เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
มหา’ลัยสายมังงะBANLUEBOOKS
ระหว่างทางความฝันก่อนหน้านี้
  • สวัสดีค่ะ ก่อนอื่นต้องขอแนะนำตัวก่อน ฉันชื่อหมอกค่ะ มาเรียนเกี่ยวกับการวาดการ์ตูนญี่ปุ่นที่มหาวิทยาลัยเกียวโตเซกะ (Kyoto Seika University) ประเทศญี่ปุ่น ส่วนเรื่องราวก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ฉันมาเรียนที่นี่ได้ยังไง ชีวิตมัธยมปลายซึ่งก็เรียนที่ญี่ปุ่นเช่นกันนั้นฉันต้องผ่านอะไรมาบ้าง ถูกเขียนไว้ในหนังสือเล่มแรกของฉันที่ชื่อว่า ม.ปลายสายมังงะ ทั้งหมดแล้ว
  • ความเดิมตอนที่แล้ว

    มัธยมปลาย

    เรื่องมีอยู่ว่า ตั้งแต่เด็กๆ คุณพ่อคุณแม่ชอบซื้อหนังสือนิทานที่มีภาพสวยๆ มาให้ฉันอ่าน ทำให้ฉันชอบอ่านการ์ตูน ชอบดูภาพวาดสวยๆ มาตั้งแต่ตอนนั้น พอได้อ่านได้เห็นเยอะก็อยากลองวาดเองบ้าง พอวาดแล้วคุณพ่อคุณแม่ก็ชื่นชม แม้ว่าผลงานนั้นจะดูแทบไม่ออกว่าเป็นภาพอะไรเลยก็ตาม แต่มันก็ทำให้ฉันชอบวาดรูปมากขึ้นทุกวัน

    พอเข้าสู่วัยประถม ก็ได้รู้จักกับหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น และแอนิเมชั่นญี่ปุ่นที่ฉายในทีวีตอนเช้าวันเสาร์อาทิตย์ ทำให้ฉันเป็นเด็กติดการ์ตูนงอมแงม ภาพที่วาดก็เริ่มเลียนแบบจากการ์ตูนเรื่องต่างๆ แถมยังลองเลียนแบบเนื้อเรื่องและการวาดแบบแบ่งช่องเหมือนในหนังสือการ์ตูนอีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่าพอเอาผลงานพวกนั้นให้คุณพ่อคุณแม่ดู ก็ได้รับคำชมเหมือนเคย (อาจเพราะคุณพ่อสมัยวัยรุ่นก็ชอบวาดการ์ตูนเหมือนกันก็เป็นได้)

    ปัญหามาเกิดก็ตอนเรียนมัธยมต้น ที่ฉันวาดภาพแนวการ์ตูนญี่ปุ่นส่งอาจารย์ในวิชาศิลปะไม่ได้ เพราะอาจารย์ไม่ชอบ... ฉันจึงคิดว่าอีกหน่อยฉันจะไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่นเสียเลย จะได้วาดรูปวาดการ์ตูนได้อย่างที่ต้องการ

    แรกสุดฉันจึงตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เพราะรู้มาว่าที่ญี่ปุ่นมีคณะที่เปิดสอนด้านนี้เยอะ และมหาวิทยาลัยหลายแห่งก็เปิดรับนักศึกษาต่างชาติ แต่พอได้ไปงานนิทรรศการเกี่ยวกับการศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่น ฉันก็พบว่าโรงเรียนมัธยมปลายเมโตกุ (Meitoku Gijuku Highschool) ที่จังหวัดโคจิ กำลังเปิดรับนักเรียนต่างชาติอยู่พอดี และตามประสาคนที่ชอบอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น ก็เลยเกิดอยากจะลองเรียนมัธยมปลายที่ญี่ปุ่นดูสักครั้ง เลยตัดสินใจไปเรียนอย่างกะทันหัน

  • โชคดีที่ฉันเคยเรียนพิเศษภาษาญี่ปุ่นมาก่อน จึงสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่นผ่านถึงระดับ 3 จาก 4 ระดับ (ระดับ 1 คือสูงสุด) ฉันจึงเข้าเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนเมโตกุได้อย่างราบรื่น

    แต่พอเข้าไปเรียนได้ประมาณสองเดือนก็ค้นพบว่าที่โรงเรียนเมโตกุนั้นไม่มีวิชาศิลปะค่ะ!!!

    ความจริงให้ทนเรียนสามปีก็ได้นะ แต่พอเอาไปเล่าให้ที่บ้านฟังว่า “ที่นี่มันไม่มีวิชาศิลปะอะ คุณแม่ขา…”

    คุณแม่ก็เลยนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับคุณป้าแตน (ญาติที่อยู่ที่ญี่ปุ่น) จากนั้นคุณป้าแตนก็ช่วยหาข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนที่มีสอนวิชาเกี่ยวกับการ์ตูนให้ จนเจอกับโรงเรียนมัธยมปลายเท็ตสึคายาม่า (Tezukayama Gakuin Highschool) ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนหญิงล้วน ตั้งอยู่ที่เมืองโอซาก้า และที่สำคัญคือเป็นโรงเรียนที่มีหลักสูตรสายศิลป์-การ์ตูนให้เรียน เจ๋งเนอะ!

    ป้าแตนจึงช่วยติดต่อกับทางโรงเรียนให้ฉันได้ลองไปคุยกับครูใหญ่ ได้ลองทำข้อสอบเก่า ผลคือคะแนนภาษาญี่ปุ่นของฉันออกมาเหลวแหลกมาก แต่คะแนนวิชาศิลปะออกมาดีเยี่ยม และอาจารย์ศิลปะก็ถูกใจผลงาน เขาจึงให้โอกาสฉันได้ทำการสอบเข้าจริง และสุดท้ายฉันก็ได้เข้าเรียนเป็นนักเรียนต่างชาติคนแรกของโรงเรียน โดยมีคุณป้าแตนช่วยเป็นผู้ปกครองให้ตลอดการเรียนมัธยมปลายสามปี ต้องขอขอบคุณคุณป้าแตนจริงๆ ค่ะ
  • การเรียนสายศิลป์-การ์ตูนที่โรงเรียนเท็ตสึคายาม่าทำให้ฉันได้ทั้งเทคนิคการวาดการ์ตูนและวาดภาพประกอบ ได้ลองทำงานศิลปะหลายรูปแบบ ส่วนวิชาสามัญอื่นๆ ต้องเรียนเป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด แต่สุดท้ายฉันก็ผ่านมาได้ แถมยังได้คะแนนดีด้วยนะ

    นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมแบบญี่ปุ๊นญี่ปุ่นในโรงเรียนอีกมากมายที่สามารถพูดได้เลยว่า “เฮ้ย ฉันเคยเห็นฉากแบบนี้ในการ์ตูนมาก่อน คราวนี้ฉันได้สัมผัสมันจริงๆ แล้ว!”

    ถึงบางครั้งจะเหงานิดๆ โฮมซิกหน่อยๆ เพราะฉันต้องอยู่อพาร์ตเมนต์คนเดียว ไหนจะต้องฝึกภาษาญี่ปุ่น ต้องพยายามคุยกับเพื่อนชาวญี่ปุ่น พยายามเรียนตามเพื่อนให้ทัน รู้สึกเหมือนชีวิตมีความยุ่งยากเต็มไปหมด แต่นั่นก็เทียบไม่ได้กับความคุ้มค่าของความรู้และประสบการณ์ที่ได้มาเลย

    พอผ่านชีวิตมัธยมปลายสามปีนั้นมาได้ ก็รู้สึกว่าตัวเองแข็งแกร่งขึ้นอีกสิบเท่า และก็คงจะแกร่งขึ้นไปอีกด้วยการฝ่าฟันชีวิตมหาวิทยาลัยอีกสี่ปี ที่กำลังจะมาถึง!
  • ไปดูมหาวิทยาลัย

    พอเรียนชั้นมัธยมปีที่ 5 และ 6 ก็ถึงเวลาที่ต้องเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย คุณครูภาควิชาศิลปะก็จะเริ่มให้คำแนะนำเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย และคณะที่เปิดสอนสาขาศิลปะ และทางโรงเรียนก็ยังมีคาบเรียนสำหรับพานักเรียนไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยด้านศิลปะในช่วงเช้าของวันเสาร์อีกด้วย (โรงเรียนมัธยมปลายที่ญี่ปุ่นจะมีคาบเรียนวันเสาร์ครึ่งวันเป็นเรื่องปกติค่ะ) เพราะโรงเรียนของฉันตั้งอยู่ในจังหวัดโอซาก้า โรงเรียนจึงพาไปดูมหาวิทยาลัยศิลปะที่อยู่ในเขตคันไซ ซึ่งไม่ไกลกันนัก

    การเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยก็ไม่ใช่แค่ไปเดินดูสถานที่เฉยๆ แต่นักเรียนจะได้ทดลองเรียนและทดลองทำงานง่ายๆ เพื่อช่วยให้ตัดสินใจง่ายขึ้นว่าชอบบรรยากาศ สภาพแวดล้อม และวิธีการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยไหน นอกจากนั้นยังได้ลองรับประทานอาหารกลางวันที่โรงอาหารของมหาวิทยาลัยด้วยค่ะ
  • นอกจากไปดูมหาวิทยาลัยในเขตคันไซที่ทางโรงเรียนจัดให้แล้ว ฉันกับเพื่อนยังชวนกันไปงานโอเพ่นแคมปัสและโอเพ่นคลาสของมหาวิทยาลัยเกียวโตเซกะ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่คุณครูศิลปะที่คุมตอนทดลองทำข้อสอบเข้าเรียนมัธยมปลายเคยบอกว่า ถ้าอยากเรียนต่อด้านมังงะ ก็จะแนะนำมหาวิทยาลัยเกียวโตเซกะนี่แหละ เพราะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่แรกที่เปิดสอนคณะมังงะ และมีอาจารย์ผู้สอนเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งสิ้น

    ที่งานโอเพ่นแคมปัสช่วงเช้าจะมีการแนะนำมหาวิทยาลัยและวิธีการสอบเข้าคณะต่างๆ และมีกิจกรรมของแต่ละคณะให้ได้เข้าร่วมในช่วงบ่าย นอกจากนั้นยังมีการจัดพื้นที่สำหรับให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการสอบเข้า การเรียนการสอน ทุนการศึกษา การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย และอื่นๆ อีกสารพัด

    นอกจากนี้นักเรียนยังสามารถนำผลงานหรือพอร์ตโฟลิโอไปขอคำแนะนำจากอาจารย์แต่ละคณะได้ด้วย

    คิดว่าโดยรวมแล้วน่าจะคล้ายกับงานโอเพ่นเฮาส์ที่ไทยนะ ฉันก็ไม่เคยไปของมหาวิทยาลัยที่ไทยซะด้วยสิ...

  • ส่วนโอเพ่นคลาสคือวันที่มหาวิทยาลัยจะเปิดให้นักเรียนมัธยมเข้าไปดูการเรียนการสอนในห้องเรียนจริงๆ ได้ โดยจะมีการติดป้ายอนุญาตให้เข้าชมการเรียนการสอนตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้หน้าห้อง นักเรียนอย่างพวกเราก็สามารถเดินเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ได้เลย

    โอเพ่นคลาสทำให้นักเรียนอย่างพวกเราได้สัมผัสกับบรรยากาศการเรียนการสอนจริงๆ และยังได้เห็นผลงานของนักศึกษารุ่นพี่ด้วย
    แต่พอได้ไปเยี่ยมชมหลายๆ มหาวิทยาลัยแล้วฉันก็เริ่มมีอาการโลเล ตามประสาวัยรุ่นที่ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองอยากจะเรียนอะไรกันแน่ บางทีก็อยากเรียนด้านภาพประกอบ บางทีก็อยากเรียนสายศิลปกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการ์ตูน หรือบางทีก็สนใจด้านแอนิเมชั่นมากกว่า

    แต่จากการทบทวน คิดตลบหน้าตลบหลังแล้ว สุดท้ายฉันก็เลือกสอบเข้าที่มหาวิทยาลัยเกียวโตเซกะ คณะมังงะ ซึ่งเป็นคณะที่สอนเกี่ยวกับการวาดการ์ตูนญี่ปุ่นโดยตรง

    ต้องขอบคุณวิชาศิลปะตอนมัธยมปลายที่เปิดโอกาสให้ฉันได้ลองศิลปะทุกประเภทที่อยากทำ ทำให้ฉันได้ค้นหาความชอบของตัวเอง และตัดสินใจได้ว่าตัวเองอยากทำอะไร เพราะแค่ชอบวาดรูปอย่างเดียวมันไม่พอ ต้องถามตัวเองด้วยว่าอยากถ่ายทอดผลงานของตัวเองออกมาในรูปแบบไหน อยากจริงจังกับการวาดสิ่งใด และอยากให้สิ่งไหนเป็นแค่งานอดิเรก เพราะงานศิลปะมันมีให้ต่อยอดได้อีกเยอะ

    สุดท้ายฉันก็ลงเอยด้วยการเลือกเรียนต่อด้านการ์ตูนญี่ปุ่นเหมือนที่เคยตั้งใจมาแต่แรก
  • วิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัย

    หลังจากตัดสินใจเลือกมหาวิทยาลัยที่อยากเรียนต่อได้แล้ว ภารกิจต่อไปก็คือการสอบเข้า

    การสอบเข้ามหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นมีรูปแบบการสอบเข้าที่หลากหลาย ซึ่งถ้าศึกษาให้ดีก็อาจจะเพิ่มโอกาสในการสอบติดได้ เช่น สมัครสอบ AO (Admissions Office) ซึ่งเปิดรับเร็วที่สุดก่อน และหากสอบไม่ผ่านก็ไปสมัครสอบตรงต่อ ก็จะทำให้เรามีโอกาสสอบถึงสองรอบ แต่กรณีของฉัน แค่สอบสัมภาษณ์ให้ผ่านก็สามารถเข้าเรียนได้เลย เพราะใช้ระบบโควต้าจากโรงเรียนมัธยมในการสมัคร

    เผื่อว่ามีใครสนใจจะไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น เรามาทำความรู้จักกับระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นคร่าวๆ กันดีกว่าค่ะ

    1. สอบ AO (Admissions Office)

    เป็นการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ไม่ค่อยเหมือนการสอบเท่าไหร่นัก เหมือนมาทำเวิร์กช็อปงานกลุ่มที่มหาวิทยาลัยมากกว่า

    สอบ AO จะเริ่มสอบกันในช่วงเดือนสิงหาคม (ตรงกับปิดเทอมหน้าร้อนตอน ม.6 พอดี) ซึ่งปกติจะใช้เวลาสอบสองวัน แต่คณะมังงะใช้เวลาสามวัน และอาจารย์จะใช้เกณฑ์การประเมินจากผลงาน ความสามารถในการเรียนรู้ และจากการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนในกลุ่ม

    โปรแกรมคร่าวๆ ก็จะประมาณนี้

    1.1 ฝึกใช้อุปกรณ์ (ปากกาจีเพ็น ตัดเส้น)

    1.2 จับกลุ่ม กลุ่มละห้าคน โดยอาจารย์จะเป็นคนกำหนดหัวข้อ แล้วให้ช่วยกันออกไอเดียเรื่องสั้นเกี่ยวกับหัวข้อนั้น

    1.3 นำไอเดียที่ได้จากกลุ่มไปทำเป็นงานเดี่ยว ด้วยการเขียนเป็นเนมมาสองหน้า (เนมคือสเก็ตช์คร่าวๆ ก่อนร่างต้นฉบับจริง ปกติข้อมูลในเนมจะเน้นไปที่บทพูด การแบ่งช่อง และเนื้อเรื่อง ซึ่งจะพูดถึงเนมและมีตัวอย่างในบทต่อๆ ไปค่ะ) เพื่อให้อาจารย์ตรวจวิจารณ์และนำกลับไปแก้ไข

    1.4 ร่างต้นฉบับจริงจากเนม โดยไม่ต้องตัดเส้น

    1.5 อาจารย์จะรวบรวมผลงานของทุกคนมาฉายขึ้นสไลด์หน้าห้อง แล้วคอมเมนต์ไปทีละงานค่ะ

    คนที่สอบผ่าน AO จะถือว่าสอบติดมหาวิทยาลัยแล้ว ก็จะได้รับโจทย์ให้วาดการ์ตูนที่เขียนในช่วงสอบต่อให้เสร็จสมบูรณ์ เป็นการบ้านให้ทำ แล้วนำมาส่งวันเปิดเรียนค่ะ
  • 2. สอบตรง

    หมายถึงการสอบตรงที่มหาวิทยาลัย โดยแต่ละคณะก็จะมีข้อสอบที่ต่างกันไป ข้อสอบของคณะมังงะคือให้วาดการ์ตูนสั้น 3-5 หน้าตามโจทย์ที่ได้รับ เช่น ‘ตุ๊กตาหิมะที่กำลังละลาย’ หรือ ‘เมื่อลอดอุโมงค์ไปก็เจอกับ...’ โดยมีเวลาจำกัดแค่สี่ชั่วโมง เพราะฉะนั้นจึงต้องเน้นการคิดเนื้อเรื่อง สเก็ตช์ภาพด้วยดินสอและเขียนคำพูดคร่าวๆ โดยไม่ต้องตัดเส้น เพราะต้องทำให้ทันเวลา และคะแนนเนื้อเรื่องเองก็มีส่วนพอๆ กับคะแนนวาดเลยค่ะ

    3. ซุยเซ็น (推薦入試)

    เป็นการสอบแข่งขันระหว่างนักเรียนที่ได้ใบแนะนำจากทางโรงเรียนค่ะ ซึ่งปกติโรงเรียนจะมอบใบแนะนำให้กับนักเรียนที่มีผลการเรียนดีในชั้นมัธยมปลาย ส่วนข้อสอบจะเหมือนข้อสอบรับตรงปกติ แต่อัตราการแข่งขันจะต่ำกว่าเพราะคนเข้าสอบถูกคัดกรองมาแล้วนั่นเอง

    4. สอบเทียบคะแนน

    น่าจะคล้ายๆ การสอบ GAT/PAT ของบ้านเรา คือทำข้อสอบกลางของทั่วประเทศแล้วเลือกยื่นคะแนนวิชาที่ดีที่สุดสองวิชา

    แต่คณะมังงะที่ฉันเรียนจะไม่รับนักศึกษาจากการสอบเทียบคะแนนล้วนๆ อาจเป็นเพราะวิชาในข้อสอบมีแต่วิชาสามัญที่ไม่เกี่ยวกับศิลปะและการวาดการ์ตูน ทำให้ดูความสามารถเฉพาะทางของเด็กที่มาสมัครสอบไม่ได้ แต่สามารถเอาคะแนนไปยื่นรวมกับการสอบตรงได้ด้วย คือถ้าสอบตรงอย่างเดียวจะใช้คะแนนจากการสอบวิชาเฉพาะร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หากยื่นคะแนนจากการสอบเทียบคะแนนรวมกันแล้ว ก็จะใช้คะแนนจากการสอบวิชาเฉพาะห้าสิบเปอร์เซ็นต์และคะแนนสอบเทียบอีกห้าสิบเปอร์เซ็นต์ แปลว่าใครที่ได้คะแนนสอบเทียบสูงก็สามารถดึงคะแนนรวมให้สูงขึ้นได้ค่ะ

    5. สอบตรงสำหรับเด็กนักเรียนต่างชาติ

    เป็นการสอบที่ต้องแข่งขันกันระหว่างหมู่เด็กนักเรียนต่างชาติ ทำให้โอกาสเข้าเรียนมีสูงขึ้นเนื่องจากไม่เสียเปรียบด้านภาษา โดยข้อสอบจะเหมือนกับการสอบตรงคือให้วาดการ์ตูนตามโจทย์ภายในเวลาที่กำหนด

    นอกจากนั้นนักเรียนต่างชาติจะต้องสอบผ่าน JLPT (Ja-panese-Language Proficiency Test–สอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น) ระดับ N2 หรือผ่านข้อสอบ EJU (Examination for Japanese University Admission for International Students–ข้อสอบสำหรับสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยญี่ปุ่น) ของ JASSO ในหมวดภาษาญี่ปุ่นสำหรับชาวต่างชาติค่ะ
  • และการสอบแบบสุดท้าย

    6. ชิเทโคซุยเซ็น (指定校推薦)

    คือระบบโควต้ารับตรงที่โรงเรียนมัธยมปลายได้รับจากมหาวิทยาลัย ให้ส่งนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์คัดเลือกของโรงเรียนเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้ โดยไม่ต้องสอบปฏิบัติ แต่สอบสัมภาษณ์อย่างเดียวเท่านั้น

    โรงเรียนเท็ตสึคายาม่าที่ฉันเรียนอยู่ก็มีโควต้าจากมหาวิทยาลัยหลายแห่ง รวมถึงมหาวิทยาลัยเกียวโตเซกะด้วย ซึ่งในปีที่ฉันสอบเข้านั้น คณะมังงะเปิดรับนักเรียนจากเท็ตสึคายาม่าสามคน (นอกจากนั้นก็มีคณะอื่นๆ อีกที่รับ เช่น จิตรกรรม แอนิเมชั่น สถาปัตยกรรม)

    และฉันก็เลือกที่จะสอบเข้าด้วยวิธีนี้นี่แหละค่ะ

    อันดับแรก ฉันต้องคุยกับคุณครูประจำชั้นว่าฉันอยากเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเกียวโตเซกะ คณะมังงะ แล้วคุณครูก็จะเอาใบสมัครมาให้เขียน หลังจากนั้นก็รอทางโรงเรียนประกาศผล จากการคัดนักเรียนสามคนที่เกรดเฉลี่ยสองปีครึ่งสูงที่สุด (ไม่นับเทอมสุดท้ายของ ม.6 เพราะเกรดยังไม่ออก)

    เนื่องจากฉันตั้งใจเรียนมาตลอดก็เลยได้เกรดเฉลี่ยรวม 4.9 (ระบบ ม.ปลายญี่ปุ่นเกรดเต็ม 5) จึงผ่านเกณฑ์การคัดเลือกมาพร้อมกับเพื่อนอีกสองคน

    หลังจากนั้นทางโรงเรียนก็จะส่งเอกสารไปให้มหาวิทยาลัย แล้วฉันก็ต้องไปสอบสัมภาษณ์ค่ะ ซึ่งคุณครูที่โรงเรียนจะแนะนำให้เอาพอร์ตโฟลิโอไปด้วยเพื่อที่อาจารย์คุมสอบจะได้รู้ว่าฉันมีทักษะการวาดและเขียนการ์ตูนแค่ไหน

    ฉันว่าพอร์ตโฟลิโอมีส่วนช่วยตอนสอบสัมภาษณ์ได้เยอะมาก เพราะภายในเล่มจะมีทั้งงานดรออิ้ง งานภาพประกอบทั้งแบบสีและขาวดำ รวมถึงการ์ตูนที่เขียนจากข้อสอบปีก่อนๆ ของมหาวิทยาลัยที่คุณครูเคยให้ลองทำ

  • เช้าวันสอบสัมภาษณ์ ฉันนั่งรถไฟจากโอซาก้าไปเกียวโตพร้อมกับเพื่อนๆ ซึ่งทุกคนดูมีอาการตื่นเต้น ปกติแล้วฉันเองก็เป็นพวกค่อนข้างขี้กังวล เพราะกลัวฟังคำถามไม่รู้เรื่อง กลัวนึกศัพท์ไม่ออก กลัวตอบไม่ได้ แต่ครั้งนี้ฉันสามารถทำใจให้สงบได้ด้วยการบอกตัวเองว่าตอนสอบเข้ามัธยมปลายน่ากลัวกว่านี้ล้านเท่ายังผ่านมาได้เลย

    ระหว่างทางไปมหาวิทยาลัย เพื่อนๆ ก็จะขอให้ช่วยซ้อมตอบคำถามหลายๆ รอบเพื่อความมั่นใจ บางคนพยายามจำชื่อจิตรกรญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียง บางคนเริ่มเปิดดวงประจำวันขึ้นมาดู... แต่เวลาฉันดูดวงพวกนี้ทีไร มักจะออกมาไม่ค่อยดีตลอด (ส่วนมากก็ไม่ค่อยตรงด้วยซ้ำ) ซึ่งก็จะกังวลเปล่าๆ สู้ไม่รู้เลยดีกว่า

    พอถึงเวลาสัมภาษณ์ ฉันโดนเรียกชื่อเป็นคนแรกของกลุ่ม เพราะนามสกุลเวลาเขียนเป็นภาษาอังกฤษแล้วขึ้นต้นด้วยตัว A

    คำถามตอนสอบสัมภาษณ์เป็นคำถามง่ายๆ ทั่วไป เช่น ทำไมถึงอยากเข้ามหาวิทยาลัยนี้ มาญี่ปุ่นได้ยังไง จบแล้วอยากทำ อะไร หนังสือการ์ตูนที่เมืองไทยเป็นแบบไหน น้ำท่วมเป็นยังไงบ้าง (ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เมืองไทยกำลังมีน้ำท่วมใหญ่พอดี) คิดว่าเข้ามหาวิทยาลัยแล้วจะเรียนได้มั้ย ฉันรู้สึกว่าเป็นการสัมภาษณ์กึ่งตอบคำถามกึ่งพูดคุยสัพเพเหระมากกว่า

    ที่จริงตอนสัมภาษณ์ก็ตื่นเต้นนะ แต่อาจารย์ที่สัมภาษณ์ทั้งสองคนเป็นอาจารย์ที่ฉันเคยคุยและให้ดูพอร์ตโฟลิโอตั้งแต่ตอนมาโอเพ่นแคมปัส และอาจารย์ก็เคยมาสอนที่เท็ตสึคายาม่าครั้งหนึ่ง อาจารย์เลยจำฉันได้ ซึ่งช่วยลดความตื่นเต้นลงไปได้มาก

    จะว่าไป การสัมภาษณ์คนแรกก็ดีไปอีกแบบ เพราะจบเร็วก็สบายใจเร็ว สอบเสร็จก็ได้กลับก่อนเลย และวันนั้นฉันยังนัดเพื่อนคนไทยว่าหลังสัมภาษณ์เสร็จจะไปเที่ยวเกียวโตด้วยกันด้วย เรียกว่าเป็นวันสอบสัมภาษณ์ที่ทำตัวตามสบายมาก

    หลังจากนั้นไม่นาน มหาวิทยาลัยก็ส่งใบประกาศผลมาให้ทางโรงเรียนค่ะ ซึ่งผลก็คือ...

    ฉันสอบผ่าน!
  • หลังจากนั้นก็จะได้กรอกใบสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยพร้อมแนบภาพถ่ายติดบัตรไปด้วย ทางมหาวิทยาลัยจะนำไปทำเป็นบัตรนักศึกษา ตามด้วยโอนค่าเทอม แล้วก็คอยเช็กกำหนดการต่างๆ เช่น พิธีเปิดเรียน วันเปิดเรียน วันตรวจสุขภาพ เรียกได้ว่ามีเวลาเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยในระหว่างที่รอวันจบการศึกษาของมัธยมปลายไปด้วย

    ยิ่งใกล้วันก็ยิ่งตื่นเต้น อยากเริ่มเรียนมหาวิทยาลัยไวๆ อยากวาดการ์ตูนจริงจังไวๆ แต่อีกใจก็ยังอยากเป็นเด็กนักเรียนมัธยมปลายต่อ มีอะไรที่ยังอยากทำอีกเยอะ เป็นความรู้สึกที่ชวนสับสนมากๆ

    แต่ถ้าถามว่าความรู้สึกไหนเข้มข้นมากกว่า...

    ก็ต้องบอกว่าความรู้สึกอยากเรียนวาดการ์ตูนนำลิ่วไปไกลแล้วละค่ะ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in