เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
#วิรัลอ่านa week before valentine
เล่มที่ยี่สิบ - Call me OPPA


  • "คนไทยคนแรกที่ได้ทำงานใน SM Entertainment" คือข้อความที่ทำให้เราได้รู้จักกับพี่ปรุง - ทัชระ ล่องประเสริฐ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เรารู้จักเขาจากรายการโทรทัศน์ของเกาหลีรายการหนึ่งที่เขาได้ร่วมรายการด้วย หลังจากนั้นก็เห็นหน้าพี่ปรุงอีกทีตอนที่ 'เตนล์ NCT' หรือ 'เตนล์ - ชิตพล ลี้ชัยพรกุล' เดินทางมาจัดการเรื่องเกณฑ์ทหารที่ไทย และล่าสุด เราเจอพี่ปรุงที่งาน KCON ในฐานะล่ามและผู้ดำเนินรายการช่วงพรมแดงก่อนการแสดงของ KCON Thailand

    ใคร ๆ ก็รู้ว่าพี่ปรุงทำงานที่เกาหลี แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า การทำงานที่เกาหลีต้องเผชิญกับอะไรบ้าง 'Call me OPPA' คือหนังสือที่เล่าเรื่องพวกนั้น แน่นอนว่าคงไม่ได้ลงลึกรายละเอียดเกี่ยวกับบริษัท (เพราะมันทำไม่ได้น่ะสิ!) แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ (มาก ๆ) เพราะมันเป็นสิ่งที่สื่อบันเทิงหรือสื่อต่าง ๆ ของเกาหลีไม่เคยนำเสนอ มันเป็นวัฒนธรรมที่เขาอยู่กันมาอย่างเคยชิน แต่เมื่อมีคนต่างชาติไปอยู่ก็พบว่า นี่มัน Culture Shock นี่พวกเธอทำอะไรกันอยู่ ชาวเกาหลี อะไรแบบนี้

    เนื้อหาในเล่มส่วนใหญ่พูดถึงการปรับตัวกับการทำงานและค่านิยมแบบเกาหลี ตั้งแต่ค่านิยมแบบ Lookism ที่อะไรก็ต้องตัดสินจากภายนอกไว้ก่อน การทำงานแบบเข้มข้น ระดับความอาวุโสอันลือเลื่อง (ตกใจมากตอนเห็นลำดับการนั่งในห้องประชุมและการกินข้าว -- ขั้นนี้เลยเหรอ...) ธรรมเนียมปฏิบัติยิบย่อยที่คนไทยบางคนอาจจะตาเหลือกไปเลยว่า มันจะอะไรนักหนา (วะ) แต่หนังสือเล่มนี้ก็เปิดโลกมากพอสมควร เพราะเรื่องพวกนี้ไม่ค่อยมีคนมาเล่ากันเท่าไหร่ (เราก็เบื่อคอนเทนต์อาหารเกาหลี หนุ่มเกาหลี แฟชั่นเกาหลีแล้วอะนะ บางที 555 อยากรู้เรื่องอื่นบ้าง)

    ในเล่มนี้ พี่ปรุงพูดถึงอุตสาหกรรมบันเทิงในเกาหลีอยู่นิดหน่อย (นิดหน่อยจริง ๆ เข้าใจว่าพูดมากไม่ได้ 555) ไอดอลเกาหลีไม่ได้เป็นแค่อาชีพที่ร้องและเต้นเพื่อให้ความบันเทิงกับผู้ชมหรือแฟนคลับ แต่ไอดอลเข้าไปอยู่ในกระบวนการหลาย ๆ อย่าง การเจรจาทางการค้า การสร้างสัมพันธไมตรีกับชาติอื่น ๆ อุตสาหกรรมบันเทิงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาชาติเกาหลี และการจะปั้นไอดอลขึ้นมาสักวงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มันไม่เคยเป็นเรื่องง่าย ตั้งแต่ขั้นตอนการ casting หาคนมาเข้าออดิชั่น กว่าจะผ่านการออดิชั่น กว่าจะฝึกฝนจนพร้อมเดบิวต์ เป็นศิลปินของค่ายอย่างเป็นทางการ มีการลงทุนลงแรงมหาศาล และมีผู้เกี่ยวข้องมากมาย เป็นระบบอุตสาหกรรมที่ยิ่งใหญ่ และค่ายใหญ่ ๆ ก็ฝังรากลึกอยู่ในระบบนี้มานาน นานพอที่จะทำให้ค่ายใหญ่มีเครดิต มีทรัพยากรที่ทำให้เด็กใหม่ ๆ อยากวิ่งเข้าหาเพื่อหาตัวเองไปสู่ฝันที่ตั้งไว้ (ซึ่งค่ายใหญ่ ๆ นั่นก็ไม่พ้นต้องมี Big 3)

    ตอนไปขอลายเซ็นพี่ปรุง (เซ็นหนังสือเล่มนี้แหละ) เราก็ถือโอกาสถามความคิดเห็นพี่ปรุงไปด้วยว่า พี่ปรุงคิดว่าจุดแข็งของ SM Entertainment คืออะไร คำตอบของพี่ปรุงหลัก ๆ ก็คือระบบการวางแผน ความสามัคคีในการทำงานและการจัดการ และ Research ซึ่งเราก็เห็นได้จากงานของค่าย (https://twitter.com/1999O125_LW/status/1054771962013052928)

    ทีนี้ ในเมื่อหนังสืออาจจะไม่ได้ตอบโจทย์หลาย ๆ คนที่อยากเจาะลึกเบื้องหลังการทำงานใน SM (คือ...ด้วยคอมมอนเซนส์ พี่เขาย่อมพูดถึงไม่ได้) แต่เราก็ยังอยากให้ทุกคน ๆ อ่านหนังสือเล่มนี้อยู่ดี เนื้อหาในหนังสืออาจจะทำให้หลายคนเข้าใจความเป็น "เกาหลี" มากขึ้นกว่าแค่สื่อที่เราเคยเห็น มีหลายมุมที่รู้ไว้ใช่ว่า ไปเที่ยวคราวหน้าอาจจะได้วิธีรับมืออะไรใหม่ ๆ วิธีการเล่าของพี่ปรุงก็สนุกมากด้วย (ตลกจริง ๆ นะ 555) อ่านแป๊บเดียวก็จบ ไปซื้อหามาไว้กันได้

    สุดท้าย เรายังคิดว่า การจะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ อาจไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ต่างภาษาและวัฒนธรรม แต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เลย และพี่ปรุงเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนั้นนะ


    อ้างอิง – ปรุงโอปป้า.  (2561).  Call me OPPA.  กรุงเทพฯ: บันลือบุ๊คส์.

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in