เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
CULTURE STRIKE ไม่ไทยแลนด์ ทำแทนไม่ได้SALMONBOOKS
ไทย ทั่ว ไทย

  • เวลาปฏิทินวนมาถึงหน้าเทศกาลหรือช่วงวันหยุดยาว สิ่งที่ผมต้องทำเป็นประจำคือ คิดหาวิธีบอกปฏิเสธเพื่อนว่ากูไม่อยากไปเที่ยวยังไงดี เพราะนอกจากจะไม่มีตังค์แล้ว ผมก็ไม่เห็นว่าการเที่ยวช่วงหน้าเทศกาลมันรื่นรมย์ ไม่เข้าใจมากๆ ว่า ทำไมมึงต้องแห่กันไปเที่ยวช่วงเดียวกันหมด คนมันเยอะแยะยั้วเยี้ย กูไม่ไปหรอก (ซึ่งจะว่าไป ก็เกือบสิบปีแล้วที่ไม่มีเพื่อนชวนผมไปเที่ยวที่ไหนเลย...)

    แต่หลังจากลองได้พาตัวเองไปเที่ยวบ้างนานๆ ครั้งก็พบว่าการไปเที่ยวของคนไทย (หรืออันที่จริงอาจรวมชาวโลกด้วย) ล้วนมีสเต็ปไม่ต่างกัน คือถ้าเป็นนักเรียนนักศึกษา ไทม์มิ่งของการไปเที่ยวก็คือต้องรอปิดเทอม หรือให้พ่อแม่พาไป ส่วนคนวัยทำงาน ถ้าจะเที่ยวให้คุ้มก็ต้องลาพักร้อน หรือไม่ก็รอช่วงที่มีวันหยุดติดกันเยอะๆ ซึ่งก็คือช่วงเทศกาลนี่แหละ ไม่งั้นต้องไปแบบขยักขย่อนสามวันห้าวัน ซึ่งไม่ถูกใจนักเที่ยวเท่าไหร่

    ช่วงเวลาที่เหมาะเหม็งแก่การออกเดินทาง จึงควรเป็นช่วงที่ชาวบ้านชาวช่องเรียกกันว่า ‘เทศกาล’ นั่นแหละ เป็นช่วงเวลาที่จะเราจะต้องออกเดินทาง ค้นหาความหมายของชีวิต ได้อยู่กับตัวเอง ทดแทนความเหนื่อยล้าตลอดปีที่ต้องใช้อยู่ในออฟฟิศและชีวิตการทำงาน เอาล่ะ ไปพักกันดีกว่า

    ตัดภาพมา คนเต็มเลย แม่งเหนื่อยกว่าทำงานอีก เฮ 

    ในที่นี้ ผมอยากชื่นชมคนที่คิดประโยคว่า ‘แย่งกันกิน แย่งกันใช้’ มากๆ เพราะเพียงแค่ประโยคเดียว มันก็ทำให้เราเห็นภาพเลยว่าการเที่ยวในช่วงเทศกาลนั้นเป็นอย่างไร 

    ความวุ่นวายยุบยับในการท่องเที่ยวช่วงเทศกาล ไม่ใช่รอเราอยู่แค่ตรงปลายทางหรอกนะครับ มันเริ่มตั้งแต่ก้าวแรกที่ออกจากบ้านเลยต่างหาก ลองจินตนาการดูก็ได้

    เมื่อปักหมุดเป้าหมายและกำหนดวันได้แล้ว เราก็ต้องเลือกว่าจะเดินทางไปแบบไหน ทางเลือกก็มีประมาณนี้
  • ขับรถไปเอง: การขับรถไปต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลนั้น เปรียบดั่งการวัดใจว่าคุณมีความอดทนอดกลั้นเท่าไหร่ เพราะปกติแค่เจอรถติดเวลาไปทำงานเช้าๆ หรือเวลาขับรถกลับบ้านช่วงเย็นก็คุ้มคลั่งจนแทบบ้าแล้ว ยิ่งเป็นช่วงเทศกาล ไม่ว่าจะขับไปที่ไหน ให้บวกเวลาเผื่อเอาไว้เลย ต้องมีหนึ่งชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ ยิ่งไกลก็จะยิ่งบวกเยอะ จากที่เคยขับรถสี่ชั่วโมงถึงก็กลายเป็นหก จากที่เคยหกก็เป็นสิบสอง

    คนที่หมายมั่นไปสถานที่ยอดฮิตหรือป๊อปปูลาร์ในช่วงเวลานั้น ก็ขอแนะนำว่าให้พกหมอน ผ้าห่ม ถุงนอนไปเผื่อได้เลย เพราะรถติดสนิทแบบไม่ขยับเขยื้อน ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนของประเทศก็ติด บางทีก็อยู่กับที่นานจนสามารถอ่านสมุดหน้าเหลืองได้ครึ่งเล่ม ขนาดคนที่นั่งเฉยๆ ยังเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว คนขับนี่ต้องเรียกว่าถูกสูบพลังชีวิตไปเลย กว่าจะไปถึงหมดพลังไปครึ่งหลอด กล้ามเนื้อน่องนี่เกร็งเป็นมัดๆ ทำงานมาทั้งปีอาจไม่เหนื่อยเท่าขับรถงวดเดียว แถมบางทีไปแค่สองวันหนึ่งคืน ออกจากบ้านตีห้ากว่าจะไปถึงที่หมายก็ล่อไปสองทุ่ม กินข้าว เช็กอิน นอน ตื่นมาไม่ทันไร เช็กเอาต์ ขับรถกลับ ติดแหง็กอยู่บนรถอีกครั้ง โอ้ สนุกจังเลย... (กุมขมับ)

    เช่ารถตู้หรือขึ้นรถทัวร์: อีกหนึ่งการเดินทางที่ได้รับความนิยม เพราะเวลาจะไปเที่ยวจริงๆ คนที่มีรถหรือถูกบังคับให้ขับรถไปก็มักจะอิดออด ปัดกันใหญ่ว่ารถเข้าศูนย์บ้าง ช่วงนี้ข้อเข่าเสื่อมบ้าง เป็นเล็บขบบ้าง (เกี่ยวอะไร...) ดังนั้น รถตู้กับรถทัวร์ก็เป็นทางออกที่ไม่เลวนัก

    รถตู้นั้นมักได้รับความนิยมในหมู่ของชาวคณะที่อยากไปถึงที่หมายไวๆ เพราะต่อให้รถติดขนาดไหน พี่คนขับก็จะสวมวิญญาณตีนผี หาทางลัดเลาะ เบียดแทรกคันอื่น บีบแตรไล่คันหน้า เพื่อพาผู้โดยสารไปปล่อยยังที่หมายไวๆ ตัวเองจะได้วิ่งอีกกะ หาเงินอีกสักต่อ (บนความเร็วแสงของรถตู้ตีนผี เรามักจิกเบาะและนึกถึงคุณค่าของชีวิตขึ้นมาทันทีว่านี่กูมาทำอะไร คนเราต้องโหยหาการเที่ยวขนาดนี้เลยหรือ อยากกลับไปเดินเที่ยวห้างฯ ใกล้บ้านจังเลย แต่ไม่รู้จะรอดชีวิตกลับไปมั้ย โอ๊ย ช้าๆ ก็ได้โว้ย กูไม่รีบครับ)

    ด้านรถทัวร์คันใหญ่ที่นอนหลับได้สบาย ยืดแข้งขาได้ไม่อึดอัด ก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน อาจถึงที่หมายช้ากว่านิดหน่อย (ในระดับนาที) แต่ข้อเสียก็คือ มีให้บริการน้อยจุด ต้องขึ้นตามสถานี ทุกวันนี้เลยโดนรถตู้แย่งชิงคะแนนนิยมเพราะมารับถึงที่ แถมยังเฮฮาปาจิงโกะกับญาติมิตรเพื่อนฝูงได้สบายๆ ยิ่งช่วงหลังๆ มีสายการบินโลว์คอสต์มาอีก บริษัทรถทัวร์ก็เลยต้องพากันมาออดอ้อนให้ใช้บริการจนเป็นข่าวใหญ่โต ซึ่งอยากจะบอกว่าผมเองก็อยากใช้บริการพี่นะครับ แต่ช่วยบอกให้คนขับขับช้าลงหน่อย เพราะอยากพักผ่อนหย่อนใจ หลับปุ๋ยระหว่างเดินทาง ไม่ใช่เดี๋ยวหลับเดี๋ยวตื่น สวดมนต์ตลอดทาง

    เครื่องบิน: ด้วยความที่สะดวกบวกประหยัดเวลา ทำให้เครื่องบินเป็นหนึ่งในทางเลือกที่มาแรง ยิ่งในยุคที่สายการบินโลว์คอสต์ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดแบบทุกวันนี้ แต่ละเจ้าก็ยิ่งแข่งกันออกโปรโมชั่นลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์ชวนคนจองกันทั้งปี นักท่องเที่ยวก็ยิ่งดี๊ด๊ากันใหญ่ แต่ข้อเสียก็มีอยู่บ้าง เช่น บังคับจองล่วงหน้ากันเป็นปี ทำให้ลำบากต้องมาแพลนชีวิตล่วงหน้าเป็นร้อยๆ วัน แค่วันพรุ่งนี้จะทำอย่างไรยังไม่รู้เลย จะประสาอะไรกับแผนล่วงหน้าหลายๆ เดือน...

    แต่แม้จะเป็นเครื่องบิน ช่วงเวลาที่เราจะลาหยุดเพื่อไปเที่ยวยาวๆ ได้ก็หนีไม่พ้นช่วงเทศกาลอยู่ดี ดังนั้นทุกเทศกาลก็จะเจอเหตุการณ์นักท่องเที่ยวชาวไทยมาชุมนุมกันโดยไม่ได้นัดหมาย คนเต็มสนามบิน แถวเช็กอินยาวราวกับเอาหางว่าวทั้งโลกมารวมกัน กว่าจะเข้าเกทได้เกือบตกเครื่องกันก็มี

    วุ่นวายแต่ยังได้เที่ยวก็ถือว่าไม่น่าเจ็บแค้นเท่าไหร่ เพราะมีบางคนที่จองโปรโมชั่น ระบุวันที่จะไปเรียบร้อย แพ็คกระเป๋าเตรียมพร้อมเป็นอย่างดี ก่อนวันบินไม่กี่วัน มีเมลเด้งเข้ามาจากสายการบิน คลิกเข้าไปดูด้วยอารามดีใจว่าคงเป็นอีเมลคอนเฟิร์ม

    ปรากฏว่ายกเลิก

    เป็นทริปที่ประทับใจมิรู้ลืม
  • พอเลือกการเดินทางเสร็จก็ถึงเรื่องของการเลือกที่พัก

    ผมไม่รู้ว่าทุกวันนี้ ยังมีคนที่ดูรีวิวที่พักจากนิตยสารกันอยู่หรือเปล่า เพราะเห็นใครต่อใครต่างพากันเข้าเว็บพันทิป ไปคุ้ยกระทู้ว่าจังหวัดนั้นเมืองนี้มีที่พักไหนสวยงามเหมาะแก่การไปเที่ยวและจับจ่ายเวลาอันแสนมีค่าของเราบ้าง ซึ่งถ้าอ่านพันทิปแล้วถูกใจที่ไหน ก็ขอให้ทำใจไปก่อนได้เลยว่าแม่งเต็มแน่นอน

    ไม่รู้เป็นหลักการตลาดหรืออะไร แต่ทุกอย่างที่ลงพันทิปจะต้องขาดตลาด (ไม่ใช่แค่ที่พัก ในที่นี้ทุกอย่างหมายถึง ‘ทุกอย่าง’ จริงๆ) ถูกผู้คนแห่กันไปทดลองจนกลายเป็นปรากฏการณ์ ในกรณีของที่พัก ถ้าเป็นที่ดังๆ หน่อยก็จองยากอยู่แล้ว บางที่ต้องจองล่วงหน้าครึ่งปีเป็นอย่างต่ำ พอมาลงพันทิปปุ๊บ โอ้ เป็นปีเลยครับ จองกันแบบไม่รู้ชะตากรรมเลยว่าหนึ่งปีข้างหน้ากูจะยังคบกับเพื่อนกลุ่มนี้อยู่มั้ย หรือจะเลิกกับแฟนไปแล้วหรือเปล่า บางคนเสนอทริคว่า งั้นก็ไปช่วงที่โรงแรมไม่เต็มมั้ย ถ้าโรงแรมมันเต็มกันเยอะๆ ก็แปลว่าช่วงนั้นคนเยอะเพราะหยุดงานได้สิ แต่กูหยุดไม่ได้แล้วไง ผลคือปีนั้นทั้งปี ไม่ได้ไปไหนเลยครับ...

    ส่วนใครที่คิดว่าการจองล่วงหน้านั้นเป็นเรื่องงี่เง่า การไปเที่ยวมันต้องไปแบบไม่เตรียมอะไร วอล์กอินเข้าไปหาปัญหาและอุปสรรคสิถึงจะเท่!

    ก็ได้แหละครับ แต่แนะนำให้หาแผนสำรองเผื่อไว้ด้วย เพราะต่อให้เป็นที่พักที่ไม่ดัง แต่ถ้าอยู่ในตัวเมืองก็มีโอกาสที่จะเต็มสูง บางคนไล่ถามทั่วอำเภอเมือง เดินจนเท้าพอง กว่าจะได้ที่พักจริงๆ ออกไปนอกตัวเมืองนู่นเลย ไกลไม่พอแถมยังวังเวงโหวงเวงเหมือนว่ามีพลังงานบางอย่างแฝงอยู่อีก...

    นอกจากนี้ หนึ่งในคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้ของการหาที่พักในแต่ละทริปคือ เตียงนอนต้องนุ่ม ห้องนอนต้องกว้าง มีน้ำอุ่นให้อาบ มีระเบียงนั่งเล่น มีสระว่ายน้ำให้อาบแดด มีมุมให้ถ่ายรูปอัพลงไอจี มีฟรีไวไฟให้ใช้ ทั้งหมดทั้งมวลคือต้องสบายมากๆ ซึ่งแต่ก่อนก็สงสัยว่ากูไปเที่ยวไม่ใช่เหรอ ชีวิตส่วนใหญ่มันก็ต้องออกไปผจญภัย ขึ้นเขา ลงห้วย ว่ายน้ำทะเล ขี่จักรยาน เล่นวอลเลย์บอลชายหาดหรือทำอะไรที่มันเอาต์ดอร์สิ แล้วทำไมแต่ละสิ่งในที่พักมันถึงอำนวยให้นอนอยู่เฉยๆ ขนาดนี้! ไอ้พวกขี้เกียจ ถ้าอยากจะนอนเตียงนุ่มๆ ก็อยู่ที่บ้านไปสิวะ!

    มาเข้าใจก็ต่อเมื่อได้ออกไปเผชิญกับโลกเอาต์ดอร์จริงๆ...
  • สถานที่เอาต์ดอร์ต่างๆ ช่วงเทศกาลล้วนเต็มไปด้วยผู้คน ร้านอาหารไม่ว่าจะร้านเล็กร้านใหญ่มีแต่ลูกค้า คิวออเต็มหน้าร้าน ขายดีกันถ้วนหน้าโดยไม่ต้องรอให้แม่ช้อยมารำเชียร์ ที่เที่ยวแลนด์มาร์กหนาแน่นไปด้วยฝูงชนจากทั่วสารทิศ จนทำให้การเซลฟี่โดยไม่ติดหน้าคนอื่นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ จะแวบไปเล่นทะเล ก็ว่ายไปชนเข้ากับคนอื่น ได้แต่ลอยตัวตุ๊บป่องๆ อยู่อย่างนั้น หนีขึ้นเขาก็เจอคณะทัวร์มากันเป็นกลุ่มๆ กางเต็นท์จองที่พักกันตั้งแต่หัววัน หนีไปย่านถนนแถวที่พักก็มีแต่ของขายจนแทบไม่มีทางเดิน จะลองขับรถเล่นรอบตัวเมืองแม่งก็ติดแหง็กตั้งแต่ยังไม่ออกไปไหน

    สุดท้าย ได้แต่เดินคอตกกลับที่พัก นอนอ้อยอิ่งบนเตียงนุ่มๆ และเล่นเน็ต (ร้องไห้)

    หลายคนพอเจอแบบนี้ก็เริ่มหาทางออก คิดใคร่ครวญถึงความหมายของการเดินทาง เริ่มคิดว่าการเที่ยวในเมืองไทยแม่งไม่ใช่แล้วล่ะ อุตส่าห์นั่งรถจนก้นด้าน ทำไมกูต้องมาเจอคนเยอะขนาดนี้ ไหนล่ะความรื่นรมย์

    ว่าแล้วก็จองตั๋วบินไปต่างประเทศดีกว่า!

    ตัดภาพไป เจอคนไทยเหมือนเดิม เฮ

    ในส่วนนี้ต้องขอขอบคุณสายการบินในประเทศไทยอีกครั้งที่สนับสนุนให้คนไทยบินได้ แห่กันบินออกนอกประเทศกันทั้งวันทั้งปี จนไม่ว่าจะไปที่ไหนก็เจอคนไทย ยิ่งช่วงหน้าเทศกาลนี่พีคมาก ไม่ว่าจะไปลอนดอน นิวยอร์ก โตเกียว เปียงยางก็ต้องได้ยินเสียงคนไทย รู้สึกอบอุ่นเหมือนเดินอยู่อนุสาวรีย์ชัยฯ มากๆ

    อันที่จริง พอไปเที่ยวแล้วเจอปรากฏการณ์คนทะลักหรือคนไทยอิสเอฟเวอรี่แวร์ก็เริ่มสงสัยว่าเราจำเป็นต้องเที่ยวช่วงเทศกาลมั้ย ไปเที่ยวช่วงอื่นได้หรือเปล่า ลองเปลี่ยนไปเที่ยวช่วงก่อนหรือหลังเทศกาลบ้างก็ได้ ซึ่งเท่าที่ลองมา ผมว่าทฤษฎีนี้นั้นน่าสนใจ คนหายไปอย่างเห็นได้ชัด มีคนไปเที่ยวบ้างประปราย แต่ก็ไม่เยอะมาก เพราะการไปช่วงเวลาแบบนี้เหมาะกับคนที่มีวันหยุดเหลือ ฟรีแลนซ์ หรือคนที่ชอบไปเที่ยวคนเดียวเป็นพิเศษ

    ส่วนคนที่มีเพื่อนเยอะ มีแฟน มีครอบครัว กว่าจะเคลียร์คิวกันได้ลงตัวก็นู่นแหละครับ

    (เปิดปฏิทิน)

    ‘วันหยุดยาว’

    แม้จะรู้ว่าต้องเจอกับคนเยอะ ต้องฝ่าฟันจองที่พัก ขยันหาโปรโมชั่น แต่การมีคนไปเที่ยวด้วย ไม่ว่าช่วงเวลานั้นจะวุ่นวายขนาดไหน ข้อดีก็คือ เรายังมีคนให้หันไปบ่นใส่

    แค่นี้ ผมก็เริ่มกลัวการเที่ยวช่วงเทศกาลน้อยลง

    กริ๊งงงง

    “เฮ้ย ไอ้กาย สงกรานต์มึงว่างปะ ไปเที่ยวกัน”

    “ไม่ว่างว่ะ ปิดเล่ม”


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in