เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Crypto DefiNarut Sirithip
อารมณ์ที่เกิดครั้นเทรดคลิปโต
  •      ในช่วงที่ผ่านมานี้ เรียกว่าวิกฤติคลิปโตก็ได้ถ้าจะเทียบเคียงก็คงประหนึ่งต้มยำกุ้งของตลาดหุ้น ลงกันมากว่า 50% - 80% (ตอนนี้ก็ไม่รู้สุดรึยัง) ซึ่งสิ่งที่เราต้องรับมือไม่ใช่แค่การลงทุน แต่เป็นอารมณ์ของเราด้วย ในส่วนตัวนั้นถือว่าโชคดีที่ได้เข้ามาทันเหตุการณ์นี้ มาตั้งแต่กลาง มีนาคม ไปที่จุดสูงสุดปลายเมษา และ เริ่มวิบัติกลาง พค. ตั้งแต่พอร์ตโตไป +เกือบ 200% จนมาที่ -30% (คือยังดีที่ได้กำไรช่วงแรกมาช่วยขาดทุน) อารมณ์ความรู้สึกที่จับได้มีหลากหลายอารมณ์มากครับ

    - ดีใจ : นับเป็นครั้งแรกในชีวิตที่พอร์ต +ได้ขนาดนี้ในไม่กี่วัน ซึ่งพยายามเตือนตัวเองตลอดว่าอันนี้อาจจะเกิดจากดวงมากกว่าความสามารถของเรา เพราะในยามที่ตลาดขึ้น จิ้มมั่วก็ถูกได้ 

    - สนุก ตื่นเต้น : เราสามารถนั่งดูได้เป็นชั่วโมงๆ ในแต่ละวัน และตื่นเต้นกับราคาที่แสดง สนุกกับการเดาถูก การคาดคะเน จนเหมือนเป็นการเล่นเกมส์ 

    - ชร่าใจ ประมาท : ถึงเราจะทราบความเสี่ยง การสวิงราคา แต่ก็อดชร่าใจกับความง่ายดายของมันไม่ได้ ทำให้เงินในการลงทุนในนั้นบางครั้งกลับเป็นเหมือนเพียงตัวเลขในเกมส์ เกมส์หนึ่งไปจนคิดไม่รอบคอบ

    - อิจฉา : นี่คือความรู้สึกที่แย่ลำดับต้นๆที่เกิดขึ้น ทั้งๆที่เราก็ได้ไปมาก แต่พอเห็นคนอื่นได้มากกว่าเราก็เกิดความคิดลบนี้ขึ้นมา เรามักเปรียบเทียบกับผู้อื่นตลอดเวลา

     - เสียดาย : เสียดายไม่ได้มาเฉพาะเวลาที่เราขาดทุน แต่การได้น้อย การขาดทุนกำไร คำว่ารู้งี้ ตอนนั้นถ้า เต็มไปหมด และมาได้ทั้งในตลาดขาขึ้นและขาลง มาในทั้งตอนที่ได้ ทั้งตอนที่เสีย 

    - หดหู่ เสียความมั่นใจ : พอตลาดตก เงินหายไปจำนวนมาก เป็นธรรมดาที่เราจะรู้สึกเช่นนี้ ทำให้เสียความมั่นใจ ราคาที่วิ่งลง ลงซ้ำแล้วซ้ำอีก หากแยกแยะไม่ดีมันจะพาลเสียมาถึงในชีวิตปกติของเราไปด้วย ทำให้เป็นวัน DOWN ๆ ทำให้เรารู้สึกล้มเหลวขึ้นได้

    - วิตกกังวล : เป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้ตอนลองไปทำ day trade เพราะเราไม่มีการวางแผน เราเป็น day trade มือสมัครเล่น นั่งจ้องราคาตลอด ใจเต้น นอนก็ยังเก็บไปฝัน ช่วงวันสองวันนั้นตาคล้ำจนสังเกตได้เลย และไม่ต้องทำอะไรเลยวันๆ

    - กลัว & โลภ : สองสิ่งนี้เกิดสลับกันไปมาตอน DAY-TRADE อย่างเห็นได้ชัด ซื้อเสร็จก็กลัวรีบขายทำให้ขายหมู จังหวะเข้าซื้อก็โลภ คิดว่าอีกซักนิดละกันทำให้จุดที่ตั้งว่าจะต้องขายก็ไม่ขาย จริงๆแล้ว 2 อารมณ์นี้ น่าจะเป็นสิ่งที่จริงที่สุด ในการเล่นในช่วงหลังนี้ที่เห็นตัวเองได้ชัด

    - ตระหนก : การตัดสินใจใดๆที่มักผิดพลาด ก็มักจะเกิดขึ้นเมื่อจิตใจเราไม่สงบ หรือเกิดความตระหนกขึ้นมา เมื่อราคาวิ่งขึ้นลงอย่างรวดเร็วทำให้เกิดคำที่เรียกว่า panic sell & panic buy ในตลาดหุ้นอาจมีคำว่าขึ้นบันไดลงลิฟท์ แต่คลิปโตนั้น ลิฟท์สามารถมีได้ทั้งตอนขึ้นและตอนลง 

     จะเห็นได้ว่า ถ้าเราไม่มีการจัดการอารมณ์ที่ดี ก็จะแทบไม่มีอารมณ์ที่เรียกว่า ความสบายใจอยู่เย็นขึ้นมาเลยโดยเฉพาะในระยะหลัง ไม่ว่าจะขึ้นหรือจะลง จะได้หรือจะเสีย และแม้กระทั่งจะไม่ได้ไม่เสียเลย ก็กระวนกระวาย 
        ดังนั้น สิ่งที่เราต้องรับมือ อาจไม่ใช่เพียงทางเทคนิค แต่ต้องเป็นอารมณ์ของเราด้วย ถ้าเราลงทุนเพื่อความสุขในอนาคต เราอาจต้องดูแลความสุขของเราขณะลงทุนควบคู่ไปด้วย เพราะความสุขที่จับต้องได้คือความสุข อารมณ์ในปัจจุบัน ตลาดคือกระจกที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของนักลงทุน ที่พยายามสะท้อนสิ่งที่วัดไม่ได้ (อารมณ์) มาเป็น ตัวเลขหรือราคา ที่แสดงออกมาบนกระดาน ดังนั้นการลงทุนที่ประสบความสำเร็จอาจไม่ใช่เพียงตัวเลขผลรวม แต่เป็นความสุข ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริงกับเราด้วย 

     ตอนพอร์ตหุ้นพังช่วงโควิดใหม่ๆ นั้นครั้งนั้นวิธีแก้พอร์ตที่ -60% มาเป็นบวก ได้ด้วยการ อยู่เฉยๆบ้าง ไปใช้ชีวิตปกติ ติดตามข่าวบ้างเล็กน้อย แล้วเปิดอีกทีตอนต้นปี เพราะกะจะซื้อ OR สรุปเอ้า บวกเฉย บางครั้งทำอะไรตอนอารมณ์ไม่ปกติ มันเป็นผลเสียยิ่งกว่าไม่ทำอะไรเสียอีก อ้อที่สำคัญอย่าทิ้ง เสียแล้วไม่ได้บอกว่าต้องเอาคืนนะครับ แต่เรียนรู้แล้วลุยใหม่ ยังไงมันก็มีรอบหน้า ตอนนั้นเราก็จะเก่งขึ้นทั้งการรับมือเชิงเทคนิค และการรับมือเชิงอารมณ์ การลงทุนมีความเสี่ยง เสี่ยงที่จะเป็นบ้าได้ ถ้าไม่จัดการอารมณ์ตัวเอง อย่าลืมดูอารมณ์ก่อนดูพอร์ต นะครับ 

       ปล.ขณะนี้ผู้เขียนได้ใช้ชีวิตอยู่บนดอย เมื่อเวลาถึงพร้อม เราก็จะลงจากดอยไปด้วยกันอย่างมีความสุข เราคือผู้ประสบภัยผู้ร่วมชะตากรรม ดอยนี้ไม่เหงาเลย 



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in