เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
กรุ่นกลิ่นเก่าPunk Phap
การเรียนการสอน
  •         ระยะเวลาการเรียนการสอนตามหลักสูตรกำหนดไว้ 1 ปี แบ่งเป็น 3  เทอมๆ ละประมาณ 10 สัปดาห์ คือ


      เทอม 1 ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม หรือ Autumn หรือMichaelmas


                เทอม 2 ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม หรือ Spring หรือ Lent


                เทอม 3 ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน หรือ Summer หรือEaster


           มีสอบปลายภาคของแต่ละวิชาที่เรียนในเทอมนั้นๆถ้าคะแนนแต่ละวิชาและคะแนนรวม (Overall) ไม่ถึง 50%ไม่มีสิทธิเขียนสารนิพนธ์ (dissertation) แต่ยังก่อนมหาวิทยาลัยให้โอกาสคุณสอบซ่อม (re-sit) ในวิชานั้นๆและทำคะแนนรวมให้ได้ตามที่กำหนด แต่ถ้ายังทำไม่ได้อีก คุณจะได้ post-graduate certificate ไปเชยชม 1ใบ หรืออีกหนึ่งทางเลือก คือลงเรียนใหม่ในปีถัดไปแต่เป็นทางเลือกที่ไม่ค่อยนิยมนัก เพราะค่าเทอมสำหรับนักเรียนต่างชาติแพงมากถึงมากที่สุด

                ขอข้ามรายละเอียดเรื่องวิชาที่เรียนไปแล้วกันมาดูบรรยากาศการเรียนการสอนดีกว่า แต่ละวิชาจะไม่มีตำราเรียนเฉพาะแต่ผู้สอนหรือผู้บรรยายจะแจก hand-out ให้เมื่อจบบรรยายในแต่ละครั้งว่าครั้งหน้าจะพูดเรื่องอะไร หนังสือหรือบทความที่แนะนำให้ไปอ่านมีอะไรบ้าง หน้าที่เท่าไหร่ถึงเท่าไหร่จะ reserve หนังสือไว้ให้ที่ห้องสมุด โดยให้ยืมออกนอกห้องสมุดได้ไม่เกินคนละ1-3 วัน ดังนั้น เมื่อจบชั่วโมงเรียน การวิ่งแข่งกันขึ้นห้องสมุดเกิดขึ้นทันที หากไปไม่ทัน ใช้วิธีจองจากคอมพิวเตอร์ที่มีให้ใช้ภายในห้องสมุด เมื่อได้หนังสือมา จะลงไปถ่ายเอกสารไว้และนำไปคืนเพื่อให้คนอื่นได้ใช้บ้าง แต่หากวิชาใดอ้างอิงหนังสือเล่มใดบ่อยๆ เช่น เศรษฐศาสตร์ หรือ บัญชี จะมีหนังสือมือสองขายในราคาตามสภาพหรือซื้อเล่มใหม่สดได้จากร้านหนังสือในเมืองซึ่งเป็นร้านขายตำราเรียนโดยเฉพาะ ถ้าไม่มีหรือหมดทางร้านจะสั่งให้ตามต้องการ ปรกติร้านจะไม่สั่งมามากเนื่องจากหนังสือใหม่ราคาค่อนข้างสูง

           การเรียนแต่ละวิชาโดยเฉพาะวิชาที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ผู้สอนหรือผู้บรรยายจะย้ำก่อนการบรรยาย (Lecture) ว่าห้ามอัดเทป ผิดกฎหมาย หรือนำไปอ้างอิงไม่ได้ เนื่องจากผู้บรรยายใส่ความคิดเห็นของตนต่อทฤษฏีหรือข้อเขียนนั้นๆ แต่หากไม่เข้าใจหรือติดใจสงสัยสามารถพูดคุยถกเถียงกันได้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน วิชาเรียนวิชาหนึ่งผู้เขียนเลือกเรียนเป็นวิชาบังคับของปริญญาตรีแต่เป็นวิชาเลือกของนักเรียน Post-graduate ตลอดระยะเวลาบรรยาย 3 ชั่วโมงจดอะไรไม่ได้เลย ได้แต่ดูหัวข้อ แต่พอจบการบรรยายเพื่อนผู้ชายชาวอิหร่านจะโยนโน้ตให้เอาไปถ่ายเอกสาร เพื่อนคนนี้เรียนที่อังกฤษตั้งแต่เด็กๆ จบปริญญาตรีกลับบ้านไปทำงานแล้วกลับมาเรียนต่อภาษาอังกฤษดีมาก แต่งตัวเรียบร้อย ใส่รองเท้าหนังทุกครั้งที่เข้าเรียน

  •        การเรียนไม่มีการนับเวลาเข้าเรียน ไม่มีการเช็คชื่อ แต่ครูผู้สอนจำผู้เรียนได้ ใครหายไปซักคน จะถามหาเพื่อนที่สนิทหรือสั่งความไว้ พร้อมแจ้งถึงสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่แจ้งกับครูผู้สอนหรือเลขานุการคณะถึงสาเหตุที่หายหน้าไปได้ก่อนแล้ว เช่น เพื่อนไต้หวันและน้องคนไทยป่วยเป็นอีสุกอีใส หรือไปธุระต่างเมือง ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันจะได้ช่วยเหลือหรือจัดการได้ทันท่วงทีหรือเหมาะสมต่อไป เหมือนกรณีเพื่อนชาวอิรัคที่พยายามฆ่าตัวตาย เป็นต้น

    ก่อนเข้าชั้นเรียนอย่างเต็มรูปแบบมหาวิทยาลัยจัดให้มีการอบรมการใช้คอมพิวเตอร์เบื้องต้น การใช้โปรแกรม Spread Sheet สำหรับการคำนวณโปรแกรม Word สำหรับงานพิมพ์ และมีชั่วโมงภาษาอังกฤษ ฟัง พูดเขียน สอนฟรี ใครสนใจไปลงชื่อเรียนได้ตามวันเวลาที่กำหนด

    นักเรียนทั้งห้องมีประมาณ 45 คนมาจากทั่วโลก จากเอเชีย: ไทย มาเลเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน จากยุโรป: กรีซ ฝรั่งเศส เยอรมัน เสปน มีอังกฤษหลงมาด้วย 1 คน บางคนมีพื้นฐานด้านบัญชีเช่น Patrick เพื่อนชาวฮ่องกง จริงๆแล้วมาเรียนเพื่อสอบผู้ตรวจสอบบัญชี (Auditor) ที่ London ยามว่างก็ลงเรียนเอาปริญญาอีกใบเพื่อนคนนี้เข้าเรียนวิชาบัญชีชั่วโมงแรกๆ ให้เห็นหน่อยเดียวแล้วชั่วโมงหลังไม่ค่อยได้เข้าเรียน เพราะต้องเข้า London พอกลับมาจะตะโกนถามที่หน้าต่างห้องพัก ถามว่าเรียนอะไรไปบ้าง ขอยืมดูโน้ตหน่อย มันดูรายละเอียดไม่รู้เรื่องหรอกเพราะจดเป็นภาษาไทยปนอังกฤษแต่ดูหัวข้อว่าเรียนอะไรบ้างและเก็บ hand out ไว้ให้

                ไอรีนดาราของเรื่องมาแล้วจ้า วันนั้นเรียนสถิติ เธอถามคำถามขึ้นมาซึ่งอยู่ในวิชาเรียนนั้น แต่ไม่อยู่ในหัวข้อที่กำลังบรรยายผู้สอนนึกคำตอบไม่ทันเพราะไม่ได้เตรียมมา เธอขึ้นเสียงดุทันทีว่าฉันเสียเงินมากมายให้พวกคุณ ทำไมคุณตอบคำถามฉันไม่ได้ ผู้สอนพยายามอธิบายด้วยสีหน้าไม่ค่อยดีนัก ทันใดมีเสียงปรบมือเปาะแปะดังขึ้น พวกเราจึงพร้อมใจปรบมือเป็นการประท้วง เป็นการบอกว่า เลิกซะที ฉันจะเรียน ไอรีนเธอหยุดต่อล้อต่อเถียง หันไปพูดภาษากรีกกับเพื่อนผู้ชายร่วมชาติ พร้อมแสดงกิริยาท่าทางไม่พอใจซึ่งเป็นการเสียมารยาทมาก แต่เพื่อนไม่สนใจ น่าสงสารผู้สอนคิดว่าเป็นอาจารย์มือใหม่ซึ่งไม่เคยชินกับนักเรียนต่างชาติที่ไม่ใช่นักเรียน undergraduate ที่มีอายุปลาย19-ต้นๆ 20 ปี แต่เป็นนักเรียนที่อายุเฉลี่ย 30-40 ปีและมีประสบการณ์การทำงานมาแล้ว และด้วยความเป็นมือใหม่การควบคุมอารมณ์ยังไม่ดีพอ จึงเกิดการโต้เถียง และยังหาทางออกอย่างครูผู้มีประสบการณ์ไม่เป็นเหตุการณ์หลังจากนั้นมีการพูดคุยกัน แต่ครูก็เสียหน้าไปแล้วเรียบร้อย

  •           เช่นเดียวกับหนุ่มอิรักมีปัญหากับอาจารย์ผู้สอน Accounting เหมือนกัน คือบางครั้งคำถามของเธอแสดงความไม่รู้ แต่กริยาอาการประกอบการถามที่แสดงออกมาด้วยท่าทียะโสซึ่งอาจจะบุคลิกส่วนตัว แต่เป็นบุคลิกที่สังคมไม่ยอมรับ งานนี้อาจารย์ผู้สอนเป็นงาน  บอกขอนัดเลยจะอธิบายให้ฟังตัวต่อตัวไม่คิดเงิน แต่ตอนนี้ขอพูดเรื่องนี้ให้เพื่อนฟังให้จบก่อน ก็หงอยไป่ซิ

                หนุ่มคนเดียวกันนี้เกิดถูกใจสาวไต้หวันเพื่อนร่วมห้องเรียนวันไปออก FieldTrip ขณะเดินเที่ยวเล่นกัน เธอขอเป็นแฟน แต่สาวไต้หวันซึ่งสื่อสารภาษาอังกฤษไม่ค่อยดีนักได้แต่สั่นหัวแสดงการปฏิเสธแต่หนุ่มจะถือธรรมเนียมอินเดียหรือเปล่าไม่รู้ที่อาการสั่นหัวแปลว่ายอมรับยังคงตามตื้อสาวไม่เลิกเดือดร้อนถึงเพื่อนมุสลิมชาวมาเลย์ต้องอธิบายว่าผู้หญิงสั่นหัวแปลว่าเขาไม่ตกลงนะ ผลก็หงอยไปอีกรอบ

                บรรยากาศในห้องเรียนนักเรียนจะนั่งรวมกันเป็นกลุ่มโดยอัตโนมัติ กลุ่มเอเชีย กลุ่มยุโรป กลุ่มมุสลิมจะเป็นเพราะแต่ละกลุ่มมีวัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อคล้ายคลึงหรือเหมือนกันก็เป็นได้ จีนไต้หวัน ฮ่องกง ไทยเกาะกันเป็นกลุ่มเดียวกันพ่วงท้ายด้วยหนุ่มอ้วนชาวอังกฤษและสาวมุสลิมชาวมาเลย์ซึ่งเข้าพวกกับหนุ่มมุสลิมไม่ได้และเป็นเช่นนี้ แม้แต่การจัดกลุ่มทำงานหรือรายงานก็ตาม

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in