ทุกคนคงคิดว่าการรักษาโรคซึมเศร้าไม่ยาก ก็แค่อาการป่วยทางอารมณ์เองนี่นา แค่หายเศร้าก็หายแล้วป่ะ กินยาแป้งหรือเปล่า? อะไรก็ตามกินๆ ไปเหอะ เดี๋ยวก็หายแล้ว
เออ...ไม่ได้เป็นก็พูดกันเหมือนง่ายหมดแหละ
=___________________=
สิ่งที่หมอ(อาจจะลืม)หรือเว็บไซต์ไม่ได้บอก คือการกินยาระยะแรกอาการจะหนักขึ้น...อ่านไม่ผิดหรอกแก เราพูดจริง กินยาปรับอารมณ์หรือยาต้านเศร้าระยะแรกอาการจะดิ่งลงในจุดที่แย่ที่สุด...เราขอเรียกช่วงนี้ว่าช่วงผีเข้าแล้วกัน ซึ่งอาการผีผีของแต่ละคนก็จะยาวนานไม่เท่ากัน ของเรานี่รู้สึกจะนานมาก คือราวๆ 3 เดือนถึงจะเห็นผลว่าอารมณ์เราเริ่มดีขึ้น
เราจำได้ว่าระยะแรกเรามีผลข้างเคียงยาน้อย...เออ ใครชอบคิดว่ากินยาแป้ง เราบอกเลยว่าผลข้างเคียงไม่แป้งนะเฮ้ย เนื่องจากยาพวกนี้ออกฤทธิ์กับสารเคมีในสมอง เป็นยาควบคุม จัดอยู่ในกลุ่มยาอันตรายใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์อย่างเคร่งครัด ร้านขายยาไม่มีขาย ไม่มีจำหน่ายตามใบสั่ง ต้องได้รับการสั่งยาจากจิตแพทย์เท่านั้น
ผลข้างเคียงน้อยที่ว่าคือการเวียนหัว ความดันต่ำ เอะอะจะวูบ และคลื่นไส้ตลอดทั้งวัน หลักๆ เรากินยาตัวไหนก็จะไม่พ้นอาการนี้ระยะแรก ยาตัวแรกที่เราได้รับจากหมอ เราจำไม่ได้ว่าตัวไหน แต่เป็นตัวที่เรียกว่าไม่ได้ผลกับเราเลย และเรามีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ นอกจากโรคซึมเศร้า คืออาการย้ำคิดย้ำทำ
ย้ำคิดย้ำทำ หรือ Obsessive Compulsive Disorder (OCD) คืออาการทางจิตที่ส่งผลต่อความคิดและพฤติกรรมตามชื่อ คือผู้ป่วยจะเกิดความคิดซ้ำๆ ในหัว ควบคุมไม่ได้ กระวนกระวายและรบกวนจิตใจอย่างมาก ถ้าแค่คิดเรียกอาการนี้ว่าอาการย้ำคิด แต่หากความคิดนั้นขยายสู่พฤติกรรม และรบกวนการใช้ชีวิตมากๆ นั่นแหละ ถึงเรียกว่าย้ำทำ ไม่ต้องห่วง...เราจัดมาทั้งสองอย่างนี่แหละ
เราย้ำคิดย้ำทำอยู่สองอย่าง คือเรื่องก็อกน้ำ กับวาล์วแก๊ส ฟังดูไม่น่ากลัวเนอะ แต่อาการย้ำคิดย้ำทำมันจะน่ากลัวตรงไหนรู้ไหม เราจะคิดเรื่องพวกนี้ซ้ำๆ วันละ 3-4 รอบ เช่น คิดว่ามีคนเปิดน้ำทิ้งไว้ ทั้งๆที่บางทีมีคนปิดน้ำแล้ว แต่มันรบกวนจิตใจเราจนต้องลุกไปเช็ค แบบเดียวกับวาล์วแก๊ส แม้จะปิดด้วยตัวเอง บางทีก็ต้องลุกขึ้นมาดูกลางดึก เห็นมะ...เรื่องเล็กก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้
นั่นเองเป็นสาเหตุที่หมอเปลี่ยนมาจ่ายยาที่ชื่อ Lexapro ซึ่งจะช่วยเรื่องอาการย้ำคิดย้ำทำได้ด้วย และเราเริ่มตอบสนองต่อยาตัวนี้มากกว่าตัวเดิม คือเริ่มรู้สึกง่วง นอนหลับได้สักที ผ่านมาได้ราวเดือนที่สาม เราก็เริ่มเรียกได้ว่าดีขึ้น
แต่ก่อนหน้านั้นบอกเลยว่าแย่มาก จากแต่เดิมที่ซึมเศร้าอยู่แล้ว จะเศร้ามากขึ้น เป็นผลมาจากการกินยานี่แหละ ถึงตรงนี้ทุกคนคงสงสัยว่ายาน่าจะช่วยให้ดีขึ้นนี่ ทำไมถึงเศร้ากว่าเดิม อันนี้ต้องบอกก่อนว่ายาทำงานด้วยการค่อยๆ เข้าไปปรับสมดุลของสารเคมีในสมอง จากแต่เดิมเราขาดบางตัว เช่น ซีโรโทนิน ตัวนี้เป็นฮอร์โมนที่มักจะลดลงในกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ก็จะไปเพิ่มการหลั่งของซีโรโทนิน หรือลดการหลั่งของสารอื่นๆ ที่ทำให้เครียด เพราะงั้นระยะแรกที่สารเคมียังทำงานไม่เป็นปกติ เลยจะมีผลข้างเคียงที่ทำให้เรายังปรับตัวไม่ได้รู้สึกอารมณ์ไม่ดีอยู่
ช่วงเวลาเดือนถึงสองเดือนแรก เราอารมณ์ดิ่งลงมาก มีความอยากตายมากชนิดที่เกือบจะตลอดเวลา แต่เราก็ยังพยายามกินยาต่อไปเรื่อยๆ หมอแนะนำให้กินยาอย่างเคร่งครัด เป็นเวลาเดิมตลอด เราก็พยายามรักษาเวลา ตั้งนาฬิกาปลุกเตือนบ้าง เพื่อให้ระยะออกฤทธิ์ของยาซึ่งใช้เวลา 12 ชม. วนเป็นรอบสม่ำเสมอ ไม่ขาดช่วง พร้อมทั้งงดการดื่มแอลกอฮอล์ไปเลย นอกจากนี้ยังพยายามจะงดคาเฟอีนตามไปด้วย แต่ทำไม่สำเร็จน่ะ
จำได้เลือนรางว่าทะเลาะกับแฟนเก่าแรงมาก และหลายครั้งจนเรียกได้ว่างี่เง่าเกินระดับปกติ งี่เง่าจนสุดท้ายบอกเลิกกันซ้ำๆ จนเขาไม่ทน ซึ่งแรกๆ เราก็เคืองนะ คิดว่าเรากำลังแย่ ทำไมมาทิ้่งเราตอนนี้ แต่เขาก็ยืนยันหนักแน่นว่าให้รักษาอาการของโรคให้หายก่อน ค่อยมาสานต่อเรื่องความสัมพันธ์ทีหลัง จนพอกินยาไปได้สักพัก เราจึงเริ่มรู้สึกเครียดและซึมเศร้าน้อยลง อารมณ์ดีขึ้น
นั่นกินระยะเวลาถึงเดือนที่สาม...เราจึงเห็นผลว่าเราอารมณ์ดีได้บ้าง แต่ใช่ว่าความอยากตายจะลดลงไปมากนัก เพียงแต่อยู่ในระยะควบคุมได้ ทว่าถ้ามีเรื่องกระทบจิตใจมากนัก เราก็พร้อมจะดิ่งลงอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นมันจึงเป็นแค่ช่วงเฟสแรกของการรักษาที่เริ่มเห็นผลเท่านั้น
ถัดจากนั้นไม่นาน เรามีเรื่องกับคนทางบ้าน แม่ค่อนข้างจะกดดันเราในหลายๆ แง่ ซึ่งทำให้เราที่รู้สึกตึงเครียดกับทุกอย่างทัี่เราเป็นอยู่แล้ว ยิ่งเครียดเข้าไปอีก ระยะนี้หมอเลยขอเปลี่ยนยาใหม่ ซึ่งเป็นยาชุดสุดท้ายที่เรารับจากโรงพยาบาลแห่งแรก และหยุดการรักษาไปเองราวๆ 2 เดือน
หมอสั่ง Sertraline 50mg. โดสน่าจะประมาณ 1-2 เม็ด ไม่แน่ใจ มันค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนเมื่อเราดีขึ้นมากแล้วเกิดงอแงไม่ไปตามนัดขึ้นมา เพราะชะล่าใจคิดว่าดีขึ้นแล้วนี่เอง มันจึงส่งผลให้เรายังต้องรักษาโรคซึมเศร้ามาจนถึงตอนนี้
ตอนที่เข้าสู่ปีที่สองของการรักษาอย่างเป็นทางการ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in