เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
มิชชั่น กินพอสสิเบิล JAPAN SUPER BOWLSALMONBOOKS
คำนำ

  • 1
    มีคำถาม—เราจะรู้ได้ยังไงว่า อะไรคือสิ่งที่ไร้สาระ?

    เดินเรื่อยเปื่อยไร้จุดหมาย / หายใจเข้าออกอย่างไม่ก่อประโยชน์อะไร / นั่งเล่นเกมทั้งวัน / สะสมฝาขวดน้ำอัดลม / ซื้อขนมเพื่อลุ้นของแถมที่อยู่ในนั้น / ส่งไปรษณียบัตรหนาปึ้กหวังจะได้เที่ยวยุโรป / นั่งมองเมฆแล้ววาดรูปตาม / หรืออะไรอีกดี / หัดร้องเพลงเลียนเสียงคนนู้นคนนี้ / เอาเมนทอสห่อตัวแล้วกระโดดลงอ่างที่เต็มไปด้วยน้ำอัดลม / วิ่งชนกันอย่างรุนแรงระดับตายได้เพื่อแย่งชิงลูกบอลยางเบี้ยวๆ ลูกหนึ่ง / หรือตีตั๋วไปต่างประเทศเพื่อกินอาหารชามยักษ์

    เราจะรู้ได้ยังไงว่า อะไรคือสิ่งที่ไร้สาระ?

    2
    อย่างที่เรารู้กัน ประเทศญี่ปุ่นเป็นเมืองที่ชอบทำอะไร ‘เกินๆ’ อยู่เสมอ พวกเขาชอบการช่วงชิงความเป็นที่หนึ่ง ขยันสร้างความแตกต่าง โดยเฉพาะเรื่องการกิน เห็นผ่านทีวีทีไรก็น้ำลายสอทุกครั้ง โดยเฉพาะอาหารจำนวนมากที่ถูกอัดอยู่ในเมนูเดียว กลายเป็นชามยักษ์ที่เห็นแล้วอยากจะไปปราบซะให้เรียบ!

    แต่นั่นแหละ เมื่ออยู่บนโทรทัศน์ เราก็คิดว่ามันเป็นเรื่องแฟนตาซีและเกินจริง ก่อนจัดให้เป็นแค่เรื่องบันเทิงเท่านั้น โปรแกรมตามรอยอาหารชามยักษ์ถึงไม่ค่อยอยู่ในลิสต์การท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นของคนปกติ

    ซึ่งก็จริง...ไปญี่ปุ่นทั้งที เรื่องอะไรจะไปทำเรื่องที่ดู‘ ไร้สาระ’ ยังงั้น?

    แต่วิชัยเลือกที่จะทำ!

    3
    นั่นทำให้เราเกิดคำถามอีกข้อ—การตามล่าอาหารชามยักษ์ต่างอะไรกับกิจกรรมชนิดอื่น ยกตัวอย่าง อเมริกันฟุตบอลที่ชวนสงสัยว่า มนุษย์ควรจะมาวิ่งไล่ลูกบอลยางเบี้ยวๆ แค่ลูกเดียวนั่นด้วยหรือ?

    มันคงไม่ผิด ที่เราต่างให้ค่ากับอะไรไม่เหมือนกัน บางคนอาจคิดว่า ควรสิ เพราะมันมีคุณค่า เป็นกีฬาที่มีเกียรติ ฯลฯ ในขณะเดียวกันก็มีคนคิดว่า ไอ้หนุ่มยี่สิบกว่าคนนี้สติยังดีอยู่มั้ย ทำไมต้องลงมาวิ่งไล่ลูกบอลเหมือนหมาคาบเป็ด ไร้สาระ

    แต่ไม่ว่าจะฝ่ายไหน เราก็เห็นตรงกันใช่มั้ยว่า เหงื่อของนักกีฬาเหล่านั้นเป็นของจริง วิ่งจริง เจ็บจริง และน้ำตาแห่งความปีติจากชัยชนะ นั่นก็ไม่น่าใช่น้ำตาเทียมหรอก

    ที่ว่ามาทั้งหมด เราเพียงจะบอกว่า เราชอบคนแบบนี้ คนที่ชอบท้าทายไปกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แม้เป้าหมายเล็กกระจิ๊ด

    ทว่าตั้งใจ ภารกิจพิชิต ‘อาหารชามยักษ์’ หรือ ‘Super Bowl’ ของวิชัยในหนังสือเล่มนี้ จึงไม่ต่างอะไรกับเป้าหมายของนักอเมริกันฟุตบอลที่วิ่งฝ่าวงล้อมคู่แข่งล่ำบึ้กนับสิบชีวิตเพื่อเข้าไปวางทัชดาวน์

    ที่สำคัญ มันอ่านสนุกยังกะนั่งดู LIVE จาก NFL

    4
    มีคำถาม—เราจะรู้ได้ยังไงว่า อะไรเป็นสิ่งไร้สาระ

    และถ้ามันไร้สาระจริงแล้วจะทำไม 

    ถ้าเราตั้งมั่น

    และจริงใจที่จะทำมัน?

  • ทุกครั้งที่เขียนหนังสือ สิ่งที่ยากที่สุดและน่าเบื่อที่สุดคือการเขียนคำนำ

    ทำไมโลกนี้ต้องมีคำนำด้วยวะ? มันเขียนยากรู้มั้ย

    เขียนต้นฉบับยี่สิบกว่าตอน ก็เหนื่อยมากแล้ว ยังต้องมาเขียนคำนำอีก

    ไม่เขียนไม่ได้เหรอวะ?

    ไม่ได้ใช่มั้ย?

    เออ…งั้นเขียนก็ได้

    วันก่อน ผมประชุมเขียนบท เพื่อถ่ายทำงานชิ้นหนึ่งกับ เบ๊น—ธนชาติ ศิริภัทราชัย ตามท้องเรื่อง มันจะมีตัวละครตัวหนึ่งที่ต้องออกมาพูดเรื่องโคตรไร้สาระ แต่เราต้องการความจริงจังในระดับที่ทำให้คนดูมีความรู้สึกว่า “เฮ้ย มันจริงเหรอวะ?”

    ด้วยเวลาเพียงสามวินาที เราสองคนมีมติว่าตัวละครสำคัญตัวนี้ต้องเป็นนักแสดงญี่ปุ่น

    เหตุผลก็คือ เวลาคนญี่ปุ่นพูดอะไรมันดูน่าเชื่อถือมาก ถึงแม้เรื่องที่พูดจะไม่น่าเชื่อถือก็ตาม เพราะพวกเราเคยชินกับความจริงจังในเรื่องไร้สาระของประเทศนี้อยู่แล้ว

    วันก่อน (อีกแล้ว) ไปกินข้าวแกงกะหรี่กับ บัฟโฟ่ ที่ร้าน CoCo Ichibanya ซึ่งสามารถปรับระดับความเผ็ดได้ 5 ระดับ

    บัฟโฟ่บอกว่า ได้ยินมาว่าร้านนี้ที่ญี่ปุ่นสามารถปรับความเผ็ดได้ 20 ระดับ

    …จะบ้าเหรอวะ มึงจะเผ็ดไป 20 ระดับให้ได้เหรียญทองโอลิมปิกเหรอครับ

    แต่นั่นแหละครับ ประเทศญี่ปุ่น

    ผมเคยดูเกมโชว์ญี่ปุ่นรายการหนึ่ง เป็นรายการพาชิมอาหารแปลกๆ โดยเทปที่ผมดูนั้น เขาพาไปกินทาโกะยากิ ร้านนึงที่มีให้เลือก 50 รส ซึ่งแต่ละรสแปลกประหลาดมาก มีตั้งแต่เนื้อวัว เนื้อแกะ รสกุหลาบ ไปจนถึงรสข้อศอกดารา (คือจำรสแน่นอนไม่ได้น่ะครับ แต่มันเป็นรสชาติที่มนุษย์โลกไม่สามารถปรุง และไม่น่าจะกินกันแน่ๆ)

    ด้วยรสชาติประหลาดโลกแบบนี้ ร้านเขาทำยังไง?

    พิธีกรก็สั่งรสกุหลาบมา พ่อครัวก็เริ่มทำทาโกะยากิด้วยวิธีปกติ ใส่แป้ง ใส่ปลาหมึก แล้วก็นำมาเสิร์ฟแบบธรรมดาๆ แต่ก่อนที่ลูกค้าจะเอาทาโกะยากิเข้าปาก คนขายมองหน้า...ดีดนิ้ว และพูดว่า “นี่คือทาโกะยากิรสกุหลาบ!”

    พิธีกรเอาทาโกะยากิเข้าปาก แล้วมันก็กลายเป็น ‘รสกุหลาบ’ จริงๆ ด้วย! พิธีกรลองทาโกะยากิอีกหลายรส ซึ่งก็ได้รสประหลาดๆ อย่างที่โฆษณาจริงๆ 

    มันไม่ใช่การแหกตา แต่พ่อครัวไปฝึกมาจริงๆ ไม่ใช่ฝึกการทำอาหารนะ แต่ฝึกการสะกดจิต!

    สะกดจิตให้สมองผลิตรสชาติที่ต้องการโดยตรง!

    “มึงทำไปทำไมวะ?” ผมอุทานเบาๆ

    “ผมอยากให้คนได้กินทาโกะยากิหลายๆ รสชาติน่ะครับ” เจ้าของร้านตอบในทีวี

    “เออ กูยอม!” ผมคิดในใจ

    นั่นแหละครับ...ประเทศญี่ปุ่น

    ผมชอบประเทศญี่ปุ่น

    นอกจากจะชอบเหมือนกับที่คนอื่นเขาชอบกัน ผมยังชอบความจริงจังของประเทศนี้ 

    ญี่ปุ่นมีความจริงจังในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ความมีระเบียบ การออกแบบ หรือกระทั่งเรื่องที่ดูเหมือนไร้สาระงี่เง่าอย่างทาโกะยากิสะกดจิต

    หลายอย่างเราดูแล้ว ต้องอุทานออกมาเบาๆ ว่า “มึงจะทำไปเพื่ออะไร”

    แต่ดูเหมือนว่าไม่ว่าเรื่องนั้นจะไร้สาระแค่ไหน เมื่อถูกเติมด้วยความจริงจังแบบคนญี่ปุ่นเข้าไป มันจะดูสนุกขึ้นมาอีกหลายเท่าตัว

    ด้วยความจริงจังในเรื่องไร้สาระแบบนี้ ผมเลยมีโจทย์ในการไปเที่ยวญี่ปุ่นว่า จะไปกินอาหารจานยักษ์ให้ได้

    โดยการหาข้อมูลงูๆ ปลาๆ เท่าที่หาได้ แล้วไปเสี่ยงดวงเอาดาบหน้าที่ประเทศญี่ปุ่น โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันจะเป็นไปได้จริงๆ หรือเปล่า

    ผมพบว่าทั้งหมดเป็นทริปที่น่าจดจำมาก

    ไม่ได้น่าจดจำเพราะเราได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นกับแฟน

    แต่มันน่าจดจำเพราะครั้งหนึ่ง เราตั้งใจทำเรื่องที่ไม่รู้ว่าเป็นไปได้หรือเปล่า ให้เป็นไปได้จริงๆ

    ถึงแม้มันจะเป็นแค่เรื่องไร้สาระอย่างการไปไล่กินอาหารชามยักษ์ก็ตาม

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in