เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
บทความเกี่ยวกับวิชาชีพบัญชีcpathpoint
โพสต์นี้มีเนื้อหาที่อาจไม่เหมาะสมกับเยาวชน สภาวิชาชีพบัญชี (1)
  • ปัจจุบันวิชาชีพต่าง ๆ ต่างก็มีสภาหรือกลุ่มคนที่ทำอาชีพนั้น รวมตัวกันเพื่อกำหนดกฏเกณฑ์ข้อบังคับ หรือเพื่อเรียกร้องสิทธิที่วิชาชีพนั้น ๆ ควรจะได้ อย่างเช่น สภาวิชาชีพวิศวกรรมศาสตร์ สภาวิชาชีพสาธารณสุข ฯลฯ และนักบัญชีเองก็มีสภาของนักบัญชีเช่นกัน


    โดยจุดประสงค์ที่ก่อตั้งสภาของสภาวิชาชีพบัญชีได้บัญญัติไว้ว่าเป็นเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพบัญชี


    สภาฯ ได้แบ่งวิชาชีพบัญชีออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการทำบัญชี 2) ด้านการสอบบัญชี 3) ด้านการบัญชีบริหาร 4) ด้านการวางระบบบัญชี 5) ด้านการบัญชีภาษีอากร 6) ด้านการศึกษาและเทคโนโลยีการบัญชี


    นอกจากนี้ยังอาจมีวิชาชีพบัญชีด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมมาอีกในอนาคต โดยต้องกำหนดด้วย กฏกระทรวง


    ปัจจุบันมีวิชาชีพบัญชีเพียง 2 ด้านที่สภาควบคุม คือ ด้านการทำบัญชี และด้านการสอบบัญชี โดยที่ผู้ทำบัญชีจะต้องขึ้นทะเบียนกับสภาฯ และผู้สอบจะต้องมีใบอนุญาติจากสภาฯ


    สภาวิชาชีพบัญชีมีอำนาจที่จะออกกฏข้อบังคับให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีทำตาม โดยถ้าผู้ใดทำผิดกฏเหล่านี้จะต้องถูกสอบสวนและลงโทษ โดยโทษก็หนักเบาไปตามความผิด แต่ทั้งหมดจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูและของคณะกรรมการกำกับดูแลซึ่งจะคอยควบคุมไม่ให้สภาฯใช้อำนาจในทางที่ผิด


    นอกจากการควบคุมสมาชิกให้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในมาตรฐานและจรรยาบรรณอันดีแล้ว สภาฯยังมีหน้าที่ในการรับรองความรู้และหลักสูตรในการประกอบวิชาชีพบัญชีให้กับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ อีกด้วย เนื่องจากผู้ที่เป็นสมาชิกสภาฯจะต้องได้รับการศึกษาเกี่ยวกับบัญชี และควรจะได้มาตรฐานเดียวกันในการประกอบวิชาชีพ


    หากอยากทราบเพิ่มเติมเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสภา อ้างอิงที่ พรบ.วิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547


    เมื่อมีกลุ่มคนมารวมตัวกันเพื่อทำหน้าที่อย่างนี้ จะต้องมีกลุ่มคณะกรรมการที่ทำหน้าที่บริหารและควบคุมสมาชิก ส่วนสภาวิชาชีพบัญชีนั้นมีผู้ทำหน้าที่กรรมการคราวละ 12 - 17 คน โดยมาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งแล้วแต่ตำแหน่ง


    ตำแหน่งสูงสุดของกรรมการเรียกว่า นายกสภา ได้รับตำแหน่งจากการเลือกตั้ง โดยนายกจะมีวาระการดำรงตำแหน่งเพียง 3 ปี โดยไม่สามารถรับตำแหน่งติดกันเกินกว่า 2 วาระ (นั่นคือเป็นนายกได้นานสูงสุด 6 ปี)


    คณะกรรมการยังประกอบไปด้วย ประธานของวิชาชีพบัญชีแต่ละด้าน 6 คน ประธานคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี 1 คน และ ประธานกรรมการจรรยาบรรณ 1 คน


    นอกจากนั้น ผู้ทรงคุณวุฒิทางบัญชีและกฏหมายในประเทศไทยที่ได้รับการแต่งตั้งจากนายกและคณะกรรมการสภาฯ ที่กล่าวไปข้างต้น ก็มีศักดิ์เป็นกรรมการของสภาวิชาชีพบัญชีเช่นกัน ซึ่งแต่ละปีจะมีการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒฺทางด้านบัญชี 2 ท่าน และทางด้านกฏหมาย 1 ท่าน


    และยังมีกรรมการพิเศษที่ถูกเลือกจากการเลือกตั้งของสมาชิกฯ โดยไม่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการด้านใดเป็นพิเศษ กรรมการเหล่านี้มีจำนวนไม่เกิน 5 คนในแต่ละวาระ และอาจไม่มีผู้ถูกเลือกมาดำรงตำแหน่งนี้เลยก็ได้


    นายกสภาฯ ยังมีอำนาจที่จะเลือกผู้ช่วยให้มาทำงานบริหารสภาฯเพิ่มเติม โดยเลือกจากกรรมการ 12 - 17 คนที่กล่าวไปข้างต้น โดยมีรองนายก 2 คน ใช้ชื่อตำแหน่งว่า อุปนายก ซึ่งจะทำหน้าที่แทนนายกฯ ในกรณีที่ท่านไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ส่วนตำแหน่งอื่น ๆ ได้แก่ เลขาธิการ เหรัญญิก นายทะเบียน รวมทั้งหมด 5 ตำแหน่ง ทั้งนี้ทั้งนั้น พรบ.บัญชียังเปิดช่องให้นายกแต่งตั้งตำแหน่งอื่น ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร


    การที่วิชาชีพใด ๆ มีสภาฯก่อตั้งขึ้นมาย่อมเป็นผลดีแก่ผู้ประกอบวิชาชีพนั้น ๆ เพราะการรวมตัวกันย่อมสร้างอำนาจที่จะช่วยปกป้องไม่ให้ผู้ประกอบวิชาชีพโดนเอาเปรียบ และกำหนดมาตรฐานในการทำงานร่วมกันให้เกิดระเบียบและกฏเกณฑ์ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in