ช่วงเวลาแห่งความแฟนตาซีที่โซรารุและมาฟุมาฟุได้ร่วมกันวาด
*ชี้แจงก่อนอ่าน →Q= ผู้สัมภาษณ์ / そ= โซรารุ / ま= มาฟุมาฟุ
ขอภูมิใจนำเสนอกลุ่มศิลปินที่ทำเพลงทางอินเตอร์เน็ต และได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม “โซรารุ x มาฟุมาฟุ” โดยพวกเขาได้เริ่มทำเพลงร่วมกันภายใต้ชื่อ After the Rain ซึ่งอัลบั้มแรกของพวกเขา 「Kuro Crest Story」ได้วางแผงเมื่อวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา
พวกเขาสนใจทำเพลงตั้งแต่ยุคสมัยที่เว็บไซต์ Nico Nico Douga เริ่มเปิดคอลัมน์ใหม่ 「Utattemita」ขึ้นมา เพลงทั้งหมดในอัลบั้มนี้เกิดจากฝีมือของ “โซรารุ” ผู้ที่เป็นทั้งนักร้อง และ Sound Engineer ที่รับผิดชอบด้าน Mix และ Mastering เพลง ร่วมกับ “มาฟุมาฟุ” นักร้องผู้เปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์รอบด้านที่เป็นทั้งผู้เขียนเนื้อร้อง, เรียบเรียบเสียงประสาน ไปจนถึงการควบคุมเสียง ซึ่งหลายเพลงในอัลบั้มนี้เขาก็เป็นคนเขียนทั้งทำนองและเนื้อร้องเอง ครั้งนี้เราจะพาท่านผู้อ่านไปพบกับเรื่องราวตั้งแต่เบื้องหลังของการทำเพลง จนถึงการก่อตั้งยูนิตของทั้งสองคนนี้ อีกทั้งยังมีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับการทำอัลบั้มนี้มาฝากทุกท่านด้วย
>> สัมภาษณ์ & เขียนเรื่องโดย สุโด ฮิคารุ
------------- เริ่มทำเพลงตั้งแต่สมัยเด็กๆ
Q:ก่อนอื่นช่วยเล่าเกี่ยวกับ Background ทางดนตรีของพวกคุณให้ฟังหน่อยครับ
そ:สมัยเด็กได้ฟังเพลงผ่านวิทยุเทปของพ่อครับ พ่อผมจะมีพวกเทปเพลง J-pop ในสมัยนั้น เพลงของ Kiroro ก็มี ผมเริ่มซื้อ CD ครั้งแรกตอน ม.ปลาย แล้วก็จากอิทธิพลของเพื่อน ทำให้ได้ฟังเพลงที่ฮิตกันในสมัยนั้นด้วยครับ
Q:ช่วยเล่าให้เป็นรูปธรรมกว่านี้หน่อยได้ไหมครับ
そ:ผมได้ฟังเพลงหลายแนวเลยนะ อย่างเช่นเพลงของ Spitz 、ASIAN KUNG-FU GENERATION、BUMP OF CHICKEN、the pillows แล้วสมัยนั้นเพื่อนที่บ้าดนตรีก็ชอบพกกีต้าร์มาโรงเรียน ที่บ้านผมก็มีกีต้าร์ของพ่ออยู่พอดี เลยชวนกันตั้งวงดนตรี จะเรียกว่าเป็นประสบการณ์ทางดนตรีที่จริงจังกับมันเป็นครั้งแรกได้มั้ยนะ
ま: ผมนี่ตรงกันข้ามเลยครับ สมัยเด็กเคยเรียนเปียโนด้วย ทุกวันเลยได้ฟังดนตรีหลายแนว ตั้งแต่คลาสสิกไปจนถึง J-pop แทนที่จะพูดว่าชอบติดตามฟังผลงานของศิลปินแบบเจาะจงคนใดหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จริงๆ แล้วผมชอบฟังที่ “ตัวเพลง” มากกว่า เพราะฉะนั้นเลยรู้สึกว่าทำเพลงออกมาด้วยความเป็นธรรมชาติ มีดนตรีและทำนองเป็นสไตล์ของตัวเอง แล้วก็โทรศัพท์สมัยก่อนเนี่ยมันจะมีฟังก์ชั่นให้ทำเสียงเรียกเข้าอยู่ด้วย ผมเลยขอยืมโทรศัพท์ของญาติมากดสร้างเสียงเรียกเข้าจากเสียงสังเคราะห์ให้เป็นแบบฉบับของตัวเองดูครับ คิดว่าของแบบนั้นจะอยู่ได้จนถึงตอนนี้รึเปล่านะ เพราะทำแบบนั้นเลยได้ฟังเสียงสังเคราะห์ ส่งผลให้ผมไม่ต่อต้านเสียงสังเคราะห์รึเปล่านะ
Q:ก็เลยสนใจการทำเพลงโดยใช้ VOCALOID ขึ้นมา?
ま:ครับ อย่างดนตรีสดก็จะมีขอบเขตของเสียงในการบรรเลงอยู่ รู้สึกว่ามีความกว้างของเสียงในระดับหนึ่ง แต่ว่าถ้าเป็นเสียงสังเคราะห์ละก็ จะอยู่นอกเหนือทฤษฎี ไม่มีข้อจำกัด ทำให้มันเปล่งเสียงแบบที่เราชอบออกมาได้ ลักษณะเด่นนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าบทเพลง VOCALOID ใน Nico Nico Douga ก็เป็นแบบนี้เช่นกัน เหมือนเป็นเพลงที่ก้าวล้ำไปอีกขั้น ต่างกับดนตรีที่สร้างขึ้นจากคนจริงๆ ซึ่งขอบเขตในการสร้างจะมีขีดจำกัด ก็เลยสนใจขึ้นมาครับ
------------- เพลงแบบนี้คนจริงๆ ร้องไม่ได้แน่นอน
Q:แล้วแรงจูงใจที่ทำให้โซรารุซังลงเพลงใน Nico Nico Douga คืออะไรเหรอครับ
そ:สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ผมเรียนเกี่ยวกับด้าน IT น่ะ ก็มีเพื่อนที่เชี่ยวชาญด้านอินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์อยู่มาก ตัวผมเองสมัยเรียนก็ได้ใช้คอมบ่อยๆ ทำให้ได้รู้ว่ามีเว็บไซต์ที่ชื่อ Nico Nico Douga อยู่ด้วย ย้อนไปเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว สมัยที่ Utattemita กับ VOCALOID เริ่มฮิตกัน ที่มหาวิทยาลัยผมก็ยังทำวงดนตรีต่อ ผมชอบร้องเพลงอยู่แล้วนะ แต่ก็มีความคิดที่อยากทำ CD อยากบันทึกเสียงในสตูดิโอเหมือนกับพวกนักดนตรีมืออาชีพน่ะครับ
Q:จะว่าไปแล้ว เพลงไม่ใช่สิ่งที่มือสมัครเล่นจะทำได้ด้วยตัวคนเดียวสินะครับ
そ:ครับ แต่พอรู้จักกับเพลง VOCALOID ใน Nico Nico Douga และได้รู้ว่าสามารถทำทั้งหมดนั้นได้ด้วยตัวคนเดียว ก็คิดว่า「ทำแบบนั้นได้ด้วยล่ะ」เพียงแต่ตอนแรกผมยังไม่คุ้นเคยกับโปรแกรมเสียงสังเคราะห์ พอคิดว่าลองทำเพลงโวคัลลอยด์ดูเถอะ ลองร้องดูเถอะ ก็เริ่มสนุกกับการฟังเพลงที่เหล่ามือสมัครเล่นเขาอุตส่าห์ตั้งใจทำขึ้นมาครับ พอฟังเพลงโวคัลลอยด์ หรือแม้แต่เพลงที่เหล่าUtaiteซังร้องบ่อยๆ เข้า ก็รู้สึกว่า「เอ๊ะ? นี่มันเป็นมากกว่าเสียงดนตรีที่ฟังแบบลอยเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาเฉยๆ แล้วนะ มีเพลงเจ๋งๆ อยู่มากมายเลยไม่ใช่เหรอเนี่ย」ผมก็เลยอยากเข้าไปในวงการนั้นดูบ้างครับ
ま:เพลงเนี่ย เวลาที่คนร้องก็จะมีขีดจำกัด อย่างเช่นร้องเสียงสูงกว่านี้ไม่ได้ ผมได้ฟังเพลงโวคัลลอยด์ที่เผยแพร่ใน Nico Nico Douga เหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาตอนได้ฟังเพลงที่ให้ความรู้สึกว่า「แบบนี้คนจริงๆ ร้องไม่ได้แน่นอน」แต่ถ้าพูดในทางตรงกันข้ามแล้ว โอกาสที่จะได้ฟังเพลงที่ "คนจริงๆ ก็ร้องแบบนี้ไม่ได้"เนี่ย มีแค่ในเว็บนี้เท่านั้นนะครับ ไม่สามารถหาฟังจาก CD ที่อยู่ในกระแสหลักได้ จะเรียกว่านี่เป็นเพลงแนวใหม่เลยก็ได้ครับ
そ:ตอนที่ผมเริ่มลงเพลงในเว็บ เป็นช่วงที่กระแส VOCALOID กำลังมาแรงเลยครับ เพลงที่ให้โวคัลลอยด์ร้อง ก็มักจะเป็นเพลงที่คนจริงๆ ร้องตามไม่ได้ ร้องเร็วมากบ้างล่ะ ร้องเสียงสูงบ้างล่ะ ยิ่งไปกว่านั้นคนจริงๆ ก็อยากจะท้าทายความสามารถของตัวเอง ทำให้งานคุณภาพสูงๆ ได้ถือกำเนิดขึ้นมา สมัยนั้นเนี่ยไม่ฟังไม่ได้จริงๆ ครับ
ま:ผมเองก็ลองทำเพลงแบบที่คนจริงๆ ไม่สามารถร้องได้ เกี่ยวกับเพลงที่ทั้งสร้างเองและร้องเองนั้น มากกว่าการได้ร้องเพลงหรือเขียนเนื้อร้อง ก็คือความรู้สึกที่ได้สร้างเพลงขึ้นมาหนึ่งเพลงครับ ผมประกอบทั้งเสียงดนตรีและเนื้อเพลงเข้าด้วยกันให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาในหัว โดยที่ไม่ได้สนใจเลยว่าจะง่ายหรือยาก จะร้องง่ายหรือร้องยากน่ะครับ
------------- ถ้าได้ออก CD ด้วยกันก็น่าสนุกดีไม่ใช่เหรอ
Q:ทั้ง 2 คนเริ่มลงเพลงใน Nico Nico Douga แล้ว พวกคุณได้พบกันตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ?
ま:ได้พบกันครั้งแรกเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วครับ ตอนที่ผมเพิ่งเริ่มกิจกรรมใน Nico Nico Douga ได้ยังไม่ถึง 1 ปี มีการจัดอีเว้นท์กันที่ร้านคาราโอเกะน่ะครับ ปิดร้านทั้งชั้น มีทั้งUtaiteซังและโวคัลลอยด์Pซัง มารวมตัวกันอย่างสนุกสนานครื้นเครง ผมก็ได้รู้จักกับโซรารุซังที่นั่น แต่ว่าเพราะผมเพิ่งเข้าวงการและโซรารุซังก็มีชื่อเสียงมาก่อนแล้ว ทำให้ไม่ได้ติดต่อกันเป็นพิเศษครับ
Q:เหมือนกับว่า "คนนี้น่ะเหรอโซรารุซัง"
ま:เป็นความรู้สึกแบบนั้นล่ะครับ แล้วก็ได้เจอกันที่อีเว้นท์อื่นบ้าง ในระหว่างที่ไปช่วยคนขายของหน้าร้าน ขายงานที่เซอเคิลโดจินของโซรารุซัง ก็ค่อยๆ สนิทสนมกัน โซรารุซังรอบรู้ในเรื่องวงการโดจินมากๆ ผมก็เป็นคนที่อยากออก CD เป็นของตัวเองอยู่แล้ว จึงได้รับการชี้แนะหลายๆอย่างจากเขาครับ
Q:สมัยก่อนคุณทั้ง 2 คนเคยออกอัลบั้มโดจินมาแล้ว 2 แผ่น คืออัลบั้ม After Rain Quest (ปี2014) และ Prerhythm Arch (ปี2015) ในนามของ “โซรารุ X มาฟุมาฟุ” แต่กว่าจะไปถึงตรงนั้น มีเรื่องราวเป็นมายังไงบ้างครับ
そ:จะเรียกว่าบังเอิญซ้ำซ้อนหรืออะไรดี ตอนนั้นได้ทำรายการ Nico Nama ร่วมกับคนอื่นๆ แล้วมีมาฟุมาฟุรวมอยู่ด้วยพอดี อีกทั้งได้วางแผนพัฒนา CD ที่ทำร่วมกัน(ที่ทั้งมาฟุมาฟุและผู้สร้างสรรค์ผลงานท่านอื่นๆ ได้ให้การสนับสนุนทำเพลงอัลบั้มในนามของโซรารุที่ชื่อว่า Yuutamari no shiori)ก็ยิ่งสนิทกันมากขึ้น ผมเองก็ชอบบทเพลงของมาฟุมาฟุอยู่แล้วด้วย ตั้งแต่นั้นมาผมก็เริ่มครุ่นคิดว่าถ้าได้ออก CD ร่วมกันก็น่าสนุกดีไม่ใช่เหรอ
ま:ผมในตอนนั้นก็ออกโดจิน CD แล้ว แต่เพราะว่าทำด้วยตัวคนเดียวทั้งหมด จึงคิดว่ามีจุดที่ไม่ได้ฟังความคิดเห็นของผู้อื่นอยู่มาก ถ้าได้ทำร่วมกับโซรารุซังคงสามารถเรียนรู้อะไรได้หลายๆอย่างครับ
------------- เขียนเพลงให้ยากกว่านี้หน่อยสิ
Q:หลังจากอัลบั้มโดจิน 2 แผ่นที่กล่าวไปข้างต้น ในฐานะยูนิต “After the Rain” ที่ทำอัลบั้ม Kuro Crest Story เสร็จสมบูรณ์แล้ว อีกนัยหนึ่งของการทำเพลง มีส่วนที่แตกต่างจากผลงานเพลงที่ทำมาก่อนหน้านี้ไหมครับ
そ:ไม่มีนะครับ แม้จะมี concept อยู่ แต่เพราะว่าอัลบั้มโดจินที่ออกมาแล้ว 2 แผ่นนั้นให้ความรู้สึกเป็นแนว RPG กับแนวผจญภัย ครั้งนี้จึงคิดว่าทำแนวเดียวกับแบบนั้นเถอะ พูดสั้นๆ ก็คือแนวแฟนตาซีละมั้งครับ
ま:คำว่า kuro ; クロ ใน「Kuro Crest Story」ก็คือ Clock ; クロック ที่หมายถึงนาฬิกาน่ะครับ ด้านการเขียนเนื้อร้องก็ทำให้เป็นธีมของ「เวลา」อย่างเดียว ผมเขียนเพลงที่มีทัศนคติต่อการเวียนว่ายตายเกิดไว้เยอะ จึงคิดว่าอยากจะหยิบเรื่องราวเพียงหนึ่งเดียวของชีวิตนี้มาเรียบเรียงทำเป็นอัลบั้มจังน้า ถึงจะพูดว่าเป็น concept แนวแฟนตาซี แต่ก็ตั้งใจทำเพลงโดยแฝงความต่างของความหมายตามที่พูดมาข้างต้นครับ ก็กลายเป็นว่าเขียนเนื้อเพลงแนวมืดมนไปซะเยอะ เช่น "ถึงจะยื่นมือออกไปก็เอื้อมไม่ถึง" "ถึงจะต้องการแต่ก็ไม่สมดังปรารถนา" เนื้อเพลงที่สื่อถึงความหมายแบบนั้นน่ะมีเยอะเลย เพราะอะไรกันน้า (หัวเราะ)
Q:เพลงเปิดของอัลบั้มเพลงแรก 「Ouka ni Tsukiyo to Sode Shigure」 เป็นเพลงที่ตกแต่งด้วยท่วงทำนองสดใสครื้นเครง ฟังแล้วติดหู แต่เนื้อเพลงส่วนใหญ่เศร้าจังเลยนะครับ
ま:เพลงนี้เป็นเรื่องราวเหมือนกับว่าตัวเองไปหลงรักคนที่อยู่โลกอื่นน่ะครับ ถ้าให้ยกตัวอย่างที่เข้าใจง่ายก็อย่างเช่นคนกับผี เป็นบทเพลงที่มีสมมติฐานของความคิดคำนึงที่ส่งไปไม่ถึง ผมมักจะเขียนเพลงจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัว อีกทั้งจากประสบการณ์จริง แน่นอนว่าในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ไปหลงรักคนโลกอื่นหรอก แต่ผมเขียนจากการอุปมาของตัวเองน่ะครับ
Q:เกี่ยวกับการเขียนเนื้อเพลง มีจุดที่ยากลำบากบ้างไหมครับ
ま:เพลงที่ผมกับโซรารุซังทำน่ะคนละแนวเลยนะ รสนิยมก็ต่างกัน จริงๆ แล้วการให้คุณค่าต่ออะไรบางอย่างก็ไม่เหมือนกันเลยสักนิด เพราะฉะนั้นถ้าผมทำอัลบั้มเดี่ยวละก็ ในบรรดา 16 เพลงทั้งหมดที่ถูกบันทึกเสียงลงในอัลบั้ม「Kuro Crest Story」นี้ คิดว่าคงไม่ใส่บทเพลงเหล่านี้ลงไปเกินครึ่งหรอก คงจะกลายเป็นว่ามีแต่เพลงที่จังหวะรุนแรงดุเดือด หนักไปทางแนว Rock น่ะครับ แต่ว่าตามธีมของอัลบั้มนี้ เพราะโซรารุซังได้พูดไว้ว่าอยากให้เพลงมีความรู้สึกแฟนตาซี และอยากได้เพลงที่มีความแปลกใหม่ ผมก็เลยทำเพลงโดยคำนึงถึงสิ่งนั้นด้วยครับ
そ:มาฟุมาฟุน่ะเขียนแต่เพลงยากๆ ให้ผม
ま:ไม่นะ โซรารุซังเคยพูดไว้ว่า "เขียนเพลงให้ยากกว่านี้หน่อยสิ" นี่นา
そ: อืม..ก็เป็นแบบนั้นล่ะนะ ไม่ใช่ว่าจะต้องทำให้อยู่ในขอบเขตที่คนสามารถร้องได้ ผมคิดว่าการร้องเพลงที่เผยให้เห็นว่าสามารถสร้างเมโลดี้ได้อย่างอิสระนั้น ถือเป็นการทำลายขีดจำกัดของบทเพลงเลยไม่ใช่เหรอ ทิ้งสไตล์แบบคนที่เพิ่งออกมาจากดินแดนโวคัลลอยด์ไปซะ แล้วสร้างเพลงที่เป็นมากกว่าการผสมผสานความเป็น Pop แบบเดิมๆ เปิดทัศนคติออกให้กว้างๆ ผมคิดว่าการแสดงออกถึงการร้องเพลงอย่างไม่ต้องฝืนนั้น เป็นสิ่งที่เหมาะสมกับพวกเราครับ
Q:หมายความว่าถึงแม้จะเปลี่ยนชื่อยูนิตไปแล้ว แต่ก็จะไม่มีทางเปลี่ยนแปลงวิธีการสินะครับ
ま:ไม่เปลี่ยนครับ
そ:จะสร้างผลงานให้เจ๋งกว่าเดิม เพียงเท่านั้นครับ
------------- เสียงสูงมากจนตอนแรกคิดว่าเป็น Harmonic
Q:เพลง Sekaishikku ni Shounen Shoujo และ Insomnia ที่ถูกบันทึกเสียงไว้ในอัลบั้ม Prerhythm Arch เป็นเพลงที่ได้รับการบันทึกเสียงซ้ำ ยิ่งไปกว่านั้นเพลง Insomnia ที่มีแค่เสียงดนตรีอย่างเดียวในตอนแรก พอมาอัลบั้มนี้ (Kuro Crest Story) กลับใส่เสียงร้องเข้าไปด้วย ทำแบบนี้มีเจตนาอะไรหรือเปล่าครับ?
ま:พวกเราทั้ง 2 คนได้ปรึกษากันและตัดสินใจเรื่องนี้แล้วครับ แต่...พวกผมน่ะทำอัลบั้มทำมือมาโดยตลอด เพราะว่าเป็นคนที่อยากส่งมอบบทเพลงให้ผู้ฟังโดยตรง โดยที่ผู้ฟังสามารถมาพบเจอกันได้คล้ายเพื่อนสนิทมิตรสหาย ก็เลยไม่อยากทำลายจุดยืนตรงนั้นครับ ไม่มีความตั้งใจที่จะเลิกทำโดจินด้วย ในตอนนั้นทำ 2 เพลงนี้เสร็จพอดี ก็เลยอยากพูดว่าทำอัลบั้มนี้เสร็จสมบูรณ์แล้วนะ เพราะจนถึงตอนนี้การที่มีหลายๆ ท่านได้ให้ความกรุณาฟังเพลงของพวกเรานั้น ถือว่าเป็นการเติบโตของพวกเราด้วยครับ
そ:เพราะว่า Insomnia เป็นเพลงที่เสร็จสมบูรณ์ในแบบ Instrumental ตั้งแต่แรก จะเรียกว่าไม่มีช่องว่างหรืออะไรดี ถ้าทำไปทั้งๆ อย่างนั้นจะทำให้เพลงไม่เข้าจังหวะกัน สุดท้ายแล้วถึงจะเปลี่ยนจังหวะ ท่วงทำนองของเพลง หรือวิธีการร้อง โดยแก้ไขกันไปค่อนข้างมาก พอครั้งหนึ่งตกลงกับตัวเองว่าจะเอาแบบนี้แหละ! แต่ในฐานะที่เป็นเพลงนี้ การใส่เสียงร้องเข้าไปอีกครั้งโดยให้เสียงร้องเข้ากับท่วงทำนอง เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก โดยเฉพาะการ Mix เพลงนี่ยากเป็นพิเศษเลยครับ ทำกี่รอบก็ไม่ดีขึ้นมาเลย...
Q:นอกจากนี้ มีเพลงที่ร้องยากบ้างมั้ย อย่างตอนแรกพวกคุณเคยพูดไว้ว่า "เพลงยากมีเยอะ"
そ:เพลง Never Ending Reverse กับ I Sleep Well ครับที่ยากเป็นพิเศษ แล้วก็เพลง Machibouke no Kanata ที่ผมเพิ่งอัพลง Nico Nico Douga ก็หนักหนาสาหัสเหมือนกันครับ
ま:เพลง Machibouke no Kanata นี่ไม่สามารถร้องได้อย่างราบรื่นหรอกเหรอครับ ?
Q:ครี่งหลังของเพลง มีช่วง High Tone (ร้องเสียงสูง) กับ Long Tone (ร้องเสียงลากยาว) อยู่มากเลยเนอะ
ま:เขาร้องเพลงแบบนั้นได้ดีเลยนะครับ
そ:ตอนที่เห็นโน้ตเพลงครั้งแรก คิดว่าคีย์ข้างบนคือ Harmonic น่ะ ถึงกับอุทานว่า “จะร้องคีย์ไหนดีเนี่ย?” (หัวเราะ)
ま: ผมก็บอกไปแล้วว่า “นั่นมันเป็น Melodic” (หัวเราะ)★
*หมายเหตุ : เราลองค้นใน google พบคำอธิบายที่คุณ Jirawat Koatsombat ได้กล่าวไว้ว่า ขั้นคู่เสียง สามารถบันทึกได้ 2 รูปแบบ คือแบบฮาร์โมนิก และแบบเมโลดิก - แบบฮาร์โมนิก (Harmonic Interval) : โน้ตทั้ง 2 ตัวจะบันทึกซ้อนกันพอดี เวลาบรรเลงก็จะต้องเล่นโน้ตทั้ง 2 ตัวนั้นให้เกิดเสียงดังพร้อมกันด้วย
- แบบเมโลดิก (Melodic Interval) : โน้ตทั้ง 2 ตัวจะบันทึกเหลื่อมกัน เวลาบรรเลงก็จะต้องเล่นโน้ตครั้งละ 1 ตัวแยกออกจากกัน ตามลำดับการบันทึก ขั้นคู่แบบเมโลดิกมีทั้งแบบขาขึ้นและขาลง
อ้างอิงจาก → https://sites.google.com/site/mrjisclassroom/thvsdi-not-khan-phun-than/-intervals/--harmonic-melodic
★ หมายเหตุ2 : ประโยคนี้ภาษาญี่ปุ่นคือ 「それがメロです」って(笑)ตอนแรกงงกับคำว่าメロ ที่มาฟุพูด ว่าเป็นคำย่อของอะไรกันแน่
- อาจเป็นคำย่อของメロドラマ(Melodrama) ถ้านำมาใช้กับแนวเพลง คงหมายถึงเพลงที่บีบคั้นสะเทือนอารมณ์เกินจริง โน้มนำให้ผู้ฟังอินไปตามเพลง
- หรืออาจจะหมายถึงメロที่เป็นคำย่อของメロディックデスメタル (Melodic Death Metal ; แนวเพลงชนิดหนึ่ง)
- ดังนั้น ถ้าแปลตามความหมายนี้จะได้ว่า「ผมก็บอกไปแล้วว่า “นั่นมันเป็นเพลงแนวเมโลฯ” (หัวเราะ)」แต่ที่เราแปล メロ ว่า Melodic เพราะคิดว่า それ ในประโยคนี้น่าจะพูดถึง上のキー ที่โซรารุเห็นในโน้ตเพลงมากกว่า ไม่ใช่ それ ที่หมายถึงตัวเพลงน่ะค่ะ งงมั้ยคะ ;w; ถ้าเราเข้าใจผิดก็ช่วยชี้แนะด้วยนะคะ m(_ _)m
そ:แต่ว่า ถ้าเป็นผมเมื่อประมาณ 2 ปีก่อนที่พวกเราจะทำอัลบั้มกัน 2 คน ถ้าไม่ลดคีย์ให้ต่ำลงมากว่านั้นสัก 3 หรือ 4 คีย์ ผมไม่มีทางร้องได้แน่นอนอ่ะ เพราะฉะนั้นเลยคิดว่าพัฒนาขึ้นนิดนึงหรือเปล่านะ ผลที่ออกมาก็ร้องได้เป็นที่น่าพอใจอยู่หรอก แต่ถึงยังไงเพลงของมาฟุมาฟุน่ะ ผมก็เกือบจะร้องหลุดไลน์โน้ตเพลงไปตั้งหลายครั้ง
ま:ร้องออกมาได้ดีมากๆ เลยครับ ผมคิดว่าดีจริงๆ น้า ที่ได้ทำเพลง Machibouke no Kanata ร่วมกัน 2 คน
------------- ผมขอทำ Instrumental ให้ได้ไหมครับ
(* Instrumental = เพลงที่มีแต่เสียงดนตรี ไม่มีเสียงร้อง)
Q:เปรียบเทียบกับผลงานที่ผ่านมา อัลบั้ม 2 แผ่นก่อนหน้านี้ได้จัดเรียงเพลงที่อยู่ในลำดับ เพลงแรก เพลงตรงกลาง และเพลงก่อนสุดท้ายให้เป็นเพลง Instrumental แต่ว่าอัลบั้มนี้เพลงแรกเป็นเพลงที่มีเสียงร้องอยู่ด้วย ในขณะที่เพลงตรงกลางและเพลงก่อนสุดท้าย ยังคงเป็นเพลง Instrumental อยู่ การจัดเรียงเพลงแบบนี้ยึดติดกับอะไรหรือเปล่าครับ?
ま:เป็นความเอาแต่ใจของผมเองครับ เคยปรึกษากันหลายครั้งว่า “ผมขอทำเพลง Instrumental ให้ได้ไหม” ถึงโซรารุซังจะบอกว่าไม่มีก็ไม่เห็นจะเป็นไร แต่ถ้าเป็นไปได้ผมก็อยากจะใส่มันลงไปในอัลบั้มด้วยครับ
そ:ทำไมถึงได้พูดจาเหยียดหยามตัวเองแบบนั้นล่ะ (หัวเราะ)
ま:สมมุติว่าจากเพลงในอัลบั้มทั้งหมดที่มี 16 เพลง ตัดไปเป็นเพลง Instrumental ซะ 2 เพลง ถ้าฟังตั้งแต่เพลงที่ 1 ไปจนถึงเพลงที่ 14 ซึ่งมีแต่เพลงจังหวะหนักหน่วงที่ใช้พลังงานในการเล่นเยอะละก็ จะรู้สึกเหนื่อยเอาได้ เพราะผมคิดว่าการฟังไปแบบเพลงต่อเพลงต่างก็เข้มข้น และมุมมองที่มีต่อเพลงของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันด้วยน่ะครับ
Q:อย่างนี้นี่เอง
ま:แต่ในทางตรงกันข้าม การลดทอนเป็นบทบาทของเพลงแบบ Instrumental ระหว่างที่ฟังนั้นก็ร้อยเรียงเรื่องราวไปด้วย ถึงจะไม่มีเสียงร้อง มีแต่เมโลดี้และเสียงเครื่องดนตรี ก็ทำให้เกิดมุมมองที่มีต่อเพลงนั้น และปรากฏเป็นภาพที่ทำให้เกิดความรู้สึกต่างๆ ขึ้นมา หรือจะพูดยังไงดี ถ้าไม่มีเสียงคนร้องคงจะดีกว่า ผมคิดว่ามันทำให้สื่อสารเรื่องราวเหล่านั้นออกมาได้ง่ายดี อย่างเช่น เพลงสุดท้ายในอัลบั้มอย่าง I Sleep Well มีธีมเพลงเกี่ยวกับ “การนอนหลับ” แต่ว่าได้นำอิมเมจที่เป็นแนวทางใหม่มาใช้ โดยใส่เพลง Aster* ที่เป็นInstrumental ฉบับเปียโนลงไปในอัลบั้ม ซึ่ง Aster ก็คือดอกแอสเตอร์ ภาษาดอกไม้ของดอกแอสเตอร์ก็คือ “จะไม่ลืมเธอ” ทีนี้เนื้อเพลง I Sleep Well เริ่มจากจุดที่ได้สูญเสียคนสำคัญไปแล้วน่ะครับ สรุปก็คือ “เพื่อที่จะได้ไม่ลืมเธอ ไม่ว่ากี่ครั้งก็จะไปพบเธอในความฝัน” *หมายเหตุ : ในอัลบั้มนี้ เพลง Aster (เพลงลำดับที่15) ถูกจัดเรียงให้อยู่ก่อนหน้าเพลง I Sleep Well (เพลงลำดับที่16)
Q:มีการร้อยเรียงเป็นเรื่องราวอย่างนี้นี่เอง แล้วเพลง Spica ที่เป็นอีกหนึ่ง Instrumental ก็ได้แทรกอยู่ในลำดับเพลงตรงกลางของอัลบั้ม รู้สึกเหมือนมีการแยกบันทึกเสียงเป็นหน้า A กับหน้า B เลยครับ
ま: หลายๆ เพลงในอัลบั้ม รวมทั้งเพลง Spica ที่ได้ปล่อยออกมานั้นขาด Phrase ของเพลง และ มีทำนองดนตรีที่ไม่เสถียร* แต่ว่ามันก็ทำให้ไม่รู้สึกถึงคีย์หลักที่สำคัญในเสียงดนตรี หรือแม้แต่พวกเทคนิคบันไดโน้ตเสียง 12 ตัวอะไรแบบนี้น่ะครับ อย่างเช่นถ้าเป็นหนังก็อยากใส่เสียงที่เหมือนจะไล่บันไดโน้ตเสียงในตอนที่เหมือนมีอะไรไม่ชัดเจนจะโผล่ออกมาน่ะครับ
*หมายเหตุ : คุณ puntaiji ได้กล่าวถึงลักษณะเสถียร และไม่เสถียรของเพลงไว้ ดังนี้ค่ะ - Stable หรือ เสถียร เป็นลักษณะของส่วนประกอบของเพลงที่ฟังแล้ว"จบ" ฟังแล้ว"ฟิน" ฟังแล้วรู้สึก"สมบูรณ์" ไม่ต้องมีอะไรต่อ ลักษณะเสถียรนี้เหมาะกับเนื้อหาเพลงที่เป็น"ข้อมูล" "ความจริง" หรือเนื้อหาที่สื่อถึงอารมณ์น้อย หรือท่อนที่ฟังแล้วจบสมบูรณ์ เช่น ท่อนจบของเพลงที่ให้ความรู้สึกจบ เป็นต้น
- Unstable หรือ ไม่เสถียร เป็นลักษณะของส่วนประกอบที่ฟังแล้ว "ไม่จบ" "ไม่สมบูรณ์" "ต้องมีต่อ"..."ให้ความรู้สึกเคลื่อนที่ไปข้างหน้า" "ค้างคา" ลักษณะไม่เสถียรนี้ เหมาะกับเนื้อหาที่สื่อถึง "อารมณ์"เยอะ มีการ "พัฒนา" ของเนื้อหา มีการ "เคลื่อนที่ไปข้างหน้า" ต้องมีท่อนต่อ เช่น ท่อนส่งหรือ bridge ที่ไม่เสถียรฟังแล้วต้องมีต่อ ต้องส่งไปท่อน Chorus เป็นต้น
- ซึ่งความเสถียร และไม่เสถียรนั้น ก็ไม่ใช่ว่าต้องแบ่งสองอย่างชัดเจน แต่มีระดับมากน้อยได้ เช่น "ไม่เสถียรมาก" "ไม่เสถียรน้อย" และในหนึ่งเพลงสามารถใส่ "เสถียร" และ "ไม่เสถียร" ผสมกันได้ เพื่อสร้าง ไดนามิก ความเปลี่ยนแปลงในเพลงนั่นเอง
อ้างอิงจาก → http://puntaiji.blogspot.com/2014/04/song-writing-6.html
Q:เป็นเทคนิคของเพลงในสมัยปัจจุบันสินะครับ
ま:อย่างที่ได้พูดไปแล้ว ผมลองจินตนาการถึงความรู้สึกจากสิ่งที่ได้ยินครับ อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเพลง Spica ที่ติดมาอยู่ในอัลบั้มนี้อย่างไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งจริงๆ แล้วผมเคยมีความตั้งใจว่าจะตัดทิ้งไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่เพราะว่าเพลงต่อมาก็คือ Sekaishikku ni Shounen Shoujo เป็นเพลงที่ในตอนแรกเริ่มจากคาแรกเตอร์ RPG กำลังแสดง Live ซึ่งเป็นส่วนที่เพิ่มเข้ามาทีหลัง ก็เลยเหมือนได้รับการรีเซ็ตจากก่อนหน้านี้ครับ
------------- ภาพนูนออกมาจากกล่องอัลบั้มด้วยล่ะ!
Q:ตอนนี้ ทางทีมงานได้เตรียมอัลบั้ม「Kuro Crest Story」ที่ทำเสร็จสดๆร้อนๆมาด้วย ทั้งแผ่น Limited ชุดA กับชุดB และแผ่นธรรมดา Artwork ของอัลบั้มก็ประณีตสวยงามจังเลยนะครับ
そ:เกี่ยวกับ Artwork นั้น มี“นาฬิกา”เป็นแรงจูงใจครับ ชุด A จะเป็นนาฬิการสวยๆ แบบเงางามวิบวับ แต่นาฬิกาของชุด B จะเก่าๆ หน่อย พอตัดสินใจกันได้แล้วว่าจะเอาแรงจูงใจแบบนั้น ก็ไปเจรจากับ M.Bซัง ผู้ที่กรุณาวาดปกอัลบั้มให้ครับ M.Bซังก็ได้เตรียมตั้งแต่ขั้นตอนของภาพร่างแบบคร่าวๆ ดีไซน์ข้างนอกกล่อง เตรียมมาให้ตั้งหลายแบบเลยครับ จากนั้นผมก็ปรึกษากับมาฟุมาฟุไปพลางๆ รู้สึกว่าได้พูดคุยกันถึงรายละเอียดอย่างค่อยเป็นค่อยไปครับ
ま:(เปิด package ของ CD) สุดยอด! ผมไม่เคยใช้กล่องอัลบั้มเป็นพลาสติกที่แข็งแรงทนทานขนาดนี้มาก่อนเลยอ่ะ
そ:(ระหว่างที่จับกล่องอัลบั้มพลาสติก) จริงๆ ด้วย! ภาพนูนออกมาจากกล่องอัลบั้มด้วยล่ะ! ま:ให้สัมผัสที่ดีต่อมือจังเลยเนอะ
Q:ตั้งแต่สมัยที่ทำโดจิน มีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่เปลี่ยนไป ก็คือคุณภาพของกล่องพลาสติกสินะ (หัวเราะ)
そ:ใช้กล่องแบบนี้ดีจริงๆนะครับ กระดาษ Booklet ก็ต้องราคาแพงแน่ๆ เลย
ま:ของแบบนี้ผมไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียวแน่ๆ ครับ ทั้งอิลัสทั้งดีไซน์สุดยอดมากๆ เป็นเพราะได้รับการช่วยเหลือจากหลายท่านแท้ๆ เลยครับ
------------- ถึงจะเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป แต่ถ้าทำได้ก็คงดี
Q:ตัวผมเองก็รู้สึกว่าการทำ CD ขึ้นมานั้นแตกต่างจากการดูเฉยๆ เหมือนกันครับ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ทาง Ongaku Natalie (ชื่อคอลัมน์หนึ่งของเว็บไซต์นี้) ได้รายงานข่าวการแสดง Live ของพวกคุณ แล้วได้รับผลตอบรับที่ดีมาก หลังจากทัวร์นั้นจบแล้ว มีความรู้สึกอย่างไรบ้าง
*หมายเหตุ : อ้างอิงจากข่าวหัวข้อ「そらる&まふまふ、ソロありコスプレありのツアー大盛況」ในเว็บไซต์นี้ → http://natalie.mu/music/news/171653
そ:ได้รับการตอบรับดีมากครับ จนถึงตอนนี้ได้แสดง Live บ้าง ได้ร้องเดี่ยวบ้างคละเคล้ากันไป เคยเข้าร่วมแสดง Live Event ต่างๆ มากมาย แต่ว่าก่อนแสดง Live กับหลังจากที่แสดงจบแล้ว ก็ไม่ได้มีความรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น แต่พอได้มาแสดง Live Tour กับมาฟุมาฟุ 2 คนแล้ว ได้เห็นผลตอบรับของแฟนคลับด้วยตาตัวเอง อย่างเช่นยอดจำนวนการเข้าชมวิดีโอที่เพิ่มขึ้น กลายเป็นประสบการณ์พิเศษที่แตกต่างออกไป เพราะเล่นดนตรีมาหลายปีแล้วก็เพิ่งเคยพบเจอแบบนี้ ทำให้แปลกใจมากเลยครับ แน่นอนว่าการแสดง Live Tour กัน 2 คนก็เป็นครั้งแรกด้วย ผมมองเห็นจุดผิดพลาดที่ต้องแก้ไขเยอะมาก แต่ว่าถึงอย่างนั้นก็ได้รู้ซึ้งถึงการที่หลายๆ ท่านได้ให้การต้อนรับผมด้วยความยินดีครับ
ま:ผมน่ะ ถ้าให้พูดตามจริงแล้ว ไม่ใช่คนประเภทที่อยากปรากฏตัวต่อหน้าผู้คนสักเท่าไหร่... ตอนแรกที่โซรารุซังมาพูดคุยเรื่อง Live Tour ด้วย ผมพูดออกไปว่า “เรื่องนั้นน่ะขอเถอะครับ ถ้าเป็นเรื่องอื่นละก็ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรผมทำได้หมดเลย แค่ Live เท่านั้นแหละที่ไม่อยากทำ” ไม่ใช่ว่าจะให้ผมออกไปร้องเพลงต่อหน้าทุกคนหรอก แค่คิดว่าอยากสร้างผลงานให้ถึงที่สุดเท่านั้นเอง ในความเป็นจริงพอตัดสินใจว่าจะทำแบบนั้นแล้ว ก็ซ้อมหนักมากจนไข้ขึ้นประมาณ 39 องศา จนพูดออกมาว่า “ไม่ไหวแล้ว ไม่ไหวไม่ไหวไม่ไหว!”
Q:แต่ว่า ก็ทำเพลงยากๆ ได้ด้วยตัวเองนี่นา
ま:นั่นสิครับ แต่ว่าพอถึงเวลาที่ต้องทำและได้ลองทำดูแล้ว ท้องฟ้าอันว่างเปล่าที่ตัวเองไม่ได้จินตนาการไว้เลย ก็เปิดกว้างขึ้น ผมคิดว่าประสบการณ์ใหม่นั้นจะกลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อกิจกรรมในอนาคตอย่างแน่นอน อีกทั้งยังได้รับแรงกระตุ้นด้วย เพราะฉะนั้นจากผลลัพธ์ที่ได้ คิดว่าดีจริงๆ น้าที่ได้ทำมัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังกลัวอยู่ดีครับ
そ:ผมเองก็มักจะต่อสู้กับความคิดที่กลัวการแสดง Live ไปพร้อมๆ กับการท้าทายมันไปด้วย
Q:เป็นอย่างนั้นเองหรอกเหรอครับ
そ:เป็นสิ่งที่กลัวมากๆ เลยครับ แต่ว่าหลังจากที่ทำเสร็จแล้ว ก็ไม่มีความคิดที่ว่า “ถ้าไม่ทำคงจะดีกว่า” เลยนะ คิดว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งจำเป็นต่อตัวผมเองรึเปล่านะ
Q:“เป็นสิ่งจำเป็นต่อตัวเอง”นี่ หมายความว่ายังไงครับ?
そ:ก่อนอื่น สิ่งหนึ่งคืออยากจะแสดง Live ได้ตามที่คิดไว้ ถึงจะเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป แต่ถ้าทำได้ก็คงดี , ไม่ตื่นเต้นหรือประหม่า จะได้ไม่ต้องคิดว่า “ไม่อยากแสดง Live เลย” และค่อยๆ ออกมาร้องเพลงต่อหน้าผู้คนอย่างเท่ๆ คงจะดีกว่าครับ
ま:อืม นั่นสิน้า
そ:แต่ว่า สิ่งนั้นน่ะถ้าไม่ลงมือทำก็ไม่มีทางทำได้หรอก ถึงแม้จะลงมือทำไปแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้ก็จริง ในทางตรงกันข้าม จะเอาแต่หนี ไม่ลงมือทำก็ได้นะ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดหรอก แต่บางทีถ้าพวกเราลงมือทำคงจะดีกว่า การแสดงครั้งต่อไปที่ Ryogoku Kokugikan (ชื่อฮอลล์จัดคอนเสิร์ตที่โตเกียว) คงจะประหม่าแล้วก็คิดว่ากลัวจังเลยนะ แต่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่อยากจะก้าวผ่านมันไปให้ได้ครับ
(END)
ปล. จบแล้วค่ะ ขอขอบคุณที่อ่านมาถึงตรงนี้นะคะ หากมีจุดใดที่เราแปลผิดพลาด ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ และอย่าได้เกรงใจที่จะชี้แนะหากพบจุดที่แปลผิดนะคะ เพื่อที่เราจะได้นำข้อชี้แนะไปปรับปรุงการแปลครั้งต่อไป ขอขอบคุณผู้ให้คำปรึกษาในการแปลทุกท่านมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ ^w^)/
ปล.2 เนื่องจากเราไม่มีความรู้ทางทฤษฎีดนตรีอยู่เลย จึงทำได้เพียงหาข้อมูลและพยายามทำความเข้าใจด้วยตนเองเท่านั้น หากมีจุดไหนในบทสัมภาษณ์ที่เข้าใจผิดไป สามารถท้วงติงได้เลยนะคะ
----------------------------------------------------------------------
< แก้ไขที่ตัวเองแปล > 31/08/2559 -- 22:34
(1) สวัสดีค่ะ หลังจากที่แปลไปเมื่อวาน สิ่งที่ยังสงสัยว่าตัวเองแปลถูกหรือไม่ก็คือช่วงนี้ค่ะ
ที่ในบทสัมภาษณ์พูดเกริ่นหัวข้อไว้ว่า キーが高すぎて、最初はハモリかと思った
× ตอนแรกเราแปลว่า ---> เสียงสูงมากจนตอนแรกคิดว่าเป็น Harmonic
○ จริงๆ ที่ถูกต้องคือ --->★ "คีย์สูงมากจนตอนแรกคิดว่าเป็นการร้องประสานเสียงรึเปล่าน่ะ"★
(2) ประโยคต่อไปในตอนเดียวกัน そらる:最初に譜面を見たとき、上のキーはハモリだと思ってたので、「どこ歌えばいいの?」って(笑)。
× ตอนแรกเราแปลว่า ---> โซรารุ : ตอนที่เห็นโน้ตเพลงครั้งแรก คิดว่าคีย์ข้างบนคือ Harmonic น่ะ ถึงกับอุทานว่า “จะร้องคีย์ไหนดีเนี่ย?” (หัวเราะ)
○ จริงๆ ที่ถูกต้องคือ --->★ โซรารุ : ตอนที่เห็นโน้ตเพลงครั้งแรก เพราะคิดว่าคีย์ข้างบนคือ
ร้องประสานเสียงน่ะ ถึงกับอุทานว่า “จะร้องตรงไหนดีเนี่ย?” (หัวเราะ) ★
(3) ประโยคต่อไปที่มาฟุพูดตอบโซรารุ まふまふ:「それがメロです」って(笑)。
× ตอนแรกเราแปลว่า ---> มาฟุมาฟุ : ผมก็บอกไปแล้วว่า “นั่นมันเป็น Melodic” (หัวเราะ)
○ จริงๆ ที่ถูกต้องคือ --->★ มาฟุมาฟุ : ผมก็บอกไปแล้วว่า “นั่นมันเป็นเมโลดี้” (หัวเราะ)★
// ขออภัยที่แปลผิดนะคะ เดี๋ยวไว้จะอธิบายเพิ่มเติมส่วนที่เราไปสอบถามแฟนคลับอีกท่านหนึ่งมา จนเข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำว่า メロ ในประโยคที่มาฟุพูดค่ะ >w<
-----------------------------------------------------------------------------
< อธิบายเพิ่มเติม >
ทีนี้พอเราสงสัยมากๆ ว่าความหมายของ メロ ในประโยคที่มาฟุพูด เราต้องแปลผิดแน่ๆ
ลองหาใน google อ่านดูแล้วก็ยังไม่เข้าใจ จึงตัดสินใจไปถามแฟนคลับท่านหนึ่งที่ชื่อว่า briaซัง
(เห็นเขาแปลสเตตัสอุไตเตะซังลงทวิตตัวเองจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาอังกฤษ ก็เลยมั่นใจว่าเขาต้องรู้)
นี่คือข้อความที่เราส่งไปถามเขาค่ะ ↓
--------------------------------------------
briaさんこんにちは!(^o^)
突然ですが、昨日After the Rainの音楽ナタリーの面接を読んだあと分からないところがあります。まふまふさんが言った文です→「それがメロです」って(笑) 。「メロ」の意味が気になります。私メロはmelodic だと思いますが、ネットで調べると「メロ」の意味がたくさんある。例えば、「メロドラマ」とか「メロディックデスメタル」とか...もしbriaさんはこの「メロ」の意味を分かったら、説明して下さると助かります。お願いたします。
- K (タイ人のATRファン) -
/日本語下手過ぎてすみません(ToT)
--------------------------------------------
แปลไทยคำถามของเรา :
briaซัง สวัสดียามบ่ายค่ะ!(^o^)
อาจจะกะทันหันไปสักหน่อย แต่เมื่อวานฉันได้อ่านสัมภาษณ์ของ After the Rain ใน Ongaku Natalie แล้วมีจุดที่ไม่เข้าใจอยู่ค่ะ สงสัยในความหมายของ「メロ」จากประโยคที่มาฟุมาฟุได้พูดไว้ว่า 「それがメロです」って(笑) 。ฉันคิดว่าメロ คือ melodic แต่ลองค้นในเน็ตดูแล้วพบความหมายของメロมากมาย อย่างเช่น Melodrama หรือ Melodic Death Metal ถ้าหากว่า briaซังรู้ความหมายของメロละก็ ถ้าช่วยอธิบายให้ฟังจะช่วยได้มากเลยค่ะ ขอความกรุณาด้วยนะคะ
-K แฟนคลับATRคนไทย-
ภาษาญี่ปุ่นกากเกิน ต้องขอโทษด้วยนะคะ(ToT)
--------------------------------------------
briaซังผู้ใจดีได้ตอบกลับมาว่า ↓
わざわざリプライ来てありがとうございました! 読んでみったら、こっちの「メロ」は Melodyかもしれないです。 srrさんは「どこが歌えばいいの?」って言ってたから、
mfくんのリプライは「それが(A Melody/B Melody)」の可能性はある (続く)
こっちの「メロ」は melodramaならsrrさん前の話しましたのは「どこ」じゃないって、「何の感じ」です。 だから、インタビューの「メロ」は Melodyと思う。 説明は雑感ならすいませんです!>でも日本語はすごく上手ってびっくりしましたよ!
--------------------------------------------
แปลไทยที่ briaซังตอบกลับมา :
ขอบคุณที่ถามเข้ามานะคะ ลองอ่านดูแล้ว ความหมายของメロนี้อาจจะเป็น Melody ค่ะ
เพราะโซรารุซังได้พูดไว้ว่า 「どこが歌えばいいの?;จะร้องตรงไหนดีเนี่ย」ประโยคตอบกลับ
ของมาฟุคุงจึงมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็น「それが (A Melody/ B Melody) ; นั่นคือเมโลดี้A /เมโลดี้B」
(มีต่อ)
ถ้าメロนี้หมายถึง melodrama แล้วละก็ ประโยคที่โซรารุซังพูดก่อนหน้านี้จะไม่ใช่「どこ ; (ร้อง)
ตรงไหน」 แต่เป็น「何の感じ ; (ร้องด้วย)ความรู้สึกแบบไหน」ค่ะ เพราะฉะนั้นจึงคิดว่าメロ ใน
บทสัมภาษณ์ก็คือ Melody นั่นเอง ถ้าอธิบายเข้าใจยากก็ต้องขอโทษด้วยนะคะ แต่ว่าเก่งภาษาญี่ปุ่นมากจนตกใจเลยนะคะเนี่ย!
--------------------------------------------
ปล. อธิบายจบแล้วค่ะ โดนชมด้วย แต่เขาคงชมตามมารยาท 555
เม้าต่ออีกนิด คือจริงๆ ก่อนหน้านี้รุ่นน้องคนที่สนิทก็เคยบอกว่า "เมโล" ย่อมาจากเมโลดี้รึเปล่าพี่ แต่เราไม่เชื่อเอง เลยลองไปหาความหมายเต็มๆ ของคำว่าเมโล เจอเยอะมากค่ะ เจอแม้กระทั้งชื่อคาร์แรกเตอร์เมโลใน Death Note 555 ก็เลยหลงคิดไปว่าความหมายจริงต้องยาวกว่าคำว่าเมโลดี้แน่ๆ TwT
พออ่านที่ Briaซังอธิบายจึงได้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่า สิ่งที่โซรารุซังเห็นในโน้ตเพลงน่ะ จะต้องมีทั้งเมโลดี้A กับเมโลดี้B อยู่ในนั้น โซรารุซังเห็นปุ๊บเลยคิดว่ามาฟุต้องให้ร้องเสียงประสานแน่เลย ก็เลยตกใจว่าตัวเองจะร้องตรงไหนดี คีย์ถึงจะเข้ากับตัวเอง จะร้องตรงA หรือB ดีนะ --- แต่มาฟุก็ปฏิเสธว่า ไม่ใช่นะ ผมก็บอกไปแล้วว่านั่นมันเป็นเมโลดี้ ก็คือมีแค่(A)ท่อนเมโลดี้ กับ(B)ท่อนที่โซรารุซังต้องร้องต่างหาก ไม่ใช่ว่าจะให้ร้องประสานเสียงกับผม
พอลองจินตนาการเหตุการณ์ที่เขาพูดก็น่ารักดีนะคะ โซรารุซังก็เคยมีช่วงเวลากังวลว่าจะร้องขึ้นเสียงสูงไม่ได้เหมือนกันนะเนี่ย555 (แซว) ที่เราเข้าใจจากที่ briaซังได้อธิบายไว้ก็มีประมาณนี้ค่ะ >w<
/จบ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in