เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
YAKYUU STORIESheathers
Shohei Ohtani พระเอกการ์ตูนในชีวิตจริง
  • ใครชอบอ่านการ์ตูนกีฬา อาจคุ้นเคยกับตัวละครประเภทสุดยอดพระเอก ความสามารถทะลุกราฟ มีท่าไม้ตายเว่อร์เหลือร้าย ชอบสร้างเรื่องเซอร์ไพรซ์ตลอดเวลา จนหลายคนมีภาพจำไปแล้วว่า ถ้าเป็นการ์ตูนกีฬา ต้องเว่อร์ไว้ก่อนเสมอ


    ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ถ้าเราอ่านการ์ตูนเบสบอลแล้วเจอตัวละครเป็นเด็กม.ปลายหน้าใสซื่อ มาจากเมืองเล็กๆในเขตเกือบเหนือสุดของประเทศ ซ้อมเบสบอลกลางหิมะ ขว้างลูกด้วยความเร็วสูงสุดที่ 160 KM/H ตีตำแหน่ง Cleanup แถมยังเป็นที่สนใจของทีมจากเมเจอร์ลีกหลายทีม ก็คงมีแอบขำให้กับพล็อตสุดอลังการนี้

    เพียงแต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ประโยคข้างต้นไม่ได้คัดมาจากหน้าแนะนำตัวละคร หรือปกหลังของหนังสือการ์ตูนเล่มไหน มันคือชีวิตจริงของเด็กชายคนหนึ่ง ผู้กลายมาเป็นนักเบสบอลที่ถูกจับตามองมากที่สุดในโลก ณ เวลานี้






    เด็กมหัศจรรย์แห่งอิวาเตะ

    ชื่อของ โชเฮย์ โอตานิ ( Shohei Ohtani ) กลายมาเป็นคำยอดฮิตบนหน้าหนังสือพิมพ์กีฬาเมื่อราว 6 ปีก่อนในฐานะพิชเชอร์ม.ปลายจากโรงเรียนดังแห่งจังหวัดอิวาเตะ ผู้มีแววจะได้เทิร์นโปรหลังเรียนจบ


    โอตานิเกิดในครอบครัวนักกีฬา เริ่มเล่นเบสบอลตั้งแต่เด็ก คุณพ่อเคยเป็นนักเบสบอลในลีกท้องถิ่น ตอนหลังผันตัวมาเป็นโค้ชให้ทีมเยาวชนเพราะอาการบาดเจ็บ ส่วนคุณแม่เป็นนักแบดมินตัน ทั้งคู่สนับสนุนให้ลูกชายสนุกกับเบสบอลทั้งในฐานะพิชเชอร์และฮิตเตอร์ โดยไม่ได้บังคับให้เลือกขัดเกลาเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ



    ( รูปจาก Asahi Shimbun )



    เมื่อพูดถึงโอตานิคุงในยุคม.ปลาย สิ่งแรกที่ทุกคนจะนึกถึงคือ 'ความเร็ว' สถิติที่ดีที่สุดของเขาก่อนเทิร์นโปร คือ 160 KM/H ทำได้ในการแข่งขันรอบคัดเลือกระดับจังหวัด





    โอตานิสมัยเรียนม.ปลาย เล่นให้กับทีมโรงเรียน Hanamaki Higashi
    ( นาทีที่ 3.18 ขว้างลูก 160 KM/H )



    ไฮไลท์ในชีวิตมัธยมฯปลายของโอตานิ นอกจากจะขว้างลูกได้เร็วเหลือเชื่อแล้ว ยังมีโอกาสได้สวมเสื้อหมายเลขหนึ่งในฐานะเอซ และตีไม้สี่ในไลน์อัพ พาทีมไปโคชิเอ็ง 2 ครั้ง คือฤดูร้อนตอนปี 2 และฤดูใบไม้ผลิตอนปี 3

    ความจริงแล้วเอซที่เป็นทั้งพิชเชอร์และพาวเวอร์ฮิตเตอร์มีให้เห็นบ่อยในโคชิเอ็ง เพียงแต่สุดท้ายเมื่อเทิร์นโปร หรือเข้ามหา’ลัย มักจะเลือกโฟกัสที่ความสามารถด้านหนึ่งไปเลย ถ้าลองเอารายชื่อผู้เล่นตัวท็อปของ NPB มาย้อนดูประวัติ เราจะพบว่าหลายคนเคยเป็นพิชเชอร์จริงจังสมัยเรียน - เฉพาะใน Fighters นึกออกเร็วๆก็มีไปแล้ว 3 คน คือ Sho Nakata (1B), Hiromi Oka (OF), Shota Hiranuma (SS)



    เวลารายการโทรทัศน์ถ่ายทำตอนพิเศษเพื่อเล่าถึงชีวิตของโอตานิ หนึ่งในฟุตเทจที่มักถูกเลือกมาฉายคือเกม 3 ของการแข่งขันโคชิเอ็งฤดูใบไม้ผลิปี 2012 โรงเรียน Hanamaki Higashi จากจังหวัดอิวาเตะ เจอกับ Osaka Toin ทีมดังจากโอซาก้า โอตานิตีโฮมรันได้จากเอซของ Toin ในยุคนั้นคือ Shintarou Fujinami ซีนนี้กลายเป็นช็อตคลาสสิคที่เชื่อว่าคงจะถูกเอามาฉายวนไปเรื่อยๆทุกปี แต่สุดท้าย Toin เป็นฝ่ายชนะและไปต่อจนถึงรอบชิง กลายเป็นแชมป์โคชิเอ็งฤดูใบไม้ผลิในปีนั้น



    โอตานิ และ ฟูจินามิ ในโคชิเอ็งฤดูใบไม้ผลิ ปี 2012


    นักข่าวชอบเปรียบเปรยเด็กสองคนนี้เป็นคู่แข่งตลอดกาล เพราะอยู่รุ่นเดียวกัน เป็นเอซม.ปลายเหมือนกัน มีทีเด็ดที่ Fastball เหมือนกัน ติดทีมชาติพร้อมๆกัน แถมยังเป็นพิชเชอร์ตัวสูงเหมือนกันอีกต่างหาก ( โอตานิสูง 193 / ฟูจินามิสูง 197 ) ทุกสิ้นปีต้องมีรายการทีวีเชิญมาสัมภาษณ์ ติดตามความเป็นไปในชีวิตของทั้งคู่







    ⚾︎



    พรสวรรค์ VS พรแสวง


    โอตานิตัวสูงมาตั้งแต่เด็ก ถ้าย้อนไปดูรูปสมัยเล่นกับทีมเยาวชน จะเห็นเด็กคนหนึ่งยืนสูงโดดขึ้นมาจากเพื่อนๆ ความสูงปัจจุบันที่บันทึกไว้คือ 193 cm เรียกได้ว่าเกิดมาพร้อมทั้งพรสวรรค์และร่างกายของนักกีฬาเบสบอล จนบางครั้งเราก็อดคิดไม่ได้ว่าช่างเป็นเด็กที่โชคดีจริงๆนะ แต่ทั้งๆที่เกิดมาพร้อมความสามารถติดตัวมากมายขนาดนี้ โอตานิกลับเป็นนักกีฬาที่มีวินัยสูงสุดคนหนึ่งที่เราเคยรู้จัก


    หนึ่งในเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของโอตานิที่โผล่มาในรายการทีวีเสมอ คือแผนผังเป้าหมายชีวิตที่เจ้าตัวเขียนไว้ตอนเรียนม.ปลายปีหนึ่งโดยมีโค้ชเป็นที่ปรึกษา ตอนนั้นเด็กชายโอตานิฝันว่าอยากเป็นพิชเชอร์ที่ถูกเลือกในการดราฟรอบแรกจากทีม 8 ทีม เขากำหนดสิ่งที่ต้องทำเพื่อบรรลุเป้าหมายทั้งหมด 8 ข้อ และวางแผนอย่างละเอียดว่าต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้ทั้ง 8 ข้อนั้นกลายเป็นความจริง






    หลังจากดราฟมาอยู่กับไฟท์เตอร์แล้ว เขามีทั้งรายได้และโบนัสประจำปี มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นพรีเซนเตอร์สินค้ามากมาย ปรากฏตัวอยู่บนป้ายบิลบอร์ดทั่วประเทศ ( โดยเฉพาะที่ฮอกไกโด ) เดินไปไหนก็ต้องถูกรุมขอลายเซ็น แต่โอตานิยังคงความเป็นเด็กมีวินัยไว้ไม่เปลี่ยนแปลง ฝึกซ้อมตามตารางของเทรนเนอร์อย่างเคร่งครัด อาศัยอยู่ที่หอพักนักกีฬาของสโมสร ส่วนใหญ่หมดเงินไปกับหนังสือและอุปกรณ์กีฬา ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ชอบปาร์ตี้ ไม่ชอบสังสรรค์ ( สปอยล์ตัวเองบ้างก็ได้นะน้องงง! )



    แจกลายเซ็นให้แฟนๆที่ Spring Camp
    ( ภาพจากรายงานข่าวของ Fighters )


    โอตานิเคยให้สัมภาษณ์สื่อหลังฤดูกาล 2015 ว่าเขาตั้งใจจะเพิ่มน้ำหนักตัวและเพิ่มความฟิตให้ร่างกายส่วนบน ผ่านช่วงปิดฤดูกาลไปไม่นานก็ทำได้ตามนั้นจริงๆ ปีต่อมาเขาขว้างด้วยแรงที่เยอะขึ้น ความเร็วลูกตรงสูงขึ้นเรื่อยๆจนมาทะลุ 165 KM/H แม้จะขว้างไปถึงอินนิ่งที่ 6 ก็ยังมีลูกเร็วแถวๆ 160 KM/H โผล่มาให้เห็น สปีดไม่ตก คอนโทรลลูกดีขึ้น แถมยังตีโฮมรันเป็นว่าเล่น สถิติการเป็น DH ของโอตานิในปี 2016 คือ HR 22 / RBI 67 / BB 54 ต่อให้ไม่บอกว่าเป็นสถิติของพิชเชอร์ที่ขว้างอย่างน้อย 6 อินนิ่งทุกสัปดาห์ ก็ยังต้องยกให้เป็นตัวเลขที่น่าประทับใจ



    ⚾︎



    กราฟพลังสุดเว่อร์


    ถ้า โชเฮย์ โอตานิ เป็นตัวละครในการ์ตูน กราฟพลังห้าเหลี่ยมคงถูกระบายสีจนเกือบมิดทุกด้าน ความสามารถหลายอย่างค่อยๆถูกขัดเกลาและเปิดเผยออกมาภายหลังเทิร์นโปรแล้ว


    โอตานิเคยบอกกับสื่อตั้งแต่ก่อนงานดราฟปี 2012 ว่าตัวเองมีความตั้งใจจะข้ามไปเล่นเมเจอร์ลีกเลย ออกตัวแรงขนาดนี้ ก็ยังมีคนที่แรงกว่าคือ Hokkaido Nippon-Ham Fighters ที่เลือกโอตานิเป็น 1st Round Pick ของปีนั้นอยู่ดี หลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายใช้เวลาเจรจากันอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะแถลงข่าวการเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการตอนปลายปี



    โอตานิ กับ เสื้อหมายเลข 11
    รับช่วงต่อจาก Yu Darvish พิชเชอร์มหัศจรรย์อีกคนของไฟท์เตอร์ที่ย้ายไปเล่นใน MLB
    ( รูปจาก mainichi )


    นักข่าวตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะมีดีลที่สัญญากันแบบปากเปล่าอีกสองสามประการที่ทำให้โอตานิยอมเก็บกระเป๋ามาฮอกไกโด หนึ่งในนั้นน่าจะเป็นการที่ทางทีมจะยอมปล่อยตัวไปเมเจอร์ลีกเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ตอนหลังโอตานิเองก็ให้สัมภาษณ์ว่าไฟท์เตอร์สัญญาจะให้เขาทั้งขว้างและตี ( ถ้านับเฉพาะเรื่องเบสบอล ก็เป็นเด็กที่ถูกสปอยล์อยู่นะ )



    ช่วงแรกของชีวิตการเป็นนักเบสบอลอาชีพ แฟนๆได้เห็นเขาทั้งในฐานะพิชเชอร์รุกกี้บนเนินขว้าง และฟิลเดอร์ปีศาจที่แดนเอ้าท์ฟิลด์ โอตานิคุงโชว์พลังแขนด้วยการขว้างลูกกลับมาที่เบสหลายต่อหลายครั้ง หนึ่งในทักษะของ Outfielder ที่โอตานิมีครบ คือการเข้าใจธรรมชาติของลูก กะความลึกของ Fly ball ได้ กะจังหวะของลูกที่ลอยมาได้ จังหวะไหนควรวิ่งสุดฝีเท้าไปรับ จังหวะไหนควรรอลูกเด้งกลับมาแล้วขว้างกลับไปเก็บรันเนอร์ออกที่เบส




    โอตานิ สมัยเล่นเป็น Outfielder


    หลายคนอาจคิดว่าปัญหาของนักกีฬาที่โครงสร้างใหญ่ คือการไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้คล่องแคล่วเท่าเหล่าตัวจี๊ด แต่โอตานิเป็นข้อยกเว้นระดับมาสเตอร์พีซ เขาคือเด็กตัวสูงที่ขยับร่างกายได้รวดเร็ว ใช้ขายาวของตัวเองให้เป็นประโยชน์ มีหลายครั้งตีลูกไปตกไม่ไกล แต่เร่งสปีดวิ่งไปจนถึงเบสสอง แฟนๆถึงกับให้ฉายาว่า Mr.Double แถมยังได้อินฟิลด์ฮิตบ่อยๆ การเห็นโอตานิวิ่งแซงพิชเชอร์ไปโคเวอร์เบสหนึ่งถือเป็นความสนุกอย่างหนึ่ง จังหวะเหยียดขาก้าวสุดท้ายนั่นถ้าไม่ใช่คนตัวสูงมากๆก็ทำไม่ได้จริงๆ ( แต่จะดีที่สุดถ้าไม่บาดเจ็บนะจ๊ะ )



    ( รูปจาก Sports Graphic Number )


    คอลัมนิสต์กีฬาหลายคนชอบแซวว่า ไหนๆแล้วไฟท์เตอร์น่าจะลองให้โอตานิไปเล่นตำแหน่ง shortstop ด้วยเสียเลย เพราะก็เป็นไปได้ว่า จะเล่นได้อย่างน่าเหลือเชื่อเหมือนกัน



    ⚾︎



    SPEED FIGHTER


    ถ้าต้องนิยามเด็กคนนี้สั้นๆ จุดเด่นที่ทุกคนเลือกมาอวยคงหนีไม่พ้นความเร็วของ Fastball โอตานิยกระดับคำว่า 'เร็ว' ไปอีกหนึ่งขั้น เพราะเขาทำให้ตัวเลข 155-159 KM/H กลายเป็นเรื่องปกติ หลังจากขว้างไปถึง 160 KM/H ตอนม.ปลาย ก็ยังขยันทำสถิติใหม่อีกเรื่อยๆ 



     162 KM/H ★★


    เกม 2 ของ All-Star Series ฤดูกาล 2014 ขว้างตอนเจอกับ Takashi Toritani ( Hanshin Tigers ) ลูกแรกขว้างเป็น Strike ที่ 161 KM/H ส่วนลูกที่สองเป็น Foul strike ที่ 162 KM/H




     163 KM/H ★★★


    Interleague 2016 ถ้าจำไม่ผิดคือเกม 3 ของซีรี่ส์ที่เจอกับ Yomiuri Giants ขว้างตอนเจอกับ Luis Cruz ( ที่ตอนนี้ย้ายมาอยู่กับ Rakuten Eagles ) สถานการณ์คือ Bases loaded - 1 Out


    รูปที่ Pacific League TV ทำออกมาโปรโมต Interleague 2016
    ระหว่างนั้นโอตานิดันทำสถิติใหม่ เลยแก้ให้ดูกันแบบนี้ซะเลย




     
    164 KM/H ★★★★


    ขว้างตอนเจอกับ Yoshio Itoi ( ที่ตอนนี้ย้ายมาอยู่กับ Hanshin Tigers ) แต่ก็แน่นอนว่าสำหรับเบสบอล ความเร็วไม่ใช่ทุกอย่าง ลูกนั้นกลายเป็น Single-2RBI ของ Itoi



    165 KM/H ★★★★★


    สถิติล่าสุดของโอตานิที่ทำลายทุกสถิติของ NPB ขว้างตอนลงมาเป็น Closer ปิดเกม 5 ของ Climax Series ฤดูกาล 2016 ระหว่าง Nippon-Ham Fighters และ SoftBank Hawks

    เชื่อว่าอินนิ่งที่ 9 ของเกมนี้จะเป็นหนึ่งในอินนิ่งคลาสสิคที่สุดในชีวิตการเป็นพิชเชอร์ของ โชเฮย์ โอตานิ



    ⚾︎



    BIG LEAGUE ?


    คำจำกัดความที่นักข่าวต่างชาติมักใช้เรียกโอตานิ คือ 'นักเบสบอลที่ดีที่สุดในโลก ที่ไม่ได้เล่นในเมเจอร์ลีก' การย้ายไป MLB ไม่ใช่ข่าวใหม่ เจ้าตัวเองออกปากตั้งแต่แรกว่าความฝันคือการได้ไปเล่นที่อเมริกา แม้สุดท้ายจะตัดสินใจมาอยู่กับไฟท์เตอร์ ข่าวนี้ก็ไม่ได้หายไป คำถามเพียงเปลี่ยนเป็นว่า จะไปเมื่อไหร่ และไปอยู่กับทีมไหน 

    เมื่อถูกถามถึงผู้เล่นที่อยากเจอในเมเจอร์ลีก โอตานิตอบว่า Bryce Harper (RF) และ Clayton Kershaw (P) สำหรับรายหลัง เขาอยากดวลด้วยในฐานะที่ Kershaw เป็นพิชเชอร์ระดับโลกที่ขว้างด้วยมือซ้าย ต่างจากเขาที่ถนัดขวา ( แต่ตีซ้าย ) โอตานิบอกว่าเขาเองก็ลองขว้างด้วยมือซ้ายเล่นๆเป็นบางครั้งอยู่เหมือนกัน (!?!)


    ทีมจาก MLB ที่รอคว้าตัวพิชเชอร์มือขวาคนนี้ไปครอบครองมีเยอะเกินกว่าจะนั่งไล่ครบ ชื่อที่ดูเหมือนจะโดดออกมาจากทีมอื่นอยู่หน่อยในเวลานี้คือ Los Angeles Dodgers ที่สนใจโอตานิมาตั้งแต่สมัยม.ปลาย 


    Yu Darvish อดีตพิชเชอร์ของไฟท์เตอร์มาเยี่ยมทีมที่ Arizona Spring Camp 2017
    Darvish ย้ายจาก Texas Rangers ไปอยู่กับ LA Dodgers เมื่อเดือนที่ผ่านมา
    ( ภาพจากรายงานข่าวของ Fighters )



    เส้นทางการไป MLB ของโอตานิอาจคาดเดาได้ยากขึ้น หลังจากกลางปีที่ผ่านมา ทางเมเจอร์ลีกได้ปรับเปลี่ยนกฏการจ่ายค่าตัวผู้เล่นต่างชาติที่อายุต่ำกว่า 25 ปี เงินไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับโอตานิ เขาเคยให้สัมภาษณ์เองด้วยซ้ำว่าอยากไปอยู่กับทีมที่ยินดีเปิดโอกาสให้เป็นทั้งและพิชเชอร์และแบตเตอร์มากกว่าทีมที่จ่ายค่าตัวสูง แต่ถ้าข้อเสนอจากทีมใน Big League ยังไม่ได้ดั่งใจ ( ไม่ยอมให้ตีแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ) แถมไม่ได้ค่าตัวมากกว่าเดิมซักเท่าไหร่ ก็เป็นไปได้ว่าเราจะเห็นเขาที่ Sapporo Dome อีกครั้งในฤดูกาลหน้า




    ⚾︎



    Two-Way Player

    ก่อนหน้านี้โอตานิเองก็ไม่คิดว่าจะมีโอกาสทั้งขว้างและตีในการเล่นอาชีพ คนส่วนใหญ่มองว่าเขาเป็นพิชเชอร์มากกว่าแบตเตอร์ เจ้าตัวเลยดีใจมากที่ไฟท์เตอร์อนุญาตให้ลองเล่นทั้งสองตำแหน่งอย่างจริงจัง

    การทั้ง Pitch และ Hit ได้ดี ฟังดูเจ๋งมากก็จริง แต่ก็เป็นจุดที่ทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ่อยๆ โอตานิยอมรับว่าความเครียดที่จริงแล้วมาจากนอกสนาม มีแฟนเบสบอลและนักข่าวหลายคน ( ทั้งในและนอกญี่ปุ่น ) ให้ความเห็นว่าเขาควรเลือกไปเลยซักทางถ้าอยากเป็นเบอร์หนึ่ง บางคนถึงขั้นแสดงความเห็นว่าการที่เขาสลับตำแหน่งไปมาแบบนี้ แสดงให้เห็นว่าเขาไม่จริงจังกับอาชีพเบสบอล



    โอตานิซ้อม Pitching และ Batting ร่วมกับทีมที่ค่ายเก็บตัวฤดูใบไม้ผลิ, กุมภาพันธ์ 2017
    ( ภาพจากรายงานข่าวของ Fighters )


    รูปแบบที่ไฟท์เตอร์ใช้งานโอตานิในฤดูกาลที่แล้ว คือวางให้ขว้างวันอาทิตย์เป็นหลัก ( เป็นเหตุผลทางธุรกิจด้วยส่วนหนึ่ง ) นั่นหมายความว่า เขาจะมีเวลาพักในวันจันทร์ กลับมาเล่นเป็น DH วันอังคารถึงศุกร์ พักวันเสาร์ และกลับมาขว้างอีกครั้งในวันอาทิตย์



    บอร์ดที่ Sapporo Dome แสดงชื่อของโอตานิ ในวันที่ลงเล่นตำแหน่ง Designated Hitter



    สื่อต่างชาติเรียกโอตานิว่า Japanese Babe Ruth ก็จริง แต่ยังคงตั้งข้อกังขาว่า เมื่อมาเมเจอร์ลีกแล้วจะสามารถเล่นได้ทั้งสองตำแหน่งจริงๆหรือไม่ จะมีสโมสรไหนจะยอมปล่อยให้พิชเชอร์ค่าตัวหลายล้านเหรียญลงไปวิ่งรอบเบสในวันที่ไม่ได้ลงขว้างจริงๆเหรอ


    ถ้าเรากล้าเรียกโอตานิว่า Babe Ruth นอกเหนือไปจากการเป็นผู้เล่นที่ทั้งขว้างใน rotation และตีในไลน์อัพแล้ว สิ่งหนึ่งที่เด็กคนนี้อาจทำได้เหมือนกัน คือการพลิกโฉมวงการเบสบอล

    ก่อนการมาถึงของ Babe Ruth เบสบอลไม่ใช่กีฬาที่ให้ความสำคัญกับการตีโฮมรันเท่าไหร่นัก จำนวนโฮมรันที่เกิดขึ้นในแต่ละฤดูกาลนั้นน้อยแสนน้อย ถ้าตีแล้วไม่ข้ามรั้ว สุดท้ายมันก็เป็นเพียง Fly ball ที่ไร้ค่า แต่ Babe Ruth ไม่ทำแบบนั้น เบสบอลของเขาคือการตีโฮมรันครั้งแล้วครั้งเล่า สถิติใหม่ถูกบันทึกทุกสัปดาห์ ผู้คนพูดกันปากต่อปากถึงโฮมรันของเขา เบสบอลกลายเป็นเกมที่สนุกและตื่นเต้น การตีโฮมรันกลายเป็นสิ่งพิเศษของเบสบอล 


    สิ่งที่โอตานิกำลังทำอยู่ก็อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เหมือนกัน ถ้าเขาทำสำเร็จ จะมีเด็กอีกมากมายกล้าบอกพ่อแม่ ( หรือโค้ช ) ว่าตัวเองอยากทั้งขว้างและตี ทุกวันนี้เราเชื่อกันว่าการทำแบบนั้นเป็นเรื่องแฟนตาซี สิ่งที่ถูกต้องคือเหลาทักษะอย่างใดอย่างหนึ่งให้แหลมคม แต่ถ้ามีคนที่ทำได้จริงๆล่ะ มันจะยังเป็นแค่เรื่องแฟนตาซีอยู่มั้ย ไม่มีตำราเล่มไหนบอกได้ว่าอะไรคือการเล่นเบสบอลที่ถูกต้อง นั่นก็เพราะมันไม่มี ยุคสมัยเปลี่ยน เทคนิคเปลี่ยน กระทั่งกฎกติกายังเปลี่ยน ความเปลี่ยนแปลงนี่เองที่ทำให้เบสบอลไม่ตาย

    เบสบอลถูกตั้งแง่ว่าเป็นกีฬาที่กำลังจะตายมาตลอด แม้กระทั่งในประเทศต้นกำเนิดอย่างสหรัฐอเมริกา ก็มีการสำรวจพบว่าเด็กส่วนใหญ่หันไปชื่นชอบ NBA และ NFL มากกว่า เบสบอลกลายเป็นกีฬาของคนสูงอายุ ในญี่ปุ่นเองก็มักมีคนเฒ่าคนแก่ออกมาบ่นว่าเบสบอลไม่ใช่กีฬาแห่งชาติอีกต่อไป เด็กๆหันไปเล่นฟุตบอลหรือกีฬาอื่นๆกันหมดแล้ว ( ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะระยะเวลาต่อเกมด้วย เกมหนึ่งในปัจจุบันของ NPB เล่นกันที่ประมาณ 3 ชั่วโมง ปีที่ผ่านมาจำได้ว่ามีอย่างน้อย 2 เกมที่แข่งกันเกิน 5 ชั่วโมง ! )



    โอตานิ ไปเยี่ยมโรงเรียนประถมฯ ที่ Asahikawa
    ( ภาพจากรายงานข่าวของ Fighters )



    เราเชื่อว่าเบสบอลของโอตานิจะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนอีกมากมาย ( ไม่เพียงเฉพาะนักเบสบอลหรือนักกีฬา ) หลังการเทิร์นโปรของเขาในปี 2012 มีแฟนกีฬากี่คนแล้วที่หันมาดูเบสบอลเพราะโอตานิ มีเด็กกี่คนที่เลือกเข้าชมรมเบสบอลแทนชมรมอื่นๆ

    เบสบอลกำลังจะกลับมาในโอลิมปิก 2020 ไม่รู้ว่าถึงตอนนั้นโอตานิจะย้ายไปอยู่ทีมไหนแล้ว ทีมจะยอมปล่อยตัวมาเล่นทีมชาติหรือเปล่า แต่ถ้าได้มาจริงๆ เราเชื่อว่าชื่อของ โชเฮย์ โอตานิ จะต้องโดดเด่นอยู่ใต้สปอตไลท์แน่นอน จำชื่อนี้เอาไว้ขึ้นใจได้เลย 



    สถิติของ โชเฮย์ โอตานิ ตลอดการเล่นอาชีพ 4 ฤดูกาลกว่าๆ
    Pitching : ERA 2.55 / W-L 39-14 / SO9 10.4 ( เฉพาะปีที่แล้วคือ 13.5! )
    Batting : BA 0.280 / OBP .350 / SLG .492 / OPS .843 / HR 43 / RBI 144 / BB 104




    ภาพวาด Shohei Ohtani โดยอาจารย์ Yoichi Takahashi ผู้เขียนการ์ตูนเรื่อง 'Captain Tsubasa'




    แม้ปัจจุบันจะมีชื่อเสียงโด่งดังและลงเล่นท่ามกลางสายตาสื่อมากมาย โอตานิยังคงยืนยันว่าเขาไม่รู้สึกกดดันเลย การเล่นเบสบอลคือความสุข คือความสนุกในชีวิต เขาเอ็นจอยกับการได้อยู่ในสนาม ไม่ว่าจะเป็นการซ้อมหรือการแข่งจริง ถ้าโอตานิยังเชื่อแบบนี้ เราก็เชื่อว่าเบสบอลจะต้องไม่ตายแน่นอน และถ้าจะมีใครซักคนทำให้เบสบอลก้าวไปสู่อีกสเตจหนึ่งอีกครั้ง คนๆนั้นก็ต้องเป็น โชเฮย์ โอตานิ



    ...การ์ตูนมั้ยล่ะ ⚾︎

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Nungrutai Pipatanadecha (@fb1021756526538)
พึ่งมาอ่านเจอค่ะ ตอนนี้คุงโอทานิเป็นรุกกี้ออฟเดอะเยียร์ไปแล้ว แฟนตาซีมากค่ะพ่อหนุ่มคนนี้ ดีใจมากที่ทีมบ้านเกิด(ที่โตมาของเรา5555+)อย่าง ANGELS (เบอร์17)ได้นางไป ฟาดโฮมรันเป็นว่าเล่นแถมตอนนี้หนังสือออกเยอะมาก ปังสุด ๆไปเลย จะเชียร์และหวีดโอทานิซังต่อไปค่ะ แอร้ยยยยยย

ในส่วนของไฟท์เตอร์ ฝากน้องคาคิงิไว้ในอ้อมอกอ้อมใจด้วยนะคะ555555555555555555
POPROCK (@alfredpoprock)
พึ่งมาอ่านเจอ อยากคอมเมนท์ให้กำลังใจเลยค่ะว่าเขียนดีมากๆ สนุกมากๆ เราหัดดู MLB เมื่อประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว ท้อแท้มาก ดูไม่เป็น //ร้องไห้// มาอ่านบทความนี่เลยอยากกลับไปลองดูใหม่เลย มีไฟมากๆ 5555 --- เร็วๆนี้กำลังแพลนจะไปฮอกไกโดพอดี อยากแวะไปดูไฟเตอร์ด้วย แต่กะไปดูแบบเก็บประสบการณ์สเตเดียมเฉยๆ คราวที่แล้วเราไปญี่ปุ่นตอนช่วงมีแข่งเจแปนซีรีส์พอดี ตลอดทริปได้ดูแต่เบสบอล จำไฟเตอร์ได้จากตอนนั้นเลย เพราะเปิดทีวีไปเจอแต่ไฟเตอร์ตลอด มาอ่านโพสต์นี้เลยต้องเปลี่ยนใจเลย อยากไปดูโอตานิคุง แงงงงง <3
heathers (@tonfai)
@alfredpoprock ขอบคุณมากๆเลยค่า : ) อ่านแล้วดีใจมากเลย ตั้งใจว่าอยากเขียนบล็อกให้คนหันมาสนใจเบสบอลกันเยอะๆนี่แหละค่ะ ไม่รู้จะเชียร์ทีมไหนก็ฝากไฟท์เตอร์ไว้ในอ้อมใจด้วยนะคะ นอกจากโอตานิคุง ทางเรายังมีสมาชิกคนอื่นๆให้เป็นห่วงอีกมากมาย 555 ฝากติดตามตอนต่อๆไปด้วยค่า ^^