ปกติการเล่าหรือการพูดคุยเป็นทางเลือกเดียวที่เราใช้ระบายความเครียดตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา คุยกับคนรอบข้างบ่อยจนรู้สึกได้ว่า “เราไม่อาจถ่ายทอดประสบการณ์ที่ไม่น่าฟังให้คนตรงหน้าทุกวันได้ คงไม่มีใครอยากจะมาแบกเรื่องราวที่มันไม่ได้ให้พลังงานที่ดี” แล้วอะไรล่ะ ที่มันจะ effective พอ ๆ กับการเล่าจากปาก
ความอึดอัดดำเนินต่อไปจนตัดสินใจสมัคร account ส่วนตัวใน IG แล้วสาดโครมความอดสูทั้งหมดลงไปในนั้น ระยะเวลาแค่คืนเดียวที่นอนข้ามวันมาก็ตื่นมาพร้อมกับความรู้สึกเบาแบบบอกไม่ถูก เหมือนเราไม่ได้ทิ้งประสบการณ์แย่พวกนั้นไปลอย ๆ แต่มันมีชีวิตอยู่ใน account นั้นเหมือนโดนผนึกไว้ เลยได้ไอเดียว่า
"เราไม่จำเป็นต้องลืมหรือหาทางขจัดเรื่องราวของตัวเอง แค่หาที่ให้มันอยู่"
คำถามคือแล้วทำไมมันต้องมีที่อยู่? หรือเก็บมันไว้ทำไม? ส่วนตัวเป็นเพราะเราไม่ได้อยากทิ้งมัน แค่สภาวะในตอนนั้นมันยังไม่พร้อมที่จะทำงานกับความรู้สึกแบบนั้น เลยอยากหาถังพักมันไว้ก่อน
การที่มันยังอยู่ตรงนั้นมันหมายความว่าเรากลับไปทำงานกับมันตอนไหนก็ได้ที่พร้อม ถ้าได้ลอง recapture การเติบโตของตัวเองผ่านการเขียน คงให้คุณค่าเทียบเคียงกับภาพถ่ายที่เป็นสัญลักษณ์ของร่องรอยประสบการณ์ชีวิตในแต่ละช่วง อย่างน้อยก็ดีกว่าการเบ็ดเสร็จทุกอย่างในหัว จนใช้พลังงานร่างกายไปกับการรับมือความเครียดแบบไม่มีพื้นที่ให้วาง
สำหรับเราการเขียนมันช่วยเปลี่ยน form ของสิ่งที่อยู่ในหัวมากลายเป็นตัวหนังสือ มันถูกจัดการได้ง่ายขึ้นเมื่อเราเห็นความกระจัดกระจายนั้นแล้วเล่ามันใหม่ จากความรู้สึกที่เราตัวเล็กกว่าเรื่องราวของตัวเอง เมื่อมันกลายมาเป็นชุดตัวหนังสือหรือบทความที่กองอยู่ตรงหน้าก็จะสามารถ in control มันได้ดีขึ้น
”วิธีการเล่า” มันสะท้อนได้ชัดมากว่าเรามีพลวัตทางความคิดยังไง เรื่องเดียวกันแต่ถูกเล่าในเวลา อารมณ์ และเหตุปัจจัยที่ต่างกัน ก็ให้ภาพที่ต่างกัน เหมือนได้แปลงความเครียดอยู่ในระดับแนวคิด (Conceptual Layer) กลายมาเป็นสิ่งที่ดูจับต้องได้
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in