เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
SHANGHAI LIKE THIS: เซี่ยงไฮ้ครั้งแรกของแกเป็นไง ของฉันมันประมาณนี้ :-)lachar (ลชา)
SHANGHAI LIKE THIS: เซี่ยงไฮ้ครั้งแรกของแกเป็นไง ของฉันมันประมาณนี้ :-)
  • วีซ่าเล่มแรกกับประเทศที่ชื่นชมแต่ไม่เคยคิดจะไป

    ชื่นชมจริง ๆ! ด้วยความที่ประเทศนี้ โดยเฉพาะเมืองเซี่ยงไฮ้มักเป็น case study ในวิชาเลคเชอร์ของคณะอยู่บ่อย ๆ จึงรู้สึกชื่นชอบในความก้าวหน้าและยิ่งใหญ่ของประเทศนี้มาก ๆ

    แต่ไม่เคยคิดถึงตอนที่ตัวเองต้องไปใช้ชีวิตที่นู่นเลยนะ(โว้ย)

    ถึงจะแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ ก็เถอะ

    หลาย ๆ คนอาจจะได้ยินเรื่องราวน่าตกใจเกี่ยวกับประเทศนี้มามาก แต่จริง ๆ แล้วมันต้องลองไปดูสักครั้งจริง ๆ นั่นแหละถึงจะเข้าใจอะไร ๆ มากขึ้น ใครคือคนแรกที่ไวรัลความน่ากลัวของประเทศจีนให้คนชาติเราฟังกันนะ มันก็มีถูกมีผิดบ้างเหมือนไปประเทศอื่น ๆ นั่นแหละน่า!

    เราได้มีโอกาสเข้าสัมภาษณ์กับคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ ไปเข้าร่วม "โครงการเรียนรู้ประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ผ่านกระบวนกิจกรรม" ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน

    ทั้งคณะมีได้ไปสองคนคือเรากับเพื่อนอีกภาควิชานึง ตอนสัมฯ ตื่นเต้นมาก ๆ แล้วก็ใจอยากจะให้ตัวเองได้ที่สุดในชีวิต ด้วยแรงกดดันเบา ๆ หลาย ๆ อย่าง 55555

    เพราะปิดเทอมนี้เราเห็นเพื่อนเรากำลังจะได้ไปทำต่างประเทศกันเยอะแยะ แล้วประเทศที่เราลงสัมฯ เนี่ย มันคือประเทศที่เรามักเจอใน case study ในวิชาเรียนเรื่องเมืองเยอะมาก ๆ พอ ๆ กับฝรั่งเศสเลย ถึงขั้นตอนสอบเลคเชอร์นึงเราเอาเคสไว่ทานของเซี่ยงไฮ้ไปตอบด้วย (แต่ไม่รู้ถูกหรือผิดนะคะอาจารย์!555555) จึงมีความสนใจสูงมากในหัวคิดอย่างเดียวว่าต้องได้ พอวันที่ประกาศแล้วเราได้จริง ๆ ก็คืออยากขอบคุณผู้เกี่ยวข้องทุกคนที่เลือกเราไป ไม่งั้นชาตินี้ไม่รู้จะได้ออกนอกประเทศครั้งแรกตอนอายุเท่าไหร่ (ขนาดนั้น)

    ระยะเวลาและการเดินทาง

    โครงการนี้บินไปจีนคืนวันที่ 27/05 กลับคืนวันที่ 31/05 รวม ๆ แล้วประมาณ 4 วันนิด ๆ ด้านล่างนี้คือเส้นทางตลอดสี่วันแบบละเอียดที่สุดเท่าที่จะจำได้

    Infographic Route Credit: VOLO

    ประเทศที่ปลูกต้นไม้แบบบ้าคลั่ง

    ตั้งแต่ขึ้นรถบัสออกจากสนามบินผู่ตง สิ่งที่ทำให้ตื่นตาตื่นใจสำหรับเราคือการปลูกต้นไม้ ส่วนตัวเวลาเราทำงานออกแบบวางผังหรือออกแบบพื้นที่ต่าง ๆ เราจะชอบใส่ต้นไม้เข้าไป ทำภาพบรรยากาศให้เห็นว่ามีต้นไม้ฟูฟ่องอยู่ทุกที่ โดยที่ใจก็ยังแอบสงสัยว่าเออเราจะทำเวอร์ไปไหมนะ พื้นที่ตรงนี้เราเคยดูงานตามกรณีศึกษาต่าง ๆ มันก็ทำแบบนี้นะ แต่มันมีจริงเปล่าหว่า เราคิดแบบนี้ สรุปเซี่ยงไฮ้มันทำของมันจริง ๆ 55555

    ภาพที่ 1: มุมมองจากทางยกระดับจากสนามบินนานาชาติผู่ตง เมืองเซี่ยงไฮ้

    จากภาพคือ ในขณะที่เส้นทางแอร์พอร์ตลิ้งค์จากพญาไทไปสุวรรณภูมิเราจะเจอพื้นที่รกร้างแบบโล่ง ๆ น้ำขัง หญ้าสูงท่วมหัว ต้นไม้ใหญ่สะเปะสะปะ ตลอดทางที่จะเข้าสู่ตัวเมืองของเซี่ยงไฮ้คือเป็นแบบที่เห็น เขาบ้าคลั่งปลูกต้นไม้มาก มีทุกพื้นที่ ยิ่งสถานที่ท่องเที่ยวก็ยิ่งใส่ต้นไม้เข้าไปทุกพื้นที่เท่าที่จะทำได้

    Shanghai Map: mapbox

    เดินไปทางไหน ข้ามไปแค่บล็อกสองบล็อกก็เจอ park อีกแล้ว! เราเลยลองเปิด google map ดูพบว่า park ในเซี่ยงไฮ้มีเยอะมากจริง ๆ ห่างกันไม่ถึงกิโลฯนึงก็เจอได้อีกเรื่อย ๆ 5555

    ภาพที่ 2: พื้นที่ริมน้ำหาดไว่ทาน (The Bund), ภาพที่ 3 และ 4: ถนนหนานจิง (นานกิง)

    เราคิดว่าความเขียวแบบนี้มันเอามาหักลบกับแสงแดดที่แสบตาและร้อนมาก ๆ ได้จริง ๆ นั่นแหละ อากาศแต่ละวันจะอยู่ที่ 18-26 องศา แต่แดดตอนกลางวันจ้ามากกก แสบตากว่าประเทศไทยสุด ๆ แต่ร่มเงาเขามีตลอดทางทุกพื้นที่เลย

    ภาพที่ 5-7: แดดร้อนแยงตา แต่อากาศดีมากกกก ที่ถนนหนานจิง (นานกิง)

    บางทีอยากเดินเองมากกว่านั่งรถบัส

    ขอโทษนะคะ แต่คิดแบบนี้จริง ๆ 555555555

    รู้ว่าทำไม่ได้ด้วยเรื่องเวลาอะไรใดใด แต่อยากลงไปสัมผัสความรู้สึกของคนเซี่ยงไฮ้ที่ได้ใช้ชีวิตบนท้องถนนที่เป็นระเบียบขนาดนี้!

    ถนนของเขาจะมีสัญลักษณ์บนท้องถนนชัดเจน แบ่งเลนการสัญจรชัด ฟุตบาทเดินได้เดินดี ผู้คนอยู่ภายใต้ร่มเงาต้นเมเปิลตลอดทาง

    Street section graphic: streetmix

    จากภาพด้านบนแสดงลักษณะการจัดสรรพื้นที่สัญจรทั้งคนใช้รถใช้ถนนของตัวเมืองเซี่ยงไฮ้ส่วนใหญ่ บางจุดมีการ share bus and bike lane in one gap บางจุดแบ่งแยกการใช้รถเล็ก, รถยนต์ส่วนตัวกับรถขนส่งสาธารณะไปเลย บนฟุตบาทมีการล็อคพื้นที่ขอบเขตของ street furniture ต่าง ๆ อย่างชัดเจนทำให้ไม่มีการรบกวนกันบนทางเดิน

    ภาพที่ 8: บริเวณฟุตบาททางเดินและช่องทางเดินรถขนส่งมวลชนสาธารณะ, ภาพที่ 9 และ 10: บริเวณที่จอดจักรยานยืมตามริมฟุตบาท

    จะเห็นว่ามีช่องการจอดจักรยาน ซึ่งมีทั้งจักรยานส่วนตัวและจักรยานยืมที่ถ้าต้องการจะใช้ก็เพียงแสกน Qr Code ผ่านมือถือแล้วถอยมันออกมาใช้ได้เลย! (ถึงที่หมายก็อย่าลืมจอดเก็บในพื้นที่ให้จอดด้วยล่ะ)

    ความหนาแน่นของประชากรเมืองเซี่ยงไฮ้ไม่ได้ต่างอะไรกับกรุงเทพฯ สักเท่าไหร่ แต่คนในเมืองของเมืองนี้มีระเบียบ เคารพกฎจราจรมากกก

    จริง ๆ ปัญหารถติดส่วนนึงมันก็แค่นี้เลยนะ เราไม่เคารพกฎบนท้องถนนกัน เราเห็นคนอื่นทำเราทำบ้างอะไรแบบนี้ เช่น การแซง เปลี่ยนเลนเส้นทึบ สำคัญเลย การนำรถส่วนตัวเข้าไปวิ่งในช่องทางวิ่งเฉพาะของรถขนส่งสาธารณะ หรือรถเล็กที่เข้าไปวิ่งกันในเลนของรถใหญ่อะไรแบบนี้

    ทั้งหมดที่ว่ามาถึงเป็นเหตุผลที่ถ้ามีโอกาสเราก็อยากลงไปใช้เวลาเดินเล่นไปเรื่อยที่เมืองนี้ดูซักครั้ง

    จริง ๆ หลาย ๆ อย่างประเทศเราเขาก็จัดการไว้ให้แล้ว แต่แค่เราไม่ช่วยกันทำตามกันสักเท่าไหร่เลยนะ

    เอาหน่อยพวก! อยากเห็นอะไรแบบนี้ในประเทศเรามากกว่า ไม่ได้อยากไปอยู่ที่อื่นหรอก เพราะอาหารเขาอร่อยไม่เท่า 555555555555

    EV Car นึกว่าเพิ่งเริ่มใช้! ที่ไหนได้ เขาขับกันไปทั่วแล้ววว

    เราได้ไปเยี่ยมชม Auto Innovation Park เป็นสถานที่ R&D ของ EV Cars หรือรถพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ทางผู้ให้ความรู้เปิดโอกาสให้ถามคำถามมากมาย (เป็นภาษาอังกฤษ) รู้สึกขอบคุณมากจริง ๆ ที่พาพวกเราเปิดโลกขนาดนี้ เราจึงรู้ว่าเซี่ยงไฮ้มีการใช้รถพลังงานไฟฟ้าแบบเต็มรูปแบบทั่วทั้งเมืองแล้วนะคะ เผลอ ๆ ทั่วประเทศจีนแล้วอีก

    เสียดายนิดหน่อยเขาไม่ให้ลองนั่ง Tesla นะคะ555555

    ผลคือ ไร้มลภาวะทางเสียงในบริเวณตัวเมืองและพื้นที่โดยรอบ อาจจะเพราะอีกประเด็นนึงคือ ผู้ที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวมีกฎหมายห้ามบีบแตร ไม่งั้นจะโดนตัดคะแนนความประพฤติ โดนตัดมาก ๆ ก็คือห้ามคุณใช้เมโทรอีกเลย ซึ่งน่ากลัวมาก ๆ นะคะ เพราะการเดินทางหลักของคนในเมืองเซี่ยงไฮ้ผูกไว้กับเมโทรเป็นหลักเลยแหละ

    ส่วนตัวเราไม่ได้มีปัญหาเรื่องเสียงแตร เพราะมันทำให้เรารู้นะว่ารถอยู่ข้างหลังแล้วว ระวังด้วยย! แต่เราชอบที่ไม่ได้ยินเสียงเครื่องยนต์เร่ง ๆ แข่งกัน และไม่มีกลิ่นหรือฝุ่นควันที่เป็นพิษจากรถยนต์เลย :D

    (ตรงนี้ไม่มีรูปมาแชร์เลย ที่ถ่ายมาไม่ค่อยเกี่ยว ;____;)

    เสี่ยวหลงเปาอร่อยที่สุดในจีน! ..แถมอร่อยอยู่อย่างเดียวด้วย

    เราได้ไปเดินเที่ยวกับเพื่อน ๆ ไกด์ชาวจีนที่สวนอวี้หยวนและตลาดอวี้หยวน (Yuyuan Garden) ฝนตกปรอย ๆ ตอนไปถึง สถานที่นี้มีของฝากมากมาย 80 หยวน สำหรับภายในสถานที่ 10 หยวนทั้งร้านเลยน้อง สำหรับรอบ ๆ อวี้หยวนนะคะ555555555

    ภาพที่ 11 และ 13: สวนอวี้หยวน (บริเวณที่เสียค่าเข้า  แต่ใช้บัตรนิสิตลดราคาได้ เหลือ 20 หยวนต่อคน) ภาพที่ 12: ตลาดอวี้หยวนกับสถาปัตยกรรมแบบจีนที่มาจีนแล้วเพิ่งจะได้เห็น!5555555

    ภาพที่ 14: Xiao Long Bao ที่เขาว่ากันว่าอร่อยที่สุด ราคา 25 หยวน (ประมาณ 125 บาท) จากตลาดอวี้หยวน (Yuyuan Market)

    จริง ๆ อาหารจีนอร่อยนะะะ ถ้าตัดมันกับเค็มออกไปซักหน่อย (ไม่อะ ตัดออกเยอะ ๆ เลยพี่ หนูแนะนำ!)

    มากับโครงการนี้ต้องขอบคุณอาจารย์ ผู้ช่วย ทุก ๆ คนทุก ๆ ฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องของจุฬาฯ มาก ๆ เลยค่ะ เลี้ยงพวกเราดีมาก ๆ จริง ๆ หลาย ๆ อย่างไม่เคยกินก็ได้กิน ถึงจะมีไม่ถูกปากบ้าง (ซึ่งอย่าเรื่องมากเลย555555) แต่ก็รู้สึกขอบคุณจริง ๆ ที่ดูแลพวกเราดีขนาดนี้ กินดีอยู่ดีมากๆ! ขอบคุณมาก ๆ ค่ะะ :D

    ภาพที่ 15-17: อาหารส่วนนึงที่ทางโครงการจัดหาให้เรากินตลอดสามมื้อ! (สุดยอด!)

    เซี่ยงไฮ้ได้อีก!

    ภาพที่ 18 และ 19: ภาพเขียนจากห้อง Painting Gallery ของ Shanghai Museum

    เรามีเวลาเดินดูงานในมิวเซียมแห่งนี้ไม่มาก เลยเลือกไปดูงานตามที่สนใจมากเป็นพิเศษเป็นหลัก ห้องที่เราสนใจคือห้องงานวาดเขียนสมัยก่อนของจิตรกรจีน แบบนี้เรียกเทคนิคอะไรนะ สโตรกหรือเปล่า?

    นั่นแหละ เราชอบมาก ๆ เพราะการวาดภาพในช่วงที่คุณอยู่ในอยู่สมัยต่าง ๆ มันเป็นตัวบันทึกที่ดี ทำให้เราเห็นภาพ มากกว่าการจิตนาการเองจากลายลักษณ์อักษรในบันทึกต่าง ๆ (แม้ภาพวาดก็คือหนึ่งในจินตนาการของผู้วาดก็ตาม)

    สองภาพนี้ทำให้เห็นถึงสภาพสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ลักษณะสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัย การแต่งกาย ความเป็นอยู่ของคนจีนสมัยก่อน สองภาพนี้ถูกเขียนด้วยเส้นดินสอไม่ลงสี ไม่ทราบได้ว่าอยู่ในยุคไหน แต่อาจจะสันนิษฐานได้ว่าสมัยนั้นยังคงไม่มีการสกัดสีมาทำดินสอก็เป็นได้

    บนรถบัสได้ฟังความประทับใจและข้อสังเกตของเพื่อนจากคณะหนึ่งในโครงการนี้ เขาเล่าว่าบางภาพในห้องจัดแสดงนี้มีการลงสี บางภาพไม่ได้ลง เราตั้งข้อสังเกตด้วย ว่าน่าจะบ่งบอกถึงยุคสมัยได้ ประมาณว่าภาพที่ไม่มีสีก็คือภาพโบราณกว่าภาพที่มีสีแล้ว เพราะคงมีการสรรหาวิธีสกัดสีจากธรรมชาติมาเพิ่มเติม เป็นต้น

    แต่ตอนอยู่บนรถบัสไม่ได้สนับสนุนข้อสังเกตนี้ด้วย เพราะพูดไม่ทันคนอื่นเลยค่ะ 555555555555

    ภาพที่ 20: หุ่นจำลองเมืองเซี่ยงไฮ้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขนาด 1:500 บนพื้นที่ของศูนย์นิทรรศการผังเมืองเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Urban Planning Exhibition Center)

    Shanghai Urban Planning Exhibition Center เป็นสถานที่ที่เราอยากไปมากที่สุดในทริปเพราะเรียนทางนี้มา เคยเห็นแต่ในคลิปนำเที่ยว อยากไปเห็นกับตาสักครั้ง พอได้ไปก็รู้สึกดีใจมาก ๆ และประทับใจแบบที่คาดหวังไว้จริง ๆ แม้จะเสียดายที่ไม่ได้ไป Hongqiao CBD ของเซี่ยงไฮ้ตามแผนแรกในโครงการก็ตาม

    เคยดูคลิปในยูทูปของช่อง 'หนังพาไปเขาบอกว่าที่นี่จะจัดแสดงหุ่นจำลองขนาด 1:500 ของเมืองเซี่ยงไฮ้ โดยจะพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบทุก ๆ 3 เดือน ไปพร้อม ๆ กับการคิดโครงการใหม่ ๆ เข้ามาในพื้นที่ทุกตารางนิ้วของเมืองนี้ โดยจะเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเต็มรูปแบบในปี ค.ศ.2020!

    ภาพที่ 21: จาก Historical Zone ในศูนย์นิทรรศการผังเมืองเซี่ยงไฮ้ แสดงภาพบริเวณหาดไว่ทาน (The Bund) ในปี ค.ศ.1930 ที่ดูจะให้ความสำคัญกับรถมากกว่าคนจนเกินไป ไม่มีพื้นที่สาธารณะ
    ภาพที่ 22: หาดไว่ทาน (The Bund) ในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ.2019

    จากภาพที่ 21 มีการเปิดท่าเรือริมหาดไว่ทานเพื่อการค้า มีถนนสำหรับการสัญจรถึง 11 เลน ในภาพที่ 22 จึงมีการเสนอให้ทำคันกั้นน้ำท่วมขนาดใหญ่ ยกพื้นที่ด้านบนให้เป็นพื้นที่ทางเดินริมน้ำขนาดใหญ่ ด้านใต้เป็นชั้นจอดรถและศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยว ทำการลดช่องทางการสัญจรและเปิดให้มีรถวิ่งได้ทางใต้ดินแทน (อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์นิทรรศการผังเมืองและหนังพาไป)

    ภาพที่ 23: มุมมองจากหาดไว่ทาน (The Bund) ในตอนเช้าและภาพที่ 24: มุมมองจากหาดไว่ทาน (The Bund) ในตอนกลางคืน
    ภาพที่ 25-28: อาคารสถาปัตยกรรมสไตล์ยุโรปบริเวณ The Bund หนึ่งในกลุ่มอาคารนี้เป็นที่ตั้งของธนาคารกรุงเทพ (Bangkok Bank) สาขาเมืองเซี่ยงไฮ้อีกด้วย

    เมืองใหญ่ริมน้ำแห่งนี้ถูกปักจุดศูนย์กลางทางเศรษฐกิจริมแม่น้ำหวงผู่ (Huangpu River) จากการสอบถาม พบว่าเขาเลือกจุดนี้เพราะเป็นจุดที่สานเส้นทางคมนาคมครบวงจรเอาไว้มากที่สุด ทั้งทางรถยนต์ ขนส่งมวลชนรถเมล์ รถไฟใต้ดิน เป็นต้น

    ยังไม่รวมกับความสะดวกสบายในการเดินทางทางจักรยานหรือการเดินเท้า, การใช้ Maglev จากสถานี Longyang ที่ห่างกับสนามบินผู่ตงเป็นระยะทางกว่า 33 กิโลเมตร แต่สามารถไปถึงได้ภายใน 7 นาที! ฯลฯ

    กิตติกรรมประกาศ

    ขอบคุณคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทางกิจการนิสิตของมหาลัย ขอบคุณอาจารย์ ผู้ช่วย พี่ ๆ ที่เสนอโครงการ ทุกคนเลยค่ะที่มีส่วนเกี่ยวข้องพาพวกเรา 40 คนไปเปิดประสบกาณ์ดี ๆ แบบที่ไม่น่าจะหาได้จากที่ไหน ไปเองยังไม่คิดว่าจะได้เท่านี้เลย ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ :D

  • THANK YOU SO MUCH

    ลชา (เจน)
    คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
    ภาควิชาการวางแผนภาคและเมืองจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 3

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in