สวัสดีค่ะ กลับมาพบกันอีกครั้งในอีพีที่ 2 นะคะ ยังไม่จบกับขั้นตอนก่อนจะบินเพราะเราคิดว่า ในอนาคตบทความตอนนี้คงมีประโยชน์น่าดู หากใครได้อ่านบทความของเราในอีพี 1 จะเห็นว่าการเลือกบ้านที่เราจะมาอยู่ด้วยมันเป็นปัจจัยหลักๆในการตัดสินใจเลยค่ะ เราเลยคิดว่าบทความตอนนี้ควรมาเน้นย้ำเรื่องนี้กันสักหน่อย นั่นคือการเลือกบ้านรวมถึงการสัมภาษณ์กับโฮสต์ว่าเราถามอะไรบ้าง และสิ่งที่โดนถามกลับส่วนใหญ่จะเป็นอะไร ซึ่งเราจะเน้นในเรื่องคำถามของเรามากกว่านะคะ เพราะเราเชื่อว่าในส่วนของการตอบคำถามนั้น ทุกคนมีความมั่นใจในตัวเองอยู่แล้ว และจะสามารถผ่านมันมาได้แน่นอน แต่เราก็จะมาพูดถึงประสบการณ์เล็กๆน้อยๆว่าเราเจออะไรมาบ้าง รวมถึงเล่าถึงวิธีการของเราว่าทำไมเราถึงคิดว่าควรคุยมากกว่า 2 ครั้งใน first match จะช่วยให้เราตัดสินใจได้มากขึ้น ถ้าทุกคนพร้อมแล้ว เรามาเริ่มกันเลยนะคะ :)
เรามาเล่าถึงตัวเราก่อนเลยนะคะว่าทำไมเราถึงเลือกบ้านที่เราอยู่ด้วยปัจจุบันนี้ มีปัจจัยอะไรบ้างที่เราเอามาเป็นเกณฑ์ แต่จริงๆใน first match ของเราเป็นการตัดสินใจที่ค่อนข้างจะรีบร้อนค่ะเพราะว่าเราอยากมาอเมริกาในเดือนตุลาคม เลยหาบ้านที่สามารถเริ่มได้ในเดือนตุลาคม จนมาเจอบ้านนี้ที่ออแพร์คนก่อนของเขาจบโครงการเดือนกันยายนและเราเริ่มเดือนตุลาคมได้ แต่เราก็ไม่ได้ตัดสินใจเลือกบ้านนี้เพราะเหตุผลที่สามารถเริ่มได้ในเดือนตุลาคมเท่านั้น เราต้องอยู่กับเขาเป็นเวลา 1 ปี มันยังมีปัจจัยอีกหลายๆอย่างที่ช่วยให้เราตัดสินใจเลือกบ้านนี้ด้วยค่ะ เป็นไปตามด้านล่างนี้เลยนะคะ
ส่วนประสบการณ์ของเราคือดูแลน้อง 3 คน โดยช่วงอายุจะเป็น 7 ปี / 3 ปี และ 1 ปี ตามลำดับค่ะ เราค้นพบตัวเองตั้งนานแล้วว่าเราชอบเด็ก เพราะเคยเลี้ยงหลานตอนเราอายุ 12-13 ปีได้ ช่วงอายุที่เราชอบคือ 2-3 ปีค่ะ เป็นวัย Toddler แต่การเลือกบ้านนี้ของเรา ทำให้เราได้เลี้ยงเด็กถึง 3 ช่วงวัยเลยทีเดียว เรามาดูรายละเอียดเล็กน้อยเกี่ยวกับแต่ละช่วงวัยกันดีกว่านะคะ ว่าน้องๆแต่ละช่วงวัยเป็นอย่างไร และการดูแลน้องเป็นยังไง
- Baby (0-12 mos.) น้องในวัยนี้ต้องการการดูแลและเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพราะน้องไม่สามารถเดิน วิ่งหรือพูดกับเราได้ น้องเป็นวัยแห่งการป้อนข้อมูลค่ะ เป็น first step ของเด็ก ฉะนั้นน้องจะจดจำการกระทำของเรานะคะ รวมถึงการดูแล การดูแลเด็กวัยนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ฉะนั้นออแพร์จะต้องเป็น IQ (Infant Qualified) คือมีประสบการณ์ดูแลเด็กทารกมาแล้วนั่นเอง ถ้าเราจำไม่ผิด คนที่ได้ดูน้องในวัยนี้จะต้องอบรมนานกว่าเพื่อน เพราะการดูแลเด็กทารกมันมีรายละเอียดเยอะมากๆ ต้องดูแลและทะนุถนอมน้องอย่างดี เราต้องคำนึงถึงตอนน้องเจ็บป่วยด้วยว่าเราดูแลน้องได้มั้ย ซึ่งตัวเราที่จบรัฐศาสตร์มา ไม่สามารถดูแลได้จริงๆค่ะ ส่วนใหญ่เลยจะเห็นออแพร์คนไทยที่จบพยาบาลมาเลือกเด็กวัยนี้มากกว่า รวมถึงการทำกิจกรรมกับน้องค่อนข้างมีจำกัด เพราะเวลาส่วนใหญ่ของน้องหมดไปกับ NAP เรามองว่าใครดูแลน้องวัยนี้ได้จะต้องเป็นคนที่ใจเย็นมากๆและพร้อมจะเป็นแม่คน ที่ใช้คำนี้เพราะตอนเรามาถึงบ้านโฮสต์ น้องคนเล็กเราก็ 8 เดือนค่ะ แต่ด้วยความที่โฮสต์มัมของเรา เขาเป็น stayed-at-home mom ทำให้เราไม่ค่อยได้ดูแลน้องเท่าไหร่ค่ะ งานเราเป็นการดูแลน้องคนกลางมากกว่า ช่วงวัยของน้องเราเป็นช่วงรอยต่อที่จะเติบโตไปสู่วัย Toddler พอดี ทำให้เราเห็นพัฒนาการทุกอย่างของน้อง ไม่ว่าจะตั้งแต่เริ่มตั้งไข่ มาจนถึงเริ่มเดินและวิ่งในที่สุด เหมือนเห็นลูกตัวเองโตเหมือนกันนะ แต่น้องก็ไม่ใช่ลูกเราอยู่ดี ฮ่าๆ
- Toddler (1-3 yrs.) เติบโตจากเด็กทารกมาสู่ Toddler ก่อนจะเข้าสู่ช่วงวัย Pre-school กันแล้ว น้องในวัยนี้พัฒนาการด้านร่างกายจะล่าช้าลง แต่พัฒนาการด้านความคิด/ภาษา และสังคมจะเริ่มต้นขึ้นและมีพัฒนาการที่ก้าวกระโดดจากวัยทารก น้องในวัยนี้เริ่มจดจำคำพูดและพูดตาม รวมถึงมีความคิดเป็นของตัวเองแล้ว เริ่มจดจำตัวเลขตัวอักษรและคำศัพท์ การแสดงออกทางสีหน้าก็แตกต่างจากวัยทารก อ้างอิงจากบ้านเรานะคะ น้องพลังเยอะมาก แล้วยิ่งเด็กผู้ชายคือคุณต้องมีพลังสูสีกับน้องถึงจะเอาอยู่ การดูแลจะง่ายขึ้นจากน้องทารก เพราะเดินได้ วิ่งได้ พูดได้ รวมถึงสมรรถภาพทางร่างกายที่ stable มากขึ้น ไม่ต้องทะนุถนอมเท่าน้องวัยทารก และน้องในวัยนี้ไป daycare ค่ะ บางบ้านให้น้องไปเต็มวันหรือบางบ้านให้น้องไปครึ่งวัน ของบ้านเราน้องไปครึ่งวันค่ะ แต่ตอนบ่ายน้องก็มี NAP แม้จะน้อยกว่าน้องทารก แต่ก็มีช่วงเวลาที่ได้พักบ้าง เราชอบวัยนี้เพราะน้องพูดได้และเราก็ยังสามารถสอนน้องได้ไปในตัวเพราะน้องเป็นวัยที่สงสัย ถามเยอะมากเกี่ยวกับทุกอย่าง พูดง่ายๆว่าออแพร์ที่ได้ดูเด็กวัยนี้ก็เป็นเหมือนแม่พิมพ์เช่นกันนะคะ น้องจะมีความคิดยังไงขึ้นกับเราเลย ว่าเราดูแลน้องไปทางไหน บ้านเราน้องสวีทค่ะแต่ก็มีช่วงเวลาที่ยากเหมือนกัน ฉะนั้นต้องเตรียมตัวเตรียมใจมารับมือกับ baby tantrum นะคะ เราว่าวัยนี้มีอาการเยอะกว่าวัยทารกอีกค่ะ
- Pre-school (3-5 yrs.) น้องวัยนี้ส่วนใหญ่ไป kindergarten กันหมดค่ะ วัยนี้เรียนรู้เร็วมาก พัฒนาการก้าวกระโดดจำคำศัพท์ได้มากถึง 3,000 คำ แต่ด้านอารมณ์เองก็ยากขึ้น แสดงออกทางอารมณ์มากขึ้น น้องเริ่มเรียนรู้ความรู้สึกของคนอื่นมากขึ้น เป็นวัยที่มีความกลัวเยอะ ด้วยเรื่องสังคมด้วย ตัวออแพร์อย่างเราต้องสนับสนุนให้น้องกล้าที่จะพูดและเล่นกับเพื่อนๆ ส่วนตัวแล้วน้องเราเริ่มวัยนี้พอดีค่ะ ตอนนี้พูดเก่งมาก เก่งขึ้นจากเมื่อปีที่แล้วตอนเรามาถึงที่ 2 ขวบจะ 3 ขวบมากๆ ขี้สงสัยมากขึ้น มีคำถามกับทุกเรื่อง เราว่าออแพร์ไม่เหงาแน่นอน แต่ก็ต้องมีพลังในการตอบคำถามและการจับตามอง เพราะปีนป่ายเก่งมากขึ้น จากโซฟามาเป็นเคาน์เตอร์บาร์ในครัวแทนแล้ว ส่วนงานเราว่าไม่ยากมากแล้วค่ะ วัย 3 ขวบ น้องส่วนใหญ่ผ่าน potty training แล้ว ไม่จำเป็นต้องใส่ผ้าอ้อม น้องถอดเสื้อเองเป็นแล้ว ใส่กางเกงเอง และใส่รองเท้าเอง ทำเองเป็นแทบทุกอย่างแล้ว ตอนนี้เราก็แทบจะบอกน้องแปรงฟันเองแล้วค่ะ (น้องเรายังแปรงไม่เป็น แต่ใกล้แล้วแหละ ใกล้แล้วค่ะ)
- Grade schooler (5-12 yrs.) น้องไปโรงเรียนกันแล้วค่ะ งานเราเลยไม่ต้องดูแลอะไรมาก ส่วนใหญ่งานจะเริ่มตอนเช้าด้วยการช่วยน้องเตรียมตัวไปโรงเรียน แต่ในระหว่างโควิดอย่างนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการเรียนออนไลน์ เราเลยต้องช่วยน้อง set up อุปกรณ์เล็กน้อย และด้วยความที่น้องโตแล้ว ทำเองทุกอย่างได้แล้ว เราไม่ต้องทำอะไรเลยค่ะ ยกเว้นทำงานบางอย่างที่น้องต้องการความช่วยเหลือ เช่นบ้านเรา น้องมีเรียนว่ายน้ำ (สระหลังบ้าน) เราก็ต้องช่วยน้องเตรียมอุปกรณ์และช่วยเปิดน้ำอุ่นให้ rinse และอยู่รอเป็นเพื่อนน้องจนกว่าครูจะมา โดยปกติที่ไม่ใช่ช่วงโควิด ออแพร์ที่ดูแลน้องวัยนี้ ส่วนใหญ่ได้รับบทบาทเป็นอูเบอร์ค่ะ กิจกรรมเยอะ ขับรถไปส่งน้องตามคลาสต่างๆ แต่บางบ้านอาจขอให้รับบทบาทติวเตอร์เพิ่มด้วย อันนี้ต้องคุยรายละเอียดกับโฮสต์กันดีๆนะคะ
- Teen (12-18 yrs.) วัยนี้ติดเพื่อนและมีความคิดเป็นของตัวเองสูง เป็น challenge กับทั้งตัวออแพร์และพ่อแม่เช่นกันค่ะ เพราะความคิดของน้องจะขึ้นกับสังคมมากขึ้น ทำทุกอย่างเองได้หมดแล้ว วัยนี้ไม่ต้องการการดูแลอะไรเลย แทบจะไม่ต้องดูแลหรือจัดหาอะไรให้เขาเลยค่ะ ที่ต้องทำคงเป็นเรื่องขับรถ/ทำอาหารและซักผ้าให้น้องค่ะ แม้น้องจะทำเป็นทุกอย่างแล้ว เราก็ยังต้องทำอยู่ค่ะ เพราะมันยังเป็นหน้าที่ออแพร์อยู่นะ
พูดเรื่องวัยไปแล้ว มาพูดถึงเรื่องจำนวนกันบ้างว่าจำนวนเท่าไหร่ถึงเหมาะกับเรา อันนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจส่วนบุคคลเลยนะคะว่าเราทำได้แค่ไหน รับมือกับน้องกี่คนถึงจะพอดี เราต้องอยู่กับน้องเป็นปี มันโอเคใช่มั้ย ต้องคิดหลายอย่างเลยค่ะ เราจะมาเล่าในส่วนของเราที่ดูแลน้อง 3 คนนะคะ เราบอกตามตรงเลยว่าตอนปกติที่ไม่มีโควิดมันดีค่ะ เพราะน้องคนโตไปโรงเรียนทั้งวัน คนกลางไปครึ่งวัน และคนเล็ก แม่น้องจะเป็นคนดูแลช่วยเรา งานเราเลยจะอยู่กับแค่คนกลางมากกว่า แต่ตอนนี้ด้วยสถานการณ์โควิด ทำให้โรงเรียนปิด ไม่สามารถไปเรียนตามปกติได้ เราผ่านสถานการณ์ที่ต้องเลี้ยงพร้อมกัน 3 คน / 2 คน และ 1 คนมาแล้วค่ะ มีน้อง 1 คนคือประเสริฐ เพราะเราสามารถโฟกัสได้ที่คนเดียว ไม่ว่าน้องจะยากแค่ไหน อารมณ์น้องจะขึ้นลงแค่ไหน แต่มีคนเดียว เราดูแลแค่คนเดียว โฟกัสที่คนเดียวไม่ต้องไปดูคนอื่นๆอีก มันดีมากๆ แต่ก็จะเหงาหน่อยเพราะไม่มีใครเล่นด้วย มีแค่น้องกับเรา ฉะนั้นใครที่ขี้เหงาแนะนำที่ 2 คนค่ะ เพราะเวลาเราเหม่อลอย จู่ๆน้องก็ชวนกันเล่นเอง ไม่ต้องให้เราสร้างกิจกรรมอะไรเลย เราแค่ไปดูแลเรื่องความปลอดภัยและเล่นกับเขาไปด้วย สนุกมาก มีกัน 2 คนเนี่ยเฮฮาทั้งวัน ส่วน 3 คนก็ดีค่ะ เพราะช่วงวัยน้องเราต่างกันด้วย เราเลยไม่ได้มองว่ามันยากขนาดนั้น น้องคนโตสามารถทำกิจกรรมของเขาคนเดียวได้ เราเลยมาดูแลคนกลางกับคนเล็กแทน แต่ก็แวะเวียนไปคุยกับคนโตด้วย และคนโตจะเป็นเพื่อนเราตอนน้องอีก 2 คนหลัง NAP ได้ฝึกภาษาจากน้องคนโตเยอะมาก เพราะน้องรู้คำศัพท์ beyond ไปกว่าเราเยอะ ยกเว้นการสะกดและการเขียนที่น้องยังไม่ได้ แต่สนุกมากที่ได้เรียนรู้ไปกับน้อง
เป็นยังไงกันบ้างคะ แค่หัวข้อแรกก็เหนื่อยแล้วใช่มั้ย ฮ่าๆ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดค่ะ เราเลยต้องพูดถึงกันเยอะสักหน่อย หวังว่าจะช่วยให้ทุกคนมองภาพรวมของการดูแลน้องกันออกนะคะ จะได้รู้จักตัวเรามากขึ้นด้วยเนอะว่าเราเหมาะกับวัยไหน ถ้าหายเหนื่อยแล้ว เราไปต่อกันที่ปัจจัยต่อไปกันเลยนะคะ
2) Schedule & Responsibilities - สำคัญรองลงมาเลยค่ะ เรื่องนี้ต้องคุยให้แน่ใจ ออแพร์ต้องทำงาน 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และห้ามทำเกิน 10 ชั่วโมงต่อวัน ออแพร์ต้องได้รับวันหยุด 1.5 วันต่อสัปดาห์ โดยใน 1 เดือนจะได้หยุด full weekend 1 ครั้ง แต่หลายบ้านไม่ได้ให้ทำ weekend ก็มีค่ะ และตารางงานแต่ละวันต้องไม่ต่อกันต่ำกว่า 10 ชั่วโมง คือเราต้องมีเวลาพักผ่อน 10 ชั่วโมงอย่างต่ำในแต่ละวันก่อนจะเริ่มวันใหม่ อีกอย่างคือถ้าพักเบรคสั้นๆ ต้องพัก 2 ชั่วโมงอย่างต่ำนะคะ ห้ามต่ำกว่านี้ (แต่ข้อนี้คือแล้วแต่สะดวกดีกว่าค่ะ เพราะบางทีเราก็ทำแบบพัก 1 ชั่วโมงไปก็มี) อันนี้ต้องขึ้นอยู่กับการคุยกับโฮสต์เลย ส่วนใหญ่ที่อเมริกาโฮสต์จะมี date night กัน ซึ่งเขาจะขอให้เราทำงาน แต่ไม่ยากมากค่ะ แค่ดูตอนน้องนอน เรื่องหน้าที่เองก็สำคัญ ออแพร์มีหน้าที่ดูแลเด็ก โดยงานส่วนมากจะเกี่ยวกับเด็ก แต่บางบ้านอาจขอให้ช่วยงานบ้านเล็กน้อยด้วย เช่นบ้านเราก็มีงานบ้านให้ช่วยทำเช่นกัน แต่ไม่ได้ทำเหมือนเป็น housekeeper ไปเลยนะคะ แค่ช่วยงานเล็กๆน้อยๆ เรามองว่าใจเขาใจเรามากกว่า เพราะเรามาอยู่บ้านกับเขา จะไม่ช่วยอะไรเลยก็แปลกๆนะ เรื่อง Holidays ของอเมริกาก็ไม่มีกฎว่าให้ออแพร์หยุดงานได้ค่ะ อันนี้จะขึ้นอยู่กับความน่ารักของแต่ละบ้านเลยว่าจะให้หยุดมั้ย หมายเหตุตัวโตๆไว้เลยว่าขึ้นอยู่กับแต่ละบ้านนะคะ แต่ละบ้านมีกฎคล้ายๆกันแต่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นต้องคุยรายละเอียดให้แน่ชัดและถามให้แน่ใจไปเลยค่ะ สงสัยอะไรถามไปเลย เราจะได้ไม่มาเสียใจทีหลังนะคะ
3) Personality - เรามองว่าข้อนี้ก็สำคัญนะคะ ตอนคุยเราต้องดูว่าโฮสต์แต่ละบ้านมีลักษณะยังไง ตอนเราคุยด้วยแล้วเราสบายใจมั้ย ดูว่านิสัยใจคอจะเข้ากันได้มั้ย ส่วนตัวเราเป็น ambivert ที่ค่อนไปทาง introvert และเป็น very calm person ค่ะ เราเลยบอกโฮสต์ไปเลยว่าอย่าคาดหวังให้เราเปลี่ยนนะ เราเป็นของเราอย่างนี้ ถ้าโฮสต์โอเค เราถือว่าผ่านมาหนึ่งด่านแล้วค่ะ แต่จริงๆโฮสต์จะรับรู้ได้จากการทำแบบทดสอบด้านจิตวิทยาของเราในเว็บไซต์ของเอเจนซี่อยู่แล้ว (เราไม่รู้ว่าเอเจนซี่อื่นได้ทำมั้ยนะคะ) โฮสต์ที่เข้ามาขอแมทช์กับเราเลยจะค่อนข้างแน่ใจกับเราแล้วว่าเราเป็นยังไงและเขาต้องการเราจริงๆ เหลือแต่เรานี่แหละค่ะที่ต้องสังเกตเอาจากการคุยสไกป์ ยังไงทุกคนลองสังเกตเอาจากการคุยนะคะ ถ้ามันมี awkward moment เยอะและคิดว่าอยู่ด้วยไม่ได้จริงๆ การปฏิเสธโฮสต์ไม่ใช่เรื่องน่าเกลียดเลยค่ะ ดีกว่ากั๊กเขาไว้นะคะ :)
4) Benefits - มาถึงอีกหัวข้อที่เรามองว่าสำคัญเช่นกันค่ะ นั่นคือสิ่งที่เราจะได้รับจากโฮสต์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าตอบแทน หรือสิทธิพิเศษต่างๆที่จะได้รับ เราสารภาพเลยว่า first match ของเรา เรามองแต่เนื้องานว่าเราจะทำได้มั้ยรายละเอียดของเด็กและนิสัยโฮสต์ แค่นั้นเลยค่ะ แม้แต่ห้องนอนเราก็ไม่ได้ขอดู การถามถึงค่าตอบแทนและสิทธิพิเศษต่างๆ บางคนอาจจะมองว่ามันดูน่าเกลียดไปนิดนึงมั้ย แต่จากประสบการณ์ของเราแล้ว ถามไว้ให้แน่ใจดีที่สุดเลยค่ะ จะได้แน่ใจว่าเราจะได้อะไรบ้าง เรื่องอาหารและการเดินทางก็สำคัญค่ะ บางบ้านเสนอ stipend เพิ่มเติมให้เลย เรื่องนี้ต้องคุยกับโฮสต์ให้แน่ชัดนะคะ
5) Place - แน่นอนว่าสำคัญอีกแล้ว ทุกคนต้องตั้งคำถามกับตัวเองแล้วค่ะว่าชอบบรรยากาศแบบไหน เพราะอเมริกาเป็นประเทศที่ใหญ่มากๆ สภาพอากาศและสภาพแวดล้อมของแต่ละรัฐแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ยกตัวอย่างที่เราอยากสัมผัสอากาศหนาวและหิมะตก เราเลยเลือกที่จะอยู่ฝั่ง east แต่โชคร้ายที่ปีที่เรามานี้ หิมะตกน้อยมาก ไม่ถึง 1 อาทิตย์เลยค่ะ ก็ได้บรรยากาศหนาวๆอยู่นะคะ เมืองที่เราอยู่ไม่ใช่เมืองใหญ่ที่คนพลุกพล่านเหมือนนิวยอร์ก ธรรมชาติไม่ได้สวยมาก แต่เราชอบนะ เป็นเมืองเล็กๆที่ตอบโจทย์เราดีค่ะ แต่ถ้าเพื่อนๆชอบบรรยากาศซัมเมอร์ ทางฝั่งแคลิฟอร์เนียตอบโจทย์ทุกคนแน่นอน ดังนั้นก่อนจะเลือกแมทช์ เรื่องสถานที่ตั้งและสภาพอากาศก็เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกเช่นกันค่ะ ทุกคนสามารถเอาชื่อเมืองไปค้นหาในอินเทอร์เน็ตได้เลย หรือจะถามกับโฮสต์ได้ค่ะ เราเชื่อว่าโฮสต์ยินดีตอบมากๆ
6) House’s rules - สำคัญอีกหนึ่ง บางบ้านให้ textbook มาเลยก็มี ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าบางบ้านเข้มงวดมาก ฉะนั้นข้อนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน ออแพร์ควรถามถึงกฎของบ้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องเคอร์ฟิว หรือเรื่องอื่นๆ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการพาเพื่อนมานอนบ้านและเคอร์ฟิวค่ะ เท่าที่เจอมา แต่ในช่วงโควิดอย่างนี้อีกหนึ่งคำถามยอดฮิตคือเราสามารถออกไปข้างนอกได้มั้ย แต่ก็ต้องทำให้โฮสต์แน่ใจด้วยว่าเราดูแลตัวเองได้ดี และจะไม่นำเชื้อมาติดกับที่บ้านแน่นอน การ respect and trust each other ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกันนะคะ
นี่คือหัวข้อทั้งหมดที่เราคิดว่าเป็นปัจจัยหลักๆของการเลือกแมทช์เลยค่ะ ถ้าเพื่อนๆมีปัจจัยอื่นเพิ่มเติมจากที่เราลิสต์มา เข้ามาพูดคุยหรือแนะนำกันมาได้เลยนะคะ จะหลังไมค์มาคุยกันที่ ทวิตเตอร์ ก็ได้เลยค่ะ แต่เราตอบกลับคนละเวลากับที่ไทยนะ ตอบช้าอย่าว่ากันนะคะ ;-;
เอาล่ะค่ะ จบหัวข้อปัจจัยในการเลือกแมทช์แล้ว ตอนนี้มาพูดถึงคำถามที่เราใช้ถามโฮสต์กันบ้างดีกว่านะคะ อย่างที่เราบอกเลยว่าเราจะไม่พูดถึงคำถามที่โฮสต์ถามกลับเท่าไหร่นะคะ เพราะเราเชื่อว่าทุกคนจะผ่านมันมาได้ด้วยการตอบคำถามที่เป็นตัวของตัวเองได้แน่นอน ถ้าพร้อมแล้ว มาเริ่มกันเลยนะคะ ;)
คำถามที่เราควรจะถามโฮสต์
จริงๆเราเองก็ได้ค้นหาและเอาคำถามของรุ่นพี่ออแพร์มาปรับใช้ เราขออนุญาตอ้างอิงถึงเว็บไซต์ของรุ่นพี่ออแพร์ที่เรานำมาปรับใช้กับคำถามของเรานะคะ
- ออแพร์ไนซ์ในอเมริกา https://bit.ly/32BCRdx
- Way Of Life In Aboard https://bit.ly/3lu566M
- thaiaupairclub https://bit.ly/3hDMH57
ส่วนคำถามของเราจะประมาณนี้เลยนะคะ
· Schedule : How’s about my schedule? / How’s about the kids’s schedule?
· Room : Can you show me my room please? / Do I have private bathroom?
· Driving : Do I have to drive for the kids? / Do I have my own car? / Can I use a car for my personal use?
· Meal : Do I have to cook? / Do I have to prepare a meal for the kids?
· During COVID-19 : How serious are you about the pandemic? Can I go outside for a walk and meet friends?
· Day-off : How about my day-off? Do I have a full weekendoff?
· Food : If I have to cook, do they allergy to anything?
· House’s rules : Do you have any house’s rules for an Au Pair?
· Responsibilities : May I ask about my duties?
· Activity : What activities are you expect an Au Pair to do with your kids? / What’s your favorite activity to do as a family? / Do you expect an Au Pair to join every family’s activity?
· Former or current Au Pair : Have you ever had an Au Pair before? / Is she still working with you? / Is it ok if I ask for her contact for talking with her about her experiences? (ถ้ามีออแพร์อยู่แล้ว แนะนำให้คุยกับออแพร์เขาด้วยค่ะ)
· Weather : How’s the weather there?
· City : Can you tell me about your place please?
· Money : How much do you pay your current Au Pair? / How much money will I receive? / Due to the pandemic, lots of host families offered me more than the regular payment.
· Households : Do I have to do any household? / Do you have a housekeeper? Is she clean my room too or I have to do it by myself?
· Grocery : Are you willing to buy me some grocery?
· Uber : Can you support me with Uber if I don’t have to drive?
· Discipline : How do you treat your kids? / Do you have time-out?
· Snack : Are they allow to have snack?
· TV : Do they have screen’s time?
· Cell phone : Are you going to provide me a cell phone?
· Holidays : Do I have to work on holidays? (ไม่มีกฎว่าให้ออแพร์หยุดงานนะคะ ตามที่บอกเลยว่าขึ้นอยู่กับความน่ารักของโฮสต์)
เราลิสต์คำถามมาประมาณนี้ค่ะ อันนี้เป็นคำถามสำหรับครั้งแรกที่เราคุยเลยค่ะ เราอาจจะถามเกี่ยวกับตัวเองเยอะไปหน่อย แต่เราเอามาเป็นแนวทางในการถามคำถามให้กับทุกคนเฉยๆนะคะ ยังไงลองเอาไปปรับใช้ในแบบของตัวเองกันดูนะ :)
คำถามที่โฮสต์จะถามเรา
ที่เราเจอมาตอน first match ส่วนใหญ่จะให้แนะนำตัวก่อนค่ะ ว่าเราชื่ออะไร อายุเท่าไหร่ จบจากที่ไหน ต่อมาโฮสต์ก็จะให้เราเล่าว่าเราทำงานเกี่ยวกับเด็กวัยไหนบ้าง รับผิดชอบอะไรบ้าง ทำงานเป็นยังไง จะถามว่าทำไมมาเป็นออแพร์อะไรคือสิ่งที่คิดว่าเป็น biggest fear ในการเป็นออแพร์ ขับรถได้มั้ย ทำอาหารได้หรือเปล่า เราเลี้ยงเด็กยังไง (how to treat and discipline) อะไรคืออุปสรรคในการเลี้ยงเด็ก ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นกับเด็กจะทำยังไง คาดหวังว่าจะได้อะไรจากโฮสต์บ้าง อยากให้โฮสต์เป็นยังไง ส่วนใหญ่จะประมาณนี้เลยค่ะ คำถามนอกเหนือจากนี้ เรามั่นใจว่าทุกคนสามารถตอบได้อยู่แล้ว ตอบในแบบที่เป็นตัวเองมากที่สุดนะคะ สู้ๆค่ะทุกคน
เราอยากแนะนำเรื่องการเตรียมตัวก่อนสัมภาษณ์กับโฮสต์นะคะ ส่วนใหญ่โฮสต์จะเขียนข้อมูลลงในโปรไฟล์เรียบร้อยแล้ว เราชอบ take note ข้อมูลของโฮสต์ไว้ค่ะ ใครมีไอแพด แนะนำไอแพดค่ะ สะดวกมาก ส่วนใครไม่มี เขียนลงบนกระดาษได้นะคะ เราไม่ควรถามคำถามที่โฮสต์เขียนบนโปรไฟล์แล้ว ฉะนั้นควรจำข้อมูลที่ระบุไว้ในโปรไฟล์ และถามคำถามอื่นที่ไม่มีในโปรไฟล์นะคะ เรื่องการนัดหมายทางอีเมล ทุกคนต้องดูเรื่องเวลาให้ดีนะคะ เพราะอเมริกาเป็นประเทศที่ใหญ่ เวลาในแต่ละภูมิภาคจะแตกต่างกัน สถานที่ในการวิดีโอคอลด้วยค่ะ ควรเลือกที่ไฟสว่างส่องถึง โฮสต์จะได้เห็นหน้าเราชัดๆนะคะ สุดท้ายนี้อย่าลืมขอบคุณโฮสต์ทุกครั้งนะคะ เราทำตลอด พอจะวางสายเราก็ขอบคุณเลยและบอกว่าถ้ามีคำถามอะไรอีกจะส่งอีเมลไปสอบถาม รวมถึงส่งข้อความบอกในสไกป์ด้วยค่ะว่าขอบคุณที่พูดคุยกับเราวันนี้ ขอให้เป็นวันที่ดีนะคะ พอโฮสต์เห็น เขาจะได้เอ็นดูเราเนอะ ฮ่าๆ
หวังว่าบทความในอีพีนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนทั้งในปัจจุบันและอนาคตไม่มากก็น้อยนะคะ อย่างที่บอกเลยว่าหลังไมค์มาคุยกันได้ที่ทวิตเตอร์ ยินดีตอบทุกคำถามเลยค่ะ หรือมาแลกเปลี่ยนความคิดกันก็ได้นะคะ ยินดีมากๆเลย เร็วๆนี้เราอาจจะไป collab กับเพื่อนในวิดีโอ Q&A เกี่ยวกับออแพร์ค่ะ ยังไงถ้าเพื่อน launch วิดีโอเสร็จเมื่อไหร่จะมาแปะลิงก์ให้อีกทีนะคะ หวังว่าจะมีวันที่ดีนะคะทุกคน ไว้เจอกันใหม่อีพีหน้าค่ะ :)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in