เมื่อเอ่ยถึงอีกบุคคลหนึ่งที่มีความสำคัญในสังคมไทย ในช่วงเวลาหลายต่อหลายปีที่ผ่านมา หลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อของชายที่ชื่อ "ป๋วย อึ๊งภากรณ์" มาบ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะนักศึกษาที่จบการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างผู้เขียน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่รู้จักป๋วย (แต่นักศึกษาหลายคนก็คิดว่า ป๋วย เป็น เหมา) เพราะพวกเราจะเห็นป๋วยทุกวัน ยืนจังก้าอยู่หน้าอาคารเรียนรวมที่พวกเราเรียกว่า ตึก SC
นักศึกษาหลายคนเดินผ่านเลยไป โดยยังความสงสัยเอาไว้ในใจ หรือบางคนก็คิดออกมาดัง ๆ ว่า "ห่าเอ้ย ทำไมแม่งมีรูปปั้นเหมาเจอตุง มาอยู่หน้าตึกเรียนวะ" เออ....เดี๋ยวนะนั่นไม่ใช่เหมา แต่เป็นป๋วย
ช่วงเวลาที่ผ่านเลยมาเนินนานขอสังคมไทย ได้ทำให้รายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ ได้หลุดหายไประหว่างทาง ชื่อของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็เช่นกัน เป็นหนึ่งในรายละเอียดที่หลุดลอยไปตามกาลเวลา ของสังคมที่ไร้ซึ่งวัฒนธรรมการอ่านและการจดบันทึกอย่างสังคมไทย
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนสมัยนี้จะไม่รู้จัก หรือไม่เคยได้ยินชื่อของ ป๋วย เพราะนักศึกษาธรรมศาสตร์ในยุคหลัง ๆ เองก็ไม่รู้จักป๋วยเช่นกัน (รู้จักเพียงแต่ชื่อของป๋วย) ดังนั้นวันนี้ผู้เขียนขอพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับสามัญชนคนธรรมดา นามว่า "ป๋วย อึ๊งภากรณ์"
ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย เป็นอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีอายุน้อยที่สุด ด้วยวัย 43 ปี และได้ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดถึง 12 ปี 2 เดือน 4 วัน เป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนที่ 10 และเป็นผู้แต่งหนังสือ "คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน"
ป๋วย เกิดและเติบโตจากครอบครัวคนจีน ด้วยฐานะที่ไม่ร่ำรวย เขาจึงดิ้นรนต่อสู้อุปสรรคในชีวิตต่างๆและได้จบคณะเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นรุ่นแรก ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยเข้าร่วมพันธมิตรกับญี่ปุ่น
ป๋วยก็ได้ร่วมก่อตั้งคณะเสรีไทยขึ้นในอังกฤษ และได้พยายามเจรจาไกล่เกลี่ยกับรัฐบาลอังกฤษให้ยอมรับขบวนการเสรีไทย มีครั้งหนึ่งที่ป๋วยเสี่ยงชีวิตในการลอบกระโดดร่มเข้าไทย ณ บ้านวังน้ำขาว จังหวัด ชัยนาท จนได้ชื่อว่าเป็น “วีรบุรุษวังน้ำขาว” เมื่อสงครามยุติลง ประเทศไทยจึงไม่ถือเป็นผู้แพ้สงคราม
ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เขาก็ได้รับหน้าที่เป็นทั้งผู้ว่าธนาคารแห่งชาติ รวมถึงยังได้รับตำแหน่งทั้งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ป๋วยได้แสดงความกล้าหาญ หลายครั้งโดยเฉพาะการส่งจดหมายในนาม "นายเข้ม เย็นยิ่ง" ถึงจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยให้กับสังคม จุดประกายให้กับขบวนการ 14 ตุลาคม 2516 ด้วยความที่เขาได้รับการชื่นชมมากมายจากสังคม ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ป๋วยจึงถูกทั้งฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ออกมาโจมตีกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนในที่สุดก็ต้องออกเดินทางลี้ภัยไปต่างประเทศ และเสียชีวิตลงในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 ที่ประเทศอังกฤษ
ตลอดระยะเวลาของการทำหน้าที่ในตำแหน่งข้าราชการ ป๋วย เพียนตั้งคำถามกับการทำหน้าที่ของข้าราชการใหญ่ น้อย และบรรดานักการเมือง ว่าการกระทำต่าง ๆ นั่นทำไปโดยสุจริตหรือไม่ อย่าง
เมื่อปี พ.ศ. 2507 ป๋วย ได้กล่าวสุนทรพจน์ของสมาคมธนาคารไทย เพื่อเตือนสติผู้มีอำนาจ มีใจความว่า จอมพล ถนอม นายกรัฐมนตรีผู้มีคำขวัญประจำใจว่า "จงทำดี จงทำดี จงทำดี" มีนโยบายไม่เห็นด้วยที่รัฐมนตรีจะไปยุ่งเกี่ยว กับ "การค้า" แต่ทำไมจึงมีรัฐมนตรีบางคนไปเป็นกรรมการในธนาคารต่าง ๆ หรือเป็นเพราะว่าธนาคารพาณิชย์ไม่ใช่ "การค้า" ชนิดหนึ่ง กลอนนั้นมีข้อความว่า
"ยังจนในไม่รู้อยู่ข้อหนึ่ง จอมพล ถ ท่านแถลงแจ้งเป็นเรื่อง
ท่านปรารมภ์ผมก็เห็นเด่นประเทือง ว่าใครเฟื่องเป็นผู้ใหญ่ในราชการ
ตัวอย่างเช่นเป็นรัฐมนตรี ไม่ควรมีการค้ามาสมาน
อย่าเกี่ยวข้องเที่ยวรับทำเป็นกรรมการ สมาจารข้อนี้ดีจริงเจียว
ผมสงสัยไม่แจ้งกิจการค้า หมายความว่ากิจการใดบ้างยังเฉลียว
กิจการธนาคารท่านผู้ใหญ่จะไม่เกี่ยว หรือจะเหนี่ยวรั้งไว้ไม่นับค้า"
สุนทรพจน์นี้เป็นที่กล่าวขานกันทั่ว ในยุคสมัยรัฐบาลทหาร ป๋วย เป็นข้าราชการผู้ใหญ่คนเดียวที่กล้าวิจารณ์ นักการเมือง รัฐมนตรี และนายทหารชั้นสูง ที่มักเข้าไปดำรงตำแหน่งประธานหรือกรรมการธนาคารต่าง ๆ เพื่อหาประโยชน์ใส่ตัว เมื่อจอมพลถนอมทราบความ ก็ยินยอมลาออกจากตำแหน่งกรรมการธนาคารพาณิชย์ แต่ไม่มีรัฐมนตรีคนใดลาออกตาม
ในระหว่างปี 2514 – 2516 ภายหลังจากลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (2514) และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2515) แล้วป๋วยได้ไปดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษ (Visitting Professor) ที่ University College มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ด้วยภาระการสอนที่ไม่มากนักทำให้ป๋วยได้ผลิตงานชิ้นสำคัญ 2 เรื่อง
แต่ผู้เขียนขอเลือกหยิบมานำเสนอเพียง 1 เรื่องนั่นคือ Thoughes on South-East Asia’s Development 1980 (ข้อคิดเพื่อการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับค.ศ. 1980) ซึ่งมีภาคผนวกอันเลื่องชื่อ The Quality of Life of a South East Asian ข้อเขียนนี้ถูกนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Development Advisory Group – SEADAG) เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516
ข้อเขียนนี้ต่อมาถูกแปลเป็นภาษาไทย โดยป๋วยเอง ในชื่อ “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” หรือที่รู้จักกันดีในเวลาต่อมาในชื่อ “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” บทแปลภาษาไทย พิมพ์ครั้งแรกในวารสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่11 ฉบับที่ 10 ตุลาคม 2516 ส่วนบทความภาษาอังกฤษรวมเล่มครั้งแรก อยู่ในหนังสือ Best Wishes for Asia พิมพ์โดยสำนักพิมพ์เคล็ดไทย (2518)
หลังจากนั้นข้อเขียน “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ไม่เพียงแต่เป็นข้อเขียนที่ทำให้ส่วนใหญ่นึกถึง ป๋วยเท่านั้น ยังเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นต่อมาได้สืบสานปณิธานที่ท่านได้วางไว้อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย
ดังเช่นบทสัมภาษณ์ของนายแพทย์สงวน นิตยารัมพงษ์ (
2495-2551) แม้จะปัจจุบันท่านผู้นี้ได้ล่วงลับไปแล้ว แต่สิ่งที่ท่านได้ผลักดันในกลไกของราชการจนเป็นผลมาสู่นโยบายทางการเมืองคือการประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือรู้จักกันในชื่อ “30 บาทรักษาทุกโรค” ในบทสัมภาษณ์เมื่อปี พ.ศ. 2544
“ที่ผมตั้งใจจะทำก็คือ ทำอย่างไรให้ประชามีหลักประกันสุขภาพอย่างครบถ้วนตั้งแต่เกิดจนตาย ส่วนหนึ่งที่ได้แรงบันดาลใจจาก อ.ป๋วย ก็คือเรื่องที่จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพตั้งแต่จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน สิ่งที่ผมตั้งใจจะทำคือทำอย่างไรให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพอย่างครบถ้วน อยากจะมีส่วนร่วมให้เกิดตรงนี้ขึ้นมา ในตำแหน่งนี้ก็พยายามให้เกิดการปฏิรูปในเรื่องของการประกันสุขภาพที่ตอบสนองสิ่งนี้"
และผู้เขียนขอหยิบยกเอา "จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" มาให้ผู้อ่านได้อ่านกันสักหน่อย เพื่อจะได้เข้าใจแนวคิดพื้นฐานของการจัดรัฐสวัสดิการที่เข้าใจง่าย และเป็นรูปธรรมโดยไม่ต้องไปอ่านตำราทางวิชาการในเรื่องของรัฐสวัสดิการให้ยุ่งยากลำบากจิตร
จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน
"เมื่อผมอยู่ในครรภ์ของแม่ ผมต้องการให้แม่ได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์ และได้รับความเอาใจใส่ และบริการอันดีในเรื่องสวัสดิภาพของแม่และเด็ก ผมไม่ต้องการมีพี่น้องมากอย่างที่พ่อแม่ผมมีอยู่ และแม่จะต้องไม่มีลูกถี่นัก
พ่อกับแม่จะแต่งงานกันถูกฎหมาย หรือธรรมเนียมประเพณีหรือไม่ ไม่สำคัญ แต่สำคัญที่ พ่อกับแม่ต้องอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข ทำความอบอุ่นให้ผมและพี่น้อง
ในระหว่าง 2-3 ขวบแรกของผม ซึ่งร่างกายและสมองผมกำลังเติบโตในระยะที่สำคัญ ผมต้องการให้แม่ผมกับตัวผม ได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์
ผมต้องการไปโรงเรียน พี่สาวหรือน้องสาวผมก็ต้องการไปโรงเรียน จะได้มีความรู้หากินได้ และจะได้ รู้คุณธรรมแห่งชีวิต ถ้าผมสติปัญญาเรียนชั้นสูง ๆ ขึ้นไป ก็ให้มีโอกาสเรียนได้ ไม่ว่าพ่อแม่ผมจะรวย หรือจน จะอยู่ในเมืองหรือชนบทแร้นแค้น
เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว ผมต้องการงานอาชีพที่มีความหมาย ทำให้ได้รับความพอใจว่า ตนได้ทำงานเป็นประโยชน์แก่สังคม
บ้านเมืองที่ผมอาศัยอยู่จะต้องมีขื่อ มีแป ไม่มีการข่มขู่ กดขี่ หรือประทุษร้ายกัน ประเทศของผมควรจะมีความสัมพันธ์อันชอบธรรม และเป็นประโยชน์กับโลกภายนอก ผมจะได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงความคิด และวิชาของมนุษย์ทั้งโลก และประเทศของผมจะได้มีโอกาส รับเงินทุนจากต่างประเทศ มาใช้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม
ผมต้องการให้ชาติของผมได้ขายผลิตผลแก่ต่างประเทศด้วยราคาอันเป็นธรรม ในฐานะที่ผมเป็นชาวไร่ชาวนา ผมก็อยากมีที่ดินของผมพอสมควรสำหรับทำมาหากิน มีช่องทางได้กู้ยืมเงินมาขยายงาน มีโอกาสรู้วิธีการทำกินแบบใหม่ ๆ มีตลาดดี และขายสินค้าได้ราคายุติธรรม
ในฐานะที่ผมเป็นกรรมกร ผมก็ควรจะมีหุ้นมีส่วนในโรงงาน บริษัท ห้างร้านที่ผมทำอยู่
ในฐานะที่ผมเป็นมนุษย์ ผมก็ต้องการอ่านหนังสือพิมพ์ และหนังสืออื่น ๆ ที่ไม่แพงนัก จะฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ ก็ได้โดยไม่ต้องทนรบกวนจากการโฆษณามากนัก
ผมต้องการสุขภาพอนามัยอันดี และรัฐบาลจะต้องให้บริการป้องกันโรคแก่ผมฟรี กับบริการการแพทย์ รักษาพยาบาลอย่างถูกอย่างดี เจ็บป่วยเมื่อใดหาหมอพยาบาลได้สะดวก
ผมจำเป็นต้องมีเวลาว่างสำหรับเพลิดเพลินกับครอบครัว มีสวนสาธารณะที่เขียวชะอุ่ม สามารถมีบทบาท และชมศิลปะ วรรณคดี นาฏศิลป์ ดนตรี วัฒนธรรมต่าง ๆ เที่ยวงานวัน งานลอยกระทง งานนักขัตฤกษ์ งานกุศลอะไรก็ได้พอสมควร
ผมต้องการอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ น้ำดื่มบริสุทธิ์สำหรับดื่ม
เรื่องอะไรที่ผมทำเองไม่ได้ หรือได้แต่ไม่ดี ผมก็จะขอความร่วมมือกับเพื่อนฝูงในรูปสหกรณ์ หรือ สโมสร หรือสหภาพ จะได้ช่วยซึ่งกันและกัน
เรื่องที่ผมจะเรียกร้องข้างต้นนี้ ผมไม่เรียกร้องเปล่า ผมยินดีเสียภาษีอากรให้ส่วนรวมตามอัตภาพ
ผมต้องการโอกาสที่มีส่วนในสังคมรอบตัวผม ต้องการมีส่วนในการวินิจฉัยโชคชะตาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาติ
เมียผมก็ต้องการโอกาสต่าง ๆ เช่นเดียวกับผม และเราสองคนควรจะได้รับความรู้และวิธีการวางแผนครอบครัว
เมื่อแก่ ผมและเมียก็ควรได้ประโยชน์ตอบแทนจากการประกันสังคม ซึ่งผมได้จ่ายบำรุงตลอดมา
เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ ๆ อย่างบ้า ๆ คือตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ
เมื่อตายแล้ว ยังมีทรัพย์สมบัติเหลืออยู่ เก็บไว้ให้เมียผมพอใช้ในชีวิตของเธอ ถ้าลูกยังเล็กอยู่ก็เก็บไว้ เลี้ยงให้โต แต่ลูกที่โตแล้วไม่ให้ นอกนั้นรัฐบาลควรเก็บไปหมด จะได้ใช้เป็นประโยชน์ในการบำรุงชีวิตของคนอื่น ๆ บ้าง"
และทั้งหมดที่ผู้เขียนได้พยายามหยิบยกมานำเสนอก็คือประวัติของบุคคลธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่แนวคิดของเขาส่งผลสำคัญหลายอย่างต่อสังคมไทย ต่อการวางรากฐานทางเศรษฐกิจและรัฐสวัสดิการของไทย
ชายผู้ได้รับการขนานนามว่า "คนตรงในประเทศคด" ชายผู้เป็นเพียงบุคคลธรรมดา ๆ บนหน้าประวัติศาสตร์ ที่แบบเรียนไทยไม่เคยได้บรรจุเขาเอาไว้ ผู้เขียนหวังเพียงแค่ว่า คนธรรมดา ๆ นามว่า ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จะยังคงอยู่ในความทรงจำของใครสักคน โดยที่เขาจะไม่ปลิดปลิวหายไป พร้อมกับกระแสลมแห่งยุคสมัย
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in