เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
DREAM CRUSHER ภารกิจ ยุติฝันSALMONBOOKS
ฝันอยากเป็นดีเจ

  • ฝันอยากเป็นดีเจ

    คลื่นวิทยุ โฆษณาที่มีเพลงคั่น


    ดีเจเป็นอาชีพที่อยู่กินกับรสนิยม แบบเปิดเพลงขับกล่อมคนฟังตามรสนิยมเก๋ว์ๆ ของเรา คุยสายหน้าไมค์บ้าง บางวันก็มีคนแปลกหน้าโทร.มาชื่นชมว่าเปิดเพลงดี ประหนึ่งชมว่า เราเป็นคนที่มีรสนิยมเลิศ ได้พูดจาเท่ๆ เสียงหล่อๆดูมีสาระความรู้ ดูเป็นคนที่รู้ดีในสิ่งที่ตัวเองทำ รู้เรื่องเพลงดีเยี่ยม เป็นอาชีพที่มีหน้าที่หลักคือฟังเพลง คัดเพลงมาเปิดให้คนอื่นฟัง เป็นอาชีพที่มีสิทธิ์เต็มขั้นในการซื้อเพลงฟัง

    ยิ่งมายุคนี้ การเป็นดีเจหมายถึงการได้ออกสื่อ ออกทีวี เหมือนได้เข้าไปอยู่ในวงการบันเทิง เป็นดาราแบบกลายๆ ภาพลักษณ์ดี สมัยนี้แต่ละคนก็แต่งตัวกันเป็นนายแบบกันทุกวี่ทุกวัน นี่มันอาชีพในฝันชัดๆ ได้อยู่กับเสียงเพลง แถมยังได้เงินอีก หลายๆ คนก็เลยฝันอยากเป็นดีเจกับเขาบ้าง

    ซึ่งจุดนี้ต้องบอกเลยว่า เลิกฝันแล้วไปหาอะไรอย่างอื่นทำเลยจะดีกว่า จะได้ไม่ต้องเสียเวลาชีวิต

    “ดีเจสมัยนี้มันไม่ได้เปิดเพลงเองแล้ว!” น้องดีเจคนหนึ่งที่อาสามาเป็นแนวร่วมยุติฝันบอกอย่างเซ็งๆ ขณะที่ให้ข้อมูลสำหรับเนื้อหาในตอนนี้ ทำเอาวิชัยแอบสะเทือนจิตนิดหน่อยที่ได้รู้ความจริง

    จากคำบอกเล่า สมัยก่อนนู้น ดีเจเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องหาซื้อแผ่นเสียง หาซื้อเทปมาเปิดเองในคลื่นวิทยุ แปลว่าจะมีต้องมีความรู้ในเรื่องเพลงจริงๆ อินอย่างจริงจังในเรื่องที่ตัวเองทำ รู้หมดว่านักร้องคนนี้มีผลงานมาแล้วกี่ชุด เพลงอะไรดัง เพลงอะไรกำลังจะดัง พอดีเจเป็นคนเอาเพลงมาเปิดเอง มันก็เลยทำให้เกิดค่านิยมในหมู่ดีเจด้วยกัน ว่าการหาเพลงเท่ๆ แนวๆ มาเปิดได้นั้นคือเรื่องที่เท่ ดีเจคนอื่นกลัวน้อยหน้าก็ทำบ้าง กลายเป็นแข่งกันเท่ ผลที่ได้คือ วงการเพลงบนวิทยุเบ่งบาน คนที่ได้กำไรที่สุดคือคนฟังที่จะได้ฟังเพลงที่หลากหลายแนวมากขึ้น แต่ยุคนี้มันไม่ใช่

    ยุคดิจิตอลโชเชียลเน็ตเวิร์กตอนนี้ คนไม่ฟังวิทยุกันแล้วฮะ ทีวีก็ไม่ดู คนแชตไลน์

    อัปเฟซบุ๊ค เล่นทวิตเตอร์กันอย่างเดียว

    ทำให้ความฝันของคนที่มีต่อดีเจยังเหมือนเดิม แต่ดีเจสมัยนี้หน้าตาไม่เหมือนเดิมแล้ว
  • ค่าย

    ทุกวันนี้ค่ายเพลงเป็นเจ้าของคลื่นวิทยุแล้วจ้า จบนะฮะ.

    บางคลื่นไม่เปิดเพลงบางค่าย เพราะติดค่าลิขสิทธิ์เพลงมันแพง จบนะฮะ.

    ทำให้ไม่ต้องแปลกใจถ้าทุกวันนี้ฟังเพลงจากคลื่นวิทยุบางคลื่นจะได้ยินแต่เพลงจากค่ายบางค่ายเท่านั้น แต่ยังโชคดีที่เดี๋ยวนี้คลื่นวิทยุเองก็พยายามทำตัวเป็นสถาบันอะไรสักอย่างที่เปิดเพลงอย่างเป็นกลางที่สุด (หรือพูดอีกอย่างคือ เอาใจโอนเอียงอย่างแนบเนียนที่สุด) มีการจัดอันดับชาร์ตเพลงยอดฮิตที่ดูเหมือนเป็นกลางที่สุด ทั้งที่ความจริงแล้วไอ้คลื่นชาร์ตต่างๆ มันก็แค่ประมาณว่า...

    ความดังของเพลง 25%—ความดังในที่นี้น่าจะเป็นช่วงโปรโมตเพลงนั้นๆ ที่ค่ายเพลงต่างทุ่มงบด้านสื่อทั้งหมดเพื่อทำให้เพลงนี้ ‘เหมือน’ จะดังหรืออย่างน้อยก็พยายามสะกดจิตคนดูว่า เพลงนี้มันดังนะ ฟังสิ ไม่ชอบเหรอ? ไม่เป็นไร กูมีแค่เพลงนี้ให้มึงฟัง ฟังไป!

    การอวยค่ายเพลง 25%—แหม ก็บอกอยู่หยกๆ ว่ามันต้องเป็นกลาง มันก็ต้องคละๆ กันไปสิวะ ทำดีกับค่ายอื่นบ้าง เวลาอยากได้ศิลปินค่ายเขามาทำกิจกรรมในคลื่นจะได้ไม่ดูน่าเกลียด

    ความชอบส่วนตัวของคนจัดชาร์ต 25%—อ้าว...ยังไม่รู้อีกเหรอ? ว่าชาร์ตนี้มีคนจัดเอง

    จำนวนของผู้ฟังที่โทร.มาขอเพลง 25%—ไหนๆ ก็ให้ผู้ฟังโทร.เข้ามาขอเพลงได้แล้ว ก็จดๆ ไว้เป็นข้อมูลสักหน่อยละกัน


    เปิดเพลง

    ถ้าฝันว่าอยากเป็นดีเจสมัยนี้แล้วจะได้เลือกเพลงเปิดเอง หรือได้แสดงรสนิยมของตัวเองละก็ฝันกลางวันแล้วครับ

    ต้องเล่าแบบนี้...เมื่อก่อนเนี่ย ดีเจยังเป็นคนที่เปิดเพลงและพูดไปเรื่อยๆ จนเกิดความรำคาญว่า ทำไมดีเจมันพูดมากจังวะ จะฟังเพลงนะ ไม่ได้ฟังดีเจพูด ก็เลยเกิดกระแสบางอย่างในวงการคลื่นวิทยุคือ การทำคลื่นเพลงที่ไม่มีดีเจประมาณว่า 10 Hits in the Roll เพื่อแหวกตลาดที่จำเจจากการที่มีดีเจพูดมากๆ ในเมื่อไม่มีดีเจพูด ก็เลยต้องมีการเซ็ต Playlist ของเพลงที่จะเปิดเล่นอัตโนมัติ จากนั้นพอเข้าสู่ยุคดิจิตอลไฟล์ก็ทำให้ดีเจไม่ต้องเปิดเพลงอีกต่อไป

    หรืออีกนัยหนึ่งคือไม่ต้องมีดีเจ

    สำหรับคนที่ฝันอยากเป็นดีเจ ผมขอแนะนำให้รู้จักกับ ‘Music Director’ ครับ

  • มิวสิกไดเรคเตอร์ คือคนที่จัดเพลงให้ดีเจเปิดครับ โดยเพลงที่จัดทั้งหมดจะถูกจัดลงซอฟต์แวร์ จัดเพลงกันเป็นรายอาทิตย์ อาทิตย์ละ 160 เพลง โดยทั้งอาทิตย์จะมีแค่ 160 เพลงนี้เท่านั้นที่จะได้เปิด จากนั้นมิวสิกไดเรคเตอร์จะมาจัดเพลงให้แต่ละช่วงดีเจอีกครั้ง หมายความว่ามีการกำหนดมาแล้วว่าชั่วโมงนี้ของดีเจคนนี้จะเปิดเพลงอะไรบ้าง ตรงไหนเป็นช่วงว่างให้ดีเจพูด ตรงไหนเป็นโฆษณาตรงไหนเหลือที่ไว้ให้คนโทร.มาขอเพลงหน้าไมค์ กระทั่งเวลาเปิดเพลงแล้ว โปรแกรมมันยังบอกเราอีกด้วยซ้ำว่าวินาทีที่เท่าไหร่เป็นอินโทร วินาทีที่เท่าไหร่ท่อนร้องจะเริ่ม วินาทีที่เท่าไหร่จะหยุดร้องและเริ่มเข้าเอาต์โทร ดังนั้น ดีเจไม่ต้องทำห่านอะไรกับเพลงเลยครับ แค่พูดในช่วงเวลาที่ซอฟต์แวร์มันเว้นเอาไว้และพูดให้พอดีกับเพลงที่จัดไว้ก่อนหน้านี้เท่านั้น

    ดีเจอาจได้เปลี่ยนเพลงเองบ้าง แต่จะเสี่ยงโดนด่าไล่หลังมาแต่ไกลจากเจ้านาย...

    พอดีเจไม่ต้องเปิดเพลงเองแล้ว ความรู้เรื่องเพลงก็เลยไม่ค่อยจำเป็นเท่าเมื่อก่อน แก่นของการเป็นดีเจก็เคลื่อนจากการเปิดเพลงให้โดน กลายเป็นเรื่องการเอ็นเตอร์เทนคนฟังให้สนุก จนบางทีก็เผลอนึกไปว่านี่มันดีเจหรือดาราตลกวะ? พอดีเจจะกลายเป็นใครก็ได้ แล้วทำไมจะต้องเอาดีเจหน้าตาธรรมดาๆ ด้วย? ดีเจสมัยนี้ก็เลยกลายเป็นการขายหน้าตา บุคลิก ความตลกและความเป็นเซเลบฯ เพื่อเรียกคนฟัง และแน่นอน—เพื่อขายสปอนเซอร์

    ความเวรของการจัดเพลงโดยมิวสิกไดเรคเตอร์ก็คือ บางทีการจัดเพลงของมันก็เสื่อมๆ ไม่เข้ากับบุคลิกของดีเจ หรือที่ห่วยกว่านั้นคือการจัดเพลงล่วงหน้ากันทีละอาทิตย์ บางครั้งมันทำให้ไม่ทันเหตุการณ์ปัจจุบันทันด่วน ที่ซากแฟ้บที่สุดเช่น มิวสิกไดเรคเตอร์จัดเพลงแต่ละอาทิตย์เรียบร้อย บังเอิญวันนั้นมีคนสำคัญในแวดวงสังคมตาย ชาวบ้านชาวช่องเศร้าโศกกันทั้ง

    บ้านทั้งเมือง ใครๆ ก็ไว้อาลัยกัน R.I.P. กันโครมๆ หันมาดูรายชื่อเพลงที่กำลังจะเปิดในรายการ...ได้แต่กุมขมับ แต่ละเพลงช่างร่าเริงสดใสเธคแตกแดนซ์กระจาย จะให้กูได้กล่าวไว้อาลัยช่วงไหนได้บ้าง

    “จากการสูญเสียวันนี้ ผมก็ขอไว้อาลัยกับการจากไปของ...นะครับ เอาละครับเรามาฟังเพลงต่อไปกันละกัน”

    เพลงเปิดมา เพลงแน่นอก...

    พ่อมึ้ง!


    รายได้

    ดีเจมีรายได้หลักๆ คือเงินเดือนและค่าจัดรายการซึ่งคิดเป็นชั่วโมง เงินเดือนดีเจแต่ละคลื่นให้ไม่เท่ากัน บางคลื่นให้เงินเดือนแค่นิดหน่อยประมาณมาตรฐานเงินเดือนขั้นต่ำคนทั่วไปเพื่อทำให้อีดีเจทั้งหลายมันมีฐานะเป็นลูกจ้างให้กับบริษัทบ้าง เวลาจะใช้มันไปทำอะไรก็ยังสะดวกปากอยู่นิดหน่อย หรือบางคลื่นก็ไม่ให้เงินเดือนเลย ดีเจจะได้เงินเฉพาะค่าจัดรายการเท่านั้น ซึ่งมาตรฐานอยู่ที่ประมาณ 450-600 บาท จะมากหรือน้อยกว่านี้ก็ขึ้นอยู่ที่ความดังของดีเจ (เรตนี้หมายถึงดีเจคลื่นวิทยุดังๆ นะฮะ) ดีเจส่วนใหญ่จะทำงานประมาณวันละ 3 ชั่วโมงแต่ถ้ามีดีเจคนไหนมาทำงานไม่ได้ แล้วไปเสียบแทนก็จะได้เงินเพิ่ม เท่ากับหากดีเจหนึ่งคนได้ค่าชั่วโมง 450 บาท ต่อวันเขาจะได้เงิน 1,350 บาท เดือนหนึ่งทำงานทุกวันเว้นเสาร์-อาทิตย์ ก็จะได้เงินอยู่ที่ 35,100 บาท มันเป็นเงินที่เยอะอยู่นะ แต่การที่ทำงานแค่วันละ 3 ชั่วโมง สำหรับบางคนมันก็เป็นเรื่องที่แย่ เพราะมึงก็จะเอาเวลาที่เหลือไปเที่ยว ไปแดก ไปสวิงสวายถลุงเงินกันมันมือ ดีเจคนอื่นจะใช้วิธีทำงานวันละ 3 ชั่วโมง แล้วเอาเวลาที่เหลือไปทำงานอย่างอื่น ซึ่งดีเจที่ดังจัดมันก็จะมีงานอื่นชุก พองานชุกมันก็ทำให้ลาบ่อย พอมันลาเราก็ไปทำแทน เราก็ได้เงินเพิ่ม แต่บ่อยๆ ก็น่าเบื่อเหมือนกันนะเว้ย ห่านี่ ลาอยู่นั่นแหละ

  • ดีเจ

    จากที่อ่านเรื่องรายได้ หลายคนอาจเริ่มรู้สึกว่าการฝันเป็นดีเจนี่แหละคือทางที่ถูกต้องแล้ว แต่แนวร่วมยุติฝันกลับบอกว่า จะเป็นดีเจเหรอ? ต้องดูก่อนว่า

    มึงอะเป็นใคร เป็นดาราหรือเปล่า? เป็นเซเลบฯ เหรอ? เป็นลูกใครที่ดังๆ มีอิทธิพลมั้ย? ถ้าไม่ใช่ มึงก็ต้องหล่อขนาดเป็นดาราแบบเบียดสีข้างณเดชน์เลยนะถึงจะเป็นดีเจได้ เพราะเดี๋ยวนี้วงการดีเจ ไม่ได้เป็นอาชีพที่เปิดกว้างให้กับคนที่รักและมีความรู้ด้านเพลง แต่กลายเป็นอาชีพเสริมให้กับคนดังในวงการไปเรียบร้อยแล้ว ทางคลื่นมักไปหาคนดัง ดารา นักร้อง หรือใครที่วัยรุ่นชอบมาเป็นดีเจ เพื่อทำให้คลื่นขายโฆษณาได้ง่ายขึ้น เวลาคลื่นมีกิจกรรมที่ไหนจะได้มีคนติดตามไปเพราะอยากเจอคนดังๆ เหล่านั้น สรุปวงการดีเจคือวงการ Selected Member คัดเฉพาะสมาชิกที่ถูกเลือกเท่านั้นถึงจะเข้าไปเป็นดีเจได้ อ่านถึงตรงนี้หลายคนอาจจะประท้วงว่า ไม่จริง! ยังมีการประกวดคัดเฟ้นหาดีเจต่างๆ นานาอยู่นี่นา?

    โอเค ไม่เถียงว่ามีการประกวดดีเจอยู่เนืองๆ แต่จริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เราเห็นกันหรอกนะครับ


    ประกวดดีเจ

    บอกตรงๆ แบบไม่เกรงใจ คลื่นเพลงเดี๋ยวนี้มันก็คือโฆษณา 24 ชั่วโมงที่มีเพลงคั่นรายการ แต่เราก็ไปบ่นว่าโฆษณาเยอะไม่ได้แล้วนะครับ เพราะมันคือสถานที่ที่ถูกเข้าใจว่าต้องมีโฆษณาไปแล้ว ถึงจะมีคลื่นไหนที่ออกมาคุยว่าเพลงคลื่นนี้ไม่มีโฆษณาคั่น แต่กูฟังมึงทีไร มึงจะต้องมีพักเบรกแล้วพูดชื่อคลื่นของมึงเองอยู่ตลอดเวลา มันจะไม่มีโฆษณาได้ยังไง? ในเมื่อพวกมึงโฆษณาคลื่นของตัวเองอะ!?

    ในเมื่อคลื่นวิทยุเป็นโฆษณา 24 ชั่วโมง วิธีที่จะทำให้คลื่นวิทยุมีอายุยืนยาวโดยไม่เจ๊งก่อนเวลาอันสมควรก็คือ ต้องหาลูกค้ามาลงโฆษณาที่คลื่นเยอะๆ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม แต่ส่วนใหญ่มักมีสองกิจกรรมที่เราได้ยินเสมอก็คือ ‘คอนเสิร์ตสัญจร’ ที่จัดโดยคลื่นเพลง—ผลคือมีโลโก้สินค้าตามไปเพียบ หรือสุดยอดกิจกรรมสำหรับคนที่ฝันอยากเป็นดีเจรอคอย กิจกรรม ‘DJ Search’ หรือการค้นหาดีเจหน้าใหม่ ความเป็นจริงคือ การเฟ้นหาดีเจอะไรเนี่ยมันก็แค่สิ่งที่จัดขึ้นไปงั้น เพื่อที่ทางคลื่นจะได้มีพื้นที่เอาโลโก้ลูกค้าต่างๆ ไปอวดโฉมให้คนเห็นทั่วๆ เท่านั้นแหละ ส่วนรางวัลใหญ่ของไอ้กิจกรรม DJ Search โดยมากก็เป็นเงินสด และแถมด้วยการได้เป็นดีเจหน้าใหม่ให้กับทางคลื่น แต่ถามยังงี้ดีกว่า ลองนึกดูสิว่าในรอบห้าปีนี้เราเคยมีดีเจดังๆ ที่มาจากการประกวดอยู่บ้างมั้ย? เราแทบไม่มีเลยนะ (นี่นั่งนึกอยู่ตั้งนานก็นึกไม่ออก) เพราะสิ่งที่ผู้ชนะจากเวทีประกวดก็คือ คลื่นจะจับเซ็นสัญญาระยะสั้นเพียง 3 เดือนเท่านั้น แหม ก็บอกแล้วไงว่าคนที่ชนะจะได้เซ็นสัญญาเป็นดีเจในสังกัด แต่ไม่เคยบอกนะว่าจะให้เซ็นเป็นดีเจกี่เดือน ดีเจหน้าใหม่ (ที่ไม่มีคนรู้จัก) จะต้องจัดรายการได้โคตรดี สุดมันและฮิตที่สุดเท่านั้นถึงจะได้ทำงานต่อไป แต่แค่ดีแบบกลางๆ เฉยๆ ไม่มีคนกรี๊ดครบสัญญา 3 เดือนก็เก็บกระเป๋ากลับบ้านไปได้เลยฮะ เพราะยังไงซะทางคลื่นก็อยากได้เซเลบฯ คนดังเป็นที่รู้จักมา เป็นดีเจมากกว่าคนที่ชนะประกวดอยู่แล้วล่ะ

    เรื่องตลกของดีเจก็คือ เวลาที่เขาด่าว่าคลื่น ดีเจก็รับกันไปเต็มๆ เพราะดันอยู่หน้าไมค์ แต่เวลาที่เขาชมว่า “อุ๊ยจัดเพลงดีจังเลยค่ะ” เราก็จะเกิดอาการกระอักกระอ่วนในใจ...เอิ่ม ก...กะ...กูไม่ได้จัดเพลง เขา...ไม่ได้ชมกูหรอกนะ...ใช่มั้ย

  • จากที่เมื่อก่อนดีเจคืออาชีพที่อาศัยความรู้ด้านเสียงเพลง ปัจจุบันดีเจคือเซเลบฯ คนดัง มันหมายความว่าการสิ้นสุดยุคของดีเจสมัยนี้มันก็ง่ายขึ้นไปด้วย...เพราะแค่ เพียงเราไม่ดังเหมือนเมื่อก่อน ก็สามารถหลุดผังจากการเป็นดีเจได้แล้วนะครับ

    ถ้าใครฝันอยากเป็นดีเจที่จะได้เปิดเพลงที่ตัวเองชอบหรืออยากฟังให้คนอื่นฟังไปด้วย...ตื่นได้แล้วนะ มึงจะไม่ได้ทำสิ่งที่มึงชอบ แต่ถ้าอ่านแล้วยังอยากเป็นดีเจอยู่ก็สู้ๆ เข้านะครับ แนะนำให้เริ่มจากเป็นนักร้องหรือเป็นดาราก่อน...เออ ไอ้นักร้องกับดารามันห่วยเหมือนกันนะ เป็นไหวเหรอ?



เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in