เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
READCHOUCHOU
ผุดเกิดมาลาร่ำ - อารยา ราษฎร์จำเริญสุข
  • ได้อ่านผุดเกิดมาลาร่ำจนจบเล่มเมื่อเดือนเมษาที่ผ่านมา เราไม่แน่ใจว่าตอนอ่านเรารู้สึกยังไง น่าจะเหมือนพลัดตกลงไปในมหาสมุทรในวันที่มีคลื่นลมพายุ และเราก็ว่ายน้ำไม่เอาไหน — ใช่ อ่านยาก นิยายเล่มนี้เต็มไปด้วยความกระหายที่จะใช้ถ้อยคำ เป็นนาฏกรรมอันเปี่ยมปริ่มไปด้วยความเดือดดาลบ้าคลั่งของภาษา มันเริ่มแบบนั้นก่อนจะค่อยคลี่คลายท่าทีลงจนท้ายเล่ม

    เรานึกอยู่นานว่ามันมีคำอื่นที่สวยงามมากพอที่จะอธิบายความรู้สึกหลังจากอ่านนิยายอันรุ่มรวยภาษาเล่มนี้ไหมนะ แต่นั่นล่ะ มันจบลงที่ความกระอักกระอ่วนใจ

    หนังสือถูกเก็บเรียงเข้าชั้นอยู่นานเดือน เรื่องราวที่ฟุ้งกระจายไม่เป็นรูปร่างเริ่มจับผลึก เราเริ่มเข้าใจถึงที่มาของความกระอักกระอ่วนนั้น ในเนื้อแท้ของการละวางคือรายละเอียดข้นคลักของความเป็นมนุษย์ และในถ้อยแถลงถึงการโหยหาความตายอย่างที่สุดกลับดำเนินขนาบขนานไปกับการหมกมุ่นครุ่นคิดถึงชีวิต

    แม้จะห่มคลุมด้วยภาษาละเมียดละไมซึ่งเพิกเฉยเย็นชาต่อโลกในเวลาเดียวกัน เรารับรู้ได้ถึงความชิงชังฝังลึกของไลลียา ทั้งในท่าทีสงบเยือกเย็นของทั้งตัวละครและกระทั่งวิธีที่ถ่ายทอดมันออกมา เราไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะปะทะกับความเกรี้ยวกราดรุนแรงที่ไหลเวียนอยู่ในนั้น มันเป็นความผูกใจเจ็บของผู้หญิงคนหนึ่ง เป็นความคับแค้นพยาบาทของหญิงสาว เป็นสายตาเย็นเยียบที่คอยเฝ้ามองชีวิตผุกร่อนแหลกสลายลงในทางใดทางหนึ่ง

    สำหรับเรามันก็เลยเป็นเรื่องน่าเสียดายที่สุดท้ายความรู้สึกนึกคิดเหล่านี้ — ที่คอยขับเคลื่อนเรื่องราว ที่มอบเลือดเนื้อให้กับเหล่าตัวละคร และประคับประคองเราให้อ่านจนจบได้ กลับเลือกพาเราไปหาบทสรุปที่มีท่าทีของการบดขยี้ตัวโกงในนิทานสอนศีลธรรมทั่วไป มันกลายเป็นชัยชนะประเภท ‘นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า’ ทั้งที่ในเนื้อหาตลอดทั้งเล่มนั้นแทรกสัญญาณถึงความเป็นขบถต่อขนบสามัญสำนึกเดิมอย่างเปิดเผย ตั้งคำถามต่อความคิดความเชื่อที่ถูกจัดระเบียบไว้มายาวนาน และพูดถึงความอึดอัดคับข้องใจในฐานะชีวิตหนึ่งท่ามกลางความสัมพันธ์ซับซ้อนของโลก โดยที่เราในฐานะคนอ่านเองก็ไม่ทันรู้ตัว, บรรดาตัวละครที่เคยมีบทบาทน่าสนใจกลับถูกเรื่องราวเคลื่อนขยับไปจัดวางอยู่ในมิติอันราบเรียบไร้ชีวิต ราวกับพวกเขาถูกพิพากษาให้ตายจากความเป็นมนุษย์ไปแล้วจริงๆ ในงานเขียนเล่มนี้



    — ที่ร้านซักอบแห้งหยอดเหรียญบนถนนศิริมังคลาจารย์, 2561
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in