton , Art Garfunkel และอีกมากมายมาร่วมงานด้วย ทำให้คำ ๆ นี้ยิ่งชัดเจนในความหมายอย่างที่ควรจะเป็น แต่ ! เราว่านั่นไม่ใช่ส่วนประกอบสำคัญที่สุดของมาสเตอร์พีซ การเรียงเพลย์ลิสท์ที่งดงามต่างหากที่ทำให้มาสเตอร์พีซเกิดขึ้น ...

    ถ้าเปรียบแทร็ก 1 - 12 เป็นความรัก (และเราคิดว่าคงไม่มีอะไรเหมาะสมที่จะเปรียบไปกว่านี้อีกแล้ว) แทร็กที่ 1 ถึง 4 คือจุดสตาร์ทของความสัมพันธ์ ที่ทั้งคู่พยายามเข้าใจ another side ของกันและกัน และพยายามสร้างช่วงเวลาแห่งความสุขให้ยาวนานที่สุด แต่ธรรมดาของชีวิตคู่ที่ในที่สุดวันหนึ่งเราก็จะเจอวันที่ไม่สามารถเข้าใจกันได้อยู่ดี 

    แทร็กที่ 5 'Madge' จึงเป็นการสร้างระยะห่างเพื่อไม่ให้อีกฝ่ายเผลอทำร้ายกันเอง เป็น 04:03 นาทีแห่งการทบทวนตัวเอง ก่อนจะมาปรับความเข้าใจกันซึ่ง ๆ หน้าใน 'Every Minute' ณ แทร็กที่ 6 แต่ทว่า ... ไม่มีความสัมพันธ์ไหนที่พอตกหล่นแล้วจะสามารถฟื้นคืนขึ้นมาใหม่ได้ง่าย ๆ หรอกนะ แทร็กที่ 8 'Little Italy' จึงเป็นเหมือนการย้ำคำสัญญาว่าความผิดพลาดนั้นของเราจะไม่มีวันเกิดขึ้นอีกแล้ว 



     แทร็กที่ 9 คือเพลงบรรเลงกีตาร์ 33 วินาที ที่ทำให้รู้ว่าความรักของทั้งคู่จบลงอย่างมีความสุข แทร็กต่อมาอย่าง 'Save It For a Rainy Day' จึงเป็นเรื่องราวครั้งใหม่จากชายคนนึงที่ยังไม่แน่ใจว่าจะรักในครั้งนี้จะทำให้เขาช้ำเพราะเธอรึเปล่า ? แต่พอแทร็กที่ 10 'Rock and Roll Slave' ถูกบรรเลงขึ้นมาเราก็พอจะรู้แล้วล่ะว่าชายคนนี้มั่นใจกับรักครั้งนี้มากแค่ไหน : )

    แต่ความรักครั้งนี้กลับแสนสั้นและจบลงด้วยน้ำตาที่เขากลัวตั้งแต่แรกด้วยแทร็กสุดท้ายของอัลบั้ม 'Same Old Tear On New Background' ซึ่งเล่าเรื่องถึงความสุขและความหมายมากมายที่เธอมีต่อเขาในช่วงต้นจนถึงก่อนช่วงสุดท้ายของเพลง และจบลงด้วยประโยค 'ไม่เป็นไร' (I'm alright) ที่แน่นอนว่าเขาไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้นจริง ๆ : (



    ใน Sing Street (2016) ราฟีน่าเคยบอกกับคอนเนอร์เอาไว้ว่า "เธอต้องเรียนรู้ที่จะมีความสุขปนเศร้า" ซึ่งถ้าสมมติว่าเราเป็นคอนเนอร์ เพลงใน 'Careless' ก็จะเป็นความรู้สึกนั้นของเรา  

     




     

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in