เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวีวสมัครทุนรัฐบาลเกาหลี GKS ป.โท 2021benj_1311
รีวิวสมัครทุนรัฐบาลเกาหลี GKS ป.โท 2021 ฉบับคนเปลี่ยนสายเรียน

  • สิ่งที่เราจะแชร์
    1. ทุนรัฐบาลเกาหลีคือ.....
    2. สิ่งที่จะได้รับสนับสุนจากทุนรัฐบาลเกาหลี
    3. คุณสมบัติผู้สมัคร 
    4. ช่องทางการสมัครและข้อมูลรายละเอียด
    5. สาขาที่เราสมัครและ background 
    6. ขั้นตอนการเตรียมตัว 
    7. Timeline
    8. การเขียน PS กับ SOP
    9. การสัมภาษณ์




  • 1. ทุนรัฐบาลเกาหลี คือทุนที่รัฐบาลเกาหลีมอบให้กับนักเรียนต่างชาติทั่วโลกเพื่อให้นักเรียนต่างชาติได้ไปเรียนต่อในระดับป.ตรี ป.โท. ป.เอก ณ มหาลัยในประเทศเกาหลี เพื่อสร้างความสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศเกาหลีกับประเทศต่างๆ สำหรับประเทศไทย รัฐบาลเกาหลีมอบทุนให้นักเรียนไทย เรียนต่อในระดับป.โท-เอก ราวๆ 30-40ทุนต่อปี จำนวนขึ้นอยู่กับโควต้าปีนั้นๆ 

    2. ทุนนี้สนับสนุน                                                                                                                                  -ค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับ                                                                                                                          -ค่าเทอม                                                                                                                                                  -ประกันสุขภาพ                                                                                                                                      -ค่าตั้งรกราก 200,000 วอน                                                                                                                    -ค่าใช้จ่ายรายเดือน1,000,000วอน/เดือน                                                                                                -ค่าวิจัย 210,000วอน/เทอม                                                                                                                    -ค่าเรียนภาษาเกาหลี1  ปี หากยังไม่มีผลสอบภาษาเกาหลี TOPIK 5-6                                                    -หากมีผลสอบภาษาเกาหลีTOPIK 5-6 เพิ่มให้ 100,000วอน/เดือน

    3. คุณสมบัติเบื้องต้นของผู้สมัคร                                                                                                           -ผู้สมัครและพ่อแม่ของผู้สมัครไม่ถือสัญชาติเกาหลี                                                                                -หากสมัคร ป.โท ก็ต้องมีวุฒิการศึกษาเทียบเท่าระดับป.ตรีหรือสูงขึ้นไป                                                -ระดับ.โท-เอก อายุไม่เกิน 40 ปี                                                                                                                -เกรดเฉลี่ย 2.64/4.00 ขึ้นไป

    4. ช่องทางการสมัครและข้อมูลรายละเอียด

    วิธีการสมัคร มี2 แบบ 

    1. สมัครผ่านสถานฑูตเกาหลีในประเทศไทย (เลือกได้3มหาลัย)                                                                2. สมัครมหาลัยโดยตรง  (เลือกได้1มหาลัย)   *เราเลือกสมัครผ่านมหาลัยโดยตรง*    

    ก่อนหน้าปี 2021 มีกฎว่าต้องเลือกสมัครแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น แต่ในกำหนดปี 2021 หากผู้สมัครยื่นผ่านสถานฑูต แล้วไม่ผ่าน ก็สามารถยื่นผ่านมหาลัยได้อีกรอบ ถ้าทันภายในระยะเวลาที่มหาลัยกำหนด ฉะนั้นแล้วต้องอ่านระเบียบการปีนั้นๆให้ดี                  

    ถ้าถามเราว่าสมัครแทรคไหนดี? เราแนะนำว่าให้เตรียมเอกสารไว้สองชุดสำหรับสมัครผ่านสถานฑูต กับสมัครผ่านมหาลัย แล้วพอตอนประกาศระเบียบการออกมา "ถ้า"กฎเป็นเหมือนปี 2021 ให้โอกาสทั้งสองอย่าง ให้ลองยื่นสถาฑูตก่อน สกรีนรอบแรกของสถานฑูตใช้เวลาประมาณ 2อาทิตย์มั้ง (ถ้าจำไม่ผิด) ถ้าไม่ติดรอบแรกสถานฑูต มันยังเหลือเวลาสำหรับสมัครบางมหาลัย ให้เดินหน้าสมัครรอบมหาลัยต่อเลย                                            

    รายละเอียดการสมัครทั้ง 2แบบ จะไม่เหมือนกัน สามารถเช็คเพิ่มเติ่มได้ที่เว็บไซต์ Study in Korea > Scholarship > GKS Notice   https://www.studyinkorea.go.kr/en/main.do    

    ถ้าจะสมัครป.โท-เอกดูที่ไฟล์ GKS-G (Graduate) โดยมี ไฟล์หลักที่ต้องโหลดมาอ่าน        - Application Guildline อธิบายเกณฑ์การรับสมัคร  จำนวนโควต้า ขั้นตอน ระยะเวลา เกณฑ์การเลือก เป็นต้น                                                                                                                                                    - University Information ข้อมูลเกี่ยวกับมหาลัยที่เข้าร่วมคณะที่สมัครได้ เกณฑ์แต่ละคณะ เอกสารที่ใช้สมัคร ซึ่งแต่ละมหาลัยขอไม่เหมือนกัน ต้องดูให้ละเอียด                                                                          - Q&A   คำถามที่พบบ่อย

    **ย้ำเหมือนหลายรีวิวคืออ่านไกด์ไลน์ให้ละเอียด!                                                  

  • 5. สาขาที่เราสมัครและbackground 

    เราสมัครผ่านมหาลัยโดยตรง สมัครคณะ International trade and logistics Chung-Ang University 

    GPAX 3.5X                                                                                                                                              TOEIC 8XX                                                                                                                                          TOPIK 6                                                                                                                                                จบเอกภาษาเกาหลี                                                                                                                                เคยไปแลกเปลี่ยนที่เกาหลี                                                                                                                        ไม่มีรางวัลหรืองานวิจัย                                                                                                                          มีประสบการณ์การทำงานในบริษัทโลจิสติกส์เกาหลีประมาณปีกว่าๆ


    6. ขั้นตอนการเตรียมตัว 

    1. ถึงเขาจะระบุว่าคะแนนภาษายื่นหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้ายื่น TOPIK Level 3 ขึ้นไป มีคะแนนพิเศษให้ 10%  ส่วนตัวคิดว่าอันนี้สำคัญนะ แม้จะระบุ optional  ทั้งภาษาเกาหลีและอังกฤษ ก็ควรสอบเก็บไว้ และยิ่งคะแนนสูงยิ่งมีโอกาส เรามีคะแนน TOEICอยู่แล้ว เลยเตรียมตัวสอบ TOPIK ตั้งแต่ปลายปี 2020 เพื่อยื่นปี 2021 (คนไทยส่วนใหญ่ยื่นคะแนนภาษากันหมด ไม่อย่างใดอย่างนึงก็ทั้งสองอย่าง)

    2. หาคณะที่สนใจก่อนอันดับแรก แล้วลิสต์ว่ามีมหาลัยอะไรบ้าง วิชาที่สอนเป็นยังไง ปักหมุดมหาลัยที่ตรงใจ เรามีคณะและมหาลัยที่สนใจที่เดียว เลยเลือกสมัครผ่านมหาลัย 

    3. เข้ากลุ่มเฟซบุคพวก KGSP Applicants ที่รวมต่างชาติ กับกรุ๊ปไลน์คนไทย เพื่อติดตามข่าวสาร จะบอกว่ามีประโยชน์มาก เพราะเพื่อนๆจะมาแชร์ประสบการณ์ปีก่อนๆ ข้อมูลแต่ละมหาลัย ข้อมูลวงใน หากมีอะไรสงสัยก็ถามเพื่อนๆได้ เราแนะนำว่า ถึงเราจะสมัครแค่มหาลัย A แต่ถ้ามีมหาลัย B C ที่สนใจ ก็ให้กดเข้าร่วมกลุ่มมหาลัยนั้นด้วย เพื่อที่ถ้าเราพลาดปีนี้ไป แล้วจะเปลี่ยนไปสมัครมหาลัยอื่นๆในปีหน้า จะได้รู้ข้อมูลการสมัคร

    4. ตอนเริ่มเขียน PS SOP เราทั้งดูยูทูปช่องที่แนะนำทุนเยอะมาก อ่านรีวิวเยอะกว่า ขอให้เพื่อนคนเกาหลี อาจารย์ประจำภาคหัวหน้า หัวหน้าคนเกาหลีช่วยดูและให้ฟีดแบค ซึ่งมักจะได้ไอเดียดีๆมาเติมเสมอ เราแก้และปรับไปเรื่อยๆ ใช้เวลาส่วนนี้เยอะมากกกก

    5. ระหว่างเตรียมเรียงความก็เตรียมเอกสารไปด้วย เอกสารที่เราแนบไปทั้งหมดมีดังต่อไปนี้ (ดูที่ติ้กช่อง yes)


    ในไกด์ไลน์จะมีบอกว่าให้แปะหมายเลขแบบฟอร์มตรงมุมขวาบนของเอกสาร เราเลยแปะแบบนี้


    6. เมื่อเรียบร้อยแล้วก็ส่งตรงไปตามที่อยู่มหาลัยของเกาหลีเลย อยากบอกว่าให้กะเวลาให้เอกสารถึงมหาลัยก่อนกำหนดเดดไลน์สัก 1-2อาทิตย์  เพราะถ้าเขาขอเอกสารเพิ่มเติมจะได้ส่งทัน เพราะบางที่เข้มงวดมาก หรืออาจจะเมลล์ถามว่าเอกสารครบเรียบร้อยดีไหมก็ได้ จะได้สบายใจ

    7. จากนั้นก็รอว่ามหาลัยที่เราสมัครมีรอบสัมภาษณ์ไหม บางมหาลัยก็ไม่มี มหาลัยที่เราสมัครมีสัมภาษณ์ ดังนั้นหลังจากส่งเอกสาร เราเริ่มเตรียมสคริปจากคำถามที่เพื่อนๆเเชร์ในกลุ่มแล้วซ้อมเลย ทั้งๆที่ไม่รู้จะโดนเรียกหรือเปล่า ต้องเตรียมเผื่อไว้ๆ 


    7. Timeline การสมัครปี 2021

    ประกาศรับสมัครทุนป.โท-เอก 22 กุมภาพันธ์

    ส่งเอกสารถึงมหาลัยได้ถึง 9 เมษายน

    ได้รับอีเมล์นัดวันสัมภาษณ์ 14 เมษายน

    สัมภาษณ์กับคณะ 19 เมษายน

    ประกาศรอบแรกจากมหาลัย 3 พฤษภาคม

    ประกาศผลรอบสองจากNIIED 3 มิถุนายน

    ส่งผลตรวจสุขภาพ 16 มิถุนายน

    ประกาศรอบสุดท้าย 25 มิถุนายน

    บิน 11 สิงหาคม

  • 8. การเขียน PS กับ SOP

    Personal Statement

    มี 4-5 คำถาม เราแบ่งเป็นหัวข้อๆ ในแต่ละหัวข้อเขียนอธิบาย 1ย่อหน้า เขาจำกัดเขียนแค่ 1หน้า ฉะนั้นเขียนได้ไม่เยอะ เลยต้องกระชับ เราขยายกรอบออกข้างๆ คำสั่งคือให้ใช้ฟอนต์ TimeNew Romans 11 แต่เราเขียนเป็นภาษาเกาหลีเลยใช้ฟ้อนต์ Batang 11 แทน 


    Motivations with which you apply for this program                                                                  เราอธิบายถึงข้อดีของทุนนี้ในหลายๆด้านที่ทำให้เราอยากสมัคร เช่น เราสามารถเลือกเรียนในคณะที่เราสนใจได้ ทุนนี้สนับสนุนทั้งค่าเทอม ค่าใช้จ่ายต่างๆ เลยจะทำให้เราโฟกัสกับการเรียนได้ดี อิงจากตอนที่เคยไปแลกเปลี่ยน เราชอบระบบมหาลัยเกาหลีที่มีวิชาให้เลือกเรียนหลากหลาย มีข้อมูลวิจัยที่เข้าถึงได้ง่าย อีกอย่างการไปเรียนต่างประเทศ ก็ทำให้เราสามารถแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ความรู้ที่แตกต่างและประสบการณ์ใหม่ๆกับเพื่อนต่างชาติได้ และยังมีโอกาสได้ไปดูงานในบริษัทชั้นนำของเกาหลี

    Family and Education background                                                                                                  เราเขียนประมาณว่า ครอบครัวเราค่อนข้างให้ความสำคัญกับการศึกษาเลยสนับสนุนให้เรียนในสิ่งที่เราถนัดและสนใจ แล้วโยงเข้าเรื่องตัวเอง ว่าเราเลือกเรียนเอกภาษาเกาหลีเพราะอะไร  เราทำอะไรบ้างเพื่อให้เก่งเกาหลีมากขึ้น เพื่อให้เข้าใจวัฒนธรรมเกาหลีดีมากขึ้น รวมไปถึงเล่าว่าเคยเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนที่เกาหลี ต่อเนื่องไปถึงหลังจบแล้วทำงานมาอะไรบ้าง เราเน้นไปงานปัจจุบันที่ทำ ทำงานที่บริษัทไหน เพราะมันคือเหตุผลที่ทำให้เราอยากเรียนต่อ เราอยากเป็นอะไรในอนาคต รวมถึงอธิบายสั้นๆ ว่าทำไมต่อสาขาโลจิสติกส์ที่เกาหลีและเหตุผลที่เลือกมหาลัยนี้

    Significant experiences you have had; risks you have taken and achievements youhave made, persons or events that have had a significant influence on you                เจอหัวข้อนี้ก็แอบเครียดเพราะสมัยเรียนไม่ค่อยทำกิจกรรมแบบจริงจังหรือเข้าร่วมประกวดอะไรเลย ถ้าย้อนเวลากลับไปคงบอกตัวเองให้ไปทำกิจกรรมเยอะๆ ใครยังเรียนอยู่เข้ากิจกรรมเยอะๆนะ หัวข้อนี้เราเลยเน้นที่งานปัจจุบัน เล่าถึงหน้าที่ความรับผิดชอบ สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากงาน การได้รับประเมินเกรดที่ดีนั้น เรามองว่ามันคือความสำเร็จเล็กๆ ที่จุดประกายให้เราอยากพัฒนาขึ้นไปอีก เราอยากเรียนต่อ เพราะอยากรู้หลายๆแขนงของสายงานโลจิสติกส์  อีกทั้งจากการทำงานเนี่ย ก็ยังทำให้เราเจอเรื่องที่อยากวิจัย ซึ่งหากเราได้เรียนรู้เพิ่มเติมเราเชื่อว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศมากขึ้นในด้านนี้ๆ ก็เขียนไป โม้ไปอีกว่า ถึงเราจะไม่ได้จบด้านนี้ แต่ประสบการณ์การทำงานทักษะภาษา ความมุ่งมั่นจะทำให้สำเร็จได้ (พลังบวกต้องมา!)

     -Extracurricular activities such as club activities, community serviceactivities or work experiences                                                                                                                                           -If applicable, describe awards you have received, publications you have made, orskills you have acquired)                                                                                                               เราจับสองหัวข้อนี้มาเขียนรวมกันเลย เน้นเล่าถึงตอนไปแลกเปลี่ยนที่เกาหลีเพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าเราเคยใช้ชีวิตในสังคมของเขา การไปเรียนที่นั่นจะไม่เป็นอุปสรรคในการปรับตัว เขียนถึงทักษะต่างๆที่ได้พัฒนาขึ้นตอนอยู่ที่เกาหลี เช่น ทักษะภาษาเกาหลีดีขึ้น การได้พบเพื่อนหลายชาติทำให้เราเคารพความหลากหลาย ทำให้เราปรับตัวในสภาพแวดล้อมที่ทำงานกับคนต่างชาติได้ง่าย มีความรับผิดชอบมากขึ้น จัดการเวลาดีขึ้น (และนี่คือการแอบเนียนบอกข้อดีของตัวเราไปด้วยเลย) พอเราได้เรียนรู้ทั้งภาษาและวัฒนธรรมเราก็เอากลับมาแบ่งปันให้กับคนไทยที่สนใจเกาหลีด้วย (พยายามให้เขาเห็นว่าการไปครั้งนั้นเป็นประโยชน์ต่อตัวเองและคนอื่นนะ)


    เราเชื่อว่าทุกคนมีประสบการณ์ที่ต่างกัน มีข้อดีข้อด้อยต่างกันออกไป พยายามหาจุดแข็งตัวเองให้เจอ เลือกมาเขียนด้วยคำที่ positive เราวิเคราะห์ตัวเองว่า เรามีจุดอ่อนคือการเปลี่ยนสายเรียน เราไม่เคยเรียนด้านโลจิสติกส์มา เลยเขียนถึงประสบการณ์ทำงานตรงแทน  เราไม่มีงานตีพิมพ์ วิจัย หรือรางวัลใดๆ เลยพยายามเอาสิ่งที่เป็นจุดแข็งอื่นเขียนลงไป เช่น การพยายามสอบวัดระดับภาษาเกาหลีระดับสูง ประสบการณ์ที่ผ่านมาเน้นให้โยงกับเกาหลี การเรียนภาษาเกาหลี การไปแลกเปลี่ยนที่เกาหลี การทำงานในบริษัทเกาหลี เป็นต้น จากที่คุยกับเพื่อนคนอื่นที่ผ่าน แต่ละคนมีโปรไฟล์ที่ต่างกันมากๆ ส่วนสำคัญคือการเขียนแนะนำตัวว่าเรามีดีตรงไหน เราเป็นคนแบบไหน มีประสบการณ์อะไรมาบ้าง และต้องแสดงความมุ่งมั่นในการเรียนต่อในสาขานั้นที่เกาหลีจริงๆ

  • Statement of Purpose 

    เราเขียนเต็ม 2หน้า ขยายออกข้างสุด เขียนให้ได้มากที่สุด เพราะอยากแสดงความตั้งใจว่าอยากได้ทุนนี้จริงๆ

    Study plans to improve foreign languages(Korean, English, etc) required for taking adegree course BEFORE and AFTER you come to Korea.                                                            หัวข้อนี้เราเขียนประมาณครึ่งหน้า ตอบไปเลยให้ตรงคำถาม ว่าเราจะฝึกอย่างไร เราบอกเลยว่าตั้งใจจะสมัครทุนนี้ ดังนั้นเราจึงอยากให้อาจารย์เห็นว่าเราพร้อมเข้าเรียน เลยเราทบทวนภาษาเกาหลีและไปสอบเพื่อให้ระดับสูงสุด ถึงจะพอรู้ภาษาเกาหลีมาบ้าง แต่ก่อนไปเกาหลีเราจะพยายามอ่านเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อจะได้รู้ศัพท์เฉพาะ หากเป็นไปได้อยากลงเรียนวิชาเกี่ยวกับภาษาเกาหลีหรืออังกฤษเพิ่ม หมั่นฝึกฝนผ่านทางออนไลน์ด้วยตัวเอง เอาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีคนเกาหลี คนต่างชาติ เช่น เข้าร่วมสัมนา วิจัย เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม (ในไกดไลน์ของมหาลัยเขามีเขียนว่าเขามีจัดกิจกรรมนี้ให้นักเรียนต่างชาติฟรี) 

    Goal of study and detail study plan

    หัวข้อนี้เราว่าสำคัญมากๆ เขียนไปเกือบ 1หน้า ก่อนอื่นเราไปทำความเข้าใจระบบมหาลัยก่อนว่าต้องเก็บกี่หน่วยกิต แต่ละวิชามีกี่หน่วยกิต บังคับเรียนอะไรบ้าง วิชาเลือกมีอะไรบ้าง ซึ่งดูในหน้าเว็บคณะได้เลย เว็บคณะเราค่อนข้างบอกละเอียด แต่เป็นเวอร์ชั่นภาษาเกาหลี และมีไปสอบถามพี่ที่ได้ทุนที่มหาลัยนี้ปีก่อน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง (ขอบคุณพี่คนนั้นที่เปิด ให้ถามใน askนะคะ) และก็หาดูว่าอาจารย์ในคณะทำวิจัยเรื่องอะไรบ้าง ปกติปีก่อนๆจะมีหัวข้อถามถึง research plan แต่หัวข้อปีนี้ไม่มี ถึงอย่างนั้นเราว่ามันสำคัญมากต่อการเรียนป.โท ก็เลยใส่ไปด้วย โดยแบ่งเป็น 3ย่อหน้า                                                                                                                                                                                                   

    - ย่อหน้าแรกคือ เป้าหมายที่เราจะเรียน  (ทริคของเราคือ ไปอ่านหน้าเว็บว่า เขามีเป้าหมายคืออะไรเขียนให้สอดคล้อง โดยปรับให้ภาษาเราเอง)                                                                                            - ย่อหน้าสอง เราเขียนว่าจะเลือกเรียนวิชาพื้นฐาน (선수과목) 5วิชา ดังต่อไปนี้ 1, 2, 3, 4, 5 เพราะสนใจและมันเกี่ยวกับวิชาเอกบังคับที่เราจะลงเรียน ต่อมาเขียนวิชาเอกบังคับ (전공필수과목) 3วิชา โดยเขียนชื่อวิชาว่ามีอะไรบ้างและสอนเกี่ยวกับอะไร ต่อไปเขียนวิชาเลือก (전공선택과목) 7วิชา ตรงนี้เราเขียนว่าอยากเรียนวิชาเลือกต่อไปนี้ 1-7 ไล่ชื่อวิชาไปกับพร้อม เหตุผลประกอบแต่ละวิชาสั้นๆ แค่ประโยค สองประโยค                                                                                                                               - ย่อหน้าสาม เขียนหัวข้อที่เราอยากวิจัย คือการศึกษาเกี่ยวกับการตกลงการค้าระหว่างไทย-เกาหลีที่มีผลต่อปริมาณการนำเข้า-ส่งออก (ส่วนตัวคิดว่าถ้าระบุหัวข้อได้ ใส่ไปเลยน่าจะดี) อธิบายเหตุผลเพราะอะไรถึงอยากศึกษา เราหยอดว่าอาจารย์ที่คณะนี้มีการทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ เชื่อว่าอาจารย์จะช่วยแนะนำเราได้แน่นอน เขียนวิธีทำคร่าวๆว่าจะศึกษาจากไหน ยังไง เนื้อหาหลักมีอะไรบ้าง ปิดท้ายสวยๆด้วย หวังว่างานวิจัยนี้จะทำให้รู้ถึงสิทธิประโยชน์ของการตกลงการค้า เอาประโยชน์ตรงนั้นมาช่วยธุรกิจไทย-เกาหลีทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างกันมากขึ้น ขยายกำลังทางเศรษฐกิจ (มันอาจจะดูเว่อร์ๆหน่อย  ในความเห็นส่วนตัวคิดว่าการเลือกหัวข้อวิจัยค่อนข้างสำคัญสำหรับป.โท ทริคของเราคือไปดูโปรไฟล์อาจารย์ในคณะว่าเขาทำวิจัยเรื่องอะไรกันมาบ้าง ตรงกับความเราสนใจไหม ถ้าใช่ แนวๆเดียวกันก็มาถูกทางแล้ว พยายามเขียนไปให้สอดคล้องกับของอาจารย์)

    เราเคยถามอาจารย์ที่จบป.เอกมาว่า ในมุมมองของอาจารย์ อาจารย์จะรับนักเรียนแบบไหน ซึ่งอาจารย์ก็บอกว่า “อาจารย์จะพิจารณานักเรียนที่ต้องรู้ว่าจะเรียนเพื่ออะไร รู้ว่าเข้ามาแล้วได้เรียนอะไร จะทำวิจัยเรื่องอะไร ทำยังไง จบไปจะเป็นอะไร ต้องทำให้อาจารย์ไม่รู้สึกลำบากใจที่จะรับ”  เราเลยเอาโจทย์นี้มาตอบในส่วน study plan

    Future plan in Korea or another country after study in Korea
    หัวข้อนี้ใช้พื้นที่ประมาณ 3/4 ของหน้า เขียนถึงความตั้งใจจริงๆของเราไปเลยว่า ประโยชน์ที่เรียนมาเนี่ย เราจะเอาใช้ทำอะไร ต้องเป็นอะไรที่ดูเป็นไปได้ ต้องมีแผนการ มีเป้าหมาย อาจจะแบ่งเป็นแผนระยะสั้น ระยะยาว ควักออกมาเลย 1 2 3 4 ว่าไป ให้เพื่อนๆคิดไว้ว่าทุนนี้เป็นเงินภาษีของคนเกาหลี ดังนั้นเขียนถึงแพลนที่จะทำแล้วมันเกิดประโยชน์ต่อทั้งไทยและเกาหลีหรือคนหมู่มากน่าจะเป็นแนวทางที่ดี 

    เราคิดว่าการเขียนเรียงความพวกนี้ไม่ได้มีรูปแบบที่ตายตัว ไม่มีรูปแบบที่เพอร์เฟ็คที่สุด และทุกคนมีประสบการณ์ที่ต่างกัน ไม่ขอการันตีว่าเขียนแบบนี้แล้วจะได้แน่นอน แต่เราอยากแชร์เพื่อเป็นไอเดีย เพราะตอนเราทำเราก็หาอ่านของคนอื่นและมาประยุกต์ใช้กับเรื่องราวของตัวเองเหมือนกัน หวังลึกๆว่าจะมีประโยชน์กับผู้สมัครในปีต่อๆไปไม่มากก็น้อย 

    ขอให้ความพยายามของทุกคนประสบความสำเร็จ HARD WORK ALWAYS PAYS OFF!  

  • 9. การสัมภาษณ์ 

    มหาลัย Chung-Ang จะส่งเมลล์กลางมาแจ้งก่อนว่า ช่วงวันที่ 13-20 เมษายน จะมีเมลล์จากแต่ละคณะที่เราสมัครนัดสัมภาษณ์นะ เหมือนส่งสัญญาณแรกให้เตรียมตัว หลังจากนั้นวันที่ 14 เมษายน ก็มีเมลล์คณะถูกส่งมาโดยผู้ช่วยอาจารย์ ผู้ช่วยอาจารย์คณะเราค่อนข้างช่วยเหลืออย่างดี มีถาม วัน-เวลาที่สะดวก ภาษาที่ถนัดเกาหลีหรืออังกฤษ สุดท้ายก็ลงตัวในวันจันทร์ที่ 19 เมษายนของอาทิตย์ถัดไป มีเวลาอีก 5 วัน (แต่จริงๆเราซ้อมมาตั้งแต่หลังส่งเอกสารเสร็จ) ซึ่งก่อนวันจริงมีนัดเทสต์zoomด้วย เราว่าเราโชคดีที่ได้สัมภาษณ์ผ่านzoom เพราะได้ยินชัดกว่าคุยทางโทรศัพท์มาก (บางคณะก็สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์)

    พอถึงวันจริง บรรยากาศสัมภาษณ์กับอาจารย์ค่อนข้างกันเองมากๆ คำถามทั่วไปๆเหมือนในเรียงความ ความพีคที่เราเจอคือ ในเมลล์ที่นัดสัมภาษณ์ที่ถามว่า ถนัดภาษาอะไรมากกว่า เราตอบว่าภาษาเกาหลีไป ซึ่งคิดว่าน่าจะได้โดนถามเป็นเกาหลีแน่ๆเลย แต่เอาเข้าจริงได้แค่แนะนำตัวเป็นภาษาเกาหลี แล้วอาจารย์เปลี่ยนขอถาม-ตอบภาษาอังกฤษ เพื่อนๆคนไหนที่ได้ภาษาเกาหลี และยื่นคะแนนอังกฤษด้วย ถ้าเป็นไปได้ลองเตรียมสคริปทั้งสองภาษา เพราะเราวางใจเลยไม่ได้เตรียมภาษาอังกฤษ คำถามหน่ะตรงกับที่เตรียม แต่ต้องสลับโหมดเปลี่ยนภาษาหน้างานเลยตะกุกตะกักตอนสัมภาษณ์พอสมควร คณะเรามี 4คน ระยะเวลาสัมภาษณ์ได้สล็อตเวลาคนละ 10นาที แต่จริงๆก็กินเวลาไปคนละ 15-18นาที คำตอบที่เตรียมไม่ต้องน้ำ เนื้อเน้นๆ คำถามหลักๆที่ได้คือ
    แนะนำตัว
    พูดภาษาอังกฤษได้ไหม
    ทำไมอยากเรียนต่อคณะนี้
    เคยเรียนด้านนี้ไหม
    จบไปแล้วอยากทำอะไร
    มีคำถามอะไรไหม

    แม้จะซ้อมเยอะขนาดไหน พอถึงเวลาจริงก็ตื่นเต้นและลกอยู่ดี ฮ่าๆ ที่อาจารย์ถาม เราก็ตอบตามนั้นซื่อๆ ซึ่งพอกลับมาคิด เราน่าจะตอบเยอะกว่านี้ เพราะย้อนกลับไปดู จะเห็นว่าโดนถามไม่เยอะ ยังไม่ได้ขายของเท่าไหร่เลย ฉะนั้นเราต้องชิงขายก่อน ทริคที่อาจารย์ประจำภาคเราแนะนำคือ หนึ่งคำถาม สามคำตอบ เช่นทำไมถึงอยากเรียนคณะนี้ นอกจากจะตอบว่าทำไม เราอาจจะบอกเหตุผลที่เลือกมหาลัยนี้และเหตุผลที่เลือกประเทศเกาหลีไปด้วยเลยก็ได้ แต่ไม่ต้องยาวมาก เอาแบบสั้นๆตรงๆ

    พอสัมภาษณ์เสร็จ ก็รอมหาลัยประกาศรอบแรก 

    รอบแรกคือ เราต้องไปแข่งกับคนสมัครทั่วโลกที่ส่งเอกสารมาที่มหาลัยนั้นๆ 
    ถ้าเลือกมหาลัยในลิสต์ type A อาจจะแข่งขันเยอะหน่อย เพราะส่วนใหญ่เป็นมหาลัยในโซล type B เป็นมหาลัยภูมิภาคกับสายวิทย์ อาจจะแข่งน้อยกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นเราต้องชั่งน้ำหนักดีๆ ว่าจะเลือกไปทางไหน อันนี้ข้อมูลที่เขาแชร์ๆกันมาก็คือ แต่ละมหาลัยใน type A จะเลือกนักเรียนประมาณ 20-25 คน ส่วน type B จะได้โควต้าเยอะกว่าประมาณ 30-35 คน (1ประเทศ ไม่เกิน4คน) แล้วส่งต่อให้ NIIED คัดเลือก

    ซึ่งรอบสองซึ่งคัดโดย NIIED เนี่ย รอบนี้ต้องตัดกับคนไทยด้วยกันเอง สกีนเอกสารอย่างเดียว ไม่มีสัมภาษณ์ ต้องภาวนาหนักๆเลยว่าขอให้ได้ 

    ผ่านประกาศรอบสองจาก NIIED แล้วก็เหลือตรวจสุขภาพ ถ้าไม่เป็นอะไรร้ายแรงก็ทำใจให้สบาย คุณเดินทางมาจะถึงเป้าหมายแล้ว 

    หลังส่งผลตรวจสุขภาพก็ประกาศรวม Finalist ทั้งสองแทรค แล้วก็ดำเนินการติดต่อมหาลัย ทำวีซ่า เตรียมตัวบิน

    ใครที่กำลังตั้งใจจะสมัครปีหน้า ไม่ต้องลังเล เริ่มเลย!! เป็นกำลังใจให้ทุกคนที่ฝันอยากไปเรียนต่อต่างประเทศ 
  • พาร์ทสุดท้ายที่ไม่มีสาระอะไร เวิ่นเว้อความรู้สึกที่ผ่านมา......

    ทุนนี้เป็นการสมัครที่ใช้เวลาหลายเดือนและเป็นทุนที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร วนมาแค่ปีละครั้ง ไม่ได้ปีนี้ต้องรออีกทีปีหน้า ฉะนั้นการแข่งขันสูง เราเลยตั้งใจและตั้งความหวังไว้สูงมากเช่นกัน ตั้งแต่เตรียมเอกสาร ใช้เวลาในเตรียมเรียงความ ลุ้นและเครียดมากแต่ละรอบ เอกสารถึงเรียบร้อยไหม จะได้เรียกสัมภาษณ์ไหม สัมภาษณ์จะเป็นยังไง สัมภาษณ์แล้วจะผ่านไหม แต่แรกแอบเผื่อใจนะ แต่พอยิ่งผ่านรอบลึกไป ความโลภมันยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ช่วงรอประกาศแต่ละรอบ 3-4 เดือนที่ยาวนานกว่าปกติ  โดยเฉพาะตอนรอผลรอบ 2 ดิ่งมาก แต่ละวันผ่านไปกับความรู้สึกที่ว่า ถ้าไม่ผ่านจะทำไงๆ (คิดว่าผู้สมัครหลายๆคนน่าจะรู้สึกเดียวกัน)  หลายช่วงที่รู้สึกแย่ กดดัน กลัวไปเอง เพราะเรามักไม่ใช่คนที่ทำอะไรแล้วประสบความสำเร็จในครั้งแรก แต่เราก็จะถามตัวเองตลอดๆว่า ถ้าจะทุกข์ขนาดนี้ ย้อนเวลากลับไปจะสมัครไหม คำตอบคือ ก็คงจะสมัครอยู่ดี รู้ว่าเสี่ยง แต่คงต้องขอลอง ~~  อีกอย่างต้องขอขอบคุณอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาเกาหลี มศว อ.ธิติวัส กับอ.นก ที่ช่วยแนะแนวและเขียนจดหมายแนะนำให้ พี่โรโร่ คุณมินช่วยปรับภาษาให้ ส่วนหนึ่งที่ได้เพราะความช่วยเหลือจากทุกท่านจริงๆ ขอบคุณตัวเองที่ไม่ยอมแพ้ แม้จะเจอเรื่องไม่คาดคิดหลายเรื่อง สิ่งที่เราลงทุนไปทั้งความพยายาม เวลา เงิน วันนี้เราก็ได้ตามที่ตั้งใจแล้ว อาจจะเพราะจังหวะด้วย โชคช่วยด้วยแหละ และปกติเราไม่บนอะไรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์นะ แต่การแข่งขันครั้งนี้ เรารู้สึกว่าเราอ่อนไหว ต้องการที่พึ่งทางใจ กำลังใจมากๆ ก็เลยมีไปไหว้ที่สี่แยกพระพรหม ราชประสงค์กับบนที่พระพิฆเนศ สี่แยกห้วยขวาง พอประกาศว่าผ่านรอบ 2 เรารีบไปแก้บนเลยทันที ฮ่าๆ 
    หรือนี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับความปัง….

    อีกหนึ่งเรื่องที่เราเริ่มคิดหลังจากผ่านขั้นตอนต่างๆนานาๆ ก็คือค่าใช้จ่าย ที่ค่อนข้างเยอะทีเดียว เรามาแตกรายละเอียดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการสมัครทุน เพื่อให้เพื่อนๆถ้าแบ่งเงินส่วนนึงไว้สำหรับการสมัคร และก็เราใช้วันหยุดพักร้อนไปกับการเดินเรื่องขอเอกสารหลายวันด้วย ฉะนั้นแล้วใครที่ทำงานแล้ว สะสมวันพักร้อนไว้ใช้ตอนทำเอกสารด้วยนะ

    ค่าสอบ TOEIC (ปลายปี 2019 ปัจจุบัน 1,800) 1,500 
    ค่าสอบ TOPIK 1,000
    ค่าขอใบรับรองจบ ( ใช้สมัคร 1ฉบับ ใช้ยื่นวีซ่า 1ฉบับ) 50x2 = 100 
    ค่าใบทรานสคริป   ( ใช้สมัคร 1ฉบับ ใช้ยื่นวีซ่า 1ฉบับ) 50x2 = 100 
    ค่ารับรองเอกสาร (ใบจบ ทรานสคริป ทะเบียนบ้าน ) ที่กงสุลไทย           3x200 = 600
    ค่ารับรองเอกสาร (ใบจบ ทรานสคริป ทะเบียนบ้าน ) ที่สถานฑุูตเกาหลี  3x128 = 384 
    ค่าส่งเอกสารไปเกาหลี DHL (ส่งใบสมัคร 1รอบ ส่งเอกสารเพิ่มเติม 1รอบ)  1,070x2 = 2,140
    ค่าทำพาสปอร์ตใหม่ 1,500 
    ค่าตรวจสุขภาพยื่น NIIED 2,230 
    ค่าตรวจสุขภาพยื่น VISA 300 
    ค่าขอคัดหนังสือประวัติการเดินทาง 100
    ค่าตรวจโควิด 3,000  
    และจิปาถะค่าเดินทางไปที่ต่างๆอีกมากมาย 

    ท้ายที่สุดมันก็คุ้มค่ากับความพยายาม เวลา เงินที่เราลงทุนไปก็.... ไม่เป็นไร เดี๋ยวทำงานเริ่มเก็บเงินใหม่ ฮ่าๆ 



    หากเพื่อนๆคนไหนมีคำถามสงสัยเกี่ยวกับสมัครทุนสามารถคุยกันได้ๆ  ask me @BENJ1311 
      

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in