เรารู้จัก "ศาสนา" ดีแค่ไหน?
คือคำถามแรกตอนเห็นหนังสือเล่มนี้
ศาสนา เป็นประเด็นที่เปราะบางและอ่อนไหวมากในหลายสังคม แต่สำหรับคนที่อยู่ในสังคมที่เรียนรู้หลายศาสนาไปพร้อม ๆ กัน เช่น ตัวเราเองที่บ้านเป็นคนจีน นับถือบรรพบุรุษ และนับถือพุทธ แต่เรียนโรงเรียนคาทอลิก เรารู้สึกว่า ความแตกต่างทางศาสนาเป็นเรื่องปกติเหลือเกิน ไม่เห็นแปลกถ้าคนเราจะนับถืออะไรที่ต่างกัน -- แต่สำหรับบางสังคม ในบางช่วงเวลา ความคิดแบบนี้อาจจะผิดไป
หนังสือเล่มนี้เขียนโดยผู้นำทางศาสนาชาวสก็อตแลนด์ท่านหนึ่ง ซึ่งเรามารู้ว่าคนเขียนเป็นผู้นำศาสนาก็ตอนอ่านไปจะครึ่งเล่มแล้ว กลัวเหมือนกันว่าเขาจะเขียนลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือเปล่า ผลคือก็ไม่ได้ดูลำเอียงจนน่าเกลียด มีบางข้อความที่รู้สึกว่า คนเขียนเป็นโปรแตสแตนท์แน่ ๆ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเข้าข้างฝ่ายไหน โจมตีคาทอลิกตามสมควร และเขียนถึงศาสนาอื่น ๆ ในมุมมองที่น่าสนใจ
พออ่านจบจะได้เห็นภาพรวมของประวัติศาสตร์ศาสนาที่ควบคู่มากับความเปลี่ยนแปลงของโลก การเมืองที่เกี่ยวข้องกับศาสนา (เลี่ยงไม่ได้จริง ๆ อันนี้) การตีความพระเจ้าในแง่มุมที่ต่างกันไป แต่ข้อดีคือ หนังสือเล่มนี้ไม่เรียกร้องให้เชื่ออะไรเลย แค่เล่าถึงศาสนาในมุมมองหนึ่ง ซึ่งน่าสนใจ
สำหรับเรา พออ่านจบแล้วสนใจแนวคิดของศาสนาเซน ว่าด้วย คนเรามองเห็นความจริงต่างกัน เปรียบเทียบกับชายตาบอดหกคนลูบคลำช้าง พวกเขามองไม่เห็นว่าช้างรูปร่างเป็นอย่างไร เพียงแต่ลูบคลำไปแล้วคิดว่าเป็นสิ่งนั้น ลูบไปเจอขาอาจจะคิดว่าเป็นท่อนไม้ก็ได้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดูเข้าใจชาวบ้านที่สุด 555
ท้ายสุดคนเขียนนำเสนอแนวคิด "มนุษยนิยม" ที่มนุษย์กระทำสิ่งที่ตนคิดว่าดีในชีวิตนี้ พระเจ้าอาจจะมีหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตีความของตน แต่ไม่เรียกร้องให้ใครเชื่อหรือศรัทธา และพร้อมเปิดรับความเชื่ออื่น ๆ ซึ่งก็น่าสนใจอีกเช่นกัน
อ่านจบแล้วรู้จักศาสนามากขึ้นไหม -- ก็มากกว่าที่เคยรู้ แล้วก็ได้เห็นมุมมองที่คาดไม่ถึงหลายอย่างด้วย โดยรวมก็ชอบเล่มนี้เลย เขียนสนุกดี แปลดีมากด้วย
เอกสารอ้างอิง
ฮัลโลเวย์, ริชาร์ด. (2560). ศาสนา: ประวัติศาสตร์ศรัทธาแห่งมวลมนุษย์. แปลโดย สุนันทา วรรณสินธ์ เบล. กรุงเทพฯ: โอเพ่นเวิลด์ส พับลิชชิ่ง เฮาส์.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in