หนังสือ “Seijou no Kyushu พิษรักสั่งตาย” เป็นหนึ่งในนวนิยายแนวสืบสวนของซีรีย์ “นักสืบกาลิเลโอ” ซึ่งเป็นเรื่องราวจบในเล่มเดียวโดยใช้ตัวละครเดียวกันในการดำเนินเรื่อง(แต่ละเล่มสามารถอ่านแยกกันได้) ผลงานของฮิงาชิโนะ เคโกะนักเขียนนวนิยายแนวสืบสวนชื่อดังของประเทศญี่ปุ่น ผู้ซึ่งได้ฝากผลงานนวนิยายแนวสืบสวนที่เนื้อเรื่องเข้มข้นและตราตรึงใจอย่าง ภาพสุดท้ายที่คนตายเห็น จดหมายจากฆาตรกร และกลลวงซ่อนตาย
ภายในเล่มเนื้อหาแบ่งออกเป็น 33 บทจบ โดยเรื่องราวเริ่มต้นจาก วายากาเมะ ฮิโรมิ ลูกศิษย์คนโปรดของ มาชิบะ อายะเนะ ศิลปินเย็บผ้าซึ่งเป็นหญิงสาวท่าทางอ่อนหวานที่มีความเป็นกุลสตรีตามขนบญี่ปุ่นทุกประการเข้ามาพบศพของ มาชิบะ โยชิทากะสามีของอายาเนะที่เสียชีวิตด้วยการดื่มกาแฟใส่ยาพิษซึ่งตัวอายาเนะเองนั้นเป็นผู้ต้องสงสัยเพียงคนเดียวที่มีแรงจูงใจมากพอที่จะสังหารโยชิทากะทว่า ณ เวลาเกิดเหตุเธอได้ไปเยี่ยมบิดาที่ต่างจังหวัดพยานที่อยู่ล้วนครบถ้วน ฝั่งของตำรวจจะรู้ว่าโยชิทากะโดนวางยาพิษแต่ก็จนปัญญาว่ายาพิษอยู่ในกาแฟได้อย่างไร ทางตำรวจเลยต้องไปขอความช่วยเหลือจากนักฟิสิกส์หนุ่มอัจฉริยะแห่งมหาวิทยาลัยเทโตะอย่าง ยุกาว่า มานาบุ ผู้มีฉายาว่ากาลิเลโอ ในบทที่ 6 ยุกาว่าได้รู้ว่าสองสามีภรรยามาชิบะไม่ได้หวานชื่นกันอย่างที่ใครคิด โยชิทากะต้องการทายาทไว้สืบสกุลในขณะที่อายะเนะนั้นประสบปัญหามีบุตรยาก ทั้งคู่มีปากเสียงกันบ่อยครั้งซ้ำฝ่ายสามีเริ่มหมางเมินอายะเนะซ้ำร้ายยังแอบคบหากับฮิโรมิลูกศิษย์ที่เธอรักเหมือนลูกอีกด้วย ซึ่งฮิงาชิโนะได้ถ่ายทอดลักษณะของหญิงสาวอ่อนหวานที่เจ็บแค้นต่อผู้เป็นสามี ดังข้อความต่อไปนี้
“ถ้าเขาไม่รักเราเพราะเราหมดประโยชน์กับเขาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง คุณจะทำอย่างไร จะยังรักเขาต่อไหม หรือจัดการกำจัดเขาให้ออกไปจากชีวิตคุณ” (น.32)
จากข้อความดังกล่าวนั้นเรียกได้ว่าเป็นใจความทั้งหมดของนิยายเรื่องนี้เป็นการเฉลยทั้งตัวผู้ร้ายและมูลเหตุจูงใจในการลงมือก่อเหตุอีกด้วย ข้อความนี้ปรากฏอยู่ในส่วนช่วงต้นของนวนิยายทำให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามแล้วว่าการทำเช่นนี้จะทำให้อรรถรสของนิยายสืบสวนที่มุ่งเน้นการเก็บรายละเอียดเนื้อเรื่องเพื่อไขคำตอบของคดีหายไปหรือไม่ แต่ถึงจะรู้ทั้งตัวผู้ร้ายและมูลเหตุในการก่อคดีแต่ด้วยพยานแวดล้อมต่าง ๆ นั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่คนร้ายจะลงมือได้ ทั้งยาพิษในกาแฟนั้นก็ยังไม่รู้ว่าถูกใส่ยาพิษลงไปได้อย่างไรนี่แหละคือปริศนาชิ้นใหญ่ของคดีนี้ที่ยุกาว่าตัวเอกของเราหาคำตอบให้ได้ อรรถรสของนิยายสืบสวนจึงไม่ได้เจือจางอย่างที่คาดคิดไว้ในตอนแรก
ลักษณะเด่นของหนังสือเล่มนี้มีหลายประการเช่น ชื่อเรื่อง “พิษรักสั่งตาย” ซึ่งเป็นถ้อยความที่กระชับได้ใจความและครอบคลุมเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ทำให้จดจำได้ง่าย คำโปรยประโยคสั้น ๆ ที่ขยายความมาจากชื่อเรื่องดังข้อความที่ว่า “ดอกแพนเซียรินรดด้วยน้ำตา เธอจึงตัดสินใจฆ่า พิษรักสั่งตาย” ในรูปประโยคมีการเลือกใช้คำที่สัมผัสคล้องจองกันทำให้เวลาอ่านดูสละสลวยและเร้าอารมณ์ให้ผู้อ่านอยากเข้าไปสัมผัสกับปริศนาภายใน ในส่วนของรูปภาพหน้าปกมีความโดดเด่นโดยมีการวางรูปดอกแพนซี (ดอกหน้าแมว) ไว้ตรงกลางโดดเด่นออกมาจากพื้นหลังสีดำ โดยดอกแพนซีในภาษาฝรั่งเศสแปลว่าคิดคำนึง ผนวกลักษณะที่สวยงามน่ารัก กลีบบางนุ่มเหมือนกำมะหยี่ กลิ่นหอมรัญจวนใจแล้วทั้งหมดช่างดูคล้ายกับบุคคลิกของอายะเนะไม่น้อยทั้งตัวเธอเองก็ยังชื่นชอบดอกไม้ชนิดนี้อีกด้วย เป็นรูปภาพที่สื่อถึงตัวละครสำคัญของหนังสือเล่มนี้ได้ดีทีเดียว
หนังสือ “Seijou no Kyushu พิษรักสั่งตาย” สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการกดทับผู้หญิงในสังคมประเทศญี่ปุ่นคือต้องทำงานบ้านเก่งและให้กำเนิดลูกไว้สืบสกุล อายะเนะประสบความสำเร็จในอาชีพการบ้านการเรือนล้วนจัดการได้เป็นอย่างดีเสมอมาแต่เธอก็ยังถูกสามีปรามาสว่าหญิงที่บกพร่องเพราะเธอไม่สามารถมีลูกให้เขาได้ ทั้งที่รักหมดทั้งใจแต่ความรู้สึกก็ถูกย่ำยีครั้งแล้วครั้งเล่าสุดท้ายหญิงสาวผู้อ่อนหวานก็กลายเป็นฆาตรกรที่วางแผนสังหารมนุษย์ด้วยกันได้อย่างเลือดเย็น ตัวเล่มสวยงามเรียบง่ายขนาดพกพาสะดวก ใช้ภาษาได้สละสลวยแต่ไม่ยากจนเกินไปแผงไปด้วยข้อคิดที่สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย ดังนั้นจะกล่าวว่าหนังสือเล่มนี้เป็นนิยายสืบสวนที่ควรค่าแก่การอ่านมากที่สุดเรื่องหนึ่งก็ไม่ได้เกินจริงเลยสักนิด
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in