หน้าที่บรรณาธิการฝึกหัดของฉันในสำนักพิมพ์ "พราว" กำลังจะเริ่มขึ้นต่อจากนี้ค่ะ สิ่งแรกที่ฉันต้องเรียนรู้ คือทำความเข้าใจระบบการทำงานต่าง ๆ ของสำนักพิมพ์ค่ะ อย่างเช่น ตอนนี้สำนักพิมพ์กำลังทำหนังสือเกี่ยวกับอะไรอยู่บ้าง มีสำนักพิมพ์เล็ก ๆ ที่อยู่ในเครืออีกกี่สำนักพิมพ์ กำลังจะผลิตหนังสือเล่มไหน ใครมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรในหนังสือเเต่ละเล่ม รวมไปถึงว่าหนังสือแต่ละหมวดหมู่จะต้องออกเล่มใหม่ทุก ๆ กี่เดือน บอกได้เลยค่ะว่าละเอียดมาก เพราะองค์ประกอบของการทำหนังสือจะต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน แบ่งหน้าที่ออกมาได้หลายหน้าที่ หลัก ๆ ในสำนักพิมพ์เลยก็ต้องมี
นักเขียน, คนตรวจทานเนื้อหาความถูกต้อง, คนพิสูจน์อักษร, นักวาดภาพประกอบ, คนจัดองค์ประกอบของภาพในแต่ละหน้า, คนจัดหน้าหนังสือ, บรรณาธิการที่คอยตรวจความเรียบร้อยทุกอย่างของหนังสือ
ดังนั้นกว่าจะออกมาเป็นหนังสือดี ๆ สักเล่มหนึ่งได้ ไม่ใช่ว่าจะทำกันง่าย ๆ เลยค่ะ
จากนั้นก็เรียนรู้สัญลักษณ์ต่าง ๆ สำหรับแก้ไขต้นฉบับค่ะ เช่น สัญลักษณ์ที่บอกว่าให้พิมพ์ติดกัน, เว้นวรรค, เอาขึ้นไปไว้บรรทัดบน, เคาะลงมาบรรทัดล่าง, คำนี้เขียนผิด ต้องแก้เป็น..., แทรกคำว่า...ตรงนี้ บางสัญลักษณ์ก็คุ้นเคยค่ะ เพราะได้เห็นบ่อยเวลาที่คุณครูในสาขาตรวจงานเขียนให้ แต่บางสัญลักษณ์ก็ไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่ทางสำนักพิมพ์ตั้งขึ้นมาเพื่อใช้กันเอง ซึ่งสัญลักษณ์เหล่านั้นก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละสำนักพิมพ์ค่ะ
มีสิ่งหนึ่งที่ได้รู้แล้วมองว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่น่ารักดีของการทำงานในกองบรรณาธิการคือ เวลาที่เรามีข้อแนะนำเกี่ยวกับเนื้อหา หรือ สิ่งที่ไม่แน่ใจในเนื้อหาว่าควรปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นอย่างไรดี เราก็จะเขียนโน๊ตแปะไว้ค่ะ เช่น คนตรวจต้นฉบับรอบแรกคนแรกแปะโน๊ตไว้ว่า 'คำนี้เปลี่ยนเป็นคำว่า...ดีไหมคะ' เมื่อคนตรวจต้นฉบับคนที่สองมาอ่านแล้วเห็นด้วยก็จะตอบกลับว่า 'ดีเลยค่ะ เป็นคำที่เหมาะ' จากนั้นก็ทำการใส่สัญลักษณ์แก้คำใหม่ ส่งต่อให้คนจัดหน้าหนังสือแก้คำ บางครั้งในช่วงเทศกาลก็จะมีคำอวยพรเขียนมาด้วย 'สวัสดีปีใหม่นะคะ' 'สวัสดีปีใหม่เช่นกันค่ะ' ส่งต่อกันไปในกองบรรณาธิการพอให้ชื่นใจ และสนุกกับการทำงานค่ะ
พวกเรามีอาวุธคู่กายกันด้วยล่ะค่ะ อาวุธของคนตรวจต้นฉบับ และคนพิสูจน์อักษร คือ 'ปากกาสี'
สำหรับเขียนแก้ในต้นฉบับนั่นเองค่ะ แต่ละคนจะมีสีประจำตัวไม่ซ้ำกัน เพื่อจะได้รู้ว่าตรงนี้ใครเป็นคนแก้ ตรงนี้ใครเขียน 'พี่พลอย' ทำหน้าที่พิสูจน์อักษรจะใช้ปากกาสีแดง 'พี่เรศ' ทำหน้าที่บรรณาธิการ (และเป็นพี่เลี้ยงของฉัน) ใช้ปากกาสีม่วง ส่วนของฉันเป็นสีเขียวค่ะ พวกเราจะไม่ใช้ปากกาสีดำ หรือดินสอในการแก้คำนะคะ เพราะต้นฉบับก็พิมพ์เป็นสีขาวดำ อาจทำให้คนที่ทำหน้าที่จัดหน้าหนังสือ กับคนจัดองค์ประกอบของภาพแต่ละหน้ามองไม่เห็นสิ่งที่ต้องแก้ไข หรือคำแนะนำจากบรรณาธิการได้ค่ะ
เมื่อเข้าใจวิธีการทำงานทุกอย่างเเล้ว ก็ได้เริ่มตรวจ 'ต้นฉบับฉบับแรกของชีวิต' สักทีค่ะ ฉันรู้สึกโชคดีที่ได้ตรวจต้นฉบับ 'หนังสือสรุปหลักภาษาไทย ม.ต้น' เพราะจะได้ทบทวนหลักการใช้ภาษาไทย คิดว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับใช้ตรวจภาษาของต้นฉบับฉบับต่อ ๆ ไปค่ะ อีกอย่าง ฉันชอบวิชาภาษาไทยค่ะ
ต้นฉบับนี้เป็นการตรวจทานรอบแรก หรือที่เรียกว่า proof1 ฉันได้ตรวจเป็นคนที่สองค่ะ คนแรกจะต้องเป็นหน้าที่ของพี่พลอยพิสูจน์อักษรก่อน และฉันตรวจทานรอบสองเป็นการตรวจทานเนื้อหา
หนังสือสรุปหลักภาษาไทย ม.ต้น ที่สำนักพิมพ์ของเราทำเป็นหนังสือสรุปเนื้อหาพิมพ์สี่สีที่ด้านในส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาสั้น ๆ กระชับ เข้าใจง่าย และมีรูปภาพ การตกแต่งให้น่าอ่านเป็นส่วนใหญ่ ฉันจะต้องตรวจคำที่อาจมีพิมพ์ตก พิมพ์ผิด ตัวหนังสือซ้อนกับภาพประกอบ ความสวยงามของแต่หน้ากระดาษ ต้องตรวจให้ละเอียดที่สุดค่ะ อ่านทีละคำเพื่อหาคำผิด ถึงจะมีผิดอยู่แต่คำเดิม ๆ หลายหน้า ก็ต้องแก้ใหม่หมดทุกคำ ถ้าหากตรงชื่อหนังสือที่อยู่ข้างเลขหน้ามีเขียนผิดตั้งแต่หน้าที่ 1 ถึง หน้าที่ 200 ก็ต้องเขียนแก้ให้ใหม่ทั้งหมดค่ะ หรือถ้าเรียงเลขหน้าผิด เราก็ต้องเขียนเลขให้ใหม่ตั้งแต่หน้าที่ผิดจนถึงหน้าสุดท้ายเลยค่ะ นอกจากนี้ฉันต้องเปิดตำราเรียนที่เกี่ยวข้องควบคู่ไปด้วยเพื่อดูว่าเนื้อหาถูกต้องหรือไม่
สัปดาห์แรกฉันตรวจต้นฉบับไป 4 เล่มเลยค่ะ ต้นฉบับหนังสือสรุปหลักภาษาไทย ม.ต้น กับต้นฉบับหนังสือสรุปวรรณคดีไทย ม.ต้น เป็นการตรวจรอบแรก (proof1) ส่วนอีกสองต้นฉบับ คือต้นฉบับหนังสือสรุปวิชาคณิตศาสตร์ ม.1 เทอม1 กับต้นฉบับสรุปวิชาคณิตศาสตร์ ม.1 เทอม2 เป็นการตรวจรอบที่สาม (proof3) ถึงจะผ่านการตรวจและแก้ไขมาสองรอบเเล้วก็ยังเจอข้อผิดพลาดหลายจุดเลยค่ะ ทั้งเรื่องเนื้อหา คำผิด การจัดวางคอลัมน์ ภาพประกอบ เราก็ต้องแก้ไขวนไปจนกว่าจะออกมาดีที่สุดค่ะ ละเอียดมาก ๆ เลยค่ะ
สำหรับฉัน การตรวจต้นฉบับรอบที่สามเป็นอะไรที่เวียนหัวตาลายมากเลยค่ะ เพราะวิธีการตรวจต้นฉบับรอบที่สองเป็นต้นไปจะเเตกต่างกับการตรวจรอบแรกค่ะ เราจะต้องเปิดต้นฉบับที่ตรวจรอบก่อนหน้านี้เทียบกับต้นฉบับรอบล่าสุดค่ะ หาว่าจุดผิดที่คนตรวจขอให้แก้นั้นได้แก้ไขในรอบที่ล่าสุดหรือยัง หากแก้แล้วเราก็จะทำเครื่องหมายถูกไว้ในต้นฉบับรอบล่าสุดไว้ หากยังไม่ได้แก้ก็ต้องเขียนหรือทำเครื่องหมายไว้ให้แก้อีกค่ะ ตรวจเทียบแบบนี้ไปจนจบเล่ม แล้วก็กลับมาตรวจใหม่อีกรอบแบบไม่ต้องเปิดต้นฉบับรอบก่อนเทียบค่ะ เป็นการตรวจหาคำผิด เรียบเรียงข้อความใหม่ หรือ จัดองค์ประกอบภาพใหม่ ที่อาจมีผิดพลาดแต่อาจเผลอมองข้ามไปเมื่อตอนที่ตรวจรอบที่เเล้วได้ค่ะ การตรวจเนื้อหาที่เกี่ยวกับวิชาคณิตศาสตร์เป็นเรื่องที่ฉันต้องปาดเหงื่อ ถึงจะเป็นเนื้อหาของเด็กม.1 ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับฉันค่ะ โชคดีที่มีคุณครูคณิตศาสตร์เป็นคนตรวจความถูกต้อง หน้าที่ของฉันจึงมีแค่ตรวจเทียบต้นฉบัับ กับ ตรวจองค์ประกอบของหน้าค่ะ เมื่อฉันตรวจเสร็จ พี่เรศจะเป็นคนตรวจต่ออีกรอบค่ะ แล้วจึงส่งต่อให้คนจัดหน้าแก้ไขงานใหม่ค่ะ
เดี๋ยวพอจัดหน้าหนังสือเสร็จก็ต้องเอามาให้เราตรวจใหม่อีกรอบ แล้วพี่ที่จัดหน้าก็ต้องจัดหน้าใหม่อีกรอบ วนไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะไม่เจอจุดที่ผิดพลาด และออกมาเป็นหนังสือที่ดีที่สุด แค่สีปากกาแดงของพี่พลอยและสีเขียวของฉันที่เขียนกำกับให้แก้ก็หลายจุดเลยค่ะ ยังเหลือให้พี่เรศตรวจต่ออีกรอบ ก็แอบนึกสงสารพี่ที่ต้องจัดหน้าใหม่เลยค่ะ แต่ส่วนใหญ่แล้วต้นฉบับเราจะตรวจกันแค่ถึง proof3 ค่ะ จะถือว่าความผิดพลาดต้องแทบไม่มีเหลือเเล้ว แต่ถ้ายังมีส่วนที่ผิดอยู่เยอะ เราจะปรับจาก proof3 เป็น proof 2.1 จนกว่าจะกลายเป็น proof3 ที่ไม่มีอะไรแก้มากแล้ว ถึงจะว่าตรวจเสร็จ เตรียมส่งโรงพิมพ์ค่ะ
หลังจากตรวจทานเสร็จทั้งสี่เล่มแล้วแอบรู้สึกว่าเหมือนตัวเองได้กลับไปเป็นเด็กมัธยมต้นอีกครั้ง เผลอลืมตัวนึกว่ากำลังอ่านหนังสือเตรียมสอบ ต้องตั้งสติใหม่หลายครั้งว่าฉันเป็นคนตรวจไม่ใช่คนสอบ แต่บอกเลยว่าพร้อมสอบมาก
หากมีตรงส่วนไหนที่ไม่เข้าใจ หรือต้องการคำแนะนำก็ถามพี่เรศได้ตลอด พี่เรศคอยให้คำปรึกษา คำแนะนำดีมากเลยค่ะ พอตรวจไปเรื่อย ๆ จนเริ่มเมื่อย เริ่มล้าแล้วก็พัก นั่งคุยเล่นกัน เพราะเป็นรุ่นพี่ในคณะมนุษยศาสตร์ด้วย และอายุห่างกันแค่ไม่กี่ปีเลยคุยกันได้สนุกทุกเรื่องเลย บรรยากาศในการทำงานจึงไม่เครียด ไม่กดดัน นอกจากนี้มี 'พี่ส้ม' กับ 'พี่แก้ม' ที่เป็นแอดมินและฝ่ายขายอยู่ด้วยก็ยิ่งคุยสนุกเข้าไปใหญ่ค่ะ ถึงอาทิตย์นี้ทั้งสำนักพิมพ์จะมีกันอยู่แค่ 4 คน เพราะคนอื่น ๆ ต้องทำงานที่บ้าน ( work from home) ก็ตาม แต่วันที่ 14 มิถุนายนคงจะครึกครื้นกว่านี้แน่นอน เพราะพี่ ๆ เขาจะกลับเข้ามาทำงานที่สำนักพิมพ์กันค่ะ การฝึกงานในกองบรรณาธิการสัปดาห์แรกของฉันดำเนินไปทำนองนี้ค่ะ
'ดีใจที่เริ่มต้นได้ดีค่ะ'
'ดีใจมาก สนุกจริง ๆ'
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in