เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Green at heartAnotherme
Climate Change: เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย
  • Trust me, it's just 7 mins read...

    ล่าสุดคงปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากวิกฤตโควิด19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเราคงได้ยินข่าวผ่านหูหรือผ่านตาบ่อยๆว่าเกิดภัยน้ำท่วมในหลายประเทศทั่วโลก เช่น จีน เยอรมัน เบลเยี่ยม เนเธอแลนด์ อินเดีย และใช่ อ่านไม่ผิด ทั้งหมดเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งนั้น

    ฝนห่าใหญ่ที่ถล่มมณฑลเหอหนานภายในระยะเวลา 3 วันนั้นเทียบเท่ากับ

    "ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1 ปี," 

    สื่อหลายสำนักถึงกับพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หรือนี่คือสัญญาณเตือนครั้งสำคัญถึงผู้นำทั่วโลกว่าควรลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและจริงจังเสียที เรามีการพูดถึง Sustainable Deveopment Goals (เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน) เรามี Paris Agreement (ข้อตกลงปารีส) ที่ตั้งใจจะลดการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ในเมืองใหญ่สู่ชั้นบรรยากาศ เราพูดถึงและรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมที่กินระยะเวลามานานเกินทศวรรษ เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทั้งภาครัฐและเอกชนควรจับมือและร่วมลงแรงกันเพื่อพัฒนาให้พื้นที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นเมืองหรือชนบทพร้อมรับศึกหนักจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีท่าทีจะหนักหน่วงขึ้นทุกปี บทความนี้จะพาไปดูตัวอย่างการปรับพื้นที่เมืองให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนทั้งยังสามารถช่วยรองรับปริมาณน้ำจำนวนหนึ่งเพื่อดูดซึมลงสู่พื้นดินหรือพักเพื่อรอปล่อยลงแม่น้ำได้เป็นอย่างดี

    ชาวเมืองจะรับมือกับปัญหาอย่างไรได้บ้าง 

    กล่าวได้ว่าพื้นที่เขตเมืองเป็นจุดที่เปราะบางจุดหนึ่งเมื่อต้องรองรับกับผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีคนจำนวนมากอาศัยอยู่ สิ่งก่อสร้างในเขตเมืองใช้วัสดุที่ขวางกั้นไม่ให้น้ำซึมลงหน้าดิน เช่น คอนกรีต ปูน ถนน ตึก ผังการวางท่อใต้ดินหรือระบบการลำเลียงน้ำยังไม่แข็งแรงพอที่จะรองรับกับน้ำฝนปริมาณมากแบบที่ไม่คาดคิดได้ 

    ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ว่าไม่มีใครสนใจแก้ไขปัญหานี้เลย เพราะในหลายเมืองใหญ่มีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมฉับพลันไว้อย่างหลากหลายให้ได้ดูเป็นตัวอย่าง เช่น เมืองอู่ฮั่น ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งแม่น้ำร้อยสาย ได้ถูกยกตัวอย่างบ่อยครั้งให้เป็น"เมืองฟองน้ำ" ตัวอย่าง (Sponge City) เพราะที่อู่ฮั่นได้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่สวนสาธารณะทางตะวันออกของเมืองและให้กลายเป็นพื้นที่ซับน้ำขนาดใหญ่ให้กับเมือง ซึ่งนอกจากจะมีหน้าที่ซับน้ำแล้วยังเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนได้ไปพักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย ในสวนจะก่อสร้างด้วยวัสดุที่น้ำซึมผ่านได้ มีสวนพิรุณ (Rain Garden) พื้นที่ชุมน้ำ (Wetland) ทั้งยังมีพื้นที่สีเขียวและบ่อเก็บน้ำที่ช่วยชะลอและหน่วงกระแสน้ำลงใต้ดินเพื่อไปกักเก็บไว้และปล่อยออกแม่น้ำเมื่อปริมาณน้ำในแม่น้ำลดลง 
    Wuhan Xingyuexie Park
    นอกจากนั้นแล้วยังมีอีกหลายเมืองใหญ่ที่พยายามเคลื่อนไหวเพ่ื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองที่นอกจากจะช่วยเพิ่มพื้นที่ซับน้ำ ชะลอการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ แล้วยังช่วยลดปัญหาเกาะความร้อนในเมือง (Urban Heat) ได้อีกด้วย เช่น เมืองปารีส ตอนนี้ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะปรับตัวให้กลายเป็นเมืองที่มีสีเขียวมากที่สุดในยุโรปให้ได้ภายใน 2030 และในช่วงโควิดที่ผ่านมาได้ปรับถนนบางสายให้กลายเป็นเส้นทางจักรยานไปเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งยังให้คำมั่นไว้ว่าจะแปรสภาพลานกว้างรอบหอไอเฟลและจตุรัสคองคอร์ดให้กลายเป็นสวนสาธารณะต้อนรับการเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกในปี 2024 และภายในปี 2030 จะปรับถนนฌ็องเซลิเซ่ให้เหลือเพียงแค่ 2 เลนและจะปลูกต้นไม้เพิ่มสองข้างทางตลอดแนวถนนเพื่อยกระดับคุณภาพอากาศให้กับประชาชนผู้สัญจรผ่านถนน 
    แผนพลิกโฉมถนนฌ็องเซลิเซ่ในปี2030

    การเพิ่มหลังคาเขียว (Green Roof) ให้สิ่งก่อสร้างในพื้นที่เมืองก็สามารถช่วยบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิิอากาศหรือ climate change ได้เป็นอย่างดี ที่เมืองฟิลาเดลเฟียที่ประสบปัญหาน้ำท่วมฉับพลันบ่อยครั้งคล้ายคลึงกับกรุงเทพมหานครได้ใช้วิธีการเพิ่มหลังคาสีเขียวให้กับอาคารและตึกรามบ้านช่องเพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่ดูดซับน้ำฝนแทนที่จะปล่อยลงท่อระบายน้ำอย่างเดียว มีิงานวิจัยยืนยันว่า Green Roof สามารถช่วยดูดซับน้ำฝนได้มากถึง 50-90% ช่วยลดมลพิษในอากาศ มีส่วนช่วยควบคุมอุณหภูมิในเมืองไม่ให้ร้อนจนเกินไป และยังช่วยคืนระบบนิเวศในกับสังคมเมืองที่แทบจะไม่หลงเหลือที่อยู่อาศัยให้กับพืชและสัตว์นานาพันธุ์อีกต่อไป สังคมเมืองที่มีพื้นที่ใช้สอยอย่างจำกัดและคับแคบ การใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วให้มีค่าจึงเป็นสิ่งจำเป็น ฉะนั้นการเพิ่ม Green Roof จะช่วยให้เราสามารถใช้พื้นที่โล่งกว้างบนชั้นสูงสุดของตึกอย่างมีประโยชน์ ทั้งยังช่วยเพิ่มพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจให้กับผู้คนที่อาศัยอยู่ในอาคารได้อีกด้วย 

    Philadephia green roof

    กรุงเทพมหานคร ถึงแม้ว่าจะขึ้นชื่อเรื่องน้ำท่วมฉับพลันและมีระบบการระบายน้ำที่อ่อนแอ แถมยังมีคำทำนายจากหลายสำนักว่าอาจจะจมอยู่ใต้บาดาลภายในอีก 50 ปี ถ้าเราไม่รีบแก้ไข ก็มีพื้นที่ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยหน่วงและกักเก็บน้ำได้บางพื้นที่ เช่น สวนป่าในกรุง และอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนั้นแล้วกรุงเทพมหานครเองก็ร่วมลงนามในข้อตกลงปารีสและผลักดันที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เพียงพอต่อจำนวนประชากรพร้อมทั้งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2030 เช่นกัน ทั้งนี้เราก็อาจจะต้องมารอดูผลการทำงานหลายๆอย่างของภาครัฐว่าจะเป็นไปในรูปแบบไหน จะสร้างแค่สวนอย่างเดียว หรือมีวิธีการรุกคืบในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อื่นๆร่วมด้วย 

    ยังมีคำถามคาใจอีกหลายข้อที่จะต้องหาคำตอบสำหรับชาวกรุงเทพมหานคร คือนอกจากแพลนเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองกรุง โครงการที่กำลังดำเนินการอยู่นั้นจะสามารถตอบโจทย์เรื่องซับน้ำได้หรือไม่ ประชาชนทุกเพศทุกวัย ทุกฐานะ จะเข้าถึงพื้นที่สีเขียวนั้นได้จริงหรือเปล่า หน่วยงานรัฐ เอกชน หรือระดับประชาชนเองจะสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวอื่นๆ หรือพื้นที่รองรับน้ำอื่นๆได้อีกหรือไม่ เราจะสามารถน้อมนำโมเดล Green Roof มาใช้กับเมืองที่กำลังขยายตัวอย่างไม่สิ้นสุดและตึกที่มีท่าทีว่าจะไม่หยุดขึ้นอย่างกรุงเทพได้หรือไม่ Green Roof จะสามารถนำมาใช้ทำเป็นพื้นที่สร้างรายได้ได้หรือไม่ ภาครัฐจะตั้งใจจัดการกับปัญหาน้ำท่วมฉับพลันในกรุงเทพและรณรงค์ให้ลดใช้คาร์บอนได้อย่างไรบ้าง 

    แต่คำถามสำคัญที่สุดที่ควรจะตอบให้ได้ในเร็ววันก็คือ เราพร้อมแค่ไหน เราทำอะไรไปแล้วบ้าง และทำอะไรได้บ้าง สถานการณ์น้ำท่วมที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากในหลายประเทศที่กล่าวไปข้างต้นให้บทเรียนอะไรกับประเทศไทยบ้างหรือไม่ สัญญาณเตือนนี้มันดังพอแล้วหรือยังที่จะทำให้ภาครัฐขยับตัวทำอะไรสักอย่าง เราพร้อมแล้วหรือยังที่จะรับมือกับปัญหาโลกร้อนและภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงที่ดูท่าแล้วมันจะไม่รอให้ประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเราได้วางแผนหรือตั้งหลักอะไรอย่างที่ใจต้องการเลย 




    อ้างอิง
    https://www.reuters.com/business/environment/china-germany-floods-expose-climate-vulnerability-2021-07-22/
    https://www.washingtonpost.com/world/interactive/2021/world-floods-climate/
    https://citycracker.co/city-design/rain-gardens/
    https://citycracker.co/city-design/spongecity/
    https://www.timeout.com/paris/en/things-to-do/paris-green-sustainable-city-plan-2030
    https://www.theguardian.com/cities/2019/jan/23/inside-chinas-leading-sponge-city-wuhans-war-with-water
    https://progreencenter.org/2018/03/26/green-roof-หลังคาเขียวกับหลังคา/
    รูปภาพ
    http://www.obermeyer-cn.com/en/project/wuhan-xinyuexie-park
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in