เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Ladies and gentlemen, it's time for the stars.sxrxxm_
ภารกิจตามหาโลกใบใหม่
  •           *บทความนี้(มีความจำเป็นต้อง)เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนังสือและภาพยนตร์*

    _______________________________________________________________

             ในโลกศตวรรษที่ 21 ที่เกิดเหตุการณ์และปรากฏการณ์ต่าง ๆ มากมายจนทำให้ดูเหมือนว่าอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น แล้วถ้าหากวันหนึ่งเราต้องอพยพออกจากโลกล่ะ? ถ้าในอนาคตมวลมนุษยชาติจำเป็นต้องย้ายถิ่นที่อยู่ไปยังดาวเคราะห์ดวงอื่นด้วยเหตุผลบางประการล่ะ? เหตุการณ์นั้นจะมีรูปแบบหรือลักษณะอย่างไร? ดาวดวงไหนที่เราจะย้ายไปอยู่ได้? และเราจะเดินทางไปดาวดวงนั้นได้อย่างไรกัน? บทความนี้จะพาคุณไปสำรวจ “ภารกิจตามหาโลกใบใหม่” ที่เป็นจุดสำคัญในวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง Time for the Stars เขียนโดย Robert A. Heinlein ซึ่งถูกตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี 1956 และภาพยนตร์ Sci-fi ในใจของใครหลาย ๆ คนอย่าง Interstellar ภาพยนตร์ Sci-fi ที่กำกับโดย Christopher Nolan ซึ่งฉายในปี 2014 ว่ามีการพูดถึงภารกิจนี้ในลักษณะที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

    ภาพจาก: http://dustjackets.com, http://imdb.com

              ชื่อของ Chirstopher Nolan น่าจะคุ้นหูใครหลายคนอยู่แล้ว ผู้เขียนจึงขออนุญาตไม่ทำการพูดถึงในส่วนต้นนี้ แต่จะขอแนะนำนักเขียนนิยาย Sci-fi ที่อาจจะไม่เป็นที่รู้จักมากนักในปัจจุบันอย่าง Robert A.Heinlein ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาหลักของบทความ ชื่อของ Robert A.Heinlein อาจจะไม่ได้รับการพูดถึงสักเท่าไหร่ในยุคนี้ แต่หากย้อนกลับไปในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ชื่อของ Heinlein จะถูกพูดถึงเป็นอันดับต้น ๆ ในฐานะนักเขียนนิยาย Sci-fi ชื่อดังและยังเคยได้ตีพิมพ์หนังสือร่วมกับนักเขียนชื่อดังอย่าง John W. Campbell, Isaac Asimov และ L. Ron Hubbard ด้วย วรรณกรรมเยาวชนเรื่อง Time for the Stars นี้เป็นหนังสือหนึ่งในสิบสามเล่มของวรรณกรรมชุด “Heinleinjuveniles” ซึ่ง Heinlein ได้เขียนขึ้นในช่วงปี1947-1959 วรรณกรรมทั้งสิบสามเล่มนี้จะมีลักษณะเฉพาะเดียวกันนั่นก็คือการให้ตัวละครเด็กหนุ่มเข้าไปสู่โลกแห่งความขัดแย้งการตัดสินใจ และความรับผิดชอบแบบผู้ใหญ่

           ทั้ง Time for the Stars และ Interstellar ต่างก็เป็นงานประเภท Sci-fi ที่กล่าวถึงเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งทั้งสองเรื่องก็ไม่ได้มีการบอกเป็นตัวเลขชัด ๆ ว่าเหตุการณ์เหล่านั้นดำเนินขึ้นในปีค.ศ. ใดกันแน่ เรารู้เพียงแต่ว่ามันเป็นช่วงเวลาในอนาคตเนื่องจากสภาพแวดล้อมต่าง ๆที่ปรากฏนั้นแตกต่างกับช่วงเวลาในปัจจุบันของเราและเป็นความสามารถของผู้แต่งที่จะจินตนาการภาพของโลกในอนาคตให้ออกมาเป็นรูปแบบไหนซึ่งผู้อ่านจะได้ทำความเข้าใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรวมถึงความแตกต่างของงานประเภทSci-fi ที่มีอายุห่างกันเกือบหกสิบปีผ่านการเล่าเรื่องในแต่ละหัวข้อดังนี้

    สาเหตุของการอพยพ

    Time for the Stars เป็นวรรณกรรมเยาวชนวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่อง "Project Lebensraum" ซึ่งเป็นโครงการที่จะนำนักบินอวกาศขึ้นยานออกไปสำรวจดาวเคราะห์ต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะกลายเป็น "โลกใบที่สอง" ให้มวลมนุษยชาติ เนื่องจากปัญหาด้านจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนอาจเกิดเหตุการณ์ประชากรล้นโลกได้ ซึ่งวิธีการคัดเลือกบุคคลที่จะได้ขึ้นยานไปสำรวจนั้นค่อนข้างแปลกใหม่และน่าสนใจมากทีเดียว ดำเนินโครงการหลักโดย "Long Range Foundation" (คล้าย ๆ องค์กร NASA ในปัจจุบัน) และมีหน่วยงานย่อยที่เรียกว่า "Genetics Investigations" ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ "ฝาแฝด" ที่จะเป็นประโยชน์ต่อภารกิจในอนาคตนั่นก็คือการใช้ "โทรจิต" สื่อสารกันระหว่างฝาแฝด ซึ่งตัวเอกของเรื่องก็เป็นฝาแฝด-ทอมและแพต เด็กผู้ชายชั้นมัธยมต้นที่ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในฝาแฝดอีกหลายสิบคนที่จะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจครั้งนี้

    หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไม Heinlein จึงหยิบเรื่อง "โทรจิต" มาเป็นประเด็นหลักที่น่าสนใจในนิยายเรื่องนี้ คำตอบอาจจะเป็นเพราะว่าช่วงเวลาที่ Heinlein กำลังเขียนนี้เป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับ "สงครามเย็น" ซึ่งเป็นช่วงสถานการณ์ที่ตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต (ในขณะนั้น) และในช่วงเวลานี้เองที่เริ่มมีการพูดถึง "โทรจิต" หรือ "การอ่านจิตใจ" มีการกล่าวว่าทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตต่างก็พยายามศึกษาและหยิบสิ่งเหล่านี้มาใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายหรือล้วงความลับทางการทหารของฝ่ายตรงข้าม ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่า Heinlein ได้รับแรงบันดาลใจจากการใช้โทรจิตในสงครามเย็นครั้งนี้และนำมาเขียนต่อยอดเป็นเรื่องราวใน Time for the Stars และอีกหนึ่งสิ่งที่จำเป็นที่ต้องกล่าวเสริมในส่วนนี้คือ "การเพิ่มจำนวนของประชากร" อาจไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้มนุษย์ต้องออกไปหาโลกใบที่สอง แต่อาจจะมี "ความต้องการขยายอาณานิคมและแหล่งทรัพยากร" เป็นเหตุผลที่สองก็เป็นได้ เนื่องจากในวรรณกรรมมีการกล่าวถึงการตั้งอาณานิคมใหม่เพื่อมนุษยชาติ อีกทั้งตัว Heinlein เองก็เป็นคนที่มีความสนใจในด้านสังคมและมานุษยวิทยาด้วย งานเขียนชิ้นนี้จึงอาจจะไม่ได้เป็นแค่วรรณกรรมเยาวชนวิทยาศาสตร์ทั่วไป แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความโลภและความต้องการอันไม่สิ้นสุดของมนุษย์ด้วย

    Robert A.Heinlein ขณะรับรางวัล Nebula Awards  ภาพจาก: http://nebulas.sfwa.org

              Interstellar กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นบนโลกซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจอพยพมวลมนุษยชาติว่า เมื่อถึงเวลาหนึ่ง โลกเกิดสภาวะขาดแคลนอาหารและเกิดโรคพืชอันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการล้มตายในพืชที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของมนุษย์และสัตว์ อีกทั้งยังมีฝุ่นกระจายอยู่ไปทั่วจนทำให้มนุษย์ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและนี่เองที่เป็นสาเหตุที่ทำให้องค์กร NASA (ที่ดำเนินการอย่างลับ ๆ) ตัดสินใจที่จะส่งยานไปสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเพื่อหาที่ทางที่จะอพยพมวลมนุษยชาติออกไปจากโลกที่ใกล้จะล่มสลายดวงนี้เพื่อให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ยังดำรงอยู่ต่อไปได้ ตัวเอกของเรื่องอย่าง "คูเปอร์" อดีตนักบินอวกาศที่ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าร่วมภารกิจการสำรวจครั้งนี้ก็เป็นตัวละครสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่นำพามนุษย์เข้าใกล้ความสำเร็จในการค้นหามากขึ้นแม้ในภาพยนตร์เรื่อง Interstellar จะไม่ได้มีการกล่าวถึงอย่างชัดเจนว่า "ใคร" หรือ "สิ่งใด" เป็นผู้เลือกคูเปอร์ให้ขึ้นไปสำรวจ แต่ผู้เขียนกลับมีความรู้สึกว่าคนที่เลือกคูเปอร์นั้นอาจจะเป็น "มนุษย์" ที่มีวิวัฒนาการขั้นสูงสุดก็เป็นได้ เนื่องจากในภาพยนตร์ ตัวคูเปอร์เองก็เคยกล่าวทำนองว่า "ตอนนี้เรายังทำไม่ได้ แต่ในอนาคต เราจะทำได้แน่นอน" นี่เป็นการแสดงความคิดเห็นที่ค่อนข้างมั่นใจในตัวมนุษยชาติของคูเปอร์ จึงทำให้เสนออีกหนึ่งแนวคิดที่อาจเป็นไปได้ว่าจริง ๆ แล้วคนที่เลือกคูเปอร์ให้มาทำภารกิจคือ "มนุษย์" ด้วยกันเอง

    วิธีการตามหาโลกใบใหม่

              ในปัจจุบันเองก็มีการสำรวจดวงดาวและกาแล็กซี่อื่น ๆ อยู่แล้ว รวมถึงมีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่จะระบุว่าบริเวณใดที่เป็น "Habitable Zone" หรือ "เขตที่เอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิต" ซึ่งหมายถึงพื้นที่รอบดาวฤกษ์ที่มีสภาพพอเหมาะที่จะทำให้น้ำสามารถดำรงสถานะเป็นของเหลวได้บนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีลักษณธคล้ายกับโลกอันเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เกิดสิ่งมีชีวิต (สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ, 2563) และปัจจัยนี้เองก็ปรากฏเป็นเงื่อนไขสำคัญในการตามหา "โลกใบใหม่" ในนิยายหรือภาพยนตร์วิทยาศาสตร์หลาย ๆ เรื่อง รวมถึง Time for the Stars และ Interstellar ด้วย

    ภาพจาก: http://consciouslifenews.com

              "Project Lebensraum" ใน Time for the Stars จัดให้มียานอวกาศจำนวน 12 ลำในการสำรวจระบบดาวอื่น ๆ โดยยานแต่ละลำจะประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการดำรงชีวิตบนยาน (หรือเมื่อเกิดเหตุจำเป็นให้ต้องลงจากยานเพื่อไปตั้งรกรากบนดาวดวงไหนสักดวง) เช่น วิศวกร เจ้าหน้าที่ฝ่ายการสื่อสาร พ่อครัว ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ ฯลฯ รวมถึงเหล่าแฝดสองหรือแฝดสามที่ผ่านการทดสอบในตอนแรกด้วย ดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า "Genetics Investigations" มีหน้าที่อะไร และด้วยข้อมูลและการทำการทดสอบของหน่วยงานนี้เองทำให้ฝาแฝดถูกจับแยกออกจากกัน-คนหนึ่งอยู่บนยานเพื่อทำการสำรวจและคอยส่งข้อมูลกลับ ส่วนอีกคนจะอยู่บนโลกเพื่อคอยรับข้อมูลที่แฝดตัวเองส่งกลับมาผ่าน "telepathy" หรือ "โทรจิต" ซึ่งในเรื่องการอธิบายว่าการสื่อสารแบบนี้ได้รับการยืนยันว่าสามารถทำได้ผ่านการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ และเหตุผลที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพราะว่าองค์กรต้องการข้อมูลที่รวดเร็วและทันเหตุการณ์ และจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าหากใช้การสื่อสารผ่านวิทยุอย่างปกติ นั่นก็เพราะว่ายานอวกาศอยู่ห่างออกไปจากโลกหลายปีแสงและเดินทางด้วยความเร็วที่ใกล้เคียงกับความเร็วแสง ด้วยข้อบกพร่องตรงนี้เองที่ทำให้การสื่อสารระหว่างนักบินอวกาศบนยานกับองค์กรค่อนข้างล่าช้าและยิ่งยานเคลื่อนที่ออกไปไกลมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งทำให้การสื่อสารล่าช้ามากขึ้นเท่านั้น แต่เพราะการใช้โทรจิตทำให้การสื่อสารระหว่างแฝดบนยานกับแฝดบนโลกเป็นไปได้ด้วยความรวดเร็วเหมือนการพูดคุยผ่านโทรศัพท์ เนื่องจากการสื่อสารผ่านโทรจิตนั้นไม่ขัดกับกฎฟิสิกส์ใด ๆ จึงทำให้การสื่อสารนี้เป็นไปได้ ฉะนั้นเหล่าเด็กแฝดจึงกลายเป็นเหมือนเครื่องมือสื่อสารระหว่างนักบินอวกาศกับโลกนั่นเอง เหตุผลที่ Heinlein เลือก "ฝาแฝด" ให้เป็นจุดเริ่มต้นของการสื่อสารแบบโทรจิตนั้นอาจเป็นเพราะว่าตัว Heinlein เล็งเห็นถึงความผูกพันอันแน่นแฟ้นของฝาแฝด อีกทั้งฝาแฝดทั้งหมดที่ได้รับเลือกมายังอยู่ในช่วงวัยเด็กด้วย ซึ่ง Heinlein ได้ให้เหตุผลในวรรณกรรมว่าเราจะไม่รู้สึกห่างเหินกับคนในครอบครัวเมื่อเรายังเป็นเด็ก แต่เมื่อโตขึ้นจนมีชีวิตเป็นของตัวเองแล้ว ความผูกพันเหล่านั้นอาจจะลดลงไปและอาจเกิดความห่างเหินมากขึ้นจนทำให้ไม่สามารถสื่อสาร "โทรจิต" ระหว่างกันได้อีกต่อไป

           ภารกิจในการตามหาโลกใบใหม่ของ Long Range Foundation นี้จะมุ่งเน้นไปสำรวจดาวที่มีลักษณะคล้ายดวงอาทิตย์และตามหาดาวเคราะห์ที่โคจรอยู่รอบ ๆ ดาวดวงนั้น ซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องอยู่ในเงื่อนไขของ "เขตที่เอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิต" นั่นคือจะต้องเป็นดาวที่ไม่อยู่ใกล้ดาวฤกษ์จนร้อนเกินไป และไม่อยู่ไกลดาวฤกษ์จนหนาวเกินไป และไม่เล็กเกินกว่าจะเป็น "โลกใบที่สอง" ได้

    ขณะที่ใน Interstellar นั้นระบุว่ามีการสำรวจโดยนักบินอวกาศคนอื่น ๆไว้ล่วงหน้าแล้วก่อนที่ “คูเปอร์” ตัวเอกของเรื่องและนักบินที่เหลือจะเดินทางไปเพื่อทำการสำรวจอีกครั้งว่าดาวแต่ละดวงที่นักบินอวกาศชุดแรกไปลงจอดยานนั้นสามารถอยู่ได้จริงๆ ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดของทั้งสองภารกิจนี้ก็คือการสื่อสาร เหล่าฝาแฝดใน Timefor the Stars สามารถสื่อสารกันผ่านโทรจิตได้ แต่ใน Interstellar นักบินอวกาศทุกคนจะใช้คลื่นไฟฟ้าหรือคลื่นวิทยุในการสื่อสารกลับไปยังโลกหรือจากโลกส่งมายังยานทำให้เห็นความแตกต่างของเวลาบนยานกับโลกได้อย่างชัดเจนจนกลายเป็นฉากที่ทำให้หลายคนร้องไห้ขณะดูนั่นก็คือฉากที่ลูกสาวของคูเปอร์โตเป็นผู้ใหญ่และส่งวิดีโอกลับมาบอกคูเปอร์ถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างที่เขาไม่อยู่นั่นเอง

    ภาพจาก: http://montagesmagazine.com

    ช่วงท้ายของภารกิจ

    อย่างที่แฟนนิยายหรือหนัง Sci-fi ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เมื่อนักบินอวกาศที่ออกไปนอกโลกเดินทางกลับมายังโลก พวกเขามักจะพบว่าคนที่รู้จักกลายเป็นคนแก่หรือเสียชีวิตไปหมดแล้ว ทั้ง ๆ ที่เวลาบนยานที่นักบินอยู่นั้นผ่านไปแค่ไม่กี่ปีเท่านั้นเอง สิ่งนี้สามารถอธิบายได้ด้วย "ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป" ของไอน์สไตน์ซึ่งบ่งชี้ว่าแรงโน้มถ่วงสามารถทำให้เวลาเดินช้าลงได้ (Gravitational TimeDilation) เนื่องจากในอวกาศมีแรงโน้มถ่วงมากกว่าบนโลกหลายเท่าตัวและยิ่งยานอวกาศเดินทางไปใกล้หลุมดำที่มีแรงโน้มถ่วงมหาศาลมากเท่าไหร่ความต่างของเวลาก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

    ในช่วงสุดท้ายของภารกิจ "Project Lebensraum" ก่อนที่เหล่านักบินอวกาศจะเดินทางมายังโลกนั้นมีการระบุว่าพวกเขาได้ค้นพบดาวเคราะห์ที่สามารถเป็น "โลกใบที่สอง" ของมนุษยชาติได้ แต่กลับกลายเป็นว่าดาวเคราะห์ดวงนั้นมี "เผ่าพันธุ์" หนึ่งที่อาศัยอยู่ก่อนแล้ว และชาวพื้นเมืองเหล่านั้นก็ค่อนข้างป่าเถื่อนและตั้งใจที่จะสังหารเหล่านักบินอวกาศในยานทั้งหมด พวกเขาจึงตัดสินใจที่จะเดินทางกลับไปยังโลก โดยอาศัยการส่งโทรจิตสื่อสารของเหล่าฝาแฝดเพื่ออธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และในเวลาต่อมาก็ปรากฏยานอวกาศลำหนึ่งมารับพวกเขากลับไปยังโลก ซึ่งเป็นยานของ Long Range Foundation ที่ได้รับการพัฒนายาวนานหลายสิบปีจนสามารถเดินทางได้เร็วกว่าแสงได้ เมื่อพวกเขากลับไปยังโลกก็ได้พบกับฝาแฝดของตัวเองอีกครั้ง ทอมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาในวัยยี่สิบต้น ๆ กลับไปยังโลกและพบกับแพต ฝาแฝดของเขาซึ่งกำลังจะฉลองวันเกิดครบรอบอายุเก้าสิบปี ในขณะที่ภารกิจตามหาโลกใบใหม่นั้นก็ถูกยกเลิกไปโดยปริยาย แต่ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจจะมีการปฏิบัติภารกิจนี้อีกครั้งก็เป็นได้ เนื่องจากเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาแล้วอาจมีส่วนช่วยให้การเดินทางเป็นไปได้ง่ายกว่าเดิมมาก ๆ และมนุษย์อาจจะได้ "ตั้งอาณานิคม" ใหม่ยังโลกใบที่สองจริง ๆ

    ช่วงสุดท้ายของภารกิจ (ที่ยังไม่จบสิ้น) ของคูเปอร์กับนักบินอวกาศใน Interstellar แตกต่างและซับซ้อนกว่า Time for the Stars พอสมควร เนื่องจากมีการกล่าวถึงมิติที่ห้า หลุมดำ รูหนอน ฯลฯ แต่ในตอนสุดท้ายคูเปอร์ก็สามารถกลับไปยัง "สถานีคูเปอร์" ซึ่งเป็นที่พำนักใหม่ของมนุษย์ (และอาจไม่ใช่มนุษย์ทุกคนที่ได้ไป) ที่ถูกสร้างขึ้นโดยลูกสาวของเขาที่ตอนนี้กลายเป็นหญิงชรา แต่ถึงจะอย่างนั้น ภารกิจตามหา "โลกใบใหม่" ของเขาก็ยังไม่จบ และต้องอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นระหว่างที่เขาไม่อยู่นำพาเขาไปสำรวจดาวเคราะห์ที่จะกลายเป็น "โลกใบใหม่" อีกครั้ง ด้วยความหวังว่าจะสามารถค้นพบดาวเคราะห์ดวงนั้นและสามารถทำให้มนุษย์ดำรงเผ่าพันธุ์ได้ต่อไปอีกนานเท่านาน

    สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและสมควรพูดถึงความคล้ายคลึงกันระหว่างการสื่อสารของ “ฝาแฝด” ใน Time for the Stars และระหว่าง “คูเปอร์กับลูกสาว” - ใน Interstellar แม้ว่าการสื่อสารเพื่อส่งข้อมูลจากยานไปยังโลกจะแตกต่างกัน แต่ในระดับของจิตใจภายในนั้น ทั้งสองเรื่องนี้มีความเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งก็คือการพูดถึง “ความรักและความผูกพัน” การสื่อสารทางโทรจิตของฝาแฝดเป็นไปได้ส่วนหนึ่งก็มาจากความผูกพันของทั้งสองคน และใน Interstellar มีการกล่าวว่ามีเพียงสามสิ่งเท่านั้นที่สามารถข้ามมิติได้ นั่นคือ เวลา แรงโน้มถ่วง และความรัก ฉะนั้นการที่คูเปอร์เลือกที่จะส่งสัญญาณไปให้ลูกสาวที่อยู่อีกมิติหนึ่งรับรู้และตอนที่เขากลับมายัง "สถานีคูเปอร์" ลูกสาวก็รู้ทันทีว่านั่นคือพ่อ และรู้ด้วยว่าสัญญาณที่ส่งมาก็เป็นของพ่อเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ก็เป็นเพราะอนุภาพของความรักความผูกพันที่สามารถก้าวผ่านมิติและห้วงเวลาอันห่างไกลได้นั่นเอง

    แม้ทฤษฎีบางอย่างในเรื่องอาจจะยังไม่ได้รับการพิสูจน์ในโลกวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน แต่โดยรวมแล้วทั้งสองเรื่องก็เป็นนิยายและภาพยนตร์ที่ค่อนข้างดำเนินตรงตามหลักวิทยาศาสตร์อยู่พอสมควร เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันจะก็จะเห็นความแตกต่างและความคล้ายคลึงของวรรณกรรมและภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้ ที่แม้จะจัดทำขึ้นคนละยุคสมัย แต่บางแนวคิดก็ยังเกี่ยวโยงถึงกันได้อย่างน่าสนใจ ฉะนั้น Time for the Stars ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งสำหรับคนที่อยากเริ่มต้นอ่านนิยายวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นวรรณกรรมเยาวชนจึงทำให้วิทยาศาสตร์ดูไม่น่าปวดหัวนัก Interstellar เองก็และเป็นแหล่งเรียนรู้อย่างดีในการเริ่มอ่าน เริ่มดู หรือเริ่มศึกษาเรื่องวิทยาศาสตร์ที่วันหนึ่งอาจไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

    _____________________________________________________


    จริง ๆ งานเขียนชิ้นนี้ทำส่งอาจารย์ค่ะ แต่คิดว่ามันน่าสนใจดีเลยเอามาลงในนี้ด้วย ข้อมูลบางส่วนอาจจะผิดหรือคลาดเคลื่อนบ้าง ขออภัยด้วยนะคะ ขอบคุณที่อ่านบทความนี้จนจบค่ะ






      

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in