อนุสารณ์สงครามเกาหลี (The War Memorial of Korea) ใหญ่อลังการกว่าภาพในไกด์บุ๊ก ใหญ่มากจนฉันกับเจ้ร้อง 'โห' พร้อมกัน
ฝั่งตรงข้ามของอนุสรณ์มีสถานที่ราชการ ไม่แน่ใจว่าเป็นสถานที่อะไร แต่เกี่ยวกับทหารแน่นอนเพราะมีจอฉายวีดีโอทหารวิ่งไปวิ่งมา กับประตูรัั้วคุ้มกันแน่นหนา น่าจะค่ายทหารมั้ง เลยไม่แปลกเลยที่จะเห็นคนใส่ชุดทหารเดินในอนุสรณ์สงครามเกาหลี... อันที่จริง ฉันว่ามีทหารข้างในทำให้บรรยากาศมันเข้าธีมสถานที่ดีนะ
คำนวนจากความอลังการของมิวเซียม และเวลาที่เหลือแค่ชั่วโมงกว่า ๆ ไม่ทันแน่นอน พอดีกับฝนที่จู่ ๆ ก็เทกระหน่ำ เทแรงขนาดที่เห็นลานหน้ามิวเซียมสะท้อนผิวน้ำเป็นแอ่งวงกลมเป็นหลายพันวงกลม ระเบิด กระจาย รบกันเองแย่งครองพื้นที่แอ่งน้ำระหว่างเม็ดฝนที่ตกลงมาก่อนกับเม็ดที่เพิ่งพุ่งจากเมฆ
ฝนตกหนักขนาดนี้ ยังไงก็คงติดอยู่ที่นี่สักพัก
เมื่อมีข้ออ้างในการส่งข้อความขอผิดนัดกับเจ้าของเกสท์เฮ้าส์ ฉันกับเจ้ก็ฝากกระเป๋าใน ตู้ล็อกเกอร์ 100 วอน และไปจิบกาแฟที่คาเฟ่ข้างใน (โต๊ะรอบ ๆ ล้อมรอบด้วยทหารมาจิบกาแฟเช่นกัน... ยอมรับว่าคนในเครื่องแบบ+หน้าตาสะอาดสะอ้าน ทำให้ว่อกแว่กพอสมควร... จำไม่ได้แล้วว่ากาแฟอร่อยไหม อ่า ฟังดูไม่ดีเลยสินะ จริง ๆ คือ ในวงล้อมทหารเนี่ย จะให้วางตัวสบาย ๆ ก็ยังไงอยู่)
_______
จากบทความของ รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีประโยคหนึ่งน่าสนใจ
"ไม่มีความเป็นกลางในพิพิธภัณฑ์
ยิ่งพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นโดยรัฐ ยิ่งไม่เป็นกลาง "
อ่านบทความ
_______
ฉันเคยไปซิทอินวิชาประวัติศาสตร์ตะวันออก อาจารย์ให้ข้อสังเกตว่าช่วงหลัง ๆ เกาหลีมีหนัง ซีรีส์ ที่เกี่ยวกับช่วงสงครามมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
อาจารย์ยังให้ความคิดเห็นว่ามันอาจเกี่ยวข้องกับ คนเกาหลีร่วมยุคสงคราม ซึ่งเป็นเหมือนหลักฐานปวศ. ที่มีชีวิต ชราภาพและเสียชีวิตลง มีผู้สูงอายุซึ่งเคยผ่านสงครามน้อยลงทุกที ที่ยังมีชีวิตอยู่อายุก็แปดสิบเก้าสิบปีกันแล้ว โดยเฉพาะ comfort women เหยื่อที่ถูกบังคับให้เป็นหญิงบำเรอทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
(การเรียกร้องให้ "ญี่ปุ่นต้องขอโทษ" มีการเคลื่อนไหวจนเรื่องไปถึงศาล ตอนอดีตเหยื่อหญิงบำเรอ Kim Bok-dong ผู้นำการเรียกร้องเสียชีวิต มีการเดินประท้วงไปกับการแห่โลงศพในกรุงโซลด้วย
อ่านข่าว)
.
เอาเป็นว่า สงครามเป็น อดีตที่ยังสดใหม่ สำหรับเขา ไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์เนิ่นนานมากแล้ว ประกอบกับความตึงเครียดเหนือ-ใต้ที่เส้นขนานที่ 38 ความขัดแย้งจึงยังเป็นเหตุการณ์ปัจจุบันสำหรับเขา
Present Perfect เกิดในอดีตถึงปัจจุบัน และจะต่อเนื่องไปในอนาคต แบบนั้นแหละ
.
ไม่แปลกเลยที่เราจะได้สูดกลิ่นชาตินิยมจนเต็มปอดในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
อนุสรณ์สงครามเกาหลี จัดแสดงทุกอย่างที่เกี่ยวกับทหาร สงคราม ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคอาณาจักร ยุคสมัยใหม่ เรียกว่านำเสนอทุกเหตุการณ์ที่มีการจับอาวุธ
ความดีงามของพิพิธภัณฑ์เกาหลีคือ ถึงแม้ป้ายนิทรรศการจะไม่ค่อยแปลเป็นภาษาอังกฤษ (มีแปลเป็นญี่ปุ่นและจีนเยอะกว่า) แต่จะมี timeline และ infographic แทบตลอดทางเดิน ดังนั้นถ้าอ่านประวัติศาสตร์มาบ้างจะพอเดาได้ว่าของชิ้นนี้อยู่ยุคสมัยไหม เกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญอะไร
ชุดเกราะโบราณ
เกวียนบรรจุลูกธนู อารมณ์เหมือนหน้าไม้ที่ยิงได้คราวละหลายลูก
ของจำลองที่กินพื้นที่ทั้งห้องจัดแสดง
อลังการใช้ได้เลยแหละ
เดินดูทวน ดูหอก ดูดาบไปเรื่อย ๆ
ติดใจโล่และกลองสองชิ้นนี้เป็นพิเศษ เพราะสองสามวันต่อมาได้เห็นของที่หน้าตาคล้าย ๆ กันที่การจำลองผลัดเวรยามที่พระราชวังเคียงบก อาจไม่เหมือนกันสักทีเดียว แต่ก็คล้าย ๆ กันแหละ ทำให้สีอันเยอะ ๆ สีจัด ๆ imprint ในสมองฉันว่า ลักษณะแบบนี้ เกี่ยวกับโชซ็อนแน่ ๆ (ฉันอาจเข้าใจผิดก็ได้)
ธงเดินขบวนประท้วงเรียกร้องอิสรภาพ
ชุดทหาร
ลืมบอกไปว่า มิวเซียมจัดแสดงเสื้อผ้า อาวุธของฝ่ายตรงข้ามด้วย พอเห็นเยอะ ๆ เข้าตาก็เริ่มลาย มึนว่าชิ้นนี้เป็นของใครกันแน่
นอกจากนี้ สังเกตได้ว่า ของจัดแสดงส่วนหนึ่งจะเป็น copy artifact (จำลองขึ้น) ของจริงเข้าใจว่าน่าจะเก็บไว้ที่ National Museum of Korea อย่างไรก็ตาม อนุสรณ์สงครามเกาหลีก็ถือว่านำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้ได้ครบเครื่องมาก ละเอียดมาก
จุดน่าสนใจอีกอย่างคือ รูปปั้นจำลองใบหน้าของบุคคลสำคัญ อันที่จริง บางคนมีบทบาทในยุคโบราณซึ่งไม่น่ามีบันทึกถึงลักษณะหน้าตาชัดเจน หรือมีรูปถ่าย รูปวาดแน่นอน รูปปั้นพวกนี้จึงอาจเป็นแค่จินตนาการว่าคนนี้น่าจะหน้าตาประมาณไหนด้วยซ้ำ
ลองคิดอีกแง่ การมีภาพจำช่วยให้ประวัติศาสตร์สมจริงขึ้นมามากกว่าแค่เป็นตัวอักษรในกระดาษ การปั้นรูปจำลองของคนสำคัญยุคโบราณก็คงมี function ประมาณนี้ อันที่จริง ไม่ใช่แค่เกาหลีที่สร้างรูปจำลองแบบนี้สักหน่อย หลาย ๆ ประเทศก็ทำกัน
ตู้จัดแสดงอาวุธยุคสงครามเหนือ-ใต้
ขอยกให้ตู้จัดแสดงนี้เป็นที่สุดของการเยี่ยมชมอนุสรณ์สงครามเกาหลี ตู้จัดแสดงอาวุธ โดยทางขวาเป็นปืนของเกาหลีเหนือ ซ้ายเป็นของเกาหลีใต้ หันหน้าเข้าหากัน ที่น่าสนใจคือปืนของฝั่งเกาหลีเหนือจะเยอะกว่าทางซ้าย ไม่ใช่แค่ตู้นี้ ป้ายนิทรรศการก็พยายาม
เน้นตัวเลข จำนวนทหารที่มากกว่า อาวุธที่เยอะกว่าของเกาหลีเหนือ (แบบจงใจสุด ๆ ) และตบท้ายด้วยชัยชนะของเกาหลีใต้
เราไม่รู้หรอกว่าความจริงเป็นอย่างไร ประวัติศาสตร์ทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่เกาหลี อะไรที่ขึ้นชื่อว่าประวัติศาสตร์มันก็คลุมเครือ ล่องลอย เปลี่ยนแปลงได้ตามหลักฐานที่พบ และมุมมองของผู้จดบันทึกอยู่แล้ว ฉันเห็นด้วยที่ว่ามิวเซียมไม่เป็นกลาง และไม่จำเป็นต้องเป็นด้วยซ้ำ มันคือเสน่ห์ของการได้รับรู้ความคิดความเชื่อของผู้ก่อสร้างมิวเซียม ความเป็นรัฐ วัฒนธรรม อะไรบางอย่างที่คนสร้างมิวเซียมต้องการให้ผู้เยี่ยมชมรับรู้
ส่วนจัดแสดงงานศิลปะ น่าจะเป็นนิทรรศการหมุนเวียน
งานก็จะวนเวียนเกี่ยวกับเรื่องการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ
เวลาสามชั่วโมงผ่านไปอย่างรวดเร็ว ฉัน กับ เจ้ ต้องไปเกสท์เฮ้าส์แล้ว ทั้งที่ยังเดินไม่ทั่วเลยด้วยซ้ำ พวกเราสัญญากันเองว่าเดี๋ยวมาใหม่ มากี่รอบก็ได้ เพราะยังไง ค่าเข้าก็ฟรี
ใช่แล้ว ตึกใหญ่อลังการ ของจัดแสดงเป็นพัน ๆ ชิ้น ที่ต้องมีทั้งค่าดูแลรักษา ค่าซ่อมแซม ค่าน้ำค่าไฟ ค่าจ้างพนักงาน รวมเป็นต้นทุนมหาศาล แต่ไม่เข้าค่าเข้าสักวอน ตอนไปเอาสัมภาระคืน ตู้ล็อกเกอร์ 100 วอนก็คืนเงินให้ แค่ร้อยวอน ประมาณสามบาท อนุสรณ์สงครามเกาหลีก็ไม่เก็บ
การไม่เก็บค่าเข้าชม หมายถึง ทรัพยากรทั้งหมดในนี้ เป็นสิ่งที่ทุกคนควรเข้าถึงได้ เป็นสวัสดิการที่รัฐจ่าย เป็นการดึงดูดประชาชนให้มาเยี่ยมชม
ทั้งที่คุณภาพมิวเซียมเว่อร์วัง มันคุ้มที่จะจ่าย แต่ทำไมมัน จำเป็นจะต้องเป็นของฟรี
ฉันเห็นภาพพ่อแม่จูงเด็ก ๆ มาเดินเล่น ทหารเข้ามาเดินดูด้วยสีหน้าภาคภูมิใจ โรงเรียนพานักเรียนมาทัศนศึกษา
การกรีดซ้ำบาดแผลเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับเขา ในเมื่ออดีตยังสดใหม่ ความขัดแย้งยังตื่นตัวที่ชายแดน งบประมาณมหาศาลเพื่อการสร้างความทรงจำร่วมกันอาจเป็นปริมาณเงินที่รัฐเต็มใจจ่ายก็ได้
'FREEDOM IS NOT FREE'
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in