เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
JOY ON JAPANSALMONBOOKS
คำนำ
  • คำนำสำนักพิมพ์


    ในบางแวบ เราเชื่อว่าทุกคนอยากย้ายบ้าน

    ไม่ว่าจะเป็นการย้ายเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ หรือการย้ายเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ไปใช้ชีวิตที่เหลือ และเราเชื่อว่าในบรรดาลิสต์ที่คนไทยฝันอยากจะเยี่ยมถึงขั้นอยากย้ายไปอยู่นั้นต้องมี ‘ญี่ปุ่น’ อยู่ในนั้นเป็นแน่

    เพราะอะไร?

    ก็เราต่างผูกพันกับวัฒนธรรมอย่างมังงะหรือรายการโทรทัศน์สารพัดที่นำเสนอเรื่องของแดนอาทิตย์อุทัย ทุกทีที่ดูก็ซึมซาบข้อมูลไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะความดีงามในด้านสวัสดิการ อิสระที่เปิดกว้าง ภูมิทัศน์ สภาวะอากาศ ความเจริญของญี่ปุ่นนั้นช่างล่อตาล่อใจ มีสรรพสิ่งสารพัดที่ตอบสนองจินตนาการที่ฝังอยู่ในตัวเรา เมื่อเป็นผู้ใหญ่ มีหรือที่เราจะไม่กล้าฝันต่อว่าอยากจะไปเที่ยว หนักกว่านั้น บางคนอยากจะไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเลย

    แต่เราก็รู้กันว่ามันไม่ง่าย เอาแค่การพูดจาให้รู้เรื่องสักประโยคนั้นยังแสนยากเย็น ไหนจะความเป็นส่วนตัวที่หวงแหน มารยาททางสังคมที่มากไปด้วยพิธีรีตองและรายละเอียดยุบยับในประเทศที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงขนาดนี้ เราจะเข้าไปแทรกยังไงให้ดูแนบเนียนและไม่ดู ‘เป็นอื่น’ จนกลายเป็นความแปลกแยก และทำยังไงถึงจะไม่ดูว่าเป็นการ ‘ง้อ’ จนทำให้สังคมดูไม่เท่าเทียมและเราเองก็อาจจะอยู่ในสังคมของพวกเขาอย่างอึดอัดในที่สุด

    การ ‘เข้าใจ’ และ ‘รู้พื้นฐานมารยาท’ คือทางออก

    สองอย่างนี้แตกต่างกันตรงความลึกของการกระทำ แต่เป็นสิ่งที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือความสงบสุขและมิตรภาพเพื่อไม่ให้ ‘เรา’ ต้องผิดใจกันโดยไม่เข้าใจและไม่ตั้งใจ เหมือนอย่างในห้องประชุมวันหนึ่ง ที่มีอีกฝ่ายเป็นชาวญี่ปุ่นหนึ่งคณะ กับชาวสำนักพิมพ์แซลมอน

    ณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล นอกจากเป็นนักเขียนที่มีผลงานกับเราหลายเล่ม เขายังเป็นที่ปรึกษาเวลาที่เรามีธุระปะปังกับประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าเรื่องธุรกิจหรือการสานสัมพันธ์ ตลอดเวลาที่ประชุม ณัฐพงศ์จะคอยบอกเราอยู่เสมอว่าอะไรที่ควรทำและไม่ควรทำเวลาคุยกับคนชาตินี้ หลายเรื่องเป็นเรื่องที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีวัฒนธรรมนี้อยู่บนโลก สำหรับเราเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆ เพราะในเรื่องเล็กน้อยนี้เองที่แสดงถึงความใส่ใจ แต่เมื่อมันมากเข้า ณัฐพงศ์คงเห็นว่าขี้เกียจเตือนแล้ว เอายังงี้แล้วกัน เขียนหนังสือมาให้อ่านเสียเลย จะได้ไม่ต้องมโนไปอีกว่าสิ่งไหนทำได้หรือไม่ได้ ควรทำหรือไม่ควรทำ

    ต้องเรียนเอาไว้สักหน่อยว่า หนังสือเล่มนี้อาจจะไม่ได้ลงลึกถึงดีเทลระดับรากความคิดหรือเจาะจงลงไปถึงรายละเอียดอย่าง เอ๊ะ! เจแปน หรือ เอ๊ะ!! เจป๊อป หนังสือสองเล่มก่อนของเขา แต่ระดับแฟนพันธุ์แท้ประเทศญี่ปุ่นและผู้ที่เคยไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นอย่างโชกโชนก็ย่อมไม่ทิ้งลาย เพราะเรื่องใน JOY ON JAPAN นี้เป็นเรื่องที่แสนตื้น—ตื้นจนคนอื่นอาจมองไม่เห็นและไม่ให้ความสลักสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมารยาท ความยากง่ายในการอยู่ร่วมกับคนในสังคมญี่ปุ่นที่ไม่เคยละเลยเรื่องเหล่านี้

    อ่านเล่มนี้จบแล้ว คุณอาจมองทุกอย่างเปลี่ยนไป มีสายตาที่แหลมคมและอ่อนโยนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการวางนามบัตรบนโต๊ะประชุม การกรอกเอกสาร การเอ่ยทักทายชาวญี่ปุ่นสักคน หรือแม้กระทั่งเสียงพลิกกระดาษของหนังสือที่อยู่ในมือเล่มนี้

    สำนักพิมพ์แซลมอน

  • คำนำผู้เขียน


    รู้สึกตัวอีกที ผมก็มานั่งเขียนคำนำหนังสือเล่มที่ 4 ของตัวเองแล้วนะครับ เวลานี่มันผ่านไปไวจริงๆ (แก่แล้วนะเรา)

    เอาจริงๆ แล้ว ไอเดียของหนังสือเล่มนี้มาจากการที่เห็นปรากฏการณ์คนไทยแห่ไปญี่ปุ่นจนช่วงวันหยุดยาวหรือเทศกาลต่างๆ ตามหัวเมืองของญี่ปุ่นแทบจะกลายเป็นเมืองขึ้นของนักท่องเที่ยวไทยกันไปเลย

    แต่พอมีคนไปเยอะก็เริ่มมีเสียงสะท้อนกลับมาหลายๆ ด้าน ตั้งแต่เรื่องที่คนไปแล้วผิดหวังไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เฟลเพราะเตรียมตัวเตรียมข้อมูลไม่ดี รวมไปถึง การเที่ยวแบบไม่รู้วัฒนธรรมเขา จนพลาดทำอะไรที่มันกลายเป็นปัญหาไป

    ผมจึงเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อหวังว่ามันจะเป็นยาที่เอาไว้ใช้สลายอาการมโนล่วงหน้า เวลาไปญี่ปุ่นจะได้มีภูมิคุ้มกันสำหรับความผิดหวัง และได้รู้ถึงมารยาทที่พึงกระทำ แต่ยาของผมก็ไม่ได้รสขมจนกลืนไม่ลง เพราะตลอดเวลาที่ผลิต ผมคิดว่ามันเป็นวิตามินซีรสส้มที่ผู้อ่านจะสนุกกับรสชาติและได้สาระไปพร้อมกัน

    พบกันใหม่เล่มหน้าครับ

    ณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล

    รักคนอ่าน แต่น้อยกว่าเมีย
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in