เนื่องในวันครบรอบวันเกิดของเราในปีนี้ที่บังเอิญได้มาอยู่สวีเดนและยังไม่เคยไปสตอกโฮล์ม เราเลยถือโอกาสบุกเดี่ยวเข้ามาเดินเล่นสักหน่อย แต่แทนที่อากาศจะดีอย่างที่มีพยากรณ์ วันนี้กลับมีเมฆมากและกลายเป็นเมืองในหมอกไปเสียได้
เราเริ่มวันด้วยกาแฟดริป Bolivia สุดแสนจะดีงามที่ Drop Coffee ข้างทางเข้าออกรถใต้ดิน (Tunnelbana) สถานี Mariatorget โรงคั่วนี้เปิดทำการเมื่อปี 2009 ขึ้นชื่อมาตั้งแต่เราทำงานร้านกาแฟที่กรุงเทพฯ ว่าอย่างง่ายคือเปิดถุงเอาเมล็ดกาแฟมาดริป ยังไม่เคยมีตัวไหนไม่เวิร์คเลย แต่ตัวร้านเองไม่ได้ cozy เท่าไหร่เพราะคนเยอะ แออัด และการตกแต่งภายในไม่ได้โดนเด่น แต่ก็ดูมินิมัลแบบสแกนดิเนเวียนดีเหมือนกัน
หลังจากจิบกาแฟ เราก็แวะไปช้อปเบาๆ ที่ร้านเสื้อผ้ามือสองชื่อ Humana Second Hand ที่มีสาขาอยู่ที่ Malmö และ Lund ด้วย จบจากที่นี่เราก็เดินไป Papercut ที่มีหนังสือ นิตยสาร และแผ่นหนังเยอะล้นร้านอย่างในภาพ แต่ที่เราคิดว่าเป็นจุดเด่นของร้านคือแผงนิตยสารคราฟท์ๆ ที่รวบรวมมาจากทั่วทั้งยุโรป ตั้งแต่ชื่อคุ้นหูคนบ้านเราอย่าง Kinfolk, Cereal, Another Escape Monocle, Apartamento, Frankie, Sight & Sound, i-D และ Wired ทั้ง US และ UK edition ทุกเล่มแบ่งตามประเภทอย่างดี
แต่ที่เราสนุกสนานกับการเลือกชมเป็นพิเศษเห็นจะเป็นนิตยสารท้องถิ่นที่ดูตั้งใจทำกันมาก บางเล่มบางเฉียบเหมือนหนังสือทำมือ แต่ราคาพุ่งไปถึง 600-800 บาท อย่างเล่มนึงที่สัมภาษณ์ dog & cat people เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพวกเขากับสัตว์เลี้ยงคู่ใจ ซึ่งก็ออกมาได้หลาย issue แล้ว กับ Sister นิตยสารรวมบทความที่คนทำให้คำจำกัดความว่า A Magazine for Girls แต่ท่าทางจะเป็น radical girls ที่เฟมินิสต์ใช่เล่นเลยแหละ
หลังจากหมกตัวอยู่ Papercut เป็นชั่วโมง เราก็เคลื่อนตัวไปยัง Gallery Steinsland Berliner เพื่อดูงาน 10 ชิ้นของ Antwan Horfee ในชื่องาน Piggy Catastrope โดยฮอร์ฟี่เป็นศิลปินกราฟฟิตี้ที่ปารีส แต่ขยับมาทำงานในพื้นที่ปิดอย่างแกลเลอรี่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่วนตัวแกลเลอรี่เองทำหน้าที่เป็นออฟฟิศขายภาพวาดเหล่านี้มากกว่าจะ PR หนักๆ เพื่อหวังผู้ชมวงกว้าง โดยส่วนตัวเราไม่ชอบงานของฮอร์ฟี่เท่าไหร่ แต่สำหรับหลายคนคงรู้สึกว่างานของเขามีความสนุกและความเป็นส่วนตัวซ่อนอยู่
เราแวะกินกาแฟอีกแก้วที่ร้าน Robin Delselius ที่บริการดีมากๆ ก่อนจะพุ่งไปยังจุดหมายต่อไปที่อยู่ไม่ไกล นั่นคือ Fotografiska มิวเซียมขนาดใหญ่เบิ้มที่มีป้ายหน้าตึกว่า "Need a break? Welcome to Fotografiska - The Museum of Photography" แต่เราขอบอกเลยว่าภาพถ่ายที่เราได้ดูนั้นไม่ได้เข้าใกล้การพักผ่อนแม้แต่นิด เพราะงานหนักมากจนดูแล้วต้อง Take a break สักเดือนนึงมากกว่า
เริ่มที่ตัวมิวเซียมเองก่อน เราต้องขอบอกว่าเราประทับใจมาก เพราะตัวอาคารก็สวยมีเสน่ห์ติดริมน้ำ ตรงข้ามเป็นสวนสนุก เปิดเช้า ปิดดึก ไวไฟเร็วปรื๊ด และมีทุกอย่างที่ทำให้เราสามารถขลุกตัวอยู่ได้ทั้งวัน ทั้งนิทรรศการ 4 งานที่จะหมุนเวียนเปลี่ยนกันไป คาเฟ่และร้านอาหารที่ใหญ่และอลังการมากแทบจะกินพื้นที่ทั้งชั้น และผนังเป็นกระจกใสมองทะลุเห็นวิวแม่น้ำตอนกลางคืนแบบวิบวับจับใจ ห้องน้ำก็สะอาดดูดีเหมือนอยู่ในโรงแรม ร้านขายของที่ระลึกก็เดินเพลินพอประมาณ ที่นี่มี seminar และ conference อยู่เรื่อยๆ ต้องคอยเช็คโปรแกรมดีๆ
ส่วนนิทรรศการที่เราได้ดูในวันนี้และชอบมากที่สุดคือ Being There ของ Paul Hansen เราใช้เวลาร่วมสองชั่วโมงกับงานของนักข่าวช่างภาพ top rank ของสวีเดนคนนี้ แฮนเซนทำงานในสายข่าวมายาวนาน ลงลึกกับการถ่ายภาพสงคราม วิกฤติการเมือง การปะทะระหว่างชนเผ่า และค่ายผู้อพยพ รวมทั้งที่มีทักษะการเขียนที่ดีเลิศจนผู้รายงานข่าวหลายคนต้องยอมให้ ภาพที่แสดงในงานนี้ก็มีตั้งแต่สงคราม Israel-Palestine, ผลพวงของ Arab Spring, สถานการณ์ใน Congo-Kinshasa, วิกฤติชาติพันธ์ใน Kenya และค่ายผู้อพยพในกรีซและที่อื่นๆ ที่เราดูแล้วทั้งขนลุก น้ำตาซึม และโกรธขึ้งกับสิ่งที่เกิดขึ้น
งานของแฮนเซนถือว่า "เดือด" มากถึงมากที่สุดทั้งในแง่เนื้อหาและศิลปะ สายตาของแฮนเซนคมชัดและเขา "ไว" พอที่จะเก็บสารัตถะของภาพได้ครบ พร้อมกับเล่นสีและองค์ประกอบภาพไปพร้อมกัน ในฐานะอดีตนักเรียนข่าว เราชื่นชมแฮนเซนมากกว่าเรื่องเทคนิค เพราะทัศนคติในฐานะนักข่าวของเขานั้นน่ายกย่อง เขาไม่เชื่อในการนำเสนอข่าวไม่เอียงข้าง แต่เขาเชื่อในการเสนอความจริงมากกว่า และเขาจะไม่ยอมหยุดทำงานนี้แล้วทอดทิ้งผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับผลกระทบอันหนักหน่วงจากเหตุการณ์เหล่านี้ไว้กลางทาง
อย่างที่เขากล่าวไว้ว่า "...I will never stop trying. To stop reporting the consequences for ordinary people of the failure of the politicians is not an option."
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in