คำนำผู้เขียน
– US & THEM
จิรัฏฐ์ไม่เคยอ่าน บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์ เขาบอกกับฉันว่าคิดจะอ่านหลายครั้งแล้ว หากก็เป็นเช่นเดียวกับ เจ้าชายน้อย ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า จิรัฏฐ์ สารภาพว่ารู้จักหนังสือเหล่านี้มาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่เคยและไม่คิดจะอ่านพวกมัน
ให้ตายสิ ชายหนุ่มข้างๆ ฉันโกหกตัวเองว่าเป็นนักอ่านได้อย่างไรกัน
บทสนทนาของเราเกี่ยวกับหนังสือ บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์ เกิดขึ้นในเที่ยวบินโดฮา-อัมสเตอร์ดัม ขณะที่ฉันกำลังนั่งดูแอพพลิเคชั่นที่เล่าเรื่องบ้านของแอนน์ แฟรงค์ ที่เพิ่งโหลดลงโทรศัพท์มือถือระหว่างนั่งรอเปลี่ยนเครื่อง
แผนการในสองเดือนต่อจากนี้ของเราคือบินไปลงเนเธอร์แลนด์ นั่งรถไฟต่อไปเบลเยียม แวะเยี่ยมมิตรสหายที่ฝรั่งเศส ก่อนจะบินต่อไปที่สเปนและอิตาลีตามลำดับ และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมฉันจึงหยิบยกหนังสือที่เป็น ‘a must’ ของประเทศนั้นๆ ขึ้นมาพูด
จิรัฏฐ์เถียงว่า บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์ ไม่ใช่หนังสือที่เป็นสมบัติของคนดัตช์ แอนน์เป็นคนดอยตช์ที่อพยพมาอยู่ในเมืองดัตช์ต่างหาก และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมเขาถึงไม่เคยอ่าน ทั้งเขายังยืนยันอีกว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับความเป็นเนเธอร์แลนด์เลย นอกจากทำเลของบ้านที่ครอบครัวแอนน์ย้ายมาอยู่
จริงของเขา แต่ประเด็นก็คือนอกจากบ้านของแอนน์ที่เป็นแลนด์มาร์กลำดับต้นๆ สำหรับนักท่องเที่ยวทุกคนที่เลือกไปเยือนอัมสเตอร์ดัมแล้ว ฉันให้เขาลองเอ่ยชื่อหนังสือที่เป็น world famous ของเนเธอร์แลนด์ขึ้นมาสักเล่ม
ไม่ใช่ไม่มี เพียงแต่ฉันไม่รู้ และเขาก็ไม่รู้
น่าแปลกเหมือนกันว่าในขณะที่เราเอ่ยชื่อของเรมบรันต์ เฟอร์เมร์ หรือแวน โก๊ะ ผู้คนที่มีความสนใจในศิลปะอยู่บ้างอาจนึกภาพที่ศิลปินทั้งสามคนนี้วาดออก แต่หากพูดถึงนักประพันธ์ เรากลับนึกหน้าใครไม่ออก แต่ก็อย่างที่บอก ไม่ใช่ไม่มี เพียงแค่เราไม่อาจเข้าถึงช่องทางของการอ่านได้
“อีราสมุสไง” เขาโพล่งขึ้นมา
อืมใช่, เรารู้ว่าอีราสมุสเป็นใคร แต่เราทั้งคู่ก็แทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับนักปรัชญาชาวดัตช์คนนี้มากไปกว่าการรู้ว่าชื่อของเขาถูกนำมาใช้เป็นชื่อทุนการศึกษาของสหภาพยุโรป
เราไม่ได้คุยกันต่อถึงประเด็นนี้ ฉันกลับไปจดจ่อกับโทรศัพท์มือถือ ส่วนเขาก็กลับไปอ่านหนังสือของเขาต่อ
“เชยจังเลยที่เราคุยกันถึงตัวแทนของประเทศนั้นประเทศนี้ นี่กำลังจะจัดอันดับนักเขียนโอลิมปิกโลกหรือยังไง” เขาพูดขึ้นหลังจากเราต่างเงียบไปได้ราวห้านาที
ฉันเถียงกลับไปว่า “คนที่บอกตัวเองว่าชอบอ่านหนังสือ แต่ไม่เคยอ่านหนังสือของแอนน์ แฟรงค์ หรือแม้แต่ เจ้าชายน้อย น่าจะเชยกว่านะ”
“เอาน่า อย่างน้อยก็เคยอ่าน พระอภัยมณี สมัยประถมฯ” เขายิ้มให้ฉัน ด้วยคิดว่านั่นคืออารมณ์ขัน
ฉันกลอกตามองขึ้นไปยังช่องเก็บของเหนือศีรษะ...
ลมหนาวปลิดปลิวสีเขียวของต้นไม้ให้เหลือแต่ลำต้นแห้งๆ สีน้ำตาล ดูคล้ายเด็กเพิ่งหัดวาดรูปต้นไม้ มีเส้นตรงเป็นลำต้นและเส้นยึกยือเป็นกิ่งก้าน เรามาถึงอัมสเตอร์ดัมในช่วงปลายฤดูหนาวด้วยหวังว่าอุณหภูมิของยุโรปค่อนไปทางเหนือจะอบอุ่นขึ้นบ้าง ผิดถนัด! ทันทีที่ก้าวเท้าออกจากสนามบิน เราต่างนึกว่ากำลังเดินเข้าสู่ตู้เย็น เมื่อนึกถึงแดดช่วงต้นฤดูร้อนอันแผดจ้าและเหนียวเหนอะที่เมืองไทยแล้ว ฉันเผลอคิดไปว่าดินแดนทั้งสองแห่งอยู่กันคนละโลก
จิรัฏฐ์และฉันเดินทางมาที่นี่หนึ่งเดือนหลังจากเราแต่งงานกัน แต่จะเรียกทริปนี้ว่าเป็นการดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ก็คงไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะนี่เป็นทริปที่เราวางแผนด้วยกันข้ามปีก่อนตัดสินใจแต่งงานกันเสียอีก หนำซ้ำยังมีเพื่อนร่วมทางเพิ่มมาอีกสองคน
พี่แตนกับพี่เหมาเป็นคู่สามีภรรยา และเป็นเพื่อนรุ่นพี่ที่ฉันและจิรัฏฐ์สนิทสนมด้วยที่เชียงใหม่ พี่แตนเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ เคยทำงานอยู่บริษัทเดียวกับจิรัฏฐ์ (และลาออกจากบริษัทมาพร้อมกัน) ส่วนพี่เหมาเป็นข้าราชการที่มีชีวิตอีกภาคเป็นคนทำคราฟต์เบียร์ เราสี่คนพบกันบ่อยๆ ตามร้านกาแฟยามบ่ายและบาร์ยามค่ำ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เราไปเที่ยวด้วยกันไกลๆ
ไม่บ่อยหรอกที่ฉันและจิรัฏฐ์จะไปเที่ยวพร้อมกับเพื่อนคนอื่น เราสองคนไม่นิยมการเฮโลกันเป็นหมู่คณะ และก็ไม่นิยมไปร่วมหัวจมท้ายกับครอบครัวคนอื่นนานๆ ด้วย แต่พี่แตนกับพี่เหมาเป็นข้อยกเว้นที่ต่างออกไป สองคนนี้มีเคมีบางอย่างคล้ายคู่เรา ไม่ใช่เพราะชอบปาร์ตี้ด้วยกันเท่านั้น แต่เราต่างมองโลกด้วยอารมณ์ขันร้ายคล้ายๆ กัน เป็นคู่ที่คอยกวนประสาทกันและกัน ชอบศิลปะเหมือนกัน ชอบดูหนังสยองขวัญเกรดบีเหมือนกัน (อันนี้เฉพาะพี่แตนกับฉัน) เป็นพวกกระแสหลักที่เกลียดความเป็นกระแสหลักเหมือนๆ กัน (อันนี้เฉพาะพี่เหมากับจิรัฏฐ์) และไม่ชอบ
เฮโลกันไปเป็นหมู่คณะเหมือนๆ กัน
ตลกดี, อาจเพราะเราต่างไม่ชอบเที่ยวกันเป็นหมู่คณะ เราเลยเชื่อว่าหมู่คณะของเราจะไปด้วยกันได้!
พี่แตนกับพี่เหมาจะอยู่อัมสเตอร์ดัมกับเราหนึ่งสัปดาห์ ก่อนจะไปเบลเยียมพร้อมกันอีกหนึ่งสัปดาห์ แล้วค่อยแยกกันที่ปารีส พวกเขาจองอพาร์ตเมนต์ในย่านเลอ มาเรส์ (Le Marais) ไว้ ส่วนเราสองคนด้วยกระเป๋าสตางค์ที่บางกว่าและต้องอยู่เที่ยวนานกว่า จึงย้ายไปอาศัยอยู่กับญาติผู้ใหญ่ของฉัน (สลับกับการไปอยู่บ้านของเพื่อนสาวด้วยอีกคน) ทั้งสี่คนนี้ มีพี่เหมาเพียงคนเดียวที่ทำงานประจำ จึงมีเวลาลาพักร้อนจำกัด เขากับพี่แตนจึงต้องกลับก่อนเราหนึ่งเดือน หลังจากนั้นฉันและจิรัฏฐ์จะไปเที่ยวที่เมืองอื่นต่อ
แผนการทั้งหมดถูกวางไว้เช่นนี้ กิน ดื่ม และเที่ยว... กระทั่งระหว่างเครื่องลงจอดที่สนามบินสคิปโฮล (Schiphol Airport) จู่ๆ จิรัฏฐ์ก็ชวนฉันเขียนหนังสือ
“ลองเขียนเป็นเล่มเดียวกันมั้ย แกเขียนบันทึกบ้านเมืองของแกไป พี่จะเขียนถึงผู้คนที่เราเจอระหว่างทาง และเล่าสลับกันคนละบท”—ไอเดียของเขาเป็นเช่นนั้น
อย่างไม่ลังเล ฉันรีบปฏิเสธ
แหงล่ะ ฉันไม่ใช่นักเขียนอาชีพ ด้อยความสามารถในการบันทึกอะไรยาวๆ และทำให้ชวนติดตาม หรือถ้าจะพอมีพลังเขียนอยู่บ้างก็ค่อนข้างมั่นใจว่าชีวิตหลังจากจบทริปนี้ไป น่าจะต้องเคลียร์งานที่คั่งค้างมหาศาล จะให้เอาเวลาที่ไหนไปเขียน
จิรัฏฐ์ยังคงรบเร้า เขาบอกว่าก็ไม่เห็นจำเป็นต้องรีบเขียน มีเวลาเมื่อไหร่ก็เขียนเก็บไว้ จะเสร็จปีนี้ ปีหน้า หรืออีกชาติหนึ่งก็ไม่เห็นเป็นไร ขอแค่ได้เขียน เขาแค่อยากทำมันเป็นที่ระลึก (พูดด้วยท่าทีแบบลุ่มลึกโรแมนติก)
แหม...
“แกจะเขียนแบบไหนหรือเขียนอะไรก็เรื่องของแก แต่อย่าเขียนพวกประโยคเห่ยๆ อย่าง ‘ไปชมกันเลยค่าาาา’ หรือ ‘หากผิดพลาดประการใดก็ขออภัยมา ณ โอกาสนี้ด้วย’ เสียลุคหมด” เขาออกตัว ทั้งที่ฉันยังไม่รับปากว่าจะเขียนด้วยซ้ำ
ที่มาของหนังสือเล่มนี้เป็นเช่นนี้ ฉันเขียนบันทึกถึงเมืองที่เราไปเยือนมา ส่วนจิรัฏฐ์จะเขียนถึงผู้คนในเมืองนั้นๆ ฉันเล่าก่อน เขาเล่าตาม โดยไม่ได้ออกแบบมาก่อนว่าต้องให้เรื่องทั้งสองสอดพ้องหรือต่อเนื่องกัน เช่นนั้นแล้ว จะเลือกอ่านไล่เรียงตั้งแต่ต้นไปจนจบ หรือเลือกอ่านแค่ของคนใดคนหนึ่งก็ได้ทั้งนั้น (แต่ไม่มีส่วนลด 50% ให้นะคะ)
ไม่คิดว่าสุดท้ายฉันก็ตกลงซื้อไอเดียของเขา และที่เซอร์ไพรส์กว่านั้น ฉันเขียนมันจนจบเล่มได้จริงๆ
เอาล่ะ นี่เป็นหนังสือบันทึกการเดินทางเล่มแรกของฉัน พยายามจะเขียนให้ทุกคนได้อ่านสนุก และไม่พยายามหลุดประโยคเห่ยๆ ออกมาอย่างที่นักเขียนข้างกายของฉันเตือน แต่นั่นล่ะ ด้วยความประหม่าเล็กน้อยตามประสามือใหม่ หากผู้อ่านพบเจอความผิดพลาดประการใดก็ขออภัยมา ณ โอกาสนี้ด้วยนะคะ...
ไปชมกันเลยค่าาาา
ไข่มุก แสงมีอานุภาพ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in