เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เหตุเกิดจากความเหงา Theory of LonelinessBANLUEBOOKS
01 ปฐมกาลแห่งความเหงา
  •    


              ลองหลับตาแล้วจินตนาการว่าคุณได้ย้อนเวลาไปเมื่อ 4 พันล้านปีก่อนเอ๊ะ! ถ้าหลับตาแล้วคุณจะอ่านต่อได้ยังไง เอาใหม่ละกัน ผมขอให้คุณลองอ่านไปด้วย และจินตนาการว่าตัวเองกำลังหลับตาไปด้วย เพื่อให้กลับไปรู้สึกใกล้เคียงกับบรรพบุรุษของคุณ (และของผม) ให้มากที่สุด เพราะเมื่อ 4 พันล้านปีก่อน พวกเขาไม่มีตา ไม่มีหู หรือประสาทสัมผัสอย่างที่เรามีทุกวันนี้ ที่จะใกล้เคียงที่สุดคงเป็นจมูกหรือลิ้น ที่ทำหน้าที่รับสัมผัสของเคมีที่อยู่รอบตัวโอ้ ตรงนี้กรดไปนะ ขยับตัวห่างหน่อย อ๊ะ ตรงนี้เค็มๆ เข้าไปใกล้อีกสักนิด  โอ๊ะๆ สารนี้มันคุ้นๆ นี่มันพวกเดียวกับฉันเองนี่นา ลองเขยิบเข้าไปใกล้ดูสักนิดซิ ว่าจะเป็นยังไงบ้าง
              แล้วนี่เป็นจุดเริ่มต้นของความเหงาครับ



              เพราะเมื่อเหล่าบรรพชีวินเซลล์เดียวเริ่มจับกลุ่มกันเองกับเพื่อนๆ พี่ๆน้องๆ ของมัน ความเป็นกรดด่างหรือสารพิษที่มีอยู่ในสมัยที่โลกยังแบเบาะก็ทำร้ายพวกมันได้ยากขึ้น ปัจจุบันเราพบว่าแบคทีเรียหลายชนิดผลิตชั้นฟิล์มบางๆ ที่เรียกว่า Biofilm ขึ้นมาเพื่อปกป้องตัวเองจากสารพิษต่างๆ การที่แบคทีเรียอยู่รวมกัน  ทำให้พวกมันใช้พลังงานกับการผลิต Biofilm นี้น้อยกว่าเดิม ลองเปรียบเทียบว่าถ้าคุณจะห่อขวดน้ำ 6 ขวดด้วยฟิล์มถนอมอาหารทีละขวด เทียบกับการที่จับขวดน้ำ 6 ขวดรวมกันแล้วห่อด้วยฟิล์มทีเดียว การม้วนรวบทีเดียวหลายๆ ขวดย่อมประหยัดฟิล์มมากกว่าอยู่แล้ว การอยู่รวมกัน
    จึงทำให้พวกมันทั้งปลอดภัยมากกว่าเดิมและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หลังจากนั้นแบคทีเรียต่างๆ ก็เริ่มอยู่เกาะกลุ่มกันเป็นหมู่มากกว่าจะใช้ชีวิตอยู่ตามลำพัง เพราะในเมื่ออยู่กันเป็นหมู่นั้นดีกว่า เราจะใช้ชีวิตแยกกันให้เหงาทำไม
              คงมีคนเถียงว่า แบคทีเรียมันไม่เหงาหรอก มันไม่มีสมอง ในเมื่อไม่มีสมองก็ไม่มีความรู้สึก และความเหงาก็เป็นความรู้สึกอย่างหนึ่ง มันจะเหงาได้อย่างไร
              แบคทีเรียคงไม่ได้รู้สึกเหงา อยากได้ใครสักคนเป็นเพื่อนคุย ไปเที่ยวแฮงเอาต์ด้วยกันแบบมนุษย์เราแน่ๆ แต่มันถูกโปรแกรมในระดับเซลล์เลยว่ามันไม่ควรจะอยู่ตัวเดียวเพื่อการอยู่รอดของมันเอง และหากเราตีความหมายของคำว่าเหงา คือความทุกข์ที่เกิดจากการไม่ได้อยู่ร่วมกับคนอื่นๆ เท่าที่เราคาดหวังไว้ นั่นก็น่าจะแปลว่าความเหงาของแบคทีเรีย คงไม่ได้ต่างจากมนุษย์เราเท่าไหร่จะเห็นได้ว่า แม้ในสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ก็ยังรู้จักกับความเหงาและเข้าใจถึงอันตรายจากความโดดเดี่ยวเป็นอย่างดี จริงๆ แล้วในร่างกายของเราก็เกิดขึ้นมาจากการที่สิ่งมีชีวิตเล็กๆ นั้นกลัวที่จะต้องเผชิญกับอันตรายต่างๆพวกมันก็เลยเลือกที่จะมาร้อยเรียงกันเป็นมือ เป็นขา เป็นตา เป็นปาก เพื่อต่อสู้กับโลกใบนี้ได้เมื่อเราวิวัฒนาการเป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น ความกลัวเหงาของเราก็ยิ่งซับซ้อนขึ้นไปด้วย เริ่มจากกลัวความเป็นกรดด่างของน้ำทะเล ก็กลายเป็น กลัวนักล่า กลายเป็นกลัวการไม่มีอาหาร ความกลัวเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

              ในวิวัฒนาการของสัตว์สปีชีส์ต่างๆ และในหลายๆ สปีชีส์ก็ใช้วิธีการรวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับความกลัวเหล่านี้ จนกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าสัตว์สังคมในที่สุดหนังสือเล่มนี้ เราจะพูดกันถึงเรื่องสัตว์สังคม และความเหงาในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้คุณเข้าใจว่าสองสิ่งนี้ฝังรากลึกอยู่ในเรา และสัมพันธ์กับสิ่งที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้มากแค่ไหน แต่ก่อนจะเดินทางไปล้วงลึกความรู้สึกของมนุษยชาติ ผมอยากเล่าถึงทฤษฎีวิวัฒนาการที่เกี่ยวกับต้นกำเนิดของสัตว์สังคม ว่าเกิดมาบนโลกนี้ได้อย่างไร และอะไรที่ทำให้มันคงอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in