เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
On Moviesonwriting
Angels and Demons อำนาจของการเล่าเรื่องที่เปลี่ยนจากเทวาสู่ซาตาน


  • *TW: ตัวอย่างมีภาพของเลือด ศพ และความรุนแรง*

    จากภาพยนตร์ทั้งหมดทั้งมวลที่ผมเคยดูมาในชีวิต เรื่องแรกที่ผมอยากเขียนถึงคือภาพยนตร์สืบสวนไขปริศนาที่ทำมาจากนวนิยายชุดที่โด่งดังอย่าง Angels and Demons หรือ เทวากับซาตาน บทประพันธ์ของ Dan Brown ซึ่งหากเรียงลำดับจากต้นฉบับนวนิยายแล้ว เทวากับซาตานเป็นเล่มแรกในชุดของ Professor Robert Langdon หรือศาสตราจารย์แลงดอน ตัวเอกซึ่งเป็นนักสัญลักษณ์วิทยาที่แกะรอยปริศนาหรือไขนัยยะของสัญลักษณ์ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับงานศิลปะและประวัติศาสตร์


    หนังสือในชุดยังมีอีก 4 เล่มด้วยกันโดยเรียงลำดับได้ดังนี้ 1) The Da Vinci Code (รหัสลับดาวิชี) 2) The Lost Symbol (สาส์นลับที่สาบสูญ) 3) Inferno (สู่นรกภูมิ) และ 4) Origin (ออริจิน) ความโด่งดังของหนังสือชุดนี้คือมีการนำบทประพันธ์ไปต่อยอดเป็นภาพยนตร์ถึง 3 เรื่องด้วยกันคือ รหัสลับดาวินชี สู่นรกภูมิ และเทวากับซาตาน ส่วนเรื่องสาส์นลับที่สาบสูญถูกนำไปทำเป็นซีรีส์ สำหรับภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่องนั้นได้นักแสดงนำอย่าง Tom Hank มารับบทเป็นแลงดอน ซึ่งกลายเป็นว่าเมื่อนึกถึงหนังสือหรือภาพยนตร์ในชุดนี้หน้าของเขาก็จะฉายขึ้นมาในหัวอย่างเด่นชัด


    ด้วยตัวของผมเองนั้นยังไม่ได้มีโอกาสได้หาหนังสือชุดนี้มาอ่าน เนื้อหาในบทความนี้จึงจะพูดเฉพาะเนื้อหาจากภาพยนตร์เป็นหลัก ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของหนังสือและภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่องนี้คือ การดำเนินเรื่องจะเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง หรือ 1 วัน ซึ่งจุดนี้ผมเองรู้สึกว่าเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียให้กับภาพยนตร์ชุดนี้ เดี๋ยวผมจะได้หยิบประเด็นเรื่องเวลามาพูดภายหลัง


    *Spoil Alert*


    ก่อนที่ผมจะลงลึกถึงการวิจารณ์เนื้อหาและวิธีการนำเสนอของเทวากับซาตาน ผมจำเป็นที่จะต้องเล่าโครงเรื่องและแทรกบทวิเคราะห์หรือเกร็ดความรู้เล็กน้อย  ที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการที่จะเข้าใจถึงเนื้อหาของภาพยนตร์และประเด็นที่ผมตั้งเป็นหัวข้อไว้ (เทวากับซาตานฉบับภาพยนตร์ถูกเรียงไทม์ไลน์ว่าเกิดหลังเหตุการณ์ในรหัสลับดาวินชี) 


    เทวากับซาตานมีฉากหลังตลอดทั้งเรื่องอยู่ในประเทศอิตาลี เจาะจงลงไปกว่านั้นคือเกิดขึ้นในโรมและวาติกัน ที่ซึ่งเพิ่งเกิดเหตุการณ์ที่สะเทือนใจชาวคริสต์คาทอลิกทั้งโลกอย่างการสวรรคตของพระสันตะปาปาอย่างกะทันหัน ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์สำคัญอย่าง “พิธีคอนเคลฟ (Papal Conclave)” หรือก็คือการเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่ โดยที่พระคาร์ดินัลทั่วโลกจะมารวมตัวกันที่วาติกันเพื่อคัดเลือกหนึ่งในพวกเขาขึ้นเป็นผู้นำชาวคาทอลิก 

    เรื่องจะตัดเล่าไปที่ห้องทดลองในเมืองเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งกำลังทำการทดลองสิ่งที่เรียกว่า “เศษธุลีของพระเจ้า (God Particle)” โดยในเรื่องอธิบายไว้ว่าเป็นอนุภาคพลังงานที่จำลองการเกิดขึ้นของจักรวาล ซึ่งถูกโจรกรรมไปจากห้องทดลอง และมีการฆาตกรรมนักวิทยาศาสตร์เจ้าของโปรเจกต์


    ศาสตราจารย์แลงดอน ณ ขณะนั้นสอนอยู่ที่ฮาร์วาร์ด ได้รับการติดต่อจากสำนักงานตำรวจของวาติกัน แจ้งข่าวเรื่องเอกสารปริศนาจากองค์กรที่เรียกตัวเองว่า “อิลลูมินาติ (Illuminati) ” พร้อมกับแจ้งว่าได้ลักพาตัวพระคาร์ดินัล 4 รูป และจะเกิดการสังหารพระทั้งสี่รูปนี้ในที่สาธารณะ วาติกันตัดสินใจเชิญศาสตราจารย์แลงดอนด้วยเพราะเอกสารที่ส่งมานั้นปรากฏตราสัญลักษณ์ของอิลลูมินาติที่เขียนด้วย “แอมบิแกรม (Ambigram) ” ซึ่งเป็นสิ่งที่แลงดอนสนใจและศึกษาเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ ทีแรกนั้นแลงดอนมีความลังเลเพราะรู้ว่าตนมิได้เป็นที่ต้อนรับมากนัก ด้วยหนังสือที่ตนเขียนค่อนข้าง “แฉ” เรื่องราวในอดีตของคริสตจักร

    การเขียนแบบแอมบิแกรม (Ambigram)

    FYI: แอมบิแกรม คือ วิธีการสร้างตัวอักษรหรือภาพให้สามารถอ่านได้สองวิธี

    เช่น อ่านกลับหัว อ่านจากข้างหลังมาข้างหน้า และคำหรือภาพนั้น ๆ ก็จะอ่านได้ในลักษณะเดิม

    (ตราสัญลักษณ์ในรูปนี้เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้ "ตีตรา" บนตัวพระคาร์ดินัลที่ถูกลักพาตัว

    โดยแสดงสัญลักษณ์ของธาตุทั้งสี่ คือ ดิน (EARTH), ลม (AIR), ไฟ (FIRE) และ น้ำ (WATER)


    แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แลงดอนตัดสินใจมุ่งสู่วาติกันไปที่กองบัญชาการทหารสวิสการ์ด (องค์กรที่จัดตั้งเพื่อดูแลพระสันตะปาปาโดยตรง) และพบกับศาสตราจารย์     วิททอเรีย เวตรา นักฟิสิกส์ชีวสัมพันธ์ที่ได้รับแจ้งว่า “เศษธุลีของพระเจ้า” ที่ถูกขโมยไปมาอยู่ที่วาติกันแห่งนี้ สถานการณ์ยิ่งแย่ขึ้นอีกเพราะหลอดบรรจุสสารนี้หากเมื่อแบตเตอรี่หมดเมื่อไหร่จะทำให้เกิดการระเบิดที่รุนแรง รุนแรงมากพอที่จะแผดเผาวาติกันให้หายไปจากแผนที่โลก ภาพของหลอดบรรจุสสารถูกส่งมาพร้อมกับข้อความปริศนาจากโจรลักพาตัวอีกครั้ง ซึ่งเป็นคำบอกใบ้และเปิดโปงประวัติศาสตร์ที่โสมมของ   คริสตจักรที่กระทำกับอิลลูมินาติ


    “We will destroy your four pillars

    Brand your preferiti and sacrifice them on the altars of science

    And then bring your church down upon you.

    Vatican City will be consumed by light.

    A Shining star at the end of the Path of Illumination.”

    FYI: ข้อความข้างบนนี้คำขู่จากโจรลักพาตัว ซึ่งเป็น  คำใบ้ให้แลงดอน

    คำขู่ที่แสดงชัดเจนคือ "การตีตรา" และ "บูชายัญที่   แท่นบูชาวิทยาศาสตร์"

    สุดท้ายคือ "กรุงวาติกันจะถูกแผดเผาด้วยแสง" ซึ่งในเรื่องจะให้ข้อมูลว่า

    เคยเป็นคำขู่เดิมของอิลลูมินาติโดยอุปมา "แสง" กับ "ความรู้" 

    แต่ในเรื่องนี้จะโยงไปถึงเศษธุลีของพระเจ้าที่จะทำให้เกิดการระเบิด


    การไขปริศนาเพื่อหยุดยั้งการระเบิด ดำเนินควบคู่ไปกับพิธีคอนเคลฟ ซึ่งขณะนั้น หลวงพ่อแพททริก ดำรงตำแหน่ง คาเมอร์เลงโก (Camerlengo) ถือได้ว่าเป็นตำแหน่งเลขาของพระสันตะปาปา หลวงพ่อแพททริกจึงเป็นผู้มีอำนาจในนามของพระสันตะปาปาขณะที่ตำแหน่งยังคงว่างอยู่ แลงดอนลงมือไขปริศนาจากคำบอกใบ้ที่ได้จากหอจดหมายเหตุของวาติกัน เขาค้นหา “เส้นทาง” ซึ่งนำพาเขาไปพบกับโบสถ์ ประติมากรรม และการฆาตกรรมพระคาร์ดินัลตามที่ต่าง ๆ ทั้งในโรมและวาติกัน ผู้ชมจะพบกับชื่อที่คุ้นหูของนักคิดและสถาปนิกของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) และยุคบาโรก (Baroque) ไม่ว่าจะเป็น กาลิเลโอ (Galileo)    ราฟาเอล (Raphael) มีเกลลันเจโล (Michelangelo) และ จัน โลเรนโซ เบอร์นินี่ (Gian Lorenzo Bernini)


    " Form Santi's earthly tomb with Demons Hole (จากสุสานซานตีกับรูปีศาจ)

    Cross Rome the mystic elements unfold.         (เปิดวิถีธาตุลึกลับข้ามโรม)

    The path of light is laid, the sacred test,             (วิถีแสงศักดิ์สิทธิ์ทดสอบทาง)

    Let angels guide you on your lofty quest.     (เทวทูตก้าวย่างอย่างจำนอง)"

    FYI: ข้อความข้างบนนี้คือกลอนคำใบ้เส้นทางสู่วิหารแห่งการรู้แจ้งที่ในเรื่องแลงดอนพบจากหนังสือของกาลิเลโอในหอจดหมายเหตุแห่งวาติกัน นัยหนึ่งคือบอกเส้นทางว่าพระคาร์ดินัลจะถูกสังหารที่ใดในโรมและวาติกัน โดยมีเครื่องหมายชี้เส้นทางก็คือ "เทวทูต"


    FYI: แลงดอนจะสามารถหาจุดเริ่มต้นของเส้นทางและอาศัยการชี้ทางจากรูปปั้นเทวทูต โดยทุกผลงานเป็นของเบอร์นินี่ ประติมากรอิลลูมินาตินิรนาม (ตามที่อ้างในเรื่อง)

    ภาพที่ 1: Habakkuk and the Angels (ฮาบัคคุกกับเทวทูต) ใน Chigi Chapel หรือชื่อเดิมคือ Capella Della Terra (วิหารแห่งดิน) และเป็นโบสถ์ที่ราฟาเอล ซานตี สร้างไว้

    ภาพที่ 2: ภาพสลักนูนต่ำ West Ponnente หรือ ลมตะวันตก บริเวณมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์

    ภาพที่ 3: Ecstasy of Saint Teresa ตั้งอยู่ในโบสถ์ Santa Maria della Victoria โดยเทวทูตในรูปคือเซโรฟีม เทวทูตแห่งไฟกำลังนำความรักของพระเจ้ามามอบให้นักบุญเทเรซ่า

    ภาพที่ 4: Fontana dei Quattro Fiumi (Fountain of the Four Rivers) แลงดอนจะสามารถช่วยเปรเฟติติรูปสุดท้ายได้ที่นี่

    (เปรเฟติติ = พระคาร์ดินัลที่เป็นเสมือนผู้ที่จะถูกเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาองค์ต่อไป)


    ท้ายที่สุดของเรื่องแลงดอนและเวตราจะเปิดโปงว่าหลวงพ่อแพททริกเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเรื่องทั้งหมด ตั้งแต่การลอบวางยาปลงพระชนม์พระสันตะปาปา ด้วยหลวงพ่อแพททริกมีความคิดอย่างสุดโต่งที่ว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเข้ามารุกรานและทำลายพื้นที่ความเชื่อความศรัทธาทางศาสนาเพราะเป็นสิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ ซึ่งขัดแย้งกับองค์พระสันตะปาปาที่มีมุมมองแตกต่างกัน หลวงพ่อแพททริกที่กลัวว่าคริสต์ศาสนาจะล่มสลายหากผู้นำหันไปศรัทธาวิทยาศาสตร์ด้วย ตนจึงวางแผนทั้งหมด ในตอนท้ายของเรื่องหลอดสสารที่พบจะถูกหลวงพ่อแพททริกนำไประเบิดกลางอากาศต่อหน้าสาธารณชน แล้วจะทำให้เหมือนกับว่าเขาเป็นวีรบุรุษที่ปกป้องวาติกัน เมื่อถูกเปิดโปงทั้งหมดแล้วหลวงพ่อแพททริกตัดสินใจจบชีวิตตนด้วยการเผาร่างตนเอง


    ทั้งหมดที่ผมเล่ามานี้เป็นเพียงโครงเรื่องของเหตุการณ์เท่านั้น ซึ่งตามธรรมชาติของภาพยนตร์รหัสคดีแล้วความน่าตื่นตาตื่นใจจะอยู่ที่รายละเอียดในการไขรหัสเสียมากกว่า เช่นเดียวกับเทวากับซาตานที่ผมแทรกเกร็ดข้อมูลจากตัวภาพยนตร์ไว้พอสมควร สิ่งที่ผมอยากหยิบมาคุยต่อก็คือ “ความจริงและไม่จริง” ซึ่งผมคิดว่าเป็นกลวิธีที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้สนุกขึ้นมา

  • เมื่อจริงและไม่จริงถูกร้อยเรียงจนแยกไม่ออก ความพร่าเลือนที่เปลี่ยนเทวาเป็นซาตาน


    หากเราลองไตร่ตรองถึงวิธีการร้อยเรื่องของเทวากับซาตานแล้ว เราจะเห็นว่าเนื้อหาได้หยิบเรื่องเล่าทาง “ประวัติศาสตร์” มาใช้ดำเนินเหตุการณ์ ทั้งการสร้างปมขัดแย้ง การคลายปมและไขปริศนาต่าง ๆ แดน   บราวน์เลือกสรรเรื่องเล่าในประวัติศาสตร์ราวศตวรรษที่ 16-18 มาร้อยเรียงกันอย่างมีชั้นเชิง จนผมคิดว่าหลายคน “เชื่อ” ว่าสิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นความจริง


    ผมไม่ได้บอกว่าข้อมูลในเรื่องเป็นสิ่งที่นักเขียนนั่งเทียนเขียนขึ้นมานะ ข้อมูลเหล่านี้มีเค้ามูลของความจริงทางประวัติศาสตร์ บ้างเป็นทฤษฎีสมคบคิดที่หลั่งไหลอยู่ในสายธารของอดีต บ้างนักเขียนก็นำมาเขียนเพิ่มเพื่อสร้างมิติของเรื่องเล่าขึ้นมาใหม่ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพที่ชัดขึ้นแล้วกันนะ


    องค์กร “อิลลูมินาติ” ที่ในเรื่องกล่าวว่าครั้งหนึ่งในอดีตช่วงราวปี 1500 พวกเขาคือนักวิทยาศาสตร์และนักคิดที่รวมกลุ่มกันโดยมีสมาคมลับอยู่ในโรม หากแต่ความเป็นจริงแล้ว ชื่อของอิลลูมินาติในหน้าประวัติศาสตร์ปรากฏราวปี 1770 และมิเคยมีสมาคมอยู่ในโรมมาก่อน 


    หรือกระทั่งเรื่อง The Purga in 1668 ที่แลงดอนเล่าถึงการที่โบสถ์คาทอลิกลักพาตัวนักวิทยาศาสตร์ของอิลลูมินาติมาตีตราลงโทษและสังหารทิ้งร่างพวกเขาไว้บนถนน เพื่อเป็นคำเตือนให้ประชาชนว่าห้ามดูหมิ่นศรัทธาคริสตจักร พระเจ้า และไบเบิล การที่อิลลูมินาติลักพาตัวพระคาร์ดินัลครั้งนี้จึงเป็นเสมือนการแก้แค้น เรื่องนี้ก็เป็นการเขียนเพิ่มทั้งสิ้น


    Langdon: Don't you guys read your own history? 1668. The church kidnapped four llluminati scientists and branded their chests with the symbol of the cross.To "purge their sins." Murdered them and left their bodies in the street as a warning to others to stop questioning church rulings on scientific matters.It was after La Purga that a darker, more violent llluminati emerged. This sounds like retribution.

    (Goldsman, 2008) 


    แต่ใช่ว่าในประวัติศาสตร์ช่วงยุคกลางของคริสตจักรจะไม่รุนแรงกับคนที่มีความคิดที่นอกเหนือไปจากคริสต์ศาสนา ไม่ว่าจะพวกนอกรีตหรือพวกที่พยายามอธิบายคริสต์ศาสนาด้วยวิทยาศาสตร์ก็จะถูกคริสตจักรสอบสวนทั้งสิ้น มีการลงโทษคนเหล่านี้และถึงขั้นประหารก็เกิดขึ้นจริง แต่เมื่อเทียบกับเรื่องเล่าด้านบนที่ถูกเขียนขึ้นใหม่สร้างภาพคริสตจักรที่บ้าอำนาจและเผด็จการอย่างสุดกู่ การปฏิบัติในสิ่งที่ไร้จริยธรรมอย่าง การลอบลักพาตัว ตีตราด้วยเหล็กร้อน และโยนศพของนักวิทยาศาสตร์ตามท้องถนน การเขียนที่มีเค้ามูลของความจริง (แต่เขียนให้ Dramatic ขึ้น) ยิ่งสร้างภาพให้ คริสตจักรร้ายกาจกว่าความเป็นจริง 


    ผมขอยกอีกวิธีหนึ่งแล้วกัน อย่างข้างบนจะเห็นว่าเป็นการนำเรื่องที่พอมีมูลมาขยี้ให้กลายเป็นปมขัดแย้ง อีกวิธีที่ในเรื่องนี้ใช้คงเป็นแนวที่เรียกว่านำ “ทฤษฎีสมคบคิด” มาทำให้น่าเชื่อถือจนคล้ายว่าเป็นเรื่องจริง อย่างประเด็นผลงานของกาลิเลโอที่เขียนเกี่ยวกับความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยการโคจรของโลก ข้อสันนิษฐานและการทดลองทางวิทยาศาสตร์ของเขา โดยเล่มที่มีการพิสูจน์ในเชิงประวัติศาสตร์แล้วมีด้วยกัน 2 เล่ม คือ Dialogo และ Discorsi แต่แดน บราวน์ เลือกหยิบผลงานอีกเล่มที่เป็นที่ถกเถียงเกี่ยวกับความเป็นจริงของข้อมูลอย่าง Diagramma ขึ้นมาใช้ ซึ่งตามทฤษฎีสมคบคิดหนึ่งที่นิยมสำหรับหนังสือเล่มนี้กล่าวว่า Diagramma เป็นงานเขียนที่กาลิเลโอใช้เผยแพร่ความคิดของตนจากหนังสือ 2 เล่มแรก (เพราะทั้งสองเล่มถูกคริสตจักรให้ถอนกลับ) บราวน์เลือกซ่อน “กลอนคำใบ้” ไว้ในหนังสือเล่มนี้


    ความรู้สึกหนึ่งที่ผู้ชมจะได้จากการรับสารที่ว่า กลอนคำใบ้ที่บอกเส้นทางไปยังที่ประชุมลับของอิลลูมินาติ ดันซ่อนอยู่ในหนังสือลึกลับของนักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกอย่างกาลิเลโอ (ที่ในเรื่องกล่าวอ้างว่าเป็นผู้ก่อตั้งอิลลูมินาติ) ผมเชื่อเหลือเกินว่าผู้ที่มิได้สนใจอย่างลึกซึ้งกับประวัติศาสตร์ของคริสตจักรย่อมคิดว่าข้อมูลเหล่านี้ดูคลับคล้ายข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่คริสตจักรใช้อำนาจในทางมิชอบจนต้องเกิดการหลบซ่อนด้วยรหัสลับ


    อีกแง่หนึ่งของความจริงที่ถูกนำมาร้อยเรียงกับความไม่จริงก็คือ ฉากและของประกอบฉาก (Mise en Scèneซึ่งมีความสำคัญอย่างมากกับภาพยนตร์เรื่องนี้ เนื่องด้วยเนื้อหาอาศัยงานผลงานประติมากรรมของประติมากรในอดีตเป็นองค์ประกอบในการดำเนินเรื่อง อีกทั้งการไปถ่ายทำในสถานที่จริงที่ซึ่งมีสถาปัตยกรรมประติมากรรม และเรื่องเล่าต่าง ๆ ที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ยิ่งเพิ่มความสับสนต่อความเข้าใจอดีตของผู้ชมมากพอตัว จะเห็นทั้งการที่บราวน์เชื่อมโยงประติมากรรมแกะสลักของเบอร์นินี่ว่าเป็นสัญลักษณ์สำหรับชี้เส้นทาง 


    อย่างสุดท้ายที่ผมคิดเห็นว่ามีผลต่อความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ทำให้ผู้ชมเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์คือ บทบาทและการแสดงของทอม แฮงก์ ในมาดของศาสตราจารย์โรเบิร์ต แลงดอน ที่เป็นนักสัญลักษณ์วิทยา และพูดถึงประวัติศาสตร์ที่จริงและไม่จริงของแต่ละสิ่งในเรื่องได้อย่างธรรมชาติและน่าเชื่อถือ


    อ้อ ส่วนเรื่องของเวลาที่ผมอยากบอกคือ ด้วยภาพยนตร์ชุดนี้เกิดขึ้นโดยพยายามเล่าเรื่องต่าง ๆ ภายใน 24 ชั่วโมง ทำให้มุมกล้อง การตัดต่อ แม้แต่การเล่าเรื่องของตัวละครจะให้ความรู้สึกรวดเร็วอย่างถึงที่สุด เพื่อเล่าให้ผู้ชมดูได้ในเวลาราวชั่วโมงครึ่ง แน่นอนผมดูเรื่องนี้สามรอบเป็นอย่างน้อยเพื่อเขียนบทความนี้ ซึ่งต่างกับหนังสือที่ถึงแม้เรื่องจะเล่าเรื่องในเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากันแต่ผู้อ่านจะสามารถดื่มด่ำได้มากกว่าชั่วโมงครึ่งแน่นอน

  • เมื่อเรื่องเล่าทำให้ “เทวา” เป็น “ซาตาน” สู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับศรัทธา


    เอาล่ะ ด้านบนที่ผมพูดถึงนี้ก็เป็นสังเขปพอให้เห็นกลวิธีการเล่าเรื่องที่ผมค่อนข้างยอมรับในตัวของบราวน์ว่าสามารถร้อยเรื่องออกมาได้อย่าง “ดูสมเหตุสมผล” รวมถึงในสื่ออย่างภาพยนตร์เช่นนี้ผมเห็นข้อได้เปรียบมากกว่าตัวหนังสืออย่างยิ่ง ง่าย ๆ คือ การอ่านหนังสือคุณสามารถ หยุดคิด ใคร่ครวญ สร้างจินตภาพในหัว (ที่บางคนอาจไม่มีภาพจำเกี่ยวกับโรมหรือวาติกัน) แต่เมื่อกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่อง เราแทบไม่มีเวลาจะกลั่นกรองสารที่รับสักนิด รู้ตัวอีกทีเราก็มองคริสต์ศาสนาคาทอลิกจาก “เทวา” เป็น “ซาตาน” ไปแล้ว


    อุปมาของ “เทวา” กับ “ซาตาน” ในความรับรู้กระแสหลักค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว ผมหมายถึงคำทั้งสองมักถูกให้ค่าบวกและลบอย่างชัดเจน เช่น ความดี-ความชั่ว สีขาว-สีดำ ภาพยนตร์เรื่องเทวากับซาตานนี้พยายามตั้งคำถามกับคริสต์คาทอลิกในประเด็นที่เกี่ยวกับ “ศรัทธา” เป็นหลัก โดยอาศัยการประกอบสร้างเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ดังที่ผมยกตัวอย่างไว้ข้างต้น 


    จะเห็นว่าสารที่เราได้รับเกี่ยวกับอดีตของคริสต์ศาสนาตลอดทั้งเรื่องคือ ความโหดร้ายของโบสถ์คาทอลิกที่กระทำกับนักวิทยาศาสตร์อิลลูมินาติ (แนวคิดของนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้เกี่ยวกับการอธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ) แรงขับหนึ่งที่ทำให้มนุษย์คนหนึ่งโหดร้ายต่อมนุษย์ด้วยกันได้มีอยู่ไม่กี่อย่าง กรณีนี้คือ “ความกลัว” 


    เรื่องพยายามเสนอให้เราเห็นว่าในปลายยุคกลางก่อนจะถึงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาที่มีศาสตร์ต่าง ๆ กำเนิดขึ้นมากมาย วิทยาศาสตร์ที่สามารถมาอธิบายพระเจ้า อธิบายโลก ตลอดจนอธิบายจักรวาลได้ ย่อมเข้ามาสั่นคลอนอำนาจการอธิบายเชิงความเชื่อของคริสต์ศาสนา 


    เรื่อยมาจนถึงเหตุการณ์ในเรื่องปัจจุบันที่หลวงพ่อ   แพททริกกระทำการด้วยแรงขับความกลัวว่าวิทยาศาสตร์ที่รุดหน้าจะเข้ามาทำลายความเชื่อความศรัทธาในพระเจ้า ถึงขั้นลงมือลอบสังหารประสันตะปาปา ลักพาตัวและสังหารพระคาร์ดินัล 


    บราวน์เสนอให้เราเห็นแรงขับของความกลัวจนกลายเป็นความคลั่งในศรัทธา เปลี่ยนจากเทวาที่ใครต่อใครคิดว่าเป็นสิ่งดีงามกลายเป็นซาตานที่ทำทุกอย่างเพื่อศรัทธาลม ๆ แล้ง ๆ ที่จับต้องไม่ได้


    หรือถ้าให้พูดกันอย่างถึงที่สุด สำหรับผมนั้นไม่จำเพาะคริสต์ศาสนาคาทอลิก แต่ในทุก ๆ ศาสนาหรือลัทธิต่างก็ต้องการศรัทธาเพื่อการดำรงอยู่ เรียกร้องการอุทิศตนที่บางครั้งผมคิดว่าก็เกินขอบเขตของคำว่ามีมนุษยธรรมไปไกลโข จริง ๆ 


    อาจจะมองว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้เปลี่ยนจากเทวาให้กลายเป็นซาตานอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ หากแต่แท้จริงความดีงามกับเสื่อมโทรมก็ดำรงอยู่ด้วยกันในความเชื่อนั้น ๆ อยู่แล้ว  เพียงว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เลือกใช้เรื่องเล่าที่สร้างใหม่มาขับเน้นให้เห็นอีกด้าน (ที่มักไม่ถูกพูดถึง) ให้เด่นชัดขึ้น


    เป็นบทวิเคราะห์วิจารณ์ที่ยาวพอดู หากคุณอ่านถึงตรงนี้ผมก็ขอกล่าวสรรเสริญความสามารถในการอ่านของคุณ ขอบคุณและพบกันใหม่ครับ


    อ้างอิง

    Goldmans, A. & Koepp, D. Angels & Demons Movie Script. Actorpoint.com. 

           https://www.actorpoint.com/movie-scripts/scripts/angels-and-demons.html.

    Rome Private Guides. (2017). 3 Truths You Don't Know about Inquisition and Illuminati. romeprivateguides.com.    https://www.romeprivateguides.com/en/blog/about-rome/3-truths-you-dont-know-about-inquisition-and-illuminati.html

    Zablocki, J. (2013). Riddles of Angels and Demons. Goodriddlesnow.com. 

           https://goodriddlesnow.com/posts/view/riddles-of-angels-and-demons.


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in