เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
CULTURE STRIKE ไม่ไทยแลนด์ ทำแทนไม่ได้SALMONBOOKS
คำนำ

  • ถึงแสดงออกด้วยความไม่ค่อยจริงจัง ภาษาเป็นกันเองจนเกินหนังสือทั่วไป การ์ตูนลายเส้นหยุกหยุยที่ไม่ได้สวยงามตามขนบ วิธีการเล่าแปลกไปจากสิ่งที่คนคุ้นเคย กระทั่งจนการตั้งชื่อหนังสือเพี้ยนๆ ประหลาดๆ แต่เชื่อเถอะว่าเรา—สำนักพิมพ์แซลมอน จริงจังกับเนื้อหาของพวกเรามาก เพราะเราต้องการนำพาคนอ่านของเราเดินทางไปที่ไหนสักที่ที่เขายังไม่เคยไป รู้ในสิ่งที่ยังไม่เคยรู้ กระทั่งชวนสำรวจดินแดนเก่าๆ ด้วยมุมมองใหม่ๆ ที่อาจตกหล่นไป

    ที่ผ่านมา เราทำหนังสือที่เจาะจงเรื่องที่เกี่ยวกับ ‘วัฒนธรรม’ อยู่บ่อยๆ ทั้งประเทศเพื่อนบ้านอย่างเกาหลี ญี่ปุ่น หรือไกลออกไปหน่อยอย่างไซบีเรีย รัสเซีย นิวยอร์ก อลาสก้า ฯลฯ นั่นก็เพื่อชวนคนอ่านไปดูแนวคิดให้ได้เห็นบ้านเมืองของโลกอีกฟากฝั่งหนึ่ง ผ่านตัวอักษรและรูปภาพเท่าที่จะแสวงหามาได้

    แต่ก็ใช่ว่าจะสนใจเฉพาะต่างชาติ แซลมอนสนใจเมืองไทยไม่แพ้กัน เราเฝ้าหาแง่มุมและเรื่องน่าสนใจมาตีพิมพ์อยู่เสมอถ้ามีโอกาส เพราะคิดว่าเมื่อมองออกไปข้างนอกก็อย่าลืมย้อนกลับมามองด้านใน ควรสำรวจวัฒนธรรมของตัวเองเสียบ้าง

    ด้วยเหตุนี้ วันที่ ปฏิกาล ภาคกาย บรรณาธิการแห่งสำนักพิมพ์แซลมอน บอกกับทีมงานว่าเขามีไอเดียหนังสือหนึ่งเล่มที่อยากจะเขียน เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย มีชื่อเล่มมาเรียบร้อยว่า CULTURE STRIKE เราถึงไม่คิดหน้าคิดหลัง รีบบอกให้กลับไปเขียนให้เสร็จไวๆ เพราะมันต้องสนุกแน่ๆ แค่ชื่อที่ล้อเลียนกับเกมระดับตำนานที่เด็กโดดเรียนไปเล่นเยอะที่สุด ก็พอจะรู้แล้วว่ามันจะเกรียนแค่ไหน

    หายไปไม่นาน เขากลับมาพร้อมต้นฉบับปึกใหญ่ (แน่นอนว่ามันยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากระหว่างที่เขียนเขายังต้องวิ่งไล่จับ ทวงต้นฉบับนักเขียนแซลมอนไปด้วย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่กินเวลาและโกลาหล)

    ปฏิกาลเล่าเรื่องวัฒนธรรมไทยที่ ‘โคตรจะป๊อป’ ที่ไม่ใช่สินค้าสุดป๊อป แฟชั่นสุดฮอต ฯลฯ หรืออะไรที่ตามกระแสไปวันๆ แต่คำว่าคัลเจอร์ที่ปฏิกาลทำการสไตรค์ คัดสรรจากพื้นฐานของสิ่งที่ก้ำกึ่งระหว่างความห่วยกับความสวยงามในประเทศไทย เป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากลึก มั่นคง เป็นความชวนหัวที่ชวนร้องไห้ เป็นความขำขื่น เป็นความกลมกลืนที่แยกกันไม่ออก เหมือนไม่รู้ว่านี่คือม่านหมอกหรือกลุ่มควัน แพะ หรือแค่แกะมีเขา ลามะหรืออัลปาก้า เป็นสิ่งที่เรารู้สึกแย่ แต่ถ้าขาดไปก็คงแย่ เป็นสิ่งที่หงุดหงิด ที่แอบคิดถึงในบางที

    เป็นหนังสือระลึกชาติ ที่ชวนคนอ่านให้ได้ระลึกถึงความเป็นชาติไทยของเราจริงๆ

    หลายเรื่องเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งอุบัติขึ้นไม่นาน แต่บางเรื่องเป็นความคลาสสิกร่วมสมัย มีมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าสืบมาถึงพ่อแม่ และมายันพวกเรา แถมยังดูท่าจะค้างอยู่อย่างนั้นไปอีกนานเท่านาน

    แม้จะไม่ได้พูดถึงวัฒนธรรมที่งามหมดจดหยดย้อย แต่นี่แหละคือหนังสือเชิงวัฒนธรรมไทยแท้ที่แซลมอนภูมิใจจะนำเสนอให้กับผู้อ่านของเรา


  • 01. นี่เป็นหนังสือของกาย—ปฏิกาล บ.ก. คู่บุญของผมที่ได้ทำงานกันมายาวนานกว่าสามปี (นี่คู่บุญแล้วเหรอ!) การได้เห็นมันปั่นต้นฉบับล่กๆ แทนที่จะทวงต้นฉบับผมยิกๆ นั้นสร้างความพึงพอใจให้กับผมอย่างยิ่ง

    02. ปฏิกาลเป็นคนเขียนหนังสือเก่ง ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมในแวดวงหนังสือมายาวนาน นี่จึงเป็นผลงานเดี่ยวๆ เต็มตัวชิ้นแรกของเขาที่น่าจับตา

    03. ความช่างคิดช่างประดิษฐ์ของปฏิกาลนั้นมักจะแสดงออกมาอยู่ในชื่อหนังสือและคำโปรยของหนังสือเล่มต่างๆ ในเครือสำนักพิมพ์แซลมอน เป็นอันรู้กันโดยถ้วนทั่วว่าถ้าคิดชื่อหนังสือไม่ออก (ต้นฉบับบางเล่มก็ไม่ได้มาพร้อมกับชื่อหนังสือนะครับ) หรือคิดคำโปรยไม่ออก ให้ไปถามปฏิกาล ด้วยเหตุนี้ ปฏิกาลจึงมีฉายาว่า ‘หลวงประดิษฐ์คำโปรย’ และมีชื่อเสียงโจษจันไปแปดแคว้นตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงไปจนถึงฮวงโห

    04. มันช่างประดิษฐ์ชื่อและคำโปรยได้ลึกซึ้งจนบางทีคนก็ไม่เก็ตถ้าไม่ได้รู้จักหรือไปเห็นสิ่งที่มันใช้เป็นวัตถุดิบ (อย่าง CULTURE STRIKE นี่คือมาจาก COUNTER STRIKE ซึ่งแบบ...ถ้ากูอายุ 60 จะรู้จักไหมคะ) (ทำไมเริ่มขึ้นกูมึง นี่คำนิยมนะครับ)

    05. นี่เป็นหนังสือเกี่ยวกับภูมิทัศน์ด้านวัฒนธรรมของประเทศไทย ประเทศที่เราแสนรักใคร่และหวงแหน

    06. แต่ถึงจะเป็นประเทศที่เรารักใคร่และหวงแหนขนาดไหน (โปรดดูข้อ 5 ประกอบ) เราก็รู้อยู่เต็มอกว่าประเทศของเราไม่ได้เป็นประเทศที่มีแต่ด้านดี ไม่ได้ผุดผ่องสุกปลั่งสวยงามไปเสียหมดหรอก

    07. เรารู้อยู่เต็มอก แต่บางครั้งเราก็เลือกที่จะไม่พูดถึงด้านเสียๆ ของบ้านเรา อาจเป็นเพราะความชิน อาจเป็นเพราะเราคิดว่าพูดแล้วจะไม่เกิดผลดีอะไร

    08. บางส่วนเลือกที่จะพูด แต่ก็พูดด้วยวิธีการที่ไม่น่าฟัง เสียงดังเซ็งแซ่จนตัวคนพูดก็อาจก้าวล่วงไปในขอบข่ายน่ารำคาญ

    09. ปฏิกาลเลือกที่จะเก็บสิ่งที่เขาสังเกต จับสิ่งที่เขาสงสัยในสังคม มาพูดในแบบของตัวเองด้วยน้ำเสียงที่ผมคิดว่าเป็นแบบฉบับที่พอเหมาะพอดี กลมกล่อมและมีอารมณ์ขันและหลายสิ่งที่เขาพูดก็สามารถสะกิดผดผื่นในหัวใจให้หายคันได้

    10. วัฒนธรรมที่เขาเก็บมาพูดนั้นหลากหลาย ตั้งแต่เรื่องคำด่าแบบไทยๆ การจราจรแบบไทยๆ วัฒนธรรมทำอะไรก็ช้า (แบบไทยๆ) ความไม่เป็นระเบียบ การกินเหล้าเมายา และอื่นๆ แต่ละเรื่องเป็นเรื่องที่เรารู้ว่าเวรี่ไทยอย่างยิ่ง แต่ด้วยความที่เราเป็นคนไทยซึ่งก็มักจะตลกกับอะไรแบบไทยๆ เราเลยไม่ได้เก็บมาคิดต่อเท่าไหร่ว่าเวรี่ไทยแล้วมันดีหรือไม่ดีอย่างไร ต้องทำอะไรกับมันไหมแก หรือจะปล่อยไปอย่างนี้ดีล่ะแกรรรร

    11. แต่นั่นแหละ...ปฏิกาลคิด ปฏิกาลจึงเขียนออกมาเป็น CULTURE STRIKE เล่มนี้ ระหว่างอ่านไปอาจทำให้ต้องพยักหน้าหงึกหงักเพราะเห็นด้วยคล้อยตาม บางครั้งอาจทำให้ต้องร้องว่า อื้ม...ใช่...ไปจนถึงต้องหัวเราะออกมาด้วยความเวรี่ขำเวรี่ขื่นบีคอสอิทส์โซเวรี่ไทย

    12. จริงๆ ที่จะนิยมก็นิยมไปหมดแล้ว #นิยมจนไม่รู้จะนิยมยังไงแล้ว #แซลมอนด้วยกันจะไม่ให้เหลือพื้นที่ไว้พิมพ์ต้นฉบับจริงเลยหรือ แต่ด้วยความที่เป็นคนรักกิมมิก จึงต้องเขียนให้ครบ 12 ประการ ตามบันดาลของท่านผู้นำ



  • ตอนมัธยมปลาย ผมเคยถูกส่งเป็นตัวแทนเข้าประกวดมารยาทไทย

    ผมไม่ได้เป็นคนเรียบร้อย ความรู้เกี่ยวกับมารยาทแบบเป็นทางการก็ไม่ค่อยมี แต่ที่ไปประกวดก็เพราะอาจารย์วิชาสังคมฯ บอกว่าจะให้คะแนนเก็บเพิ่ม...

    ผมจำบรรยากาศในวันนั้นได้ดี มันเป็นห้องเรียนวิชาพระพุทธศาสนาที่มีอาจารย์ผู้หญิงสองท่านนั่งอยู่ ผมและเพื่อนผู้หญิงหนึ่งคนต้องหันหน้าเข้าหาพระพุทธรูปที่ตั้งอยู่เรียงราย รอฟังคำสั่งของอาจารย์ที่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการสั่งให้กราบในท่าเบญจางคประดิษฐ์ การรับของจากผู้ใหญ่ การไหว้พระ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ผู้หลักผู้ใหญ่ในแบบนั่ง แบบยืน และแบบนั่งเก้าอี้

    แม้ดูไม่ยากเท่าไหร่ แต่ผมไม่รู้เรื่องสักอย่าง

    ผมทำแต่ละอย่างไปตามความเคยชิน ไม่ว่าจะนั่งหรือยืนก็ไหว้เหมือนกันหมด (ส่วนเพื่อนผมนั้นดีหน่อย มีการย่อเข่า ทำท่าไหว้สี่สิบห้าองศาได้บ้างในบางข้อ)

    แน่นอนว่ามันต้องผิดไปจากหลักที่ถูกกำหนดไว้ และวันนั้น ผมไม่ได้รางวัลอะไรสักอย่าง

    ผมคงจำเหตุการณ์ในวันนั้นไม่ได้ ถ้าเกิดตอนที่กำลังเดินออกจากห้อง ไม่ได้ยินเสียงแว่วมาว่า “ทำไมเด็กพวกนี้ถึงไม่รู้จักวัฒนธรรมไทยเลย”

    ถ้ายึึดความเป็นไทยตามหลักที่อาจารย์คนนั้นว่า ทุกวันนี้ผมก็ยังไม่ใช่คนไทยเต็มร้อย ผมไม่เคยไปขวนขวายหาความรู้ว่าวัฒนธรรมไทยอันดีนั้นเป็นอย่างไร ต้องแต่งชุดไทยไหม? ต้องรู้ประวัติความเป็นมาของชาติหรือเปล่า?

    วัฒนธรรมตามหลักความเข้าใจของผมเป็นเรื่องที่อยู่นอกห้องเรียนพระพุทธศาสนาห้องนั้น มันอาจไม่ใช่อะไรที่ไทยจ๋า ไม่สามารถนำไปคุยว่าเป็นเอกลักษณ์ที่น่าเชิดหน้าชูตาของชาติได้ เพราะเอาเข้าจริง ผมแทบไม่เคยเห็นคนไทยประพฤติตัวอยู่ในกรอบเท่าไหร่

    เราเป็นชนชาติที่รักสนุก หนักนิดเบาหน่อยก็ยอมให้กัน ไม่ได้เคร่งในเรื่องของกฎกติกามารยาท ต่อให้เป็นรุ่นพี่ก็มีสิทธิ์ถูกโอบบ่าตบหัว แม้จะเก๋าขนาดไหน ก็อาจยอมให้กับร้านอาหารตามสั่งที่มีแม่ค้าเหวี่ยงๆ รถเมล์ที่ไม่ยอมจอดป้าย ยืนต่อคิวแล้วโดนแซงแถว รถยนต์ที่ขับกันแบบไม่มีเบรก (แต่บางครั้งก็มีการเลือดตกยางออก และเอาไปด่าลับหลังให้สนุกปากอยู่)

    แม้หลายอย่างจะดูเป็นพฤติกรรมที่สุดจะทน แต่สิ่งเหล่านี้ก็อยู่รอบตัวเราจนมันกลายเป็นวิถีชีวิตที่เรา—ชาวไทยคุ้นเคย เป็นวัฒนธรรมอีกรูปแบบหนึ่งที่อยู่กับพวกเรามานานแล้ว

    และวัฒนธรรมไทยที่ผมรู้จักก็เป็นแบบนี้

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in