เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เรื่องเล่าจากคนติดเล่าDuriya
ทำไมการเรียนภาษาอังกฤษของเด็กไทยจึงไม่ประสบผลสำเร็จ
  •             เคยตั้งคำถามไหมว่า “ทำไมเราเรียนภาษาอังกฤษ เรียนมาตั้งหลายปี ทั้งในโรงเรียน ทั้งกวดวิชา เรียน เรียนเสริม จนไม่เหลือพื้นที่จะบรรจุความจำลงไปแล้ว แต่พอเจอชาวต่างชาติจริง ๆ กลับพูดอะไรไม่ได้สักคำ”

    ถ้าคำตอบของคำถามนี้คือ “เคย” แสดงว่า เราคือเพื่อนกัน !

                กี่ครั้งแล้วที่เราพบว่าการเรียนภาษาอังกฤษในห้องเรียนไม่ได้ตอบโจทย์ “การศึกษา” ที่แท้จริงได้
    การศึกษาในโรงเรียน ที่เป็นการวางแนวทางที่ได้รับการกำหนดหลักสูตรจากกระทรวงศึกษาธิการ แล้วส่งแบบแผนนี้ไปยังจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนว่าการวัดระดับหรือการวัดคุณภาพการศึกษาในลักษณะนี้จึงเป็นการ 'ออกข้อสอบ' จากส่วนกลาง โดยใช้ข้อสอบเดียวกันวัดระดับนักเรียนจากพื้นที่ต่าง ๆในประเทศไทย

                  แต่อย่าลืมว่า การวัดระดับการศึกษาในลักษณะนี้เป็นเพียงแค่การวัดความรู้ความสามารถในแต่ละบุคคลเพียงด้านเดียวเท่านั้น เป็นข้อได้เปรียบของเด็กในเมืองที่มีสถานที่ในการเรียนพิเศษและกำลังทรัพย์ของพ่อแม่มากกว่า จึงทำให้สามารถติวข้อสอบได้อย่างต่อเนื่องมากกว่านักเรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงเนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจหรือพื้นที่ต่างๆ  จึงไม่แปลกใจเลยว่าผลสอบของนักเรียนเมืองกับชนบทจึงแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด 

                   แน่นอนว่าการศึกษาโดยการวางระบบการศึกษาจากส่วนกลาง เป็นเพียงการศึกษาที่สามารถวัดความสามารถของนักเรียนได้เพียงนักเรียนที่มีความรู้เฉพาะด้านด้านเดียวซึ่งมีน้อยมาก และการวัดระดับเฉพาะด้านแบบนี้ก็ไม่สามารถนำกฎเกณฑ์มาตัดสินนักเรียนอีกหลายล้านคนที่มีความชอบ ความถนัด หรือไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกับนักเรียนจากในเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพมหานคร 

                
                ฉะนั้น นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ 'การเรียนพิเศษ' เข้ามามีอิทธิพลกับนักเรียนไทยอย่างยิ่ง เนื่องจากสถานที่เรียนพิเศษนั้นได้รับการออกแบบให้สอนให้นักเรียนมีความรู้ในรูปแบบที่กระชับที่สุด มีบุคคลากรและทรัพยากรในค้นคว้าข้อสอบนำไปสู่ การคาดเดาข้อสอบที่ได้ออกมาจากส่วนกลางได้ใกล้เคียงกับข้อสอบจริงมากที่สุด ซึ่งทำให้ได้เปรียบกว่าคนที่ไม่เรียนพิเศษ


                หลายต่อหลายครั้งที่เราอดหลับอดนอนอ่านหนังสืออย่างหนัก เพื่อที่จะไปสอบได้คะแนนดี ๆ แต่เมื่อกลับมามองย้อนไปจะพบว่าความรู้ทั้งหลายที่เราได้อัดเข้าไปในหัวไม่ได้นำมาใช้จริงในชีวิตประจำวันเลย กี่ครั้งแล้วที่สอบเสร็จและเราหลงเหลือความรู้อยู่ในหัวเพียงน้อยนิด เพื่อที่รอเวลา และสุดท้ายก็ลืมมันไป โดยไม่ได้นำมาใช้อะไรเลย

                    ย้อนกลับไปมองที่ระบบการศึกษาไทย ระบบการศึกษาที่เน้นให้คนแข่งขันและมีการวัดระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่าน ตัวเลขในในช่อง ซึ่งกล่าวได้ว่า “ผลการเรียน” คือเครื่องมือชี้วัด “คุณภาพ” ของนักเรียนแต่ละคน ฉะนั้นจึงไม่แปลกใจเลยที่นักเรียนส่วนมาก(หรือเกือบทุกคน)ต้องเรียนพิเศษ เพื่อที่จะพยายามปีนป่ายให้เป็นที่หนึ่ง


             พิจารณาที่ระบบการเรียนการสอนของไทย ที่วัดคุณภาพ วัดความเชี่ยวชาญที่เป็นรูปธรรม เช่น เกรดเฉลี่ย คะแนนรวม ลำดับที่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สามารถวัด 'ความเชี่ยวชาญ' หรือความเก่งกาจของคน ๆ หนึ่งได้จริงหรือ ??

      
                ข้อสอบกลางของกระทรวงจึงเป็นข้อสอบที่ได้รับการตีกรอบโดยให้ตอบภายใต้ “'ตัวเลือก” ที่มีการกำหนดข้อที่ถูกที่สุดมาแล้ว การตอบที่นอกเหนือไปจากตัวเลือกหรือชุดความคิดที่ถูกกำหนดไว้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่ผิด ข้อสอบแบบเลือกคำตอบได้กลายเป็นข้อสอบสามัญที่ถูกกำหนดตัวเลือกที่ผิดและถูกมาแล้ว ดูเหมือนว่าแท้จริงแล้วการศึกษาไทยมิได้เฟ้นหาผู้ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่กลับเป็นการมุ่งเน้นการผลิตคนที่มีสภาพไม่ต่างจากหุ่นยนต์ที่ทำงานตามชุดคำสั่งที่ถูกกำหนดไว้เพียงเท่านั้น


                  นอกเหนือจากที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันเลยคือการเรียนที่ไม่สามารถนำไปใช้ได้ จริงอยู่ที่การเรียนวิชาภาษาอังกฤษของไทยยังคงเน้นที่ส่วนบทสนทนา และคำศัพท์ แต่มองตามหลักความเป็นจริงแล้ว มีนักเรียนเพียงบางส่วนเท่านั้นที่สาทารถสื่อสารกับชาวต่างชาติโดยใช้ภาษาอังกฤษ แม้ว่าทางโรงเรียนจะยังมีโครงการครูต่างชาติ เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกฝนทักษะการสื่อสารกับเจ้าของภาษา แต่ก็ยังพบว่านักเรียนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่สามารถพูดคุยกับชาวต่างชาติได้อย่างจริงจัง


                  ฉะนั้นการเรียนของนักเรียนไทยในปัจจุบันจึงไม่ใช่การเรียนเพื่อที่จะ “รู้” หากแต่เป็นการเรียนเพื่อ 'เลียนแบบ' สิ่งที่ถูกกำหนดค่าความถูกผิด ดีงามมาตั้งแต่ต้น

                   ไม่แปลกใจเลยว่านักเรียนไทยมากกว่าครึ่ง ไม่สามารถทำข้อสอบอัตนัยหรือข้อสอบเขียนได้ เนื่องจากการศึกษาที่พยายามวางกรอบความคิดให้จำกัดอยู่ในแวดวงสิ่งที่ถูกสถาปนาว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น การคิดนอกกรอบหรือความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถนำมาเป็นทักษะการทำข้อสอบเขียนจึงไม่มี เด็กนักเรียนส่วนใหญ่จึงไม่สามารถก้าวข้ามปัญหาดังกล่าวได้

                      ดังนั้นการเรียนภาษาอังกฤษในปัจจุบันนี้จึงควรที่จะเน้นการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ที่เน้นการเรียนการสอนเพื่อ “นำไปใช้ได้จริง" ซึ่งการนำไปใช้ได้จริงนั้นทำให้ความรู้ได้ถูกนำมาใช้ตลอดเวลา ทำให้เกิดการพัฒนาเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงจะ เสริมสร้างทักษะในการทำข้อสอบเท่านั้นแต่ยังเป็นการพัฒนาทักษะการสื่อสารในชีวิตจริงอีกด้วย


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in