เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
- FIGHT CLUB (1999) -bluepinetree
วิเคราะห์ FIGHT CLUB (1999)
  •                                                                    (บทความฉบับนี้ เขียนขึ้นเมื่อครั้งที่ผู้เขียนเรียนอยู่ในระดับปริญญาตรีชั้นปีที่สาม ซึ่งเป็นข้อสอบในรายวิชา A special Topic in History - ประวัติศาสตร์ของกลุ่มโรคความผิดปกติทางอารมณ์ a history of mood disoders -                    หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นในบทความนี้ ขอให้เป็นความผิดของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว)                     

                           Fight Club (1999) เริ่มต้นด้วยการปรากฏตัวของผู้ชายคนหนึ่งหากลองสังเกตจะพบว่าการปรากฏตัวของผู้ชายคนนี้ไม่ได้เอ่ยถึงนามแต่อย่างใด ซึ่งมองว่าเป็นความตั้งใจและมีจุดประสงค์ทั้งสิ้น ทั้งนี้ผู้เขียนขอเรียกแทนด้วยคำว่าพระเอก(ไร้ชื่อ) ความตั้งใจไม่เอ่ยชื่อของพระเอกได้สะท้อนความหมายของตัวตนปัจเจก(Self) ในโลกทุนนิยมที่ไม่จำเป็นต้องมีชื่อเพื่อระบุตัวตน หากแต่มนุษย์ทุกคนเหมือนกัน การไม่มีตัวตนบนโลกที่ดำรงอยู่  ไร้ซึ่งความหมายและการสูญเสียตัวตน (Loseself) ในระบบทุนนิยมที่จะตัดสินตีตราว่ามนุษย์ทุกคนแทบจะไม่มีความแตกต่างออกไปจากกัน อย่างที่มากาเร็ต แทชเชอร์ได้ตอกย้ำแนวคิดแบบปัจเจกนิยม(individualism) [1] ที่ว่า “ There is no such thing as society. There are individual men and women, and there are families ”[2]  
                         
                        ในโลกทุนนิยมที่บอกว่าทุกคนเป็นประชากรที่เหมือนกันหมด มันจึงนำไปสู่ประเด็นสำคัญที่เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 19 ดังจะสะท้อนให้เห็นจากการรักษาทางการแพทย์ว่าด้วยเรื่องอารมณ์ความรู้สึกและจิตใจ การทำความเข้าใจประเภทของคนในรูปแบบเดียว ที่ในทางการแพทย์จะมองว่าทุกคนเหมือนกันหมด ซึ่งจะเห็นได้จากการเข้าไปยังพื้นที่บำบัดอาการนอนไม่หลับของพระเอก (Insomnia) ดังจะเห็นได้จากการที่พระเอกของเรื่องได้เข้าไปรับการบำบัดอาการนอนไม่หลับ(Insomniaที่ได้รับผลกระทบจากงาน ความกดดัน ความสัมพันธ์ต่าง ๆ  
          
                         ทุนนิยมที่มาควบคู่กับกระแสบริโภคนิยม บังคับให้ปัจเจกต้องวิ่งเต้นหาคำอธิบายและสร้างเรื่องราวให้ตนเองอยู่ตลอดเวลาผ่านการบริโภค , ด้วยสภาวะของการกดขี่จากระบอบทุนนิยมที่กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น การปรากฏตัวของ Tyler จึงพยายามชำแหละและกระชากหน้ากากของทุนนิยมอยู่ตลอดเวลาโดยที่ตัวของ Tyler เองได้ทำให้เห็นถึงกระบวนการทำงานของทุนนิยมผ่านความคิดคำพูดและการกระทำที่มีต่อตนเองและตัวละครอื่น การทำงานที่ไม่ได้ควบคุมตัวปัจเจกโดยตรงหากแต่มันทำให้ปัจเจกเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงในจิตใจต้องดิ้นรนและวิ่งบนลู่วิ่งของทุนนิยมอยู่ตลอดเวลา ความเลวร้ายของมันทำงานผ่านสิ่งที่เรียกว่าเงินตรา หนี้ ค่าเช่า รายจ่ายต่าง ๆ  ดังนั้นปัจเจกที่อยู่ภายใต้ระบบนี้ล้วนแล้วแต่เกิดอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่มั่นคงความผิดปกติทางจิตและเกิดความเครียด (Depression ) มากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งต้องหลุดออกจากวงโคจรของระบบหรือวิ่งหาวิธีการดำรงอยู่ภายใต้ระบบที่ขูดรีดโดยประกอบสร้างตัวตนใหม่ขึ้นมา

                           เราสูญเสียทุกอย่าง แล้วถึงจะมีเสรี คำพูดของ Tyler ที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นจุดมุ่งหมายและการปลดปล่อยตัวละครของเรื่อง  การปรากฏตัวขึ้นมาของพระเอก(ไร้ชื่อ) เป็นส่วนหนึ่งของโลกสว่างและงดงามที่เรียกว่าทุนนิยม พนักงานบริษัทที่แนะนำตัวเองว่า “ผมกลายเป็นทาส ติดยี่ห้อของสินค้างอมแงมหูแนบโทรศัพท์ปากคุยและมือทั้งสองจับสมุดสั่งซื้อสินค้าขณะที่นั่งปลดทุกข์อยู่ในห้องน้ำจะเห็นว่าการบริโภคสามารถเกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลาและไม่เลือกพื้นที่แม้กระทั่งห้องน้ำ ข้าวของเครื่องใช้มียี่ห้อจัดวางอย่างตั้งใจภายในห้องของพระเอก(ไร้ชื่อ)แสดงถึงนิสัยที่หมกมุ่นอยู่กับการบริโภค           ในสังคมอุตสาหกรรมที่มนุษย์ถูกลดทอนจนมีสภาพไม่ต่างไปจากวัตถุ ชีวิตมีแต่งาน ทำงานเพื่อหาเงิน เพื่อนำไปแลกกับวัตถุที่มีมากเท่าไหร่ก็ไม่พอ เผชิญปัญหาชีวิต ความขัดแย้งภายในสังคมและความขัดแย้งภายในจิตใจเพราะกระแสหลักให้ความสำคัญกับวัตถุ  แปลกแยกจากตนเอง แปลกแยกจากสังคม    ใช้ชีวิตตามแบบแผนของสังคม ถ้าใครสักคนบอกว่าความคิดนี้ดี ก็จะยึดอยู่กับความคิดแบบนั้นไปเรื่อย ๆ เหล่านี้บอกผ่านทางความคิดและการกระทำของตัวละครตัวนี้เสมือนคนที่มีพร้อมทุกอย่าง 

                          แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นและจะโยงนำไปสู่เหตุการณ์ต่างๆ อาการนอนไม่หลับ(Insomnia)        ต้องเข้าพบแพทย์และเข้าไปในพื้นที่บำบัดซึ่งเป็นพื้นที่เดียวที่สามารถอนุญาตให้พูดทุกอย่างและเปิดใจได้ และเป็นอีกช่องทางในการได้หยุดนิ่งเพื่อทบทวนกับตัวเองเพราะโลกภายนอกและความสัมพันธ์นอกห้องบำบัดไม่ได้ใจดีพอที่จะรับฟังปัญหาของปัจเจกขนาดนั้น  ตลกร้ายอีกเช่นเดียวกัน ที่พื้นที่บำบัดกลับเป็นพื้นที่จัดวางไว้สำหรับคนที่แพทย์ระบุว่ามีความผิดปกติทางด้านอารมณ์ความรู้สึกหรือไม่ก็ผิดปกติในส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ในพื้นที่บำบัดที่ทุกคนต้องทำความรู้จักกัน แสร้งว่าเป็นตัวของตัวเองแต่ในความเป็นจริงแล้ว บริบทแวดล้อมทำให้ต้องเสแสร้งว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้คือเป็นตัวเอง แต่ในความเป็นจริง กำลังเป็นตัวของตัวเองที่สร้างมาเพื่อรับใช้มันอีกรอบ  ผู้เขียนมองว่าในพื้นที่ตรงนี้มันก่อให้เกิดความสัมพันธ์ฉาบฉวย ที่ทุกคนเข้ามาก็เพื่อที่จะบอกเล่าแต่เรื่องของตัวเองเท่านั้น ทุกคนที่เข้ามาล้วนสวมหน้ากากเหมือน ๆ กันที่เรียกว่าผู้ประกอบการหรือทุกคนเสมือนเป็นนายทุนขนาดเล็กอยู่ในตัวเองตลอดเวลา   เป็นความสัมพันธ์ที่จะพบได้ในพื้นที่บำบัดที่พระเอก(ไร้ชื่อ)เคยเข้ารักษา ที่ทุกคนเข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ดูดทรัพยากรของอีกฝ่ายเสมออย่างที่มาร์ลาบอก “การเข้ามาในพื้นที่บำบัดตรงนี้ถูกกว่าการได้ดูหนัง อีกทั้งยังได้กินกาแฟด้วย พระเอก(ไร้ชื่อ)เริ่มตั้งคำถามกับชีวิต เจ็บปวดจากความรู้สึกร้าย ๆ ที่ถูกล้อมกรอบด้วยจารีตสังคมจนไม่มีเสรีภาพในการใช้ชีวิต การดำเนินชีวิตตามแบบแผนของสังคม ซื้อของเพื่อเติมเต็มความรู้สึกที่งานทำให้ขาดหายกลายมาเป็นตัวแย่งชิงเสรีภาพออกไปจากชีวิต หากปัจเจกคนใดต้องการจะมีชีวิตที่มีความสุข งดงามและเป็นระเบียบ ปัจเจกผู้นั้นต้องทำตัวให้เข้ากับโลกนี้ อย่างที่ Tyler กล่าวว่า  คนจะทำทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงการทะเลาะวิวาททำให้คนยอมสยบ เลื่อนไหลไปกับมันง่ายๆ 

                           

     [1]   “อดีตนายกฯ อังกฤษ มาร์กาเร็ตแธตเชอร์ เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 87 ปี”,Prachatai,2556 ,(สืบค้น 12 เมษายน 2562),https://prachatai.com/journal/2013/04/46147

    [2]  วณางคณาง อุ๊ยนอก, “รู้จักแธตเชอร์ รู้จักเสรีนิยมใหม่ ผ่านมุม พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์วิโรจน์ อาลี ”, Prachatai,2556 ,(สืบค้น 12 เมษายน2562), https://prachatai.com/journal/2013/05/46612

  •  (ต่อ)

                            ดังนั้น ตัวพระเอก(ไร้ชื่อ)เมื่อหลุดออกจากพันธนาการของทุกอย่างแล้วก็เหมือนกับได้ปลดปล่อยตัวเองจากวงจรผุพัง หากแต่อาจจะมีอะไรให้เสียมากกว่าหนึ่งเพื่อให้ได้สิ่งนั้น หนังได้ดำเนินไปโดยที่แสดงให้เห็นถึงความผิดปกติของพระเอก(ไร้ชื่อ)ที่เป็นส่วนหนึ่งของโลกงดงามที่เรียกว่าทุนนิยม ในขณะเดียวกันสิ่งที่พระเอก(ไร้นาม) พยายามต่อสู้และต่อต้านกลับไม่ใช่โลกที่ดำรงอยู่หากแต่เป็นตัวตนและจิตวิญญาณของตนที่สยบยอมจำนนต่อโลกที่ดำรงอยู่  ดังนั้นจึงเกิดเป็นสองตัวตนสองบุคลิกที่ซ้อนทับกันอยู่ในตัวของพระเอก(ไร้ชื่อ)ตัวตนที่ถูกกดขี่สยบยอมและตัวตนที่ต่อสู้ต่อต้าน ดังจะเห็นได้จากโต๊ะหยินหยางที่พระเอก(ไร้ชื่อ)สั่งซื้อมาที่สะท้อนความแตกต่างแต่สามารถอยู่ด้วยกันได้ ดังการปรากฏตัวขึ้นมาของ Tyler  จะเข้ามาเพื่อการกระชากและเขย่าโลกทุนนิยมโดยความต้องการที่จะปลดปล่อยตัวตน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำคือให้ปลดปล่อยและทิ้งทุกอย่างออกมาจากการใช้ชีวิตตามแบบแผนของสังคม ออกมาจากวัตถุสิ่งของที่สร้างความแปลกแยกให้แก่จิตใจและตัวตน จึงเป็นที่มาของ “เราสูญเสียทุกอย่าง แล้วถึงจะมีเสรี  


    (ชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกจงสามัคคีกัน!)


                              ไม่มีอะไรที่เราจะต้องสูญเสียนอกจากโซ่ตรวน[1] ปรากฏขึ้นในแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์เมื่อปีค.. 1848 โดยที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการปลดปล่อยผู้ที่ถูกกดขี่จากความไม่เท่าเทียมกันภายใต้ระบบทุนนิยม , Tyler ปรากฏตัวขึ้นมาจากสภาพของพระเอก(ไร้ชื่อ)ที่ถูกกดขี่และมีปัญหาชีวิตที่เป็นผลมาจากระบบทุนนิยม หากแต่ในด้านของ Tyler เป็นส่วนหนึ่งของโลกมืดมนและเลวร้ายที่อยู่ภายใต้การกดขี่ของระบบทุนนิยม Tyler เสมือนเป็นตัวแทนการต่อต้านและขบถต่อแบบแผนการใช้ชีวิตที่ยอมจำนนต่อภายใต้ระบบทุนนิยมโดยที่มีจุดมุ่งหมายที่จะเข้าไปปลดปล่อยจิตวิญาณเสรีของปัจเจกทั้งหลายที่ได้รับผลกระทบจากระบบที่ดำรงอยู่ การก่อตัวขึ้นของ Fight club เริ่มจากคนไม่กี่คนที่ประสบปัญหาจากระบบทุนนิยมที่มันกดขี่และบีบบังคับ ลดทอนความเป็นมนุษย์ลงไปเรื่อย ๆ ระบบที่มันเข้มข้นยิ่งขึ้นมีผลโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนสมาชิกใน Fightclub สมาชิกที่ทำงานแตกต่างหากแต่มีสำนึกร่วมในสิ่งเดียวกัน ภายหลัง Fight club ได้ก่อตั้งขึ้นกระจายไปทั่วทุกมุมโลกพื้นที่ไหนมีความเข้มข้นของระบบทุนนิยมการก่อตัวของสมาชิกในกลุ่ม Fightclub ก็เข้มแข็งมากขึ้นเท่านั้น  จะเห็นว่าระหว่างฝั่งทุนนิยมกับฝั่งFight club ช่วงชิงพื้นที่กันอยู่ตลอดเวลา ตัว Tyler กับตัวพระเอก(ไร้ชื่อ)คือคนเดียวกันที่พยายามต่อสู้กับจิตใจของตนเองอยู่ตลอดเวลา ทั้งยังต่อสู้กับวัตถุ โครงสร้างต่าง ๆ ที่จะเข้ามาเป็นตัวกีดกันเสรีภาพออกจากชีวิต Tylerได้พยายามชำแหละฉากอันบิดเบือนความจริงของโลกทุนนิยมออกมาระลอกแล้วระลอกเล่า  ปลดปล่อยจิตให้มีสภาพเสรี การปลดปล่อยจิตให้มีเสรี ก็คือ การปลดปล่อยมนุษย์ที่เป็นจริง   

                        ดังนั้นต้องการจะปลดปล่อยจิตให้มีเสรีจึงต้องปลดปล่อยพันธนาการที่ยึดกุมควบคุมจิตใจไว้ นี่คือเป้าหมายของหนังที่ต้องการจะสะท้อน โดยที่ผู้เขียนต้องการจะหยิบยกแนวความคิดของมาร์กซมาใช้ในการวิเคราะห์บรรยากาศของหนังเรื่องนี้ โดยที่หัวใจหลักของแนวคิดมาร์กซคือประวัติศาสตร์การต่อสู้และการปลดปล่อยทางชนชั้น  โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการปฏิวัติสังคมเดิมอย่างถอนรากถอนโคน  ประวัติศาสตร์ของมาร์กซคือประวัติศาสตร์วัตถุนิยม บริบทสังคมการเมืองเศรษฐกิจที่มันแวดล้อมเหล่านี้เองจะเป็นตัวไปกำหนดจิตใจของมนุษย์  จิตสำนึกมิได้กำหนดชีวิตแต่ชีวิตและวัตถุต่างหากที่กำหนดจิตสำนึก[2]  การต่อสู้โดยใช้ความรุนแรงและดิบเถื่อนของFight club การใช้ชีวิตที่ปราศจากแบบแผนของสังคมที่สั่งสมกันมาคือสิ่งที่เหลืออยู่สิ่งสุดท้ายของคนกลุ่มนี้ ซึ่งเขาเหลืออยู่แค่นั้น เสมือนคนที่ไม่เหลืออะไรให้เสียอีกแล้วหากแต่โซ่ตรวนคือสิ่งสุดท้ายที่อาจได้มาซึ่งอิสระและเสรีภาพ        เราสูญเสียทุกอย่างแล้วถึงจะมีเสรี ---ไม่มีอะไรที่เราจะต้องสูญเสียนอกจากโซ่ตรวน ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ข้างต้น ต่างก็พูดถึงความเป็นอิสระและเสรีภาพเหมือนกัน   ทว่าอาจจะแตกต่างในแง่ของพลังนัยยะเรื่องความสูญเสียและต้นทุนที่ไม่เท่ากัน ถ้าหากมองดี ๆ คนเหล่านี้ก็ต้องการที่จะถูกปลดปล่อยและช่วงชิงเสรีภาพไม่ต่างกัน



    [1]แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ The communist manifesto

    [2]มาร์กซ ความรู้ฉบับพกพา , marx a very short introduction

  • (ต่อ)

                         พื้นที่และการปลดปล่อยตัวตน  คนที่เป็นเหยื่อจากระบบทุนนิยมถูกการแพทย์ทำให้กลายเป็นคนที่มีความผิดปกติทางด้านอารมณ์ความรู้สึก (major depressive disorder) ดังนั้นพื้นที่ในการปลดปล่อยตัวตนคือการเปิดใจคุยกันในสถานที่ที่เรียกว่าสถานที่บำบัดหรือห้องบำบัด  หากแต่ในโลกมืดมน ดิบเถื่อนที่ Tyler ดำรงอยู่การเปิดใจและปลดปล่อยตัวตนกลับกลายเป็นพื้นที่ที่พยายามจะต้องหลบหลีกเลี่ยงหนีจากสายตาของสังคม ใช้ความรุนแรง ต่อสู้ ชกต่อย แทนการปลดปล่อยตัวตนที่เป็นเหยื่อของระบบทุนนิยม  ดังนั้นในโลกของ Tyler พื้นที่ fight club กลายเป็นพื้นที่ช่วยปลดปล่อยความรู้สึกกดดัน  กดขี่จากสังคมภายนอกและแปลกแยกจากจิตใจตนเองในเกือบทุกคืนสมาชิกใน fight club จะออกมาต่อสู้กันเพื่อปลดปล่อยตัวตนที่ถูกระบบโครงสร้างกดขี่ออกมา  ถึงแม้ว่าที่นี่เราชมใครว่าเขาสู้เก่งแต่ ณ ที่อื่นเขาไม่ใช่คนคนนั้นแล้วคำพูดที่ปรากฏในพื้นที่ของfight club สะท้อนให้เห็นตัวตนสองด้านของคนที่มีความแตกต่างเฉกเช่นหยินหยาง อ่อนแอ โหดร้าย ภายใต้ทุนนิยม  ถ้าคุณในไฟต์คลับ ไม่ใช่ตัวคุณในที่อื่นแสดงให้เห็นความโหดร้ายของการดำรงชีวิตการที่จะต้องเลือกแสดงตัวตนเพื่อที่จะโชว์และปกปิดในพื้นที่ต่าง ๆ  พลังของ fight club ที่ต้องการจะปลดปล่อยห่วงโซ่พันธนาการที่ลิดรอนเสรีภาพไว้มันกระทำคนเดียวไม่ได้หากแต่ต้องอาศัยการรวมกลุ่มและคนที่โดนทำร้าย กดขี่เท่านั้นถึงจะรู้ตัว  Tyler ได้กล่าวไว้ในชมรมว่าFight club คือของขวัญแด่โลกเสมือนการปลดปล่อยให้มีเสรีภาพแสดงถึงการยึดกุมเสรีภาพมีความสำคัญไม่ต่างจากการต่อสู้เพื่อช่วงชิงเสรีภาพ
                                 การเสียดสีที่สะท้อนสังคมอย่างตรงไปตรงมา  ผ่านคำพูดของ Tylerที่ว่า คนรุ่นเราทั้งหลายเป็นเด็กปั๊มบริกร เป็นทาส คำโฆษณา ทำให้เห่อของฟุ่มเฟือย ทำงานที่เราเกลียดสามารถสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี ระบบมันทำงานอยู่ภายในตัวเราควบคุมแม้กระทั่งจิตวิญญาณทำให้เราไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้  ดังนั้นศึกใหญ่ของ fight club คือจิตวิญญาณ ความต้องการพื้นที่ที่จะได้ปลดปล่อยจิตวิญญาณเสรีและร่างกายที่เป็นอิสระ  มีบทสนทนาระหว่างพระเอก (ไร้ชื่อ)กับ Tylerที่ผู้เขียนชอบมาก พระเอก(ไร้ชื่อ) ถาม Tyler ว่า ถ้าอยากต่อสู้กับคนดังจะต่อสู้กับใคร? ไทเลอร์ตอบกลับไปว่า  เฮมิงเวย์”  ความหมายที่แฝงอยู่ในตัวคำตอบคือเฮมิงเวย์  ซึ่งเป็นเจ้าของวลีที่ว่า “มนุษย์ฆ่าได้แต่แพ้ไม่ได้ มันสะท้อนให้เห็นตัวตนและความคิดนักสู้ที่แท้จริงของTylerการไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อจิตใจตนเองและอุปสรรคของเฮมิงเวย์ผ่านงานเขียนหลายต่อหลายเล่มเป็นตัวบ่งบอกตัวตนของ Tyler ไปด้วยในขณะเดียวกัน  สัมพันธ์กับอุดมการณ์ของ Fight club มันค่อย ๆ ทลายกำแพงของทุนนิยมลงไปเรื่อย ๆ ภายในกลุ่ม Tyler ได้กล่าวไว้ว่า  “ เราจะรู้จักตัวเองได้ไงถ้าไม่สู้  มันคือการปะทะกับคู่ตรงข้าม ทำให้สามารถก้าวข้ามผ่านกับสิ่งที่เป็นคู่ตรงข้ามไปได้โดยที่ทำให้เราเรียนรู้ตัวเองมากขึ้น ลึกเข้าไปอย่างที่เราเป็นจริง ๆ ที่กล่าวว่า “เหมือนเป็นการต่อสู้กับข้างในของตัวเองด้านที่เป็นจริง กับด้านที่โลกทุนนิยมทำงานกับเรา 
                                   นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้เห็นประเด็นสำคัญคือ เรื่องพื้นที่ของผู้หญิงกับการปลดปล่อยตัวตนและช่วงชิงเสรีภาพเป็นความบกพร่องโดยอยู่บนฐานของความตั้งใจที่หนังต้องการจะสะท้อนภาพสังคมที่บกพร่องในโลกที่ไม่มีพื้นที่ให้ผู้หญิงแสดงตัวตนและต่อสู้กับโลกทุนนิยมอย่างเป็นทางการและตรงไปตรงมา สมาชิกใน Fight club มีแต่ผู้ชาย เป็นการผูกขาดพื้นที่ของการต่อสู้ให้แก่ผู้ชายเท่านั้น อีกทั้งการให้ผู้หญิงปรากฏตัวและแสดงตัวตนในพื้นที่ของความผิดปกติทางด้านอารมณ์ความรู้สึกอย่างเดียว(พื้นที่บำบัด)แต่กลับไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของการปลดปล่อยตัวตนที่แท้จริงในโลกของความเป็นจริง  ซึ่งหากลองสังเกตให้ดีหนังแทบจะไม่เปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงได้ขบถและต่อสู้กับทุนนิยมกลับกลายเป็นว่าผู้หญิงต้องยอมจำนนแก่ระบบทุนนิยมที่กัดกินจิตวิญญาณเข้าไปเรื่อย ๆ ทุกที                              
  • (ต่อ)

                                 หนังพยายามที่จะฉายภาพการทำงานของทุนนิยมที่กัดกินเข้าไปในทุกพื้นที่แทบจะไม่เหลือพื้นที่และเวลาว่าง  การทำงานของสมาชิกใน Fight club กับการทำงานที่เข้มข้นของระบบทุนนิยมมันช่วงชิงพื้นที่กันตลอดมา การขยายตัวของการบริโภคคือต้นเหตุของการผลิตซ้ำกระแสบริโภคนิยม โดยที่ Tylerพยายามจะบอกเล่าความสำคัญผลกระทบของสื่อ โทรทัศน์ อำนาจนำทางวัฒนธรรม (Hegemony)[1] เช่น การใช้ดาราในการโฆษณา ที่มีอิทธิพลต่อความคิดและตัวตนปัจเจกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  เรื่องดำเนินไปอย่างซับซ้อนด้านการทำงานของตัวละคร 
                           แต่ในขณะเดียวกันจะเห็นว่า ความต้องการจุดมุ่งหมายของเรื่องและตัวละครมันดำเนินอย่างตรงไปตรงมาโดยที่พยายามขบถและต่อสู้กับระบบในทุก ๆ ทาง  กระบวนการทำงานของสมาชิกใน Fight club  พยายามที่จะทำลายและกำจัดตัวฟันเฟืองของทุนนิยมให้สลายลงไป  ทำลายทุกอย่าง เช่น ร้านคอมพิวเตอร์ ร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟแฟรนไชส์ เสาร์โทรทัศน์ ดาวเทียม อะไรก็ตามที่มันจะเป็นตัวทำให้ทุนนิยมขยายตัวฝังรากลึกลงในสังคม หนังฉายภาพรถยี่ห้อดังและทำลายมันไปด้วยในขณะเดียวกัน พวกกลุ่มทุนใหญ่ที่สั่งสมความมั่งคั่งจากสินค้าเหล่านี้เป็นตัวการสำคัญในการฝังรากทุนนิยมให้ลึกลงไปไม่มีที่สิ้นสุด มีฉากหนึ่งที่สะท้อนตรงไปตรงมา Tylerได้เข้าไปปล้นร้านสะดวกซื้อและกระชากพนักงานออกมานอกร้าน ถามว่า เรียนอะไรอยู่ อยากเป็นอะไร ถ้าอยากเป็นสัตว์แพทย์แปลว่าแกต้องเรียนต่อสิ มันสะท้อนให้เห็นภาพคนที่อยู่ภายใต้ระบบโครงสร้างที่กดทับกดขี่จนเราไม่สามารถใช้ชีวิตตามที่เราตั้งใจไว้ได้ การกระทำที่เราทำมันสวนทางกับความฝันความตั้งใจของเรา ระบบทุนนิยมมันไม่ใจดีกับเราขนาดนั้น   จะเห็นได้ว่าหนังพยายามปลดปล่อยทุกอย่างที่จะกลายมาเป็นตัวกีดกัดเสรีภาพของปัจเจก ไล่ทำลายสิ่งของและทำลายความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างแรงงานและนายทุนปลดปล่อยจากโซ่พันธนาการที่ตรึงเสรีภาพไว้ จนนำไปสู่กับทำลายสิ่งที่ใหญ่ที่สุดคือวางระเบิดธนาคาร และตึกทำการต่าง ๆ ถูกทำลายไปพร้อม ๆ กับดุลยภาพทางเศรษฐกิจที่เป็นสัญลักษณ์ของทุนนิยมและความมั่งคั่ง สุดท้ายสมาชิก Fight club ได้ทำลายไปทุกอย่าง “ ไม่มีอะไรที่เราจะต้องสูญเสียนอกจากโซ่ตรวน

                                 Fightclub  อาจจะมองว่าเป็นหนังที่สุดโต่งในแง่ของอุดมการณ์การต่อสู้ โลกยูโทเปีย แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นถึงความทะเยอทะยานในแง่บวก การขบถ วัฒนธรรมต่อสู้ ต่อต้าน และการเรียนรู้ในตัวตนที่เป็นตัวแทนของโลกสว่างและโลกมืด ใฝ่ฝันทะเยอทะยานความเป็นอิสระ เสรีภาพที่ไม่ควรจะมีครึ่ง ๆ กลาง ๆ หากแต่ต้องมีให้เต็มเปี่ยมเหมือนกับความโหยหาในเสรีภาพ  , ในความเป็นจริงระบบโครงสร้างของทุนนิยมนั้นไม่มีปัจเจกคนไหนจะเป็นตัวเขาเองได้อย่างเต็มที่ ทว่า ปัจเจกทุกคนก็ได้ต่อสู้เพื่อจิตวิญญาณเสรีและเพื่อตัวเขาเองอย่างถึงที่สุด จงอย่าเป็นคนบริบูรณ์ เลิกคิดเป็นคนดี พร้อมปล่อยให้มันวิวัฒน์ไปอย่างที่ Tyler ได้กล่าว .

    [1] ศักดิภัท เชาวน์ลักษณ์สกุล , “การต่อสู้แย่งชิงอำนาจนำจากชนชั้นนำภาครัฐตามแนวทาง อันโตนิโอ กรัมชี่ ” , Prachatai,2560  (สืบค้น 12 เมษายน 2562), https://prachatai.com/journal/2017/06/72179

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in