เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
SALMON FEEDSALMONBOOKS
LONG READ: JIRAT
  • หลายคนอาจเริ่มโอดครวญเพราะพรุ่งนี้ต้องกลับไปทำงานตามปกติ แต่เวลายังเหลือ เราเลยชวน ‘จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์’ มาแนะนำ 5 หนังสือสุดเข้มไว้อ่านทิ้งทวนวันหยุดที่กำลังจะหมดไปกัน 
  • The High Mountains of Portugal
    โดย Yann Martel

    “นิยายเล่มล่าสุดของ ยานน์ มาร์เทล เพิ่งออกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เป็นเรื่องเล่าแบบ Magical Realism แบ่งออกเป็นสามบทต่างยุคสมัย ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันนอกจากมีฉากร่วมกันคือภูเขาสูงแห่งโปรตุเกส 

    “เรื่องเริ่มจากปี 1904 ที่ โทมัส โลโบ พบว่าภรรยาของเขา ลูกของเขา และพ่อของเขาทยอยกันตายภายในสัปดาห์เดียว ก่อนที่เขาจะพบบันทึกเก่าแก่ที่พาเขาไปค้นหาโบราณวัตถุบนภูเขา ถัดมาอีกสามสิบกว่าปีเป็นเรื่องของคุณหมอที่ต้องมาชันสูตรศพท่ามกลางการคุกคามของวิญญาณเมียตัวเองที่พูดไม่หยุด และเรื่องสุดท้ายในยุค 80s วุฒิสมาชิกชาวแคนาดาที่ออกเดินทางจากโอคลาโฮมาไปยังภูเขาพร้อมกับลิงชิมแปนซี—มีบางส่วนยืดยาวและน่าเบื่ออยู่บ้าง แต่ก็เอาเราอยู่จนจบได้ พบว่าเป็นนิยายที่พยายามจะดีลกับความซึมเศร้าส่วนตัวของตัวละคร แต่เล่าออกมาได้อย่างมีอารมณ์ขันและกวนตีน”

    Delta of Venus
    โดย Anaïs Nin

    “รวมเรื่องสั้นอีโรติก คำนำระบุว่า อนาอิส นิน เขียนเรื่องเหล่านี้ตามการว่าจ้างของคอลเล็กเตอร์ แปลกดีที่ยุคนั้นมีคนจ้างนักเขียนให้เขียนเรื่องอีโรติกให้อ่านแบบส่วนตัวด้วย ทั้งยังย้ำให้นินเขียนให้เอ็กซ์ๆ โดยไม่ต้องมีวรรณศิลป์อะไรมากด้วยนะ! ผลที่ออกมาคือเรื่องสั้นกระชับและตรงไปตรงมา นินบรรยายฉากรักค่อนข้างละเอียดและหลากรูปแบบเหลือเกิน หลายๆ เรื่องพาเราไปแอฟริกาและบางแห่งในละตินอเมริกา ซึ่งเธอก็ไม่พลาดที่จะหยิบใช้ความ exotic จากดินแดนเหล่านั้นมาปรุงแต่งอย่างเอร็ดอร่อย แต่ด้วยความที่เป็นเรื่องสั้นแบบทำตามสั่ง (ขณะที่เขียน เราคิดว่านินคงไม่ตั้งใจจะเอามารวมเล่มขาย เพราะหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์หลังจากที่เธอเสียชีวิตแล้ว) บางเรื่องจึงดูห้วนเกินไปหรือเล่นง่ายเกินไป แต่นั่นก็เป็นส่วนน้อย—โดยรวมเป็นหนังสือที่ชวนเพลิดเพลิน และย้ำให้เราคล้อยตามด้วยว่าไม่มีกิจกรรมอะไรบนโลกจะรื่นรมย์ไปกว่าการมีเซ็กซ์”

    ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
    โดย ภาณุ ตรัยเวช

    “สารคดีที่ฉายภาพเยอรมนีระหว่างช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมนีในยุคนั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่สาธารณรัฐไวมาร์ ซึ่งเป็นรัฐที่ขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดระหว่างฝ่ายซ้าย ฝ่ายเสรีนิยม และฝ่ายขวา 

    "ช้าก่อน! อย่าเพิ่งคิดว่านี่เป็นหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองย่อยยาก ในทางกลับกันหนังสือเล่มนี้บอกเล่าเกร็ดประวัติที่ครอบคลุมและโคตรสนุก ทั้งเรื่องการกำเนิดของโรงเรียนออกแบบที่ทรงอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบันอย่างโรงเรียนบาวเฮาส์ ศิลปะสกุลดาดา ทฤษฎีสัมพันธภาพของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นิยายของโธมัส มันน์ ภาพยนตร์ของ ฟริตซ์ ลังก์ จุดยืนของ มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ ฯลฯ 

    "นอกจากนี้ ผู้เขียนยังเล่าถึงที่มาและการขึ้นครองอำนาจของฮิตเลอร์ พร้อมกับบรรยากาศอันคุกรุ่นและน่าหวาดสยองในช่วงปลายของสาธารณรัฐ หากไม่ใช่เพียงความน่าหวาดสยองของความสุดโต่งอันนำไปสู่สงครามโลกและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่เป็นความหวาดสยองที่มาจากความเมินเฉยต่อสิ่งอยุติธรรมของชนชั้นกลางในยุคนั้น และนั่นคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจ—เป็นทัศนียภาพที่คลับคล้ายกับบ้านเราตอนนี้อย่างบอกไม่ถูก”

    Jazz Murakami 
    โดย สิเหร่

    “ไม่ค่อยชอบงานเขียนของ ฮารูกิ มูราคามิ เท่าไหร่ อ่านอยู่สี่เล่มแล้วพบว่าองค์ประกอบของเขาซ้ำกันจนเกินไป เดี๋ยวแมวหาย เมียหาย หรืออะไรสักอย่างหายอีกแล้ว เอะอะเอะอะก็เหงาอีกแล้ว เดี๋ยวก็เจอผู้หญิงหัวสมัยใหม่เข้ามาร่วมรักด้วยอีกแล้ว ฯลฯ อาจเป็นเพราะเราหยาบเองก็ได้ แต่พูดตรงๆ คือเราไม่อิน 

    "กระนั้นก็มีองค์ประกอบหนึ่งที่เราชอบในงานเขียนของเขาคือการเลือกเพลงมาแทรกในบรรยากาศของเรื่องได้อย่างเหมาะเจาะ เราชอบเพลงแจ๊ซ และก็ติดตามอ่านงานเขียนถึงเพลงแจ๊ซของ สิเหร่ มาหลายเล่ม แปลกใจเล็กๆ เหมือนกันที่สิเหร่ก็อ่านมูราคามิ แต่นั่นก็เป็นเรื่องดี เพราะเขาไม่เพียงอ่าน แต่ยังเขียนถึงบทเพลงที่อยู่ในนิยายให้เราได้อ่านกัน 

    “อย่างไรก็ดี เราไม่อาจรีวิว Jazz Murakami ได้มากไปกว่านี้ เพราะยังไม่ได้อ่าน! เข้าใจว่าทางบรรณาธิการสำนักพิมพ์เขาไม่ขายหนังสือเล่มนี้ผ่านระบบสายส่ง คนอยู่ต่างจังหวัดอย่างเราเลยหาซื้อตามร้านไม่ได้ ถ้าพี่ปอ (นิวัต พุทธประสาท—บรรณาธิการสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม) มาอ่านเจอในนี้ จะส่งหนังสือมาให้ผมช่วยรีวิวก็ยินดีนะครับ (ขอกันหน้าด้านๆ อย่างนี้เลย)”

    ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2559 

    “หนึ่งในร่างรัฐธรรมนูญที่เปราะบางที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ความเปราะบางไม่ได้อยู่ที่ตัวบท แต่อยู่ที่ตัวคนเขียนและคณะ 

    "ล่าสุดรัฐบาลพยายามผลักดัน พรบ.การออกเสียงร่างประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นพรบ.ที่เอาผิดถึงขั้นเข้าคุกเข้าตารางกับใครก็ตามที่ออกมารณรงค์หรืออภิปรายให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และล่าสุดไปกว่านั้น (เมื่อวันที่ 27 เม.ย.นี้เอง) ก็มีประชาชนแปดคนถูกทหารอุ้มไปอย่างหน้าด้านๆ เพียงเพราะเขาแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตลกดีเหมือนกัน เพื่อการได้มาซึ่งประชาธิปไตย แต่คนไทยกลับไม่สามารถอภิปรายเครื่องมือชิ้นนี้ได้อย่างเป็นสาธารณะ คืออภิปรายได้แต่ก็ต้องเสี่ยงคุก! ด้วยเหตุนี้ หนังสือที่อยากแนะนำให้อ่านในช่วงวันหยุดลองวีกเอนด์ก็คือร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว อ่านเพื่อทำความเข้าใจกับมัน ใช่ครับ, เราคนไทยควรจะตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยเหตุผลใด” 

    อ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 ได้ที่: http://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/draftconstitution2/ewt_dl_link.php?nid=429&filename=index
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in