เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Short storiesONEDER
Prejudice and discrimination ที่แฝงอยู่ในภาพยนตร์ยุค 90s
  • ในหลายครั้งที่รู้สึกเครียดกับเรื่องเรียน บางครั้งก็เลือกหนังสักเรื่องมาดูเพื่อสร้างความสนุกและลดความเครียดของตนเอง แต่ใครจะไปนึกว่าหลังจากที่เรียนจิตวิทยาไม่ว่าหนังจะเป็นแนวไหน ครียดจัด หรือ ไร้แก่นสารแค่ไหน ก็สามารถทำให้เราคิดถึงการกระทำของตัวละครแล้วเชื่อมโยงถึงสาเหตุของพฤติกรรมทั้งสิ้น จากเดิมที่ดูเพราะอยากพักจากเรื่องเรียนก็เริ่มวิเคราะห์ตัวละครแล้วนำมาโยงกับเรื่องที่เรียนมากขึ้น


    เมื่อไม่นานมานี้ก็ลองนึกถึงหนังเรื่องเก่า ๆ ที่เคยดูก็พบว่าตัวเอกของเรื่องถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมเพียงเพราะอคติจากคนรอบข้าง ทำให้นึกถึงเนื้อหาเพิ่งเรียนไปอย่างเรื่อง Prejudice and discrimination หากอธิบายแบบสั้น ๆ Prejudice คือ ความรู้สึกทางลบที่มีต่อคนกลุ่มอื่น เช่น ไม่ชอบคนปัญญาอ่อนหรือคนพิการ ซึ่งนำไปสู่ Discrimination คือ การปฏิบัติแบบไม่เท่าเทียม เช่น การปิดกั้นโอกาสในการทำงานของคนพิการ


    หลังจากที่ลองคิดดูแล้ว หนังหลายเรื่องมีการสอดแทรกประเด็น Prejudice and discrimination ไว้ อย่างเรื่อง Bombay (1995) และ Gattaca (1997) ที่นำประเด็นนี้มาสร้างเป็นปมของเรื่องได้น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว


    มาเริ่มกันที่เรื่องแรก Bombay



    Bombay (1995) เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ ดำเนินเรื่องผ่านชีวิตรักของหนุ่มสาวต่างศาสนาระหว่าง Shekhar และ Shaila Bano ที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อให้ได้สมหวังครองคู่กันตามครรลองพล็อตหนังรักทั่วไป แต่หนังเรื่องนี้ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ความรักโรแมนติกหวานเยิ้มอย่างที่หลายคนนึกถึง เพราะสิ่งที่หนังต้องการสื่อและอยากให้ผู้ชมคิดตามคือคุณค่าของศาสนาที่แท้จริง ทำไมถึงเกิดการจราจลที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมายจากความขัดแย้งทางศาสนา ทั้งที่มันไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย ช่างดูขัดแย้งเสียจริง


    เหตุการณ์จลาจลในนครบอมเบย์ประเทศอินเดียนี้ (ตามบันทึกจริงคือวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ.1992 - 26 มกราคม ค.ศ.1993) ถือเป็นสงครามครั้งใหญ่ระหว่างผู้นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและอิสลาม เรียกได้ว่าหากรู้สถานะการนับถือต่างศาสนาของอีกฝ่ายก็สามารถปลิดชีพได้ทันทีอย่างโหดเหี้ยมทารุณ ทั้งฆ่าฟันและจุดไฟเผาทั้งเป็น ไม่เว้นแม้แต่ผู้หญิงและเด็ก




    สิ่งที่น่าคิดอย่างหนึ่งคือ อคติระหว่างคนต่างศาสนิก (Prejudice) นำมาสู่การฆ่าล้างอย่างไร้ปรานีเหมือนผักปลา (Discrimination) ได้อย่างไร?



    ตามทฤษฎีทางจิตวิทยาสังคมแล้ว  Social Identity อธิบายปัญหาดังกล่าวไว้ว่า การที่คนเราจะรู้สึกดีกับตนเองได้นั้นไม่ได้มาจากความสามารถส่วนบุคคลอย่างเดียว แต่ขึ้นกับสังคมที่เราก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งด้วย อาจกล่าวได้ว่าสมาชิกที่อยู่ในการจลาจลทุกคนก็เปรียบเสมือนมดงานที่เมื่ออยู่ตัวเดียวโดดๆ ก็อ่อนแอไร้ค่า ถูกบิดบี้เพียงครั้งเดียวก็ตาย แต่เมื่ออยู่รวมกันเป็นฝูง ความรู้สึกด้อยค่านั้นจะหายไปและเกิดการรวมพลังจนแข็งแกร่งได้อย่างน่าเหลือเชื่อ

    ทฤษฎีนี้ยังกล่าวไว้อีกว่า ยิ่งบุคคลนั้นรู้สึกไร้ตัวตน (nobody) มากเท่าไหร่ self- esteemหรือการเห็นคุณค่าในตนเองก็จะขึ้นอยู่กับความเป็นสมาชิกกลุ่มมากเท่านั้น ดังนั้น ในขณะที่กลุ่มก่อจลาจลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง self-esteem ตกต่ำ แนวโน้มการใช้ความรุนแรงกับฝ่ายตรงข้ามก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น เพราะหากกลุ่มตนเองชนะ ก็จะยิ่งรู้สึกดีกับตนเองมากขึ้นนั่นเอง



    เมื่อเรื่องดำเนินมาถึงช่วงที่เรียกว่า ‘Climax’ ตัวละครเอกอย่าง Shekhar สามารถใช้วาทะศิลป์กล่าวสุนทรพจน์แก้สถานการณ์ที่กำลังดุเดือดบ้าคลั่งไปได้อย่างงดงาม โดยผู้ก่อจลาจลทุกคนยอมทิ้งมีดดาบลงกับพื้น โดย Shekhar กล่าวว่า “แท้จริงแล้วทุกคนในที่นี้ไม่มีพวกเขาหรือพวกเรา ทุกคนต่างเป็นชาวอินเดียด้วยกันทั้งสิ้น แล้วดูสิ่งที่พวกเราทำลงไปซิ!” เขาพูดแล้วชี้ไปที่ซากปรักหักพังและผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก


    “สิ่งที่สูญเสียไปเหล่านี้มันคุ้มค่ากับอุดมการณ์ที่มีอยู่หรือ?”

    โดยอุดมการณ์ที่ Shekhar กล่าวถึง คือความเชื่อของศาสนาในแต่ละฝั่งฝ่าย



    อีกทั้งตอนจบของหนังเรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นว่าเมื่อทุกคนต่างก็เผชิญกับความยากลำบาก จะเกิดการเอื้อต่อความสมานฉันท์ของกลุ่มที่เคยขัดแย้งกัน ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “อคติ” ต่อฝ่ายตรงข้ามนั้นอาจเป็นแค่เพียงภาพลวงตา เพราะการแข่งขันแก่งแย่งชิงดีในทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด สามารถยุติลงได้ด้วยการสร้างปัญหาที่ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน เช่นเดียวกันกับการที่ Shekhar ชี้ให้เห็นถึงหายนะที่เกิดขึ้นซึ่งทุกๆคนในที่นั้นต่างเห็นพ้องต้องกันว่าปัญหานี้เข้าขั้นวิกฤตแล้วจริงๆ ทุกคนจึงหันมาช่วยเหลือเยียวยาผู้บาดเจ็บและกลับมาปรองดองสามัคคีกันอีกครั้ง



    อีกเรื่องหนึ่งที่นึกขึ้นมาได้คือหนังยุค 90 ที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับวิทยาการล้ำหนน้าเกินยุคสมัยอย่าง Gattaca


    หากในอนาคต พันธุวิศวกรรมพัฒนาจนสามารถตัดต่อพันธุกรรมเพื่อสร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ แข็งแรง ฉลาด ไร้โรคภัย ดูเหมือนเป็นยูโทเปียที่สมบูรณ์แบบสำหรับมนุษยชาติยิ่ง เพราะจะไม่มีใครต้องทุกข์เรื่องโรคภัย สุขภาพ หน้าตา อีกต่อไป แต่คนที่ไม่ได้ถูกคัดเลือกล่ะ?...


    เรื่องนี้ถูกพูดถึงเป็นประเด็นหลักในภาพยนตร์ไซไฟเรื่อง Gattaca (1997) ชื่อไทยว่าฝ่ากฎโลกพันธุกรรม กำกับโดยแอนดรูว์ นิคโคล




    ในโลกของ Gattaca พันธุกรรมเป็นตัวแปรสำคัญต่อการใช้ชีวิต... อาจจะมีอิทธิพลมากกว่าเงินด้วยซ้ำไป คนพันธุกรรมสมบูรณ์มีสิทธิ์ใช้ชีวิตที่มากกว่าคนพันธุกรรมไม่ดีมาก คนกลุ่มหลังนี้บ่อยครั้งที่ถูกหยามเหยียดว่าเป็นพวก ‘พันธุ์ด้อย’ และยังถูกจำกัดสิทธิ์บางอย่าง เช่น การเลือกทำงาน


    เรื่องราวกล่าวถึง วินเซนต์ ฟรีแมน เขาเกิดมาหมอก็ตรวจพบว่าเขามีโอกาสเป็นโรคหัวใจถึง 99% รวมไปถึงโรคร้ายต่างๆ และยังมีอายุขัยสั้น เรียกง่าย ๆ ว่าเป็น “พันธุ์ด้อย” แตกต่างจาก อันโตน น้องชายของวินเซนต์ ผู้ได้รับการคัดเลือกพันธุกรรม วินเซนต์มักจะแพ้อันโตนทุกเรื่อง ไม่ว่าสุขภาพ สายตา ความสูง การแข่งว่ายน้ำในทะเล หรือแม้แต่หน้าที่การงาน


    วินเซนต์ คนพันธุ์ด้อย

    วินเซนต์มีความฝันอยากเป็นนักบินอวกาศ แต่พันธุ์ด้อยอย่างเขาเป็นได้สูงสุดแค่ภารโรงประจำสถานีอวกาศภาคพื้นดิน อย่างไรก็ตาม ด้วยความฝันและความมุ่งมั่นอันแรงกล้า เขาตัดสินใจซื้อตัวตนของ เจอร์โรม มอร์โรว นักกีฬาชื่อดังพันธุกรรมชั้นยอด


    เจอร์โรม มอร์โรว ผู้ขายตัวตนให้วินเซนต์

    วินเซนต์ที่สวมรอยเป็นเจอโรมได้รับคัดเลือกอย่างง่ายดายเพราะพันธุกรรมอันยอดเยี่ยม เมื่อคาร์บอนถูกความร้อนและแรงกดนานๆ ก็แปรสภาพเป็นเพชร ระหว่างการทำงาน เขาฝึกฝนอย่างหนักจนได้รับเลือกเป็นนักบินอวกาศ


    วินเซนต์ฝึกฝนร่างกายอย่างหนักเพื่อให้พร้อมต่อการเป็นนักบินอวกาศ

    “There is no gene for the human spirit”


    อคติของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “พันธุ์เด่น” ต่อกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า ‘พวกพันธุ์ด้อย’ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ มาจากความรู้สึกในลักษณะภาพรวม (Stereotype) ของคนส่วนใหญ่ว่าคนพันธุ์ด้อยนั้นไร้ความสามารถและอ่อนแอ จึงเหมาะจะทำแต่อาชีพที่ถูกจำกัดไว้เท่านั้น และปฏิเสธที่จะรับเข้าทำงานในอาชีพที่ต้องใช้ความเป็นมืออาชีพพวกชนชั้นสูง (Discrimination)  คนพันธุ์เด่นหลายคน ดูถูกเหยียดหยามและไม่ชอบคนพันธุ์ด้อยนัก (Prejudice) เห็นได้ชัดจากการที่วินเซนต์ถูกจำกัดให้เป็นแค่ภารโรงทั้งที่เป็นคนมีความสามารถและมุ่งมั่นพยายาม



    นอกจากนี้เนื้อเรื่องในภาพยนตร์บางส่วนยังสอดคล้องกับปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่เรียกว่า Benevolent Racism กล่าวคือบุคคลหนึ่งจะปฎิบัติต่อบุคคลในชาติพันธุ์ที่ตนเองเหยียดไปในทางบวกหากบุคคลที่เหยียดนั้นกระทำตนตามบทบาทตามที่ตนเองคิดว่าสมควรกระทำอยู่แล้วสำหรับบุคคลนั้น เช่น หัวหน้าภารโรงปฏิบัติต่อเขาด้วยความเอ็นดูเพราะมองว่าเขาเป็นคนพันธุ์ด้อยที่ทำงานตามหน้าที่ได้ดีเยี่ยมมาก



    การรับรู้ในมุมมองที่แตกต่างกันอีกอย่างหนึ่งอย่างเห็นได้ชัด (The cognitive perspective) คือการที่วินเซนต์ได้รับการปฎิบัติต่างกันจากการกระทำที่เหมือนกัน กล่าวคือเมื่อครั้งวินเซนต์ยังเป็นภารโรง เขาทำงานได้สะอาดเรียบร้อย แต่พวกชั้นสูงก็มองว่าเขาก็แค่ทำความสะอาด แต่เมื่อเขาในคราบของเจอร์โรมได้ทำความสะอาดแป้นพิมพ์ หัวหน้าเดินมาชมว่าเขาดูเป็นคนรักสะอาด มีระเบียบ การมีข้อยกเว้น (Exception) เช่นนี้สามารถมองเห็นได้ชัดในชีวิตประจำวันเช่นกัน เช่นการที่ดาราดังบริจาคเงินให้กับโรงพยาบาลแล้วถูกมองว่าเป็นคนใจบุญสุนทาน แต่หากคนทั่วไปบริจาคกลับมองว่า เขาก็แค่บริจาคเท่านั้นเอง




    จะเห็นว่า Prejudice and discrimination เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้บ่อยในสังคม ซึ่งบางครั้งก็เกิดขึ้นเป็นปกติจนทำให้เราลืมไปว่านี้คือการอคติอย่างหนึ่ง ภาพยนตร์หลายเรื่องสร้างมาเพื่อให้เราตระหนักถึงเรื่องนี้และควรลดอคติเหล่านั้นให้หายไปจากสังคม อย่าลืมว่าคนเราเกิดมาไม่เหมือนกัน และความต่างเหล่านั้นก็ทำให้เกิดความสมดุล ก่อให้เกิดความสมบูรณ์กว่าโลกที่ทุกคนเป็นคนกลุ่มเดียวกัน


    จัดทำโดย
    กลุ่ม เดินสวยที่สยาม.

    อ้างอิง
    http://p-pcc.blogspot.com/2007/12/bombay-1995.html?m=1
    https://en.m.wikipedia.org/wiki/Bombay_riots
    http://hypothesizes.com/953/seek-strength-numbers-social-identity-theory/
    https://goo.gl/gVFwfZ
    http://www.doctorojiplatico.com/2014/11/malika-favre-2014-2.html
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in