เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
แอปแจปแอปใจjustalazygurl
05_บทบาทบทใจ : 俺 = ฉัน?【役割語】
  • สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่านทุกท่าน!

    ยินดีต้อนรับเข้าสู่เอ็นทรี่ที่ห้าของบล็อกแอปแจปแอปใจนะคะ ◡̈


    วันนี้ก่อนจะเข้าเนื้อหากัน เราก็มาเริ่มด้วยคำถามอุ่นเครื่องสักเล็กน้อยเหมือนเคยดีกว่า!
    ทุกคนสามารถจับคู่ตัวละครในรูปภาพกับวิธีการพูดในประโยค 1-5 ด้านล่างได้ไหมคะ?

    ที่มาภาพ : https://tbs-mri.com/n/nb087e236e194
    1. そうよ その秘密はあたしが知ってるのよ
    2. そうさ その秘密はぼくが知ってるってわけさ
    3. そうだ その秘密はおれが知ってるってわけだぜ
    4. そうじゃ その秘密 わしがしっておるのじゃよ
    5. そうですわ その秘密 わたくしが存じておりますわよ

    เฉลย : A-4 B-1 C-3 D-2 E-5 ←ลองคลุมดำดูได้เล้ย

    เป็นยังไงกันบ้างคะ ถูกกันไหมเอ่ย 🤩
    ถ้าเป็นคนที่เสพสื่อญี่ปุ่น โดยเฉพาะสื่อประเภท fiction กันบ่อย ๆ คิดว่าก็คงจับคู่ได้อย่างไม่มีปัญหาเลยใช่ไหมคะ เพราะตัวละครที่มีบุคลิกลักษณะต่างกัน ก็จะใช้ภาษาที่แตกต่างกันค่ะ การใช้ภาษาเพื่อแสดงความเป็นคาร์แรกเตอร์นั้น ๆ แบบนี้เราเรียกว่า 役割語 ซึ่งแปลได้ว่า ภาษาบทบาท ค่ะ! วันนี้เราจะมาทำความรู้จักคอนเซ็ปต์คร่าว ๆ ของภาษาบทบาทในภาษาญี่ปุ่นกัน และจะมีการเปรียบเทียบกับการแปลในภาษาไทยด้วยเล็กน้อยค่า

    ภาษาบทบาท(役割語)

    ภาษาบทบาท (役割語) เป็นแนวคิดที่นำเสนอโดยคินซุย ซาโตชิ (金水敏) หมายถึง การใช้ภาษา (เช่น คำศัพท์ การแสดงออก วิธีการพูด อินโทเนชั่น ฯลฯ) เพื่อแสดงภาพลักษณ์ของผู้พูด (เช่น อายุ เพศ อาชีพ ชนชั้นทางสังคม ยุคสมัย ถิ่นฐาน ฯลฯ) ที่จะทำให้ผู้รับสารสามารถจินตนาการถึงภาพลักษณ์ของตัวละครนั้น ๆ ได้ค่ะ

    ซึ่งความต่างในการใช้ภาษาดังกล่าว ส่วนมากจะแยกได้ด้วยการใช้คำสรรพนาม (人称代名詞) และคำลงท้ายประโยค (文末表現) ค่ะ ตรงนี้ถ้ากล่าวลอย ๆ ก็คงจะนึกภาพไม่ออก เพราะฉะนั้นจะขอยกตัวอย่างจากคำถามด้านบนนะคะ

    1. そう その秘密はあたし知ってるのよ
    2. そう その秘密はぼく知ってるってわけさ
    3. そう その秘密はおれ知ってるってわけだぜ
    4. そうじゃ その秘密 わししっておるのじゃよ
    5. そうですわ その秘密 わたくし存じておりますわよ

    จะเห็นได้ว่าสรรพนามบุรุษที่ 1 และคำลงท้ายประโยคที่แต่ละตัวละครใช้จะมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเลยทีเดียวค่ะ (ความจริงแล้วตรงคำว่า 知る ก็แอบมีความต่างเหมือนกันนะ แต่อาจจะไม่ได้ต่างกันทุกตัวละครขนาดนั้น)

    แต่ว่าภาษาบทบาทที่ว่าเนี่ย มันก็ไม่ใช่ภาษาที่คนจะใช้กันในชีวิตประจำวันกันนะคะ แม้บางคำจะยังปรากฏการใช้จริง แต่หลายคำก็เป็นคำที่เอาไว้ใช้เพื่อสร้างคาร์แรกเตอร์เท่านั้น เช่น アルヨ言葉 ภาษาคนจีน ที่จะมีการลงท้ายประโยคด้วย「~アルヨ」ค่ะ
    คางุระ จากเรื่องกินทามะ มักจะลงท้ายประโยคด้วย「アル」เพื่อแสดงความเป็นจีน (ภาษาไทยแปลเป็น "น่อ") แต่ในชีวิตจริงไม่มีคนพูดลงท้ายแบบนี้น้า
    ที่มาภาพ : https://note.com/hitori_cough/n/n84c02be16446
    แล้วภาษาบทบาทเมื่อแปลมาเป็นภาษาไทยล่ะ จะแปลออกมาเป็นยังไงนะ? ในส่วนนี้จะมาพูดถึงบุรุษสรรพนามกันเล็กน้อยค่ะ (จะมีการอ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากการบรรยายที่ได้ฟังมาในคาบจากพี่วิทยากรที่เคยทำวิจัยป.โทเรื่องการแปลภาษาหญิง-ชายในไลท์โนเวลด้วย ขอบคุณพี่วิทยากรมากเลยค่ะ 🤍)

    ภาษาไทยเรามีภาษาบทบาทบ้างไหมนะ?

    เรามักพบการแปล「俺」ว่า "ฉัน" ใช่ไหมคะ แต่ทุกคนว่าในความเป็นจริงแล้วผู้ชายแทนตัวเองว่า "ฉัน" ในชีวิตประจำวันกันเป็นปกติไหมคะ 🤔 คงไม่ใช่คำแทนตัวยอดนิยมสักเท่าไหร่เนอะ แต่พออ่านในฟิคชั่นแล้วก็ไม่ได้รู้สึกขัดอะไรใช่ไหมคะ นี่แหละค่ะ หลักฐานที่ชี้ว่าภาษาไทยเองก็มี "ภาษาบทบาท" หรือ 役割語 เช่นเดียวกันกับภาษาญี่ปุ่น

    ถึง default ของการแปลคำว่า「俺」จะเป็นคำว่า "ฉัน" แต่ก็ใช้ไม่ได้เสมอไป

    俺 、おれ、オレ、僕、ぼく、ボク、わし、私、わたし、あたし、わたくし
    吾輩、自分、拙者、… อย่างที่เห็น ภาษาญี่ปุ่นมีคำสรรพนามบุรุษที่ 1 ที่หลากหลายมากมายให้เลือกสรรก็จริง แต่ทราบไหมคะว่าปกติแล้วผู้พูดจะไม่ค่อยมีการเปลี่ยนสรรพนามที่ใช้แทนตัวเองสักเท่าไหร่ ยกตัวอย่างเช่นคนที่พูด 俺 ก็จะมีความเป็นไปได้ที่จะใช้ 俺 เกือบตลอดทุกสถานการณ์ ไม่ว่าพูดกับเพื่อนหรือพูดกับครูก็สามารถใช้ได้ไม่แปลก แต่ถ้าเป็นภาษาไทยขึ้นมาล่ะ? 

    「先生、、用事があるので先に失礼します」
    "อาจารย์ครับ พอดีฉันมีธุระ ขอตัวก่อนนะครับ"
    มันไม่ด๊ายยยยย Σ(゚Д゚;

    ถ้าจะแปลให้เข้ากับบริบท แน่นอนว่าในภาษาไทยจะต้องเปลี่ยนตรงนี้ให้เป็น "ผม" ค่ะ
    ส่วนตัวเราเอง ในชีวิตประจำวันของเราเองเราก็เปลี่ยนสรรพนามบ่อยมากค่ะ เวลาที่คุยกับเพื่อนก็มีใช้หลากหลายมาก ทั้ง "เรา" "ชั้น" "ผม" หรือตอนที่คุยกับผู้ใหญ่ก็จะเปลี่ยนมาเป็น "หนู" หรือบางทีก็อาจเรียกแทนด้วยชื่อตัวเองค่ะ
    จะเห็นได้ว่าแม้บุรุษสรรพนามในภาษาไทยอาจไม่ได้มีความหลากหลายเท่าภาษาญี่ปุ่น แต่ในด้านการใช้งานต่อบุคคลนี่ถือว่าหลากหลายกว่ามากเลย เพราะคน ๆ นึงสามารถแทนตัวเองได้ 10 แบบในวัน ๆ เดียวเป็นเรื่องปกติค่ะ 555555

    จะเห็นได้ว่าบุรุษสรรพนามในภาษาญี่ปุ่นและภาษาไทยมี nuance ในการใช้ที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถปักคำแปลสำหรับคำไหนได้โดยสมบูรณ์ค่ะ เพราะฉะนั้นตอนแปลอย่าลืมดูความเหมาะสมของบริบทเพื่อที่จะแปลออกมาเป็นภาษาไทยได้อย่างธรรมชาติด้วยน้า

    สำหรับวันนี้ขอฝากไว้เท่านี้ค่ะ ขอบคุณทุกท่านที่อ่านกันมาถึงตรงนี้นะคะ หวังว่าจะได้อะไรไม่มากก็น้อยค่ะ 🤍

    แล้วพบกันใหม่ค่ะ ◡̈
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
ส่วนตัวมีปัญหากับการแปลคำว่า 俺 มาก ๆ เลยค่ะ55555 บางทีพอต้องแปลบทสนทนาที่เป็นการพูดกันเองกับเพื่อนแล้วก็ไม่รู้ว่าควรใช้คำว่าอะไรดี "ผม" ก็ทางการไป "เรา" ก็พอไหว (มั้ง...) แต่ก็ยังรู้สึกว่าไม่ใช่ แต่จะใช้ "กู" เลยก็ยังไงอยู่55555 บางทีเลยจบที่ "ฉัน" ไปโดยปริยายเลยค่ะ
k.l.k (@k.l.k)
ภาษาบทบาท (役割語)สรุปได้ดีค่ะ ชอบภาษาคนจีน アルヨ