ในบล็อกที่แล้วเราได้แนะนำภาษาถิ่นในญี่ปุ่นรวมถึงคำศัพท์และวลีที่ในภาษาถิ่นคันไซกันไปแล้ว บล็อกนี้เราจะมาทำความเข้าใจไวยากรณ์ของภาษาถิ่นคันไซไปพร้อม ๆ กัน เพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชมแอนิเมชัน ไม่ใช่แค่เรื่อง Josee, the Tiger and the Fish เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงแอนิเมชันเรื่องอื่น ๆ และอีกหนึ่งแอนิเมชันที่น่าสนใจจากสตูดิโอจิบลิที่จะมาแนะนำให้ทุกท่านได้ไปลองรับชมกันค่ะ (((o(*゚▽゚*)o)))
สำหรับไวยากรณ์ของภาษาถิ่นคันไซที่จะมาแนะนำในครั้งนี้ เดิมทีตั้งใจว่าจะยกไวยากรณ์ที่อยู่ในหนังสือและเอกสารประกอบการเรียนที่เคยใช้เมื่อตอนเรียนวิชาภาษาในสังคมญี่ปุ่น Lang JP Soc เพียงอย่างเดียวแต่เอกสารประกอบการเรียนที่อาจารย์ใช้นั้นเขียนขึ้นมาสักพักหนึ่งแล้ว อาจจะมีความต่างจากภาษาคันไซในปัจจุบันไปบ้าง (ตามคำบอกเล่าของเพื่อนคนโอซาก้าที่เรียนด้วยกัน เขาบอกว่ามีบางส่วนที่ไม่เหมือนกันที่เขาใช้จริงค่ะ 〒▽〒) จึงได้ลองค้นหาในอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติมดูและนำมาเทียบกัน รวมถึงลองเทียบกับที่ปรากฏในแอนิเมชันก็พบว่ายังมีความคล้ายกันอยู่ จึงขอหยิบยกไวยากรณ์มาเพียงบางส่วนที่พบการใช้ในปัจจุบัน ในแอนิเมชันและไวยากรณ์ส่วนที่มีความคล้ายทั้งในเอกสารประกอบการเรียนและเว็บไซต์อ้างอิง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดข้อผิดพลาดค่ะ นอกจากนี้ยังพบว่าภาษาถิ่นคันไซยังมีรูปแบบการใช้งานที่แตกต่างกันตามพื้นที่ ดังนั้นไวยากรณ์ที่ยกมาในวันนี้ จะเป็นไวยากรณ์ของภาษาถิ่นคันไซในโอซาก้า หรือ สำเนียงโอซาก้า 大阪弁 ค่ะ
1. คำเติมเต็ม だ จะออกเสียงว่า や
a. ~だ ➔ ~や : 元気だ ➔ 元気や, 暇だけど ➔ 暇やけど
b. じゃない ➔ やない/ちゃう : 日本人じゃない ➔ 日本人やない/ちゃう
c. だろう ➔ やろ : 明日だろう ➔ 明日やろ
d. だよ ➔ やで : これだよ ➔ これやで
e. ~んだ ➔ ~やねん
2. ในภาษากลางจะออกเสียงคำว่า ます เป็นเสียงสั้น (mas) เพราะเกิดการกร่อนเสียง แต่ในภาษาถิ่นคันไซจะออกเสียงแบบไม่กร่อนเสียงเป็น masu หรือบางครั้งก็พบว่าออกเสียงเป็น masuu และจะพบการออกเสียงในลักษณะเดียวกันนี้ในคำว่า です ได้เช่นกัน
3. รูปปฏิเสธจะไม่ได้ใช้ ない แต่ะจะใช้ へん ทั้งยังพบการเปลี่ยนเสียงสระในบางสำเนียงอีกด้วย
a. しない ➔ せへん
b. 来ない ➔ けーへん (สำเนียงโอซาก้า)
c. 食べない ➔ たべへん
d. 見ていない ➔ 見てへん
e. かまわない ➔ かまへん
4. ~よ ➔ ~で : 良かったよ ➔ 良かったで, 食べたよ ➔ 食べたで
5. ~ている ➔ ~てる (ทั้งผช.และผญ.) / とる (ผช.) : 飲んでいる ➔ のんでる/のんどる, 調べている ➔ 調べておる/調べとる
6. ~ておく ➔ ~とく : 置いておく ➔ 置いとく
7. ~ね ➔ ~な : 暑いね ➔ 暑いな, 始まるね ➔ 始まるな
นอกจากรูปแบบไวยากรณ์ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น ภาษาถิ่นคันไซยังมีรูปแบบไวยากรณ์อยู่อีกไม่น้อยที่น่าสนใจและยังมีการใช้งานในปัจจุบัน หากผูอ่านท่านไหนสนใจศึกษาภาษาคันไซเพิ่มเติมสามารถลองสืบค้นในอินเทอร์เน็ตว่า “ภาษาถิ่นคันไซ” “สำเนียงคันไซ” หรือ “関西弁” เพิ่มเติมดูได้นะคะ หรือจะลองเข้าไปอ่านเพิ่มเติมในเว็บที่แปะไว้ในแหล่งที่มาด้านล่างบล็อกนี้ก็ได้เช่นกันค่ะ (/≧▽≦)/ หรือถ้าสนใจภาษาถิ่นคันไซในพื้นที่อื่น ๆ เช่น 京都弁 ก็สามารถเลือกอ่านในเว็บไซต์นี้ได้เช่นกันค่ะ
อย่างที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นบล็อกว่าครั้งนี้จะมาแนะนำแอนิเมชันของจิบลิที่มีการใช้ภาษาถิ่นคันไซเพิ่มอีก 1 เรื่องค่ะ ซึ่งเรื่องนั้นก็คือ ยามาดะ ครอบครัวนี้ไม่ธรรมดา My Neighbors the Yamadas ในชื่อญี่ปุ่นว่า ホーホケキョ となりの山田くん นั่นเองค่ะ
https://www.ghibli.jp/works/yamada/
เรื่อง ホーホケキョ となりの山田くん นั้นอาจจะยังไม่เป็นที่พูดถึงในไทยมากนัก ทำให้หลาย ๆ คนอาจจะไม่รู้จักหรือยังไม่เคยดูแอนิเมชันเรื่องนี้ สารภาพว่าในตอนแรกเราก็ไม่เคยรู้จักเรื่องนี้มาก่อนเช่นกัน จนกระทั่งเริ่มเขียนบล็อกนี้และในช่วงที่กำลังหาแอนิเมชันของจิบลิเพื่อหยิบยกมาเขียนเป็นบล็อกนี้เอง ก็ได้เจอกับแอนิเมชันเรื่องนี้เข้า อีกทั้งอาจารย์ก็เคยพูดถึงแอนิเมชันเรื่องนี้และประเด็นที่น่าสนใจขึ้นมา ทำให้เราเลือกเรื่องนี้มมาเป็น 1 ในหลาย ๆ เรื่องที่จะลองดูและหาประเด็นมาเขียนค่ะ ( •̀ ω •́ )y
พอได้ลองดูก็พบว่าเรื่องนี้แทรกประเด็นที่น่าสนใจไว้เยอะมาก ไม่ใช่เพียงแค่ข้อคิดหรือคติในการดำเนินชีวิตเท่านั้น หากพูดถึงในมุมมองของภาษาศาสตร์แล้ว เรื่องนี้ก็ได้แทรกประเด็นต่าง ๆ ไว้มากมาย พอเปิดเรื่องมาคำแรกก็เป็นภาษาเด็กเลย ดำเนินเรื่องมาสักพักก็พบการใช้ภาษาคนแก่และภาษาถิ่นคันไซ ผ่านไปไม่นานก็จะกับสำบัดสำนวนและเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย รอให้ผู้ชมมาค้นพบ
https://www.ghibli.jp/works/yamada/#&gid=1&pid=47
สำหรับผู้ที่ต้องการลองฟังภาษาถิ่นคันไซและเปรียบเทียบคำศัพท์ วลี และรูปประโยคกับภาษากลางไปพร้อม ๆ กับการอ่าน subtitle ภาษาญี่ปุ่น การรับชมเรื่อง ホーホケキョ となりの山田くん ผ่านทาง Netflix ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีไม่ใช่น้อย เพราะอย่างเรื่อง ジョゼと虎と魚たち ก็ไม่มี subtitle ภาษาญี่ปุ่นและอาจจะฟังได้ยากเพราะตัวละครพูดค่อนข้างเร็ว แต่เรื่องนี้ความเร็วในการพูดของตัวละครอยู่ในระดับที่ฟังไม่ยาก และหากต้องการอ่าน subtitle ไปด้วยเพื่อป้องกันการฟังผิดเนื่องจากเป็นสำเนียงที่ยังไม่คุ้นหูมากนักก็สามารถทำได้เช่นกันค่ะ
ในบล็อกหน้าที่จะเป็นบล็อกสุดท้ายของ ติ่งญี่ปุ่นมือใหม่ ฉบับคนสนใจภาษาและแอนิเมชัน จะมาพูดถึงเรื่อง ホーホケキョ となりの山田くん อีกสักเล็กน้อยก่อนจะจากกันไปค่ะ (❁´◡`❁)
.
.
.
ที่มา :
https://hougen.u-biq.org/osaka.html
https://www.ghibli.jp/works/yamada/
https://www.ghibli.jp/works/yamada/#&gid=1&pid=47
.
.
ปล. บล็อกนี้ตัวหนังสือแทบจะเป็นตัวหนังสือล้วนเลย อาจจะอ่านยากนิดหน่อย แล้วก็อัพ 3 บล็อกติด ๆ กันมาก ๆ ขออภัยด้วยนะคะ (┬┬﹏┬┬)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in