[ บทความนี้เป็นบันทึกการเดินทางระหว่างผู้เขียนกับซีรีส์เรื่องนี้ มีเนื้อหาที่เป็นข้อมูลเกี่ยวกับซีรีส์ โดยแทรกการวิเคราะห์จากมุมมองและความรู้สึกของผู้เขียน รวมถึงมีเนื้อหาบางส่วนที่สปอยล์เนื้อเรื่อง โดยยึดการรับชมจาก version UNCUT เป็นหลัก ]
เพลงแรกชื่อว่า อยู่ด้วยกัน (Never Apart) ร้องโดย แปลน-ธนวัฒน์ คูสุวรรณ ที่รับบทเป็น "พัท" โดยเพลงนี้มีกลิ่นอายของปลายยุค 90 แนวดนตรีแบบ shoegazing เสียงดนตรีฟุ้ง ๆ แบบ dream pop แต่มีความ post rock อยู่จาง ๆ พร้อมเสียงร้องเบา ๆ ลอย ๆ ฟุ้ง ๆ ผสานไปกับเสียงดนตรียุค 90 ที่แฝงด้วยดนตรีที่ทำให้นึกถึงซีรีส์เกาหลีในยุคนั้นเช่นกัน ซึ่งเนื้อเพลงสะท้อนถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่าง "ภพ" และ "พัท" ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับผีที่ให้เราได้ร่วมลุ้นว่า พวกเขาทั้งสองจะสามารถอยู่ด้วยกันและจับมือเคียงข้างกันได้หรือไม่
ส่วนอีกเพลงมีชื่อว่า ทำได้แค่ฝัน (just like a dream) ร้องโดย นัท-ศุภณัฐ เลาหะพานิช ที่รับบทเป็น "ภพ" เพลงมีดนตรีกลิ่นอายแนวเพลงญี่ปุ่นยุคปลาย 1990 ถึงต้น 2000 มีการเติมลูกเล่นของซินธ์ที่มีความ Nintendo Pop เลียนเสียง 8 bit ในเกม Nintendo หรือถ้าเทียบเคียงศิลปินไทยในยุคนั้น จะทำให้เราคิดถึงเพลงของวง Niece สังกัด Dojo City ซึ่งมีแนวเพลงน่ารักสดใส แต่ดนตรีที่มีความสดใสกลับสวนทางกับเนื้อเพลงที่สะท้อนมุมมองของ "ภพ" ผู้ซึ่งเข้าใจเรื่องราวความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างเขากับ "พัท" ว่าในท้ายที่สุดอาจเป็นเพียงแค่ความฝันที่วันหนึ่งคงต้องเลือนหายไป
หลังจากฟังเพลงประกอบซีรีส์ทั้งสองเพลงแล้ว เราจะสัมผัสต้องถึงกลิ่นอายความวินเทจที่ย้อนกลับไปสู่ยุค 90 โดยนอกจากเพลงประกอบซีรีส์แล้ว สถานที่ถ่ายทำ รวมถึงเสื้อผ้าของตัวละคร ล้วนคุมโทนความวินเทจเช่นเดียวกัน สะท้อนให้เห็นถึงการใส่ใจรายละเอียดในทุกองค์ประกอบของซีรีส์เรื่องนี้
ต่อไปจะเข้าสู่ช่วงการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินค่า เนื้อหาในซีรีส์เรื่องนี้ เราขออนุญาตย้ำอีกครั้งว่า สิ่งที่เราเขียนต่อจากนี้เป็นการสะท้อนออกมาผ่านมุมมองของเรา และเป็นสิ่งที่ตกตะกอนผ่านการพูดคุยกับแฟน ๆ ซีรีส์อีกหลายท่าน ทำให้มีการตีความของเราอาจจะมีทั้งส่วนที่ชัดเจนและส่วนที่คลุมเครือ จึงอยากรบกวนให้ทุกคนอ่านแบบทดไว้ในใจ ไม่ต้องเชื่อหรือเห็นด้วยกับทุกอย่างที่เราเขียน และหากมีอะไรที่อยากแลกเปลี่ยนมุมมองกัน สามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมที่ใต้บทความของเราได้เลยนะคะ
ซีรีส์เรื่อง ผมกับผีในห้อง มีหลายประเด็นที่เราอยากชวนทุกคนมาแลกเปลี่ยนมุมมอง เพราะเรื่องนี้ได้แฝงประเด็นที่น่าสนใจเอาไว้พอสมควร เราอาจจะยกประเด็นขึ้นมาอธิบายโดยไม่เรียงลำดับตามเหตุการณ์ในเรื่องที่เกิดขึ้น และอาจจะมีการตีความต่อยอดไปจากสิ่งที่นำเสนอจากเรื่องในบางส่วน
ประเด็นเรื่อง ความคิดหรือความเชื่อคู่ตรงข้าม หากเราสังเกตตัวละครของเรื่องนี้ จะมีบางส่วนที่เหมือนเป็นภาพสะท้อนที่ตรงข้ามกัน เช่น คริสและนวล ซึ่งแม่คริสจะสะท้อนถึงตัวตนของผู้หญิงห้วสมัยใหม่ และไม่ค่อยเชื่อเรื่องธรรมเนียมต่าง ๆ ตรงข้ามกับป้านวลที่ดูเป็นผู้หญิงอนุรักษณ์นิยม เคร่งครัดในธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ยึดถือปฏิบัติต่อกันมา ดรีมและลัคน์ อีกหนึ่งคู่รักที่สะท้อนความขัดแย้งด้านความเชื่ออย่างชัดเจน ดรีมที่เติบโตมาในตระกูลที่มีความสามารถด้านจิตวิญญาณ มีพลังวิเศษต่าง ๆ สามารถเชื่อมโยงกับโลกของวิญญาณได้ กับลัคน์ที่มีความเชื่อเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ที่สมเหตุสมผลเท่านั้น เขามีความฝังใจกับเรื่องราวของมนุษย์ต่างดาว ซึ่งเกิดจากเหตุการณ์ปริศนาในวัยเด็กของเขาที่ทำให้พ่อและแม่ของลัคน์หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย คินทร์และดา มีความเชื่อในศาสนาที่ต่างกัน โดยคินทร์นับถือศาสนาพุทธ ส่วนดานับถือศาสนาคริสต์ สังเกตได้ว่า ความสัมพันธ์ของตัวละครในแต่ละคู่ต้องพยายามสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความคิดและความเชื่อที่แตกต่างกัน เพื่อจะหาจุดที่จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
ประเด็นเรื่อง พ่อแม่เป็นพิษ (Toxic Parents) ซีรีส์เรื่องนี้มีบอกเล่าเรื่องราวของครอบครัวที่มีเงื่อนไขแตกต่างกัน แต่ละครอบครัวต่างมีประเด็นปัญหาที่มีสาเหตุมาจากการกระทำของคนในครอบครัว โดยในเรื่องนี้จะเน้นหลักไปที่ตัวละคร "พ่อ"
เริ่มตั้งแต่ ไกร พ่อของพัทที่ผิดหวังจากการทำภาพยนตร์แล้วไม่ได้รับกระแสตอบรับที่ดี และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เขาต้องสูญเสียแม่ ทำให้ตัดสินใจออกบวชเป็นพระโดยไม่มีกำหนดสึก ทิ้งให้คริสต้องดูแลพัทเพียงลำพัง
ต่อมาคือ ลุงนง พ่อของป้านวล ที่สร้างบาดแผลเอาไว้จากการที่พยายามคลุมถุงชนให้ลูกสาวแต่งงานกับผู้ชายที่ตนเองกำหนดไว้ เป็นสาเหตุที่ทำให้ป้านวลเสียใจมาก เพราะต้องพยายามฝืนอยู่กับคนที่ไม่ได้รัก จนในท้ายที่สุดก็ต้องระหกระเหินจากบ้านเกิดที่อยุธยา เพื่อมาใช้ชีวิตเพียงลำพังที่กรุงเทพฯ
และสุดท้ายคือ คินทร์ พ่อของภพที่สร้างบาดแผลทางใจไว้ให้กับทั้งภรรยาและลูกชาย คินทร์ทำให้ดาต้องทิ้งความฝันการเป็นนางแบบของตนเอง เพราะตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งในยุคเมื่อหลายสิบปีก่อน ผู้หญิงในตอนนั้นไม่ได้มีทางเลือกที่จะยุติการตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากยังเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ทำให้ดาต้องจำยอมที่จะมีลูกและคลอดภพออกมา ก่อให้เกิดความรู้สึกทั้งรักทั้งเกลียดลูกของตนเอง และต้องเผชิญภาวะหลังคลอดที่ทำให้ทั้งร่างกายและจิตใจอ่อนแอลง จนในท้ายที่สุด แม้ภพโตขึ้นมาแล้ว แต่ความเจ็บปวดของคนเป็นแม่ที่ไม่อาจปล่อยวางความรู้สึกเกลียดลูกของตัวเองได้ทั้งหมด แม้จะเกิดความรู้สึกรักลูกมากขึ้นแล้วก็ตาม และในตอนนั้นร่างกายของดาเริ่มมีอาการป่วยที่ทรุดหนักลง จนไม่อาจทนมีชีวิตต่อไปได้อีก จึงตัดสินใจที่จะขอให้คินทร์ช่วยอนุมัติการถอดเครื่องช่วยหายใจ เพื่อที่เธอจะไม่ต้องทรมานอีกต่อไป เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นล้วนสร้างบาดแผลทางใจให้กับภพ ซ้ำร้ายกว่านั้น คือภพกลับต้องมาเข้าใจผิดว่า พ่อเป็นชู้กับคนอื่นหลังจากที่แม่ของเขาเสียชีวิตไม่นาน ยิ่งซ้ำเติมความเจ็บปวดของภพที่เพิ่งผิดหวังกับความรักจากเบน ไร้ซึ่งสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจ จนเขาได้ตัดสินใจจบชีวิตของตัวเองลงในที่สุด
จากประเด็นเรื่อง พ่อแม่เป็นพิษ ยังสามารถเชื่อมโยงถึงเรื่อง ปิตาธิปไตย (patriarchy) ซึ่ง คินทร์ เป็นตัวละครที่สะท้อนเรื่องนี้ออกมาได้เด่นชัดที่สุด เพราะทำให้เราเห็นตัวละครผู้ชายที่ลุแก่อำนาจ พยายามควบคุมทุกอย่าง ทั้งภรรยาและลูกให้ดำเนินชีวิตไปตามสิ่งที่ตนเองต้องการ จนในท้ายที่สุดครอบครัวของเขากลับต้องล่มสลาย ภรรยาและลูกต่างจากเขาไปด้วยความรู้สึกที่ติดค้าง จนทำให้ดาต้องกลายเป็นสัมภเวสีและภพต้องมาทำภารกิจ 49 วัน เพื่อปลดล็อคสิ่งที่ติดค้างในใจให้สำเร็จ ก่อนที่จะต้องกลายเป็นสัมภเวสีแบบแม่ของเขา แม้ในท้ายที่สุด ทั้งสามคนจะได้มีโอกาสได้เคลียร์สิ่งที่ติดค้างกัน แต่ไม่ได้หมายรวมถึงว่า ทั้งสองจะให้อภัยเรื่องราวในอดีตที่คินทร์ทำไว้กับพวกเขา ซึ่งหากย้อนเวลากลับไปได้ คินทร์เลือกที่จะรับฟังคนที่เขารักและเห็นอกเห็นใจคนในครอบครัวมากกว่านี้ เหตุการณ์เลวร้ายต่าง ๆ คงไม่เกิดขึ้นกับชีวิตครอบครัวของเขา จนในท้ายที่สุดบั้นปลายชีวิตของเขาจึงโดดเดี่ยวและต้องอยู่กับความรู้สึกเสียใจไปตลอดชีวิต
จากประเด็นที่อาจจะดูหนักก่อนหน้านี้ เราอยากชวนทุกคนมาเห็นมุมมองเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของตัวละครคู่หลัก ทำให้เห็นถึงหลายประเด็นที่สำคัญ เริิ่มจากเรื่อง ความลื่นไหลทางเพศ (Gender-Fluid) ที่ไม่จำเป็นต้องตีกรอบหรือกำหนดนิยามรสนิยมทางเพศของตนเอง ว่าจะเกิดขึ้นแค่เฉพาะต่างเพศหรือเพศเดียวกันเท่านั้น โดยสะท้อนผ่าน "พัท" ที่เคยแอบชอบ "ดรีม" เพื่อนผู้หญิงที่สนิทมาตั้งแต่เด็ก จนมาเจอ "ภพ" วิญญาณความจำเสื่อมในบ้านที่เขาเพิ่งย้ายเข้าไปอยู่ใหม่ ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ต้องคอยช่วยเหลือและดูแลกันและกัน จนเกิดความรู้สึกดีที่ก่อตัวเป็นความรัก โดยพัทก็ไม่ได้นิยามจำกัดกรอบรสนิยมทางเพศของตนเองเอาไว้ เราประทับใจที่ซีรีส์เรื่องนี้แสดงให้เห็นมิติความหลากหลายทางเพศในประเด็นนี้ออกมา
นอกจากนี้เรายังได้เห็นความสัมพันธ์ของคู่รักระหว่าง "ดรีม" กับ "ลัคน์" ในช่วงต้นของเรื่อง ลัคน์มีภาวะความเป็นชายเป็นพิษ (toxic masculinity) พยายามควบคุมดรีมแฟนสาวของตนเอง จนถึงขั้นละเมิดความเป็นส่วนตัว เนื่องจากเกิดความหวาดระแวงความสัมพันธ์ระหว่างดรีมกับพัท ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (toxic relationship) จนดรีมรู้สึกทนไม่ไหว ทำให้ต้องขอเลิกกับลัคน์ โดยในเรื่องนี้เราจะเห็นความสัมพันธ์ที่เป็นขั้วตรงข้ามเกิดขึ้นกับ "ภพ" และ "พัท" เริ่มต้นจากการสนับสนุนและช่วยเหลือกันและกัน คอยรับฟังเมื่ออีกฝ่ายมีปัญหา และปลอบประโลมเมื่อเกิดความทุกข์ใจ ทำให้ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นตัวอย่างของความสัมพันธ์ที่ดี (healthy relationship) ซึ่งในท้ายที่สุด พัทเป็นฝ่ายที่ช่วยอธิบายให้ลัคน์เข้าใจและสามารถกลับไปเริ่มต้นใหม่กับดรีมได้อีกครั้ง โดยพยายามทำความเข้าใจตัวตนของดรีมและไม่สร้างความสัมพันธ์ที่เป็นพิษแบบที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้อีก
อีกประเด็นที่น่าสนใจของซีรีส์เรื่องนี้ ซึ่งน่าจะเป็นอีกแก่นสำคัญของเรื่อง คือ การตามหาตัวตน (identity) ของแต่ละตัวละคร ในซีรีส์เรื่องนี้จะมีการประกวดงาน NOVA เป็นงานสำคัญของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการแจ้งเกิดในวงการศิลปะ โดยตัวละครหลักในเรื่องนี้ จะมีความสนใจศิลปะในแขนงที่แตกต่างกัน
เริ่มจาก พัท มีความสนใจเกี่ยวกับภาพยนตร์ เคยมีความฝันอยากเป็นผู้กำกับหนังแบบพ่อ พยายามทุ่มเทที่จะฝึกฝีมือของตนเองในการเขียนบท แต่กลับถูกดับฝันจากครูช่วงวัยมัธยมที่ดูถูกเขาว่า คงไม่ทางมีชื่อเสียงแบบพ่อของเขาได้ จนเป็นแรงผลักดันให้เขาตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางการเรียนต่อเพื่อเป็นครูที่จะต้องไม่ทำลายความฝันของคนอื่น
ส่วน ภพ มีความสนใจเกี่ยวกับการออกแบบเสื้อผ้า ตอนที่ยังมีชีวิต เขามีความฝันที่อยากเป็นดีไซเนอร์ เพื่อออกแบบชุดให้แม่ของตนเอง แต่เมื่อแม่ต้องมาจากไปอย่างกระทันหัน เขายังคงพยายามที่จะออกแบบชุดเพื่อส่งเข้าประกวดให้สำเร็จตามที่เคยสัญญากับแม่ไว้ แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากพ่อ ทำให้เป็นสาเหตุสำคัญที่สร้างความเจ็บปวดกับภพเป็นอย่างมาก จนเป็นหนึ่งในจุดแตกหักของความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก
และสุดท้ายคือ เบน ที่มีความฝันอยากเป็นนักแสดงละครเวทีที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย มุ่งมั่นตั้งใจในการเขียนบท กำกับ และแสดงละครเวทีของตนเอง เพื่อให้ได้รับการยอมรับ แต่ในท้ายที่สุดกลับเปลี่ยนความตั้งใจไปศึกษาต่อด้านละครเวทีที่ประเทศอังกฤษแทน เพราะเข้าใจดีว่า ประเทศไทยไม่ได้ให้คุณค่ากับการสร้างสรรค์งานศิลปะ รวมถึงอาชีพศิลปินกลับไม่ได้รับการยกย่องเทียบเท่ากับอาชีพอื่น ๆ
นอกจากนี้ยังมี ดรีม ที่มีความสามารถด้านจิตรกรรมและการวาดการ์ตูน และ ลัคน์ ที่สนใจเรื่องเทคโนโลยี มีความสามารถด้านการออกแบบสื่อดิจิทัล และได้ออกแบบเกมร่วมกับเพื่อนเพื่อส่งเข้าประกวดในงาน NOVA เช่นกัน บทสรุปสุดท้ายของประเด็นนี้คือ ผู้ที่ชนะการแข่งขันของทุกแขนง ต่างเป็นลูกข้าราชการและผู้มีเส้นสาย สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงของวงการศิลปะในประเทศไทยที่ไม่ได้มีพื้นที่ให้แก่คนที่มีความสามารถ มีพรสวรรค์ ถ้าไม่มีนายทุนในการหนุนหลังและขาดเส้นสาย สุดท้ายแสงก็ไม่อาจส่องมาไม่ถึงผลงานของพวกเขา ขาดการสนับสนุนในการพัฒนาผลงาน จนท้ายที่สุดก็ต้องละทิ้งความฝันของตนเอง เพื่อดิ้นรนในการประกอบอาชีพอื่นที่สามารถเลี้ยงชีพต่อไปได้
ในซีรีส์เรื่องนี้ยังมีการแทรกเรื่อง สมรสเท่าเทียม (equal marriage) ที่สะท้อนผ่านฉากสำคัญสองฉาก คือ ฉากละครเวทีในความทรงจำของภพ ที่ถ่ายทอดประเด็นเรื่องสมรสเท่าเทียม ผ่านบทละครเวทีที่เบนเขียนขึ้นมาและยิ่งย้ำว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงได้แค่ในโลกสมมติที่เกิดขึ้นละครเวทีเท่านั้น รวมถึงบทสนทนาระหว่างภพและพัทในซีนที่สร้างความทรงจำร่วมกันเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งมีนัยยะของบทสนทนาแสดงให้เห็นว่า ความรักระหว่างเพศเดียวกันหรือกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็ไม่ต่างอะไรจากผีหรือวิญญาณ ที่ไม่ได้รับการยอมรับว่าพวกเขามีตัวตนอยู่ ทั้งที่พวกเขาต้องการการยอมรับในความสัมพันธ์ การสร้างครอบครัว และสิทธิทางกฎหมายที่เท่าเทียมไม่ต่างจากคู่รักชายหญิง ซึ่งเราก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่า เมื่อไหร่ที่สมรสเท่าเทียมจะสามารถเกิดขึ้นได้จริงในประเทศนี้
ประเด็นสุดท้ายที่อยากชวนมาแลกเปลี่ยน คือ ชีวิตหลังความตาย (afterlife) โดยเรื่องนี้มีมุมมองที่ค่อนข้างชัดเจนเกี่ยวกับการมีชีวิตแค่ครั้งเดียว และหลังจากที่เราเสียชีวิต ดวงวิญญาณของเราจะเดินทางไปสู่โลกหลังความตายตามเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้น หากเรามีอะไรติดค้างขณะที่ยังไม่ชีวิตอยู่และไม่ได้รับการปลดล็อกอย่างเหมาะสม ดวงวิญญาณของเราจะกลายเป็น สัมภเวสี ที่ยังคงวนเวียนอยู่ในโลกมนุษย์และไม่ได้เดินทางต่อไปในโลกหลังความตาย หากเรามองในแง่มุมนี้จะเห็นได้ว่า ซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้ผูกความคิดความเชื่อไว้กับการเวียนว่ายตายเกิดเป็นสังสารวัฎตามความเชื่อทางพุทธศาสนาที่สังคมไทยคุ้นเคย ซึ่งการมีมุมมองหลังความตายในลักษณะนี้ กลับยิ่งทำให้เราเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่และการพยายามรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ทั้งคนรัก ครอบครัว และมิตรภาพอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น ตั้งใจใช้ชีวิตให้มีความหมาย โดยระมัดระวังที่จะไม่สร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับผู้อื่น เพราะเราอาจจะไม่ได้โชคดีแบบภพที่มีโอกาส 49 วัน เพื่อมาปลดล็อกสิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจ
การเดินทางระหว่างเรากับซีรีส์เรื่องนี้ มีความทรงจำและช่วงเวลาที่มีความหมายเกิดขึ้นมากมาย นับเป็นซีรีส์ที่เข้ามาช่วยเยียวยาจิตใจที่เหนื่อยล้าของเรา ผ่านเรื่องราวที่ลุ้นระลึก สยองขวัญเล็กน้อย แต่ก็เต็มไปด้วยความอบอุ่นที่เจือน้ำตาแห่งความสุข เราไม่คิดเลยว่าซีรีส์เรื่องนี้จะนำพาให้ได้สัมผัสกับประสบการณ์หลาย ๆ อย่าง ทั้งเรื่องราวที่อยู่ในซีรีส์ หรือแม้กระทั่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นนอกซีรีส์ก็ตาม
ซีรีส์เรื่องนี้เรียกได้ว่า ต่อสู้กับอุปสรรคที่ถาโถมมาตลอด ด้วยทุนที่อาจจะไม่สูงเท่าซีรีส์ BL เรื่องอื่นที่ถูกสร้างมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน แพลตฟอร์มช่องทางการดูที่ค่อนข้างเข้าถึงยาก ฐานแฟนซีรีส์จำนวนไม่มากพอที่จะช่วยเป็นแสงให้ซีรีส์เรื่องนี้ออกไปสู่วงกว้าง หรือเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงเท่าซีรีส์ BL เรื่องอื่น ๆ ทั้งที่ในความจริงแล้วซีรีส์เรื่องนี้มีศักยภาพมากพอที่จะออกไปสู่ worldwide ด้วยซ้ำ เพราะมีวิธีการเล่าเรื่องที่มีความน่าสนใจและเป็นที่ชื่นชอบของแฟนต่างชาติ สังเกตได้จากการแสดงความคิดเห็นใน youtube ซึ่งเป็นช่องทางการรับชมซีรีส์เรื่องนี้ ที่มีความคิดเห็นชื่นชมเป็นภาษาอังกฤษจากแฟนต่างชาติเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังมี mydramalist.com และ TV Time ที่มีแฟนต่างชาติเข้ามาแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนมุมมองกันอย่างต่อเนื่องและพูดเป็นไปในทางเดียวกันว่า ซีรีส์เรื่องนี้มีความน่าสนใจ รวมถึงทักษะการแสดงที่ยอดเยี่ยมของนักแสดงทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นัท-ศุภณัฐ เลาหะพานิช สามารถเป็น "ภพ" ที่สร้างรอยยิ้ม ความสุข รวมถึงทำให้เราเสียน้ำตาให้กับตัวละครนี้ โดยหลายคนต่างลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เขามีพัฒนาการด้านการแสดงที่ก้าวกระโดดมากจากซีรีส์เรื่องก่อน รวมถึง แปลน-ธนวัฒน์ คูสุวรรณ ซึ่งรับบทเป็น "พัท" ที่แม้จะรับบทนำเป็นเรื่องแรก แต่ฝีมือการแสดงสามารถสร้างความประทับใจให้ผู้ชมซีรีส์เรื่องนี้ได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีนักแสดงท่านอื่น ๆ ทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นเล็กที่ได้ฝากฝีมือการแสดงที่ยอดเยี่ยมไว้กับซีรีส์เรื่องนี้
ถึงแม้ซีรีส์เรื่องนี้จะจบลงแล้ว แต่กลับไม่ได้ถูกพูดถึงเท่ากับซีรีส์เรื่องอื่น รวมทั้งไม่ได้รับความสนใจจากสื่อต่าง ๆ เพราะไม่ได้ทำตามขนบของซีรีส์ BL ที่มีการขายเซอร์วิชคู่นักแสดงนำออกมานอกจอ หรือการสร้างฐานแฟนคลับคู่จิ้น จึงทำให้ซีรีส์เรื่องนี้โดนมองข้ามไป เพราะสื่อต่าง ๆ อาจคิดว่าการทำ content ให้กับซีรีส์เรื่องนี้จะไม่ได้รับการมีส่วนร่วม (engagement) เท่ากับซีรีส์เรื่องอื่น แต่เราขอเชื่ออย่างมีความหวังว่า ซีรีส์เรื่องนี้จะถูกส่งต่อออกไปเรื่อย ๆ ผ่านประสบการณ์ของผู้คนที่มีโอกาสได้รับชม เพราะสารที่อยู่ในซีรีส์เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ไม่มีความล้าสมัย หลายเรื่องยังคงเป็นสิ่งที่ผู้คนในสังคมยังคงเรียกร้องกันอยู่ เพราะเป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในประเทศนี้
สุดท้ายเราหวังว่า ทุกคนที่มีโอกาสได้รับชมซีรีส์ "ผมกับผีในห้อง" จะได้รับการเยียวยารวมถึงประทับใจกับมวลสารและมวลอารมณ์ในทุกองค์ประกอบที่ซีรีส์เรื่องนี้ส่งออกมา จนทำให้รู้สึกรักซีรีส์เรื่องนี้ไม่ต่างจากเราและแฟนซีรีส์อีกหลาย ๆ คน
ก่อนที่จะจบบทความนี้ เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งและขอบคุณทุกคนที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ และหากมีมุมมองอะไรที่อยากแลกเปลี่ยนกับเรา สามารถแสดงความคิดเห็นใต้บทความนี้ได้เลยนะคะ หรือหากอยากส่งสารหรือข้อความบางอย่างไปถึงผู้กำกับ นักแสดง หรือทีมงานของซีรีส์เรื่องนี้ สามารถที่จะทวิตและติดแท็ก #ผมกับผีในห้อง ได้ตลอดเวลา ซึ่งทั้งผู้กำกับ นักแสดง ทีมงาน รวมถึงแฟนซีรีส์อีกหลายคน ต่างเฝ้ารอที่จะได้อ่านความเห็นของทุกคนที่ได้ดูซีรีส์เรื่องนี้
มาช่วยกันเป็นพลังแสงที่ส่องให้ "ผมกับผีในห้อง" ค่อย ๆ สว่างมากขึ้นและสว่างไปอีกนาน ๆ กันนะคะ
ขอบคุณภาพประกอบบทความจาก @phomkubphee
ผู้เขียน : @saturnut_88
พิสูจน์อักษร : @ilbyc_
รายละเอียดการรับชมซีรีส์เรื่อง ผมกับผีในห้อง : phomkubphee.carrd.co
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in