เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
SIAM DISCOVERY สยาม มนุษย์ สถิตSALMONBOOKS
01: มนุษย์ติ่ง

  • ในกรุ๊ปไลน์ที่ผมเป็นสมาชิกอยู่ มักมีการอัพเดตข่าวสารสัพเพเหระอยู่เสมอ ไล่ตั้งแต่มือถือลดราคา แบรนด์นั่นนี่เซลล์ล้างโลก ถนนเส้นนี้รถติดเพราะมีอุบัติเหตุ วิธีลดความอ้วนในเจ็ดวัน รัฐประหารอีกแล้วนะ มึงรู้หรือยัง และอื่นๆ อีกมากมาย

    ปกติผมจะเป็นผู้รับข่าวสารฝ่ายเดียว ไม่ค่อยส่งข้อความอะไรเท่าไหร่ แต่นานทีก็มีแชร์ข่าวกับเขาบ้าง ซึ่งข่าวที่ผมมักจะแชร์ในกรุ๊ปไลน์อยู่เสมอคือ

    ‘วันนี้ติ่งเกาหลีบุกสยาม โปรดระวัง’

    เพียงแค่นี้เพื่อนๆ ในกรุ๊ปก็จะเข้าใจทันทีว่า วันนั้นต้องมีอีเวนต์อะไรสักอย่างเกี่ยวกับนักร้องเกาหลีที่สยามแน่นอน ผู้คนต้องมากมายมหาศาล เสียงกรีดร้องระงมดังไปทั่ว หากไม่ต้องการพบกับความโกลาหลหรืออยากมีชีวิตอันสงบสุข ก็ควรจะจรลีหนีไปที่อื่น

    เพื่อนผมหลายคน (ที่ตอนนี้ก็อยู่ในวัยสามสิบกันแล้ว) มักจะบ่นถึงเหล่าติ่งเกาหลีในทำนองว่า “เด็กพวกนี้มันว่างมากหรือไง” “ทำไมต้องแห่กันมาที่สยามด้วย คนแน่นแทบเดินไม่ได้” “วันก่อนเดินผ่าน กรี๊ดกันหูกูแทบดับ”

    ...แต่ช้าก่อน ‘มนุษย์ติ่ง’ ในสยามไม่ได้เพิ่งจะมีในยุคนี้

    ที่จริงมันมีมาตั้งนานแล้ว แถมอีพวกที่บ่นๆ เนี่ย กูจำได้นะว่าแต่ก่อนมึงก็เคยเป็นมนุษย์ติ่งที่สยามเหมือนกัน!


  • ย้อนกลับไปเมื่อช่วงยุค 90s

    สมัยนั้นเป็นยุคของกระแสเจแปนฟีเวอร์ ยุคทองของละครญี่ปุ่นที่ได้ฉายช่วงหลังข่าวทางช่อง ITV ยุคสมัยที่เด็กสาวเกือบทุกคนติดโปสเตอร์ของ ทักกี้—ฮิเดอากิ ทาคิซาว่า (Hideaki Takizawa) ไว้ในห้องนอน ยุคทองของทามาก็อต เกม Dance Dance Revolution ตู้ถ่ายรูปสติ๊กเกอร์

    ช่วงนั้นเทรนด์เพลงฮิตจะแบ่งเป็นสองฟากด้วยกันคือ เจร็อค เช่น X Japan, Luna Sea, L’Arc-en-Ciel, Glay และฝั่งเจป๊อป (หนุ่มๆ ค่าย Johnny เช่น Arashi, Tackey & Tsubasa) ส่วนเพลงเกาหลีนี่ลับแลมาก ใครฟังถือว่าโคตรอินดี้

    นึกภาพตามก่อนว่า สมัยนั้นอินเทอร์เน็ตยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่าการแชตหรือเว็บบอร์ด ดังนั้นติ่งญี่ปุ่นที่อยากจะเมาท์มอยแลกเปลี่ยนความเห็นก็ต้องนัดกันในที่สาธารณะเพื่อพบเจอกันแบบตัวเป็นๆ และมันก็ต้องเป็นสถานที่ที่วัยรุ่นทุกคนรู้จัก ดังนั้นผู้ที่รับกรรมไปก็คือ ‘สยาม’ นั่นเอง

    มีความตลกว่าในยุคนั้น แฟนคลับฝั่งเจร็อคกับเจป๊อปเหมือนจะแยกกันอย่างชัดเจน (บ้างก็ว่าไม่ค่อยถูกกัน) แม้แฟนคลับทั้งสองฝั่งจะชอบนัดที่สยามทุกวันเสาร์เหมือนกัน (อันนี้กูก็ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่แบ่งไปวันอาทิตย์บ้าง หรือว่าเป็นวันครอบครัว?) แต่ก็ตั้งรกรากอยู่คนละฟากฝั่งแบบชัดเจน

    กลุ่มเจร็อคมักสุมหัวกันที่ชั้นสามของร้าน Burger King (เคยอยู่ตึกที่ถัดจากโรงหนังลิโด้ ปัจจุบันเป็นร้าน Pepper Lunch แต่เหมือนล่าสุดจะปิดไปแล้ว อ้าว!) ส่วนกลุ่มเจป๊อปจะอยู่ที่ฟู้ดคอร์ตตรงชั้นสองของห้างฯ สยามเซ็นเตอร์ ซึ่งสมัยก่อนยังเป็นฟู้ดคอร์ตแบบบ้านๆ อารมณ์ฟู้ดคอร์ตห้างฯ มาบุญครอง ไม่ได้วูบไหวหวือหวาเหมือนทุกวันนี้

    ช่วงแรกกลุ่มติ่งญี่ปุ่นก็มีไม่เยอะเท่าไหร่ อาจจะมีแค่สิบคน แต่ภายหลังกลุ่มก็เริ่มใหญ่โตมากขึ้น อารมณ์ว่าชวนเพื่อนหรือรุ่นน้องมาแจมด้วย (อย่างตัวผมเองที่รู้ว่ามีกลุ่มติ่งญี่ปุ่นมาซ่องสุมกันแถวสยามก็เพราะเพื่อนลากไป) พวกหน้าใหม่ตอนแรกที่มาก็จะเขินๆ หน่อย แต่ถ้าจูนกันติด ก็จะเริ่มไปลากเพื่อนมาเฮกันเพิ่ม จนตอนหลังกลุ่มติ่งญี่ปุ่นขยายเป็นยี่สิบสามสิบคน ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาก็งงว่านี่มันเกิดอะไรขึ้น มีก่อม็อบประท้วงอะไรหรือเปล่า

    สงสัยกันใช่มั้ยครับว่า แล้วพวกติ่งญี่ปุ่นมันนัดมาสุมหัวทำอะไรกันทุกวันเสาร์? ก็อย่างที่บอกไปครับว่า มันเป็นยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต การอยากได้ข่าวสารอะไรของนักร้องก็ใช้วิธีมาสุมหัวกัน (อารมณ์คุยกับชาวบ้านเหมือนในเกม RPG) ข่าวสารของศิลปินมักจะเป็นเชิงเล่าต่อกันมาแนวมุขปาฐะมาก เช่น “แกๆ พี่ฉันที่ไปเรียนญี่ปุ่นส่งจดหมายมา เขาบอกว่านักร้องวง XXX มีแฟนแล้วอะแก๊!” ซึ่งก็ไม่อาจรู้ได้เลยว่า ข่าวมันจริงมั้ย เพราะเน็ตก็ไม่มี นิตยสารเพลงญี่ปุ่นก็มีน้อย แถมไอ้ข่าวนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ นักร้องที่ว่าอาจจะเลิกกับแฟนไปแล้ว หรือแฟนอาจจะท้องจนคลอดเรียบร้อย แต่ด้วยความมืดบอดทางข้อมูลข่าวสาร ก็ตีมึนเชื่อกันไป บางข่าวมารู้ว่าเป็นเรื่องเมกก็ตอนที่ผ่านไปแล้วสามปี...

    อีกกิจกรรมหลักของกลุ่มติ่งญี่ปุ่นก็คือ การแลกกันดูของ เช่น รูปถ่าย นิตยสาร ซีดี ซึ่งบางทีก็เป็นเรื่องแบ่งชั้นวรรณะเล็กน้อย เพราะจะมีบางคนที่บ้านรวย มีปัญญาสั่งของอิมพอร์ตมาจากญี่ปุ่นได้ (ซีดีญี่ปุ่นตกแผ่นละ 1,200-1,500 บาท) แน่นอนว่าติ่งญี่ปุ่นที่ส่วนใหญ่อยู่ในวัยมัธยมสู้ราคาไม่ไหวแน่นอน แถมตอนนั้นการสั่งของจากต่างประเทศก็ดูเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อนมาก เว็บ Amazon คืออะไรยังไม่รู้จัก ดังนั้นพวกแฟนคลับไฮโซก็จะเอาไอเทมต่างๆ มาอวดให้เหล่าแฟนคลับจัณฑาลได้ดูเป็นบุญตา ซึ่งไม่ใช่แค่ซีดี บางทีมีทั้งโปสเตอร์ พัด ผ้าเช็ดตัว บ็อกซ์เซ็ต สุดยอดแรร์ไอเทมนั่นนี่ ผมว่าในใจลึกๆ แล้วทุกคนอยากจะรุมตบอีนี่ แล้วขโมยของกลับบ้านให้รู้แล้วรู้รอด

    กิจกรรมที่ว่ามาอาจฟังดูล่องลอยและเรื่อยเปื่อยมาก แต่กลุ่มติ่งญี่ปุ่นก็สามารถนั่งที่สยามได้ทั้งวัน นั่งกันตั้งแต่ห้างฯ เปิดยันห้างฯ ปิด (ย้อนคิดกลับไปก็ไม่เข้าใจว่าแม่งจะคุยอะไรกันนานขนาดนั้น) หรือที่ฮามากคือ หลายคนไม่ได้มาสยามเพื่อเมาท์กับติ่งญี่ปุ่นอย่างเดียว แต่มาเรียนพิเศษด้วย คนที่เรียนเช้าก็มาเข้ากลุ่มตอนบ่าย คนที่เรียนบ่ายก็มาเข้ากลุ่มตอนเช้า การยึดพื้นที่สยามเลยยิ่งยืดเยื้อเข้าไปอีก
  • แน่นอนว่า นั่งกันนานข้ามชาติขนาดนี้ ทั้งร้านอาหารห้างฯ พนักงาน และยาม ก็ย่อมชิงชังพวกติ่งแน่นอน อาหารก็ไม่ค่อยจะซื้อ มากันเป็นสิบมึงซื้อน้ำสองแก้ว (ก็พวกหนูเป็นแค่เด็กมัธยม) แถมหลายครั้งก็ส่งเสียงดังสนั่นลั่นโลก ปัญหาเหล่านี้ก็นำมาซึ่งสงครามจิตวิทยาหลายรูปแบบ มีตั้งแต่แบบตรงไปตรงมา คือเดินเข้ามาตักเตือน หรือแบบอ้อมๆ เช่นส่งพนักงานทำความสะอาดมาแหย่ๆ ไม้ถูพื้นมาถูตรงที่เรานั่งบ่อยๆ แน่นอนว่าติ่งญี่ปุ่นก็ทนทานนั่งกันต่อไป คิดแล้วก็ยังแปลกใจว่ารอดชีวิตมาโดยไม่ถูกตบกบาลได้ยังไง อย่างสมัยนี้พวกร้านกาแฟเขายังแปะป้ายห้ามขายตรง ห้ามติวหนังสือ แต่เข้าใจว่าตอนนั้นพวกห้างฯ ร้านอาจจะยังงงๆ กับมนุษย์ติ่ง ไม่รู้จักธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตกลุ่มนี้ เลยไม่รู้จะรับมือยังไง

    แต่ท้ายสุดแล้ว กลุ่มติ่งญี่ปุ่นก็สลายตัวไปด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น การเฟื่องฟูของอินเทอร์เน็ตที่ทำให้ทุกคนหันไปคุยกันในเว็บบอร์ดหรือห้องแชต กระแสเพลงญี่ปุ่นที่ค่อยๆ ซาลงไป สถานที่ที่เคยนัดรวมตัวกัน บวกกับถูกทุบทิ้งไปบ้าง ไม่ก็ปรับปรุงใหม่จนไม่เหมือนเดิมบ้าง

    และเหตุผลสำคัญที่สุดคือ...ทุกคนแก่ขึ้น มีภาระในชีวิตเยอะขึ้น บ้างเข้ามหา’ลัย บ้างมีลูกมีผัว ก็คงไม่มีเวลามานั่งแช่แบบสมัยเด็กๆ อีกแล้ว

    ปัจจุบันที่เป็นยุคของติ่งเกาหลีนั้น ไม่ค่อยเกิดเหตุการณ์นัดสุมหัวเป็นประจำแบบยุคติ่งญี่ปุ่นแล้ว เพราะสมัยนี้เป็นยุคของโซเชียลมีเดียเต็มตัว พื้นที่การพูดคุยก็ย้ายไปทางเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรือไลน์ แต่ทว่าสยามก็ยังไม่พ้นเวรพ้นกรรมของติ่งอยู่ดี ซึ่งคราวนี้ไม่ใช่การนัดพูดคุยล่องลอยเรื่อยเปื่อยเป็นประจำอีกต่อไป พวกติ่งเกาหลีนี่นานๆ มาที แต่มาทีมาเป็นกองทัพจัดเต็ม 

    ส่วนสาเหตุที่ติ่งเกาหลีต้องมาสยามก็เพราะย่านนี้มักจัดอีเวนต์เกี่ยวกับศิลปินเกาหลีอยู่บ่อยๆ ถ้าเป็นงานจ่ายตังค์ จัดในฮอลล์เป็นเรื่องเป็นราวก็ไม่ค่อยมีปัญหา แต่ไอ้ที่หนักหนาจนคนเขาบ่นกัน ก็จะเป็นพวกงานฟรี เช่น งานแถลงข่าว ซึ่งถ้าจัดที่ลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ยังพอทน เพราะกว้างหน่อย ชาวบ้านชาวช่องยังใช้ชีวิตตามปกติหรือเลี่ยงไปโซนอื่นได้ แต่ถ้าจัดที่ลานพาร์คพารากอน นี่เตรียมรับมือกับสงครามโลกครั้งที่สามได้เลย

    ใครที่ไปสยามบ่อยคงนึกฮวงจุ้ยของพาร์คพารากอนออก ว่ามันเป็นลานที่อยู่ตรงกลางระหว่างสยามเซ็นเตอร์กับสยามพารากอน ซึ่งโดยปกติก็มีคนสัญจรไปมาหนาแน่นอยู่แล้ว แต่ถ้าวันไหนมีอีเวนต์เกาหลีปุ๊บมวลชนก็จะยิ่งมหาศาล การเดินผ่านโซนนั้นให้ปลอดภัยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากยิ่ง บางทีอาจต้องแลกกันด้วยชีวิตเลยทีเดียว
  • สมมติว่างานจัดหนึ่งทุ่ม พวกแฟนคลับก็จะมารอกันตั้งแต่สิบโมงเช้า ซึ่งถือว่าปกติเพราะถ้าเป็นวงดังๆ ระดับ Girls’ Generation หรือ EXO เหล่าติ่งจะมารอตั้งแต่ห้าโมงเย็นของวันก่อนหน้าเลยจ้า และจังหวะที่เปิดรั้วให้คนเข้าไปจับจองที่ได้นี่เปรียบประหนึ่งฉากซอมบี้ในหนังเรื่อง World War Z คือวิ่งกันชุลมุนมาก วุ่นวายจนบางครั้งประชาชนแถวนั้นตกใจนึกว่ามีไฟไหม้ ก่อการร้าย หรือก็อดซิลลาบุก วิ่งตามน้ำไปกับเขาด้วยก็มี

    แต่ถึงแม้เหล่าซอมบี้ เอ๊ย เหล่าติ่งเกาหลีจะเข้าไปฟาดฟันหาพื้นที่ของตัวเองได้แล้ว เรื่องก็ไม่จบแค่นั้น เหตุเพราะลานพาร์คพารากอนมันไม่ได้ใหญ่โต การจะจุแฟนคลับทั้งหมดได้จึงเป็นเรื่องลำบาก บางทีนี่มากันเป็นหลักหลายพัน ประชากรติ่งเกาหลีจึงล้นทะลักไปยังจุดต่างๆ บ้างก็ไหลเข้าไปในสยามพารากอน ประมาณว่ามองไม่เห็นไม่เป็นไร ได้ยินเสียงแว่วๆ ก็ยังดี เห็นแค่ขอบติ่งหูของโอปป้าก็ยังได้ หรือบางงานจัดลานสยามดิสคัฟเวอรี่ มันจะมีพวกร้านอาหารชั้นบน ที่มีโต๊ะริมกระจกสามารถมองลงมาเห็นตรงลานฯ ได้ พวกติ่งเกาหลีก็จะแห่ไปจับจองโต๊ะโซนนั้น จนตอนหลัง ร้านรู้ทันก็ขึ้นป้ายเลยว่า นั่งได้ แต่ต้องจองล่วงหน้ากี่วันๆ ก็ว่าไป

    แต่สิ่งหนักหนาที่สุดและรบกวนชาวบ้านจนติ่งเกาหลีพานโดนเกลียดนั่นก็คือ ติ่งเกาหลีแห่ไปตั้งรกรากที่ชานชาลาบีทีเอสเพื่อมองลงมายังลานพาร์คพารากอน!

    ปกติเวลาไม่มีอีเวนต์ บีทีเอสสถานีสยาม (โดยเฉพาะช่วงเย็น) คนก็เยอะนรกแตกอยู่แล้ว และเมื่อถูกผสมโรงด้วยติ่งเกาหลีก็ยิ่งหายนะเข้าไปใหญ่ จะหาว่าหางแถวขึ้นรถไฟฟ้าอยู่ไหนยังหาไม่เจอ พอแถวมันเละเทะก็เลยต้องใช้วิธีแทรกตัวแบบออสโมซิสไปกับมวลชน ซึ่งก็ใช้เวลาเป็นชาติกว่าจะเข้ารถไฟฟ้าได้

    ไม่ต้องพูดใครอื่น แม่ผมเองนี่แหละ ที่เจอเหตุวินาศภัยเยี่ยงนี้ กว่าท่านแม่จะแทรกตัวขึ้นรถไฟฟ้าได้ใช้เวลาครึ่งชั่วโมง ทำให้วันนั้นกว่าแม่จะกลับถึงบ้าน ช้ากว่าปกติไปเป็นชั่วโมง จนที่บ้านเกือบจะไปแจ้งความกันอยู่แล้ว

    เหตุการณ์ติ่งเกาหลีบุกบีทีเอสเป็นเรื่องดราม่าพอสมควรในโลกอินเทอร์เน็ต ส่วนตัวผมมองว่าไม่ใช่ความผิดของติ่งเกาหลีเสียหมด เพราะติ่งเกาหลีก็เหมือนมนุษย์ทุกประเภทในโลก คือมีติ่งมีสติ กับติ่งไม่มีสติ จะไปด่าเหมารวมหมดก็ใช่เรื่อง ติ่งหลายคนถึงขั้นออกมาขอโทษขอโพยแทนติ่งที่ทำตัวไม่น่ารัก ทั้งที่มันไม่ใช่ความผิดของพวกเขา ส่วนพวกติ่งที่สร้างความเดือดร้อนนี่หายไปไหนหมดก็ไม่รู้

    ส่วนตัวผมคิดว่าคนที่สมควรถูกด่ามากที่สุดคือคนจัดงาน เพราะก็รู้อยู่แล้วว่ามันจะเกิดความวินาศสันตะโร ตัวอย่างก็มีให้เห็นมาหลายปีดีดัก แต่หลายงานก็ไม่คิดจะมีมาตรการจำกัดจำนวนคน ผู้จัดกลับยังยืนยันจะจัดงานในรูปแบบนี้ต่อไป เพื่อให้คนมาเยอะๆ จนเป็นข่าวจะได้มีรูปออกมาดูอิมแพ็ก

    แม้จะมีการเรียกร้องมากมาย แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีการจัดอีเวนต์เกาหลีที่สยามต่อไป (และจริงๆ ก็มีอีเวนต์อื่นอีกสารพัดสารเพ) ผมก็คงทำอะไรไม่ได้นอกจากเตือนเพื่อนๆ หรือโพสต์ในโซเชียลมีเดียว่า

    ‘วันนี้ติ่งเกาหลีบุกสยาม โปรดระวัง!’
  • ติ่งอื่นๆ ในสยาม


    ติ่งคอสเพลย์
    พวกคอสเพลย์มักไม่ได้มาปรากฏตัวเป็นประจำ แต่มักจะมาเมื่อมีงานอีเวนต์ เช่น งานการ์ตูน หรืองานประกวดคอสเพลย์ ดังนั้นอย่าตกใจถ้าเข้าห้องน้ำห้างฯ แล้วเจอผู้ชายถือดาบยักษ์ หรือเจอเจ้าหญิงเอลซ่าร้องเพลงอยู่หน้ากระจก

    ติ่งคัฟเวอร์
    เด็กเต้นคัฟเวอร์มักมาซ้อมเต้นกันตรงเซ็นเตอร์พอยต์ใหม่ที่ย้ายมาอยู่บนชั้น 7 ห้างฯ เซ็นทรัลเวิลด์ มีทั้งกลุ่มเต้นจริงจังแบบเต้นทั้งวันไม่ยอมกินข้าว และกลุ่มที่เต้นสองทีแล้วนั่งแช่ไปทั้งวัน ภายหลังโครงการเจ๊ง โซนนั้นก็ปิดไป ติ่งคัฟเวอร์ก็เลยหายไปโดยปริยาย

    ติ่งการ์ดเกม
    ช่วงที่การ์ดยูกิกับการ์ดเมจิกเดอะแกเธอริงบูมขึ้นมา ก็มีร้านขายการ์ดพวกนี้ที่มาบุญครองเยอะมาก หลายร้านกลายเป็นแหล่งนัดแข่งนัดเล่นไปด้วย เพื่อนบางคนจริงจังมากลงทุนเงินไปเป็นพันๆ (เงินหลักพันวัยมัธยม = เงินหลักหมื่นวัยทำงาน)

    ติ่งโอตาคุ
    อยู่แถวมาบุญครองเช่นกัน แต่เป็นพวกร้านโมเดลฟิกเกอร์ถ้าเดินผ่านก็จะเห็นพวกเขาลูบๆ คลำๆ โมเดลด้วยสายตาที่มีแพสชั่น และพูดคุยกันเรื่องมังงะหรืออนิเมะอย่างจริงจัง ประหนึ่งพูดถึงเนื้อหาฟิสิกส์หัวข้อกลศาสตร์

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in