เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เรื่องเล่าจากคนติดเล่าDuriya
"แผลเก่า" รอยแผลบาดลึกของชาวชนบท
  •    จากภาพยนตร์เรื่อง “แผลเก่า” เวอร์ชันพ.ศ.2557 ที่กำกับโดยหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุลเป็นภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายขนาดเล็กชื่อเดียวกันคือ “แผลเก่า”จากปลายปากกาของ ไม้ เมืองเดิม หรือ นายก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยาถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2489 นวนิยายเรื่องนี้เป็นนวนิยายเรื่องแรกของผู้เขียนและยังเป็นนวนิยายที่สร้างชื่อเสียงให้กับผู้เขียนเป็นอย่างมากจากนวนิยายเรื่องนี้ได้มีการนำไปดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์หลายต่อหลายครั้ง เป็นที่น่าสนใจว่า แก่นหรือแนวคิดหลักของนวนิยายเรื่องนี้ได้ส่งผลต่อแนวคิดหรือวิธีคิดของผู้ชมเป็นอย่างมากจากการผลิตซ้ำแนวคิดทั้งหนังสือและภาพยนตร์อย่างแพร่หลาย เป็นเวลายาวนานกว่าแปดสิบปี 


                            
    ขอบคุณรูปภาพจาก google.com

    ในภาพยนตร์เรื่องแผลเก่าในเวอร์ชันนี้ยังคงแก่นเรื่องเดิมของผู้เขียนไว้ได้เป็นอย่างดีกล่าวคือเนื้อเรื่องทั้งหมดแบ่งออกเป็นสองส่วนส่วนแรกแสดงภาพความรักของตัวละครขวัญและเรียมโดยมีฉากความอุดมสมบูรณ์และภาพอันสวยงามของทุ่งบางกะปิในทางตรงกันข้ามก็แสดงให้เห็นถึงภาพความเป็นเมืองผ่านตัวละครเรียม คุณหญิงและสมชาย แต่ก็ยังมีตัวละครขวัญเป็นคู่เปรียบเทียบที่ยังคงความเป็นชนบทในฉากทุ่งบางกะปิอยู่จะเห็นได้ว่าผู้กำกับใช้กลวิธีการสร้างคู่เปรียบเทียบเพื่อที่จะสื่อให้ผู้ชมเห็นภาพความแตกต่างระหว่างพื้นที่ชนบทและพื้นที่แห่งความเป็นเมืองผ่านกรุงเทพฯ


        ขอบคุณรูปภาพจาก google.com


                การสร้างคู่เปรียบเทียบนี้นอกจากจะมีนัยยะเรื่องพื้นที่แห่งความแตกต่างกันระหว่างชนบทและเมืองแล้วการเป็นเมืองและชนบทยังผูกติดกับการสร้างความคิดของกลุ่มตัวละครอีกด้วยกล่าวคือตัวละครฝ่ายชนบทคือไอ้ขวัญและกลุ่มชาวบ้าน เป็นตัวละครที่แทนด้วยความซื่อจริงใจ บริสุทธิ์ ในขณะที่ตัวละครเมืองคือสมชาย คุณหญิง นายจ้อย และกลุ่มเพื่อนของสมชายเป็นตัวละครที่แสดงให้เห็นถึงความมีอารยะมีวัฒนธรรม มีการศึกษา แต่ก็แสดงภาพของการเอารัดเอาเปรียบ ความโลภไว้เช่นกัน ซึ่งการสร้างกลุ่มตัวละครทั้งสองนี้เป็นตัวแปรที่สำคัญในการพิจารณาประเด็น “ความมีอารยะ” มี่ผู้กำกับต้องการนำเสนอได้เป็นอย่างดี 


     ขอบคุณรูปภาพจาก google.com

                เห็นได้ชัดเจนในฉากงานเลี้ยงฉลองงานหมั้นของเรียมและสมชายความเป็นเมืองในฉากนี้เป็นความเป็นเมืองที่ถูกนำเสนอในแง่ลบแตกต่างจากภาพความเป็นเมืองในฉากอื่นกล่าวคือในฉากเมืองอื่นๆผู้กำกับนำเสนอภาพของความเจริญรุ่งเรือง ความทันสมัยความมีมารยาทและวัฒนธรรม เห็นได้จากฉากงานเต้นรำในงานประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองของสมชายและพรรคพวกภาพงานเต้นรำในฉากนี้แสดงให้เห็นถึงความมีมารยาทและความมีอารยะของกลุ่มคนเมืองในเวลาเดียวกัน เห็นได้จากสมชายโค้งคำนับขอเรียมเต้นรำตามธรรมเนียมตะวันตก กลุ่มผู้คนแต่งตัวตามตะวันตกและสวมหมวกที่แสดงถึงความเจริญของชนชั้นในขณะนั้นแต่ในฉากงานสังสรรค์ในคฤหาสน์ของคุณหญิงแตกต่างจากภาพของงานเต้นรำข้างต้นอย่างชัดเจนในฉากนี้ผู้กำกับพยายามนำเสนอด้านมืดของกลุ่มคนเมือง หรือกลุ่ม “ผู้ดี” โดยการสร้างให้เกิดไฟดับในเรื่องทันทีที่ไฟในงานเลี้ยงดับ ความป่าเถื่อนความต่ำทรามต่างๆของกลุ่มผู้ดีนี้ก็ผุดออกมาอย่างชัดเจนดังเช่นเรียมได้เข้าไปเห็นห้องที่เต็มไปด้วยกลุ่มชายหญิง ที่กำลังมั่วเซ็กซ์ซึ่งขัดกับธรรมเนียมของผู้ดีที่ถูกนำเสนอมาตั้งแต่ต้นเรื่องและภาพของฉากนี้ผู้กำกับได้ใช้แสงเป็นแสงสีแดงและดำ ซึ่งหมายถึงความผิดบาปและกิเลสตัณหาของกลุ่มผู้ดีการกระทำเหล่านี้ถูกนำเสนอในรูปแบบที่ไม่ต่างจากสัตว์คือมีการสมสู่ร่วมกันอย่างไม่เลือกคู่ และไม่มีพิธีสมสู่อย่างถูกต้องดังนั้นฉากงานเลี้ยงสังสรรค์ในยามที่ไฟดับจึงหมายถึงความดำมืดที่แท้จริงของคนเมืองที่ผุดออกมา หลังจากแสงสว่างได้ดับลงแล้ว



     ขอบคุณรูปภาพจาก google.com


               ฉากที่แสดงให้เห็นการเปรียบเทียบกับฉากนี้ก็คือฉากงานวัดในทุ่งบางกะปิหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น “งานเลี้ยงสังสรรค์” ของชาวชนบทก็ว่าได้โดยฉากนี้ตั้งอยู่ในวัด มีการละเล่นกันอย่างเป็นพิธีเห็นได้จากการที่ตัวละครฝ่ายชายเข้าไปในกลุ่มรำวงเริ่มร้องเพลงต่อมาตัวละครฝ่ายหญิงจึงเข้าไปสมทบ ทำให้เกิดเป็นการรำวงขึ้นพร้อมกันนั้นก็มีเสียงดนตรีจากกลุ่มตัวละครที่เป็นนักดนตรี ซึ่งในฉากนี้เป็นการโต้กลับวาทกรรมความไร้อารยะของคนชนบทได้เป็นอย่างดีเนื่องจากการที่จะรำวงได้นั้น ยิ่งต้องมีขนบธรรมเนียมและพิธีการที่ชัดเจนดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าการรำวงคือเครื่องมือแสดงถึงความเป็นผู้มีอารยะธรรมของคนชนบทได้เป็นอย่างดี


     ขอบคุณรูปภาพจาก google.com


              ยิ่งไปกว่านั้นในฉากนี้ผู้กำกับได้ใช้แสงสีเหลืองและแสงสีขาวทำให้ภาพดูสว่าง นอกจากนั้นยังมีการให้แสงจากด้านบนของภาพยิ่งย้ำให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ ไร้มลทินของคนชนบทพร้อมกันนั้นการที่ผู้กำกับได้สร้างฉากนี้โดยให้อยู่ในวัดรวมไปถึงการพยายามเกี้ยวพาราสีเรียมผ่านการร้องรำวงของไอ้ขวัญอาจหมายถึงการผูกวัฒนธรรมของชาวบ้านให้เข้ากับศาสนาซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงความเป็น ”ผู้เจริญ” ในด้านธรรมเนียมการเลือกคู่ครองได้อย่างมีวัฒนธรรมมากกว่าของคนชนบทซึ่งแตกต่างจากคนเมืองที่ “สมสู่” อย่างไม่เลือกหน้า ไม่ต่างจากสัตว์ในฉากงานสังสรรค์

         จากส่วนนี้ทำให้ผู้ชมหวนกลับไปคิดและตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการพยายามนำเสนอตนเองว่าเป็นผู้มีอารยะของคนเมืองได้ว่าแท้ที่จริงแล้วความเป็นอารยะและความเป็นผู้เจริญนั้นแท้จริงแล้วฝ่ายใดควรน่ายกย่องสรรเสริญมากกว่ากันและฝ่ายใดเป็นผู้ถูกปรักปรำในวาทกรรมนี้

       ขอบคุณรูปภาพจาก google.com


                ประเด็นนี้ผู้กำกับได้ให้คำตอบในบทสรุปของเรื่องฉากที่ไอ้ขวัญถูกตำรวจซึ่งเป็นเพื่อนของสมชาย ยิงจนถึงแก่ความตาย นั้นนำมาซึ่งความยุติธรรมตามแนวคิดของคนเมืองจริงหรือไม่ พร้อมกันกับที่เรียมได้กล่าวว่า 

    “สาแก่ใจแล้วใช่ไหม พวกผู้ดี ! ” 

    เป็นการตั้งคำถามให้กับคนดูว่าแท้จริงแล้วการกระทำตามหลักเกณฑ์ที่พยายามตัดสินคน หรือแม้กระทั้งพิพากษาชีวิตของคนๆหนึ่งเป็นเรื่องที่ คนมีอารยะควรกระทำหรือไม่
         ผู้กำกับใช้การตายของไอ้ขวัญกับอีเรียมเป็นโศกนาฏกรรมที่สะท้อนให้ผู้ชมเห็นถึง “แพะ” ของสังคมที่ถูกกระทำจากผู้ที่อ้างตนว่าเป็นผู้เจริญ ในฉากการตายของไอ้ขวัญผู้กำกับใช้แสงที่มืด ดำ และฝนที่ตกลงมาอย่างรุนแรง เพื่อที่จะนำเสนอภาพการตายอย่างน่าเศร้าของไอ้ขวัญและขณะเดียวกันยังแทนด้วยจิตใจที่ดำมืดเต็มไปด้วยความผิดบาปของคนเมืองที่ได้กระทำการปลิดชีวิตของไอ้ขวัญนอกจากนั้นการที่ไอ้ขวัญพยายามใช้คลองแสนแสบเพื่อเป็นสถานที่ตายอาจสื่อความได้ถึงการพยายามรักษาความเป็นชนบทที่ดีงามเอาไว้จนลมหายใจสุดท้ายซึ่งจะเห็นได้ว่าความเป็นชนบทที่เป็นเครื่องมือแสดงถึงความดีงามความศักดิ์สิทธิ์ยังถูกผูกให้เข้ากับคลองแสนแสบตั้งแต่ต้นอีกด้วย ดังนั้นการตายนคลองแสนแสบของตัวละครทั้งสองคือการยืนยันในความเป็นชนบทที่ดีงามที่ไม่ถูกความเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความมืดดำกลืนกิน

                                                        ขอบคุณรูปภาพจาก google.com

            กล่าวโดยสรุปความไร้อารยะของชาวชนบท ถูกโต้กลับอย่างรุนแรงภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยคนที่เป็นผู้รับผิดชอบในโศกนาฏกรรมครั้งนี้มิใช่ไอ้ขวัญหรืออีเรียมหากแต่เป็น “ผู้ดีกรุงเทพ” ที่พยายามนำกฎเกณฑ์ที่ตนเองสร้างขึ้นมาไปใช้ตัดสินผู้อื่นทั้งๆที่ตัวของคนเมืองก็มิได้เป็นผู้มี ”อารยะ” ตามที่ต้องการจะเป็นแท้จริงแล้วภายใต้ภาพแห่งความเจริญกลับเต็มไปด้วยกิเลส ตัณหาและความป่าเถื่อนไม่ต่างจากสัตว์ ในทางกลับกันกลุ่มคนชนบทที่ถูกนำเสนอว่าเป็นคนเถื่อนไร้วัฒนธรรม กลับกลายเป็นผู้ที่รู้จักความผิดชอบชั่วดี มีศีลธรรม มีวัฒนธรรมมีประเพณีอันดีงามที่เป็นแบบแผนชัดเจนที่เท่าเทียมหรือมากยิ่งกว่าสิ่งที่คนเมืองอยากจะมี หรืออยากจะเป็นเสียด้วยซ้ำไป

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in