“ยืนมองเวียดนามไม่เป็นเช่นเคย”
ถึงกับต้องมองมุมกลับ กลับมุมมองใหม่ หลังจากไปสัมผัสดินแดนที่ขึ้นชื่อว่า “เฝออร่อยเฟ่อออ” เพื่อซึมซับ “วิถีชาวเวียด” ในโครงการ Study Trip ของมหาวิทยาลัยในช่วงชีวิตที่เป็นนักศึกษาปอโท เป็นเวลา 3 วันเต็ม ทำให้เราได้เจอเรื่องราวที่เกินความคาดหมายมากมายจนเผลออุทานมาบ่อยครั้งว่า “เฮ้ย อย่างงี้ก็ได้เหรอ” ประสบการณ์ที่ดุ เด็ด เผ็ด มัน สอนให้รู้ว่า “เวียดนามไม่ได้มีดีแค่เฝอแต่โอกาสทางธุรกิจก็ดูมีแววดีเช่นกัน...”
วันแรกหลังจากเดินทางไปถึงโรงแรม เราก็เริ่มทำการสำรวจ “ความเป็นเวียด” ด้วยการดูทีวีเวียดนาม! ในใจคิดว่าทันทีที่เปิดทีวีต้องเจอละครไทยแน่ๆ แต่ที่น่าแปลกใจคือเปิดไปเจอแต่ซีรีย์เกาหลี คราวนี้ก็งงสิครับ เพราะก่อนจะเดินทางมาเวียดนาม มีคนเคยบอกว่า พี่เวียดชอบดูละครไทย แถมเวลาซื้อของถ้าบอกว่าเป็นของ Made in Thailand ละก็ เขาจะเลือกซื้อของไทยก่อนแน่นอนแต่หลังจากที่มาเวียดนามหลายวัน ทำให้รู้ว่าไม่ใช่แค่ของไทยที่คนเวียดนามชื่นชอบ แต่มีสินค้าโอปป้า สินค้าที่มีความเป็นเกาหลีสูงก็ดึงดูดจิตใจของชาวเวียดได้มากกว่า เพราะเขาได้รับอิทธิพลจากรายการและซีรีย์ของเกาหลีนี่เอง
หลังจากที่เข้าที่พักโรงแรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางมหาวิทยาลัยก็พาพวกเราไปดูคลังสินค้าของ PhuThai ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายและกระจายสินค้าในระดับ Top 3 ของประเทศเวียดนาม โดยที่มีวิทยากรจากบริษัท PhuThai เดินนำพวกเราสำรวจคลังสินค้า พร้อมกับบรรยายถึงสินค้าที่บริษัทนำเข้ามาและได้รับผลตอบรับที่ดีมาก นั่นก็คือ... หม้อหุงข้าวของประเทศเกาหลีขายดีเป็นอันดับ 1 ไอเราก็ งง ว่า อ้าว ไม่ใช่ของไทยเหรอที่น่าจะขายดี ซึ่งวิทยากรก็ได้แต่ยิ้มๆและบอกกับเราว่า "ของไทยก็ขายดี แต่เป็นรองให้เกาหลี" ก็เลยถามเขากลับไปว่าถ้าให้เรียงอันดับประเทศที่คนเวียดนามชื่นชอบเวลาซื้อของคนเวียดนามจะเลือกของจากประเทศไหนก่อนซึ่งได้ผลมาดังนี้ อันดับ 1 ญี่ปุ่น อันดับ 2 เกาหลี และอันดับ 3 คือ ประเทศไทยที่เราคุ้นเคย ไอเราก็สงสัย ญี่ปุ่นมาจากไหนอีกละเนี้ย แต่ก็ได้แต่เก็บคำถามไว้ในใจ พอตอนกลับมาขึ้นรถบัสก็ถึงจะถึงบางอ้อ พี่ไกด์เขาบอกว่าอุตสาหกรรมของเวียดนามส่วนใหญ่เป็นของคนญี่ปุ่น และญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในด้าน Logistic เพราะเห็นโอกาสและศักยภาพของเวียดนาม ซึ่งแน่นอนว่าพี่ยุ่นมาลงทุนในเวียดนามขนาดนี้ก็ต้องมีของขายให้พี่เวียดได้ใช้บ้างแหละ ซึ่งล้วนเป็นแต่เป็นของคุณภาพและราคาสูงตามแบบฉบับญี่ปุ่นสไตล์ ทำให้คนเวียดนามเชื่อมั่นในสินค้าญี่ปุ่น เป็นอันดับ 1 สิ่งที่อยากจะบอกก็คือถ้าเราทำสินค้าฟิวชั่นระหว่างสินค้าคุณภาพด้วยตราสัญญลักษณ์ Made in Thailand และมีภาพลักษณ์หรือพรีเซ็นต์เป็นเกาหลี คงได้ครองใจชาวเวียดได้ไม่ยาก แต่ก็มีช่วงสัมมนาตอนนึงที่เราชอบมาก คือ มีผู้ร่วมสัมมนาคนหนึ่งถามขึ้นมาว่า เห็นซุปเปอร์มาร์เก็ตในเวียดนามมี J-Mart (ขายของญี่ปุ่น) ก็แล้ว K- Mart (ขายของเกาหลี) ก็แล้วเป็นไปได้มั้ยที่จะมี T-Mart ซุปเปอร์ที่ขายของจากไทย....(สตั้นไปแปบ) เออเว้ย เอาดิวะ! ไอเดียดีเป็นบ้าเลย นี่ถ้าใช้เหรีญในแคนดี้ครัชมาลงทุนแทนได้เราทำแล้วนะ
“เวียดเหนือ เวียดใต้ แตกต่างเหมือนกัน” ถึงแม้จะอยู่ในประเทศเวียดนามเหมือนกัน แต่คนทิ่อยู่เวียดนามทางเหนือกับทางใต้จะมีวิถีแบบชาวเวียดที่แตกต่างกัน เช่น คนในภาคใต้อย่างชาวโฮจิมินจะชอบกินข้าวนอกบ้าน หากไปเปิดธุรกิจอาหารมีโอกาสเติบโตได้อยู่ แต่ถ้าเป็นชาวฮานอยที่อยู่ตอนเหนือของประเทศ จะชอบกินข้าวในบ้าน คราวนี้ธุรกิจร้านอาหารถ้าจะขายคนเวียดนามจริงๆจะมีความยาก ดังนั้นหากจะทำลงทุนในเวียดนาม ไม่ใช่แค่บอกว่าเคยขายของในเวียดนามตอนเหนือสำเร็จแล้วคิดจะขยายไปขายทางตอนใต้แล้วจะหวังผลจะเหมือนกันนะจ๊ะ ส่วนผสมความสำเร็จของแต่ละที่มันไม่เหมือนกัน...
แฟชั่นเวียดนาม “ดูเผ็ดแต่ละมุน” เผ็ด มาจากการแต่งตัวแบบแฟชั่นนิสต้าที่ดูยังไง ก็คิดว่าเป็นพี่น้องท้องเดียวกับวงการแฟชั่นเกาหลี ถึงแม้อากาศเวียดนามจะไม่หนาวมาก แต่วัยรุ่นเวียดนามมักแต่งตัว “ดูหนาวเกินอากาศ” เขาเล่นใหญ่กันมากจริงๆจนเราสงสัย ว่ามันหนาวขนาดนั้นเลยเหรอ? เราว่าอากาศมันไม่ได้หนาวขนาดนั้น แต่แฟชั่นขนเป็ดก็มาเฉยเลย ถึงอย่างนั้นก็เถอะ แฟชั่นเขายังมีความ ละมุน มีความซอฟต์ ไม่รุนแรงเท่าเกาหลี จากที่เคยฟังเพื่อนนักศึกษาสัมภาษณ์ผู้หญิงเวียดนามถึงพฤติกรรมการช้อปปิ้งออนไลน์ ได้ความมาว่าเขามักจะชอบช้อปเสื้อผ้าผ่าน Facebook และที่ต้องไฮไลต์ไว้เลยคือเขาซื้อทุกอาทิตย์ เฮ้ย! งั้นก็เป็นโอกาสสิครับ รออะไร! เสื้อผ้าแฟชั่นบ้านเราก็ไม่แพ้รองใคร ถ้าจะทำช่องทางออนไลน์แล้วเน้นขายให้คนเวียดนามก็อาจจะเป็น“อาซ้อน้อย” จนต้องไปออกรายการอายุน้อยร้อยล้านก็เป็นได้ แต่ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของโอกาสในการค้าขายออนไลน์ให้กับพี่เวียดของเราก็คือถึงแม้การบริโภคสื่อออนไลน์จะเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้ถือบัตรเครดิตมีเพียงไม่เกิน 2ล้านคน จากประชาชน 92 ล้านคน จึงเป็นข้อจำกัดด้านความสะดวกในการชำระเงินออนไลน์ที่น่าเป็นห่วง
บางทีเวรกรรมก็มาในรูปแบบของ“เสียงแตร” ตลอดการเดินทางในเวียดนามจะได้ยินเสียงแตรเป็นเสียง Soundtrack ประกอบการเดินทาง ในวันแรกรู้สึกได้ถึงความหนวกหูระดับตลาดไทจากนั้นอีกสามวันผ่านไปลดเหลือเพียงเสียงแตรระดับหน้าพารากอน ไม่รู้ว่าปรับตัวได้หรือมีการอัพเลเวลของน้ำในหูแล้ว....
การข้ามผ่านทุก ”แยกวัดใจ” ของเวียดนาม เหมือนเดินผ่านบททดสอบความด้านชาของจิตใจ เมื่อวันเวลาผ่านไปทำให้เราสามารถเดินข้ามแยกโดยใช้สีหน้าแบบไร้อารมณ์ได้โดยปริยาย ทำให้เราไม่แปลกใจเลยที่ปัจจัยในการเลือกซื้อยานยนต์ของคนเวียดนาม จะดูที่เสียงแตรเป็นอันดับ 1 (แตรไม่ดังพี่เวียดไม่สนใจนะจ๊ะ ที่ขำสุดคือได้มีเกียรติได้รับฟังเสียงแตรแบบเอคโค โอ้โหทำนองเทียบเท่าวงเอเครสต้าบ้านเราเลยทีเดียว) ปัจจัยที่ 2 คือเรื่อง เบรก ส่วนเรื่องราคา กับแบรนด์ จะเป็นอับดับ 3 และ 4 ตามลำดับ (ต่างจากบ้านเราโดยสิ้นเชิงเลยพับผ่า!) แต่ที่น่าแปลกกลับเป็นธุรกิจ Car Care หรือประดับยนต์ พี่เวียดเขาเมินนะจ๊ะ ถึงแม้เขาจะใช้จักรยายนตร์เยอะถึง 29 ล้านคัน แต่เขาคงไม่ชอบการแต่งรถมอเตอร์ไซด์แบบบียอนด์ที่ตกแต่งจนเข้าใกล้ศาลพระภูมิเคลื่อนที่ได้เหมือนบ้านเราประจวบเหมาะเจาะกับวันที่สามของการไป Study Trip เราได้ไปดูบริษัท Thai Summit บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำสัญชาติไทย แต่ได้ไปขยายการผลิตที่ประเทศเวียดนาม เขาให้ข้อมูลการทำธุรกิจรถยนต์ในเวียดนามว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากและมีวอลลุ่มน้อย เพราะรถยนต์ในเวียดนามปัจจุบันมีเพียงแสนกว่าคันเทียบกับประเทศไทยที่มีปริมาณรถเป็นล้านคัน หากมองในโอกาสทางการตลาด นักลงทุนกลับไปทำเจาะกลุ่มตลาดไทยยังได้วอลลุ่มมากกว่าเยอะ และรถเวียดนามส่วนใหญ่จะนำเข้า 80-90% อีกต่างหาก! เพราะฉะนั้นตลาดรถยนต์ในเวียดนามจึงยังไม่น่าสนใจเท่ากับตลาดจักรยานยนต์ เพราะนอกจากที่เราจะเห็นว่าคนเวียดนามใช้จักรยายนต์เป็นหลักแล้ว การมีจักรยานยนต์ก็เหมือนการบ่งบอกฐานะว่า "ถ้าข้ามีมอเตอร์ไซด์ แปลว่า ข้าเป็นคนมีเงินนะเว้ยยย" จนมีประโยคติดตลกของคนเวียดนามว่า “No motorbike no wife” (ถ้าไม่มีมอเตอร์ไซด์ก็หาภรรยาไม่ได้) เห็นมั้ย เห็นมั้ยว่าตลาดนี้มันน่าสนใจขนาดไหน!
นอกจากจักรยานยนตร์ในประเทศเวียดนามจะมีจำนวนเยอะกว่าฝูงมดแล้ว แต่สิ่งที่น่าสังเกตที่ตามมาก็คือ "ฝุ่น" ที่มีเยอะไม่แพ้จักรยายนต์ เป็นเหตุให้ไม่ว่าเราจะเดินไปไหน เราก็มักจะเห็นคนเวียดนามใช้ผ้าปิดจมูกตลอด จนกลายเป็นภาพชินตาของพวกเราไปแล้ว เพราะถ้าเป็นเมืองไทย การใส่ผ้าปิดจมูกก็คงหมายความว่า คนนั่นต้องป่วยอยู่แน่นอน นี่ก็เป็นอีกหนึ่งโอกาส ที่ถ้าหากมาทำธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพจมูกของคนเวียดนามก็น่าสนใจไม่น้อย
ในวันที่สองเราได้มีโอกาสได้เข้าไปโรงงานผลิตเต้าหู้และเจอกับตัวละครลับอย่างผู้จัดการโรงงานของเต้าหู้ ซึ่งเป็นสินค้าแบรนด์ใหม่ที่ยังไม่ได้เคยเปิดตัวที่ไหนมาก่อน เขาเล่าให้ฟังว่า ตอนนี้ทางทีมงานได้เตรียมติดตั้งอุปกรณ์เครื่องจักรไว้พร้อมสำหรับผลิตแล้ว แต่ติดที่ยังไม่สามารถเริ่มผลิตได้ เพราะการเอกสารที่ทำเรื่องขออนุญาติทำธุรกิจยังไม่ผ่าน ถึงแม้จะดำเนินเรื่องมานานแล้วก็ตาม ทำให้บริษัทต้องเสียค่าเช่าฟรีมาหลายเดือนแล้ว จนเจ้าของเองก็ทนไม่ไหว ยื่นคำขาดให้กับบริษัทที่เป็นตัวแทนติดต่อขออนุญาติกับทางรัฐ ว่าถ้าไม่ยังไม่ผ่านอีกก็จะไม่จ่ายค่าเช่าให้ ตอนที่ยืนฟังรู้สึกเหมือนกำลังดูรายการอายุน้อยร้อยล้านที่ธุรกิจต้องเริ่มต้นต้องเริ่มจากความล้มเหลวหรือไม่ก็อุปสรรคที่ดูยากเย็นอยู่เสมอ เพียงแต่ภาพตรงหน้า ไม่มียิปโซ คอยดำเนินรายการให้เหมือนที่เราเห็นในรายการทางโทรทัศน์ // ภาพตัดมาที่ผู้จัดการโรงงาน โชคดีที่ขณะเขากำลังเล่า เขาไม่ได้น้ำตาคลอเบ้า ทำให้บทสนทนายังคงเป็นไปในสภาพภูมิอากาศเย็นชื้น นอกจากนี้เขายังเล่าว่า บางทีการธุรกิจที่นี่ก็ต้องมีเส้นมีสายอยู่บ้าง ดังนั้นการลงทุนที่เวียดนามส่วนใหญ่จะนิยมลงทุนในรูปแบบของ การร่วมลงทุน (Joint Venture) หมายความว่า ส่วนของชาวต่างชาติที่สามารถลงทุนได้คือ 70% และสัดส่วนการลงทุนของชาวเวียดนาม 30% ข้อดีของการร่วมลงทุน (Joint Venture) ซึ่งมีคนเวียดนามร่วมลงทุนด้วยก็คือ (1.) เขาจะมีส่วนของที่ดิน ซึ่งตามกฏหมายชาวต่างชาติจะไม่สามารถครอบครองที่ดินได้ (2.) ในแง่ของการทำงาน หรือการทำการตลาด แน่นอนว่าความเวียดนามย่อมเข้าเข้าใจวัฒนธรรมของคนเวียดนามเอง มากกว่าชาวต่างชาติ (3.) การดำเนินเรื่องเพื่อขอทำธุรกิจ คนเวียดนามรู้จักคนในพื้นที่ รู้กระบวนการการดำเนินงานดีกว่านักลงทุนชาวต่างชาติ เพราะฉะนั้น การมีคนเวียดนามร่วมทำธุรกิจด้วยก็น่าจะอุ่นใจดีนะ
แรงงานเวียดนาม “ถูกแต่ไม่ได้ง่าย”อย่างที่คิด ที่บอกว่าแรงงานเวียดนามถูก เพราะ ค่าแรงขั้นต่ำของคนเวียดนามจะอยู่ที่ 120 บาท ต่างจังหวัด 80 บาท ขณะที่ไทย 300 บาท แต่ไม่ได้หมายความว่าค่าแรงของคนเวียดนามจะอยู่เรท 80-120 บาทเสมอไป เพราะถ้าเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่มีการแย่งชิงแรงงานกัน การจ่ายค่าแรงเพียงขั้นต่ำที่รัฐกำหนดก็จะไม่จูงใจแรงงานให้มาทำงานด้วย ซึ่งตอนฟังข้อมูลของวิทยากรของ Thai Summit ที่บอกว่า จริงๆแรงงานเวียดนามค่อนข้างมี Brand Loyalty ต่ำ พูดง่ายๆก็มีความซื่อสัตย์ต่อองค์กรน้อยนั้นแหละ เขาคำนึงเพียงแต่ค่าแรงเป็นหลักว่าเขาจะได้เงินเดือน (Basic Salary)เท่าไร ถ้ามีที่ไหนเสนอเงินเดือนที่สูงกว่า เขาก็จะไปในทันที เหมือนกรณีศึกษาของบริษัท Thai Summit ที่เคยประสบปัญหา พนักงานลาออกทั้งแผนก มีปัญหา TurnOver สูงถึง 20% จนหลังจากฝ่าย HR เข้ามาดูแล มีการปรับเปลี่ยนดูความต้องการของแรงงาน จนปัจจุบัน Turn Over เหลือเพียงแค่ 1% เท่านั้น และอีกหนึ่งความโชคดีของThai Summit ในเวียดนามคือ มีบริษัทแม่ที่ไทย ช่วยซัพพอร์ทเมื่อทางเวียดนามขาดแรงงานฝีมืออย่างช่างเชื่อม ก็ขอคนจากประเทศไทยทำให้การทำงานยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง มีทั้งแหล่งเงินทุนทรัพยากรจากบริษัทแม่ช่วยอยู่เบื้องหลัง อีกทั้งทำเลที่ตั้งของโรงงานก็มีผลต่อแรงงานอีกคนเวียดนามไม่เหมือนคนไทยตรงที่ว่า ถ้าต้องขับรถขับมอเตอร์ไซด์เพื่อเดินทางมาทำงาน ต้องเสียเวลาบนท้องถนน 1 ชั่วโมง ถือว่านานมากสำหรับพี่เวียดเขาจะไม่อยากมาทำงานกับเราเพราะมองว่าเป็นเรื่องเสียเวลา ต่างจากวิถีฮิปๆแบบคนเมืองของชาวไทยที่เดินทางไปทำงาน 1 ชั่วโมงเป็นเรื่องปกติ และถ้าวันไหนใช้เวลาเพียง 45 นาทีแค่นั้นก็ดีใจเป็นบ้าแล้ว
สิ่งสำคัญคือ “ไม่ใช่จะมาเอาผลประโยชน์จากประเทศเขาอย่างเดียวแต่ต้องรู้จักให้ด้วย” ไม่ใช่มองแรงงานของเขาเป็นเพียงฟั่นเฟืองหนึ่งตัวเพื่อหมุนให้ธุรกิจของเราได้กำไรสูงสุด หรือคิดแต่จะไปกอบโกยทรัพยากรที่เขามี แต่ต้องให้ความรู้ ให้งานให้ความเป็นอยู่ชีวิตที่ดีขึ้นด้วย จริงๆก็ “ใจเขาใจเรา” เราก็อยากได้ทำไมเขาถึงไม่อยากได้ วิทยากรบอกว่าคนเวียดนามมีความใฝ่ฝันต้องการที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัวดังนั้นจึงต้องให้เขาความรู้แก่เขา มีการฝึกสอนเขาด้วย เพื่อที่เขาจะนำไปประกอบธุรกิจในอนาคตของเขาได้ แต่ขณะเดียวกันธุรกิจเราก็ต้องอยู่รอดโดยการมี Know how ที่เป็นหัวใจหลักของธุรกิจ มีความแตกต่าง และเป็นสิ่งที่มีเฉพาะเราเท่านั้น ไม่อย่างนั้นลูกค้าที่มาทำงานก็สามารถไปเปิดแข่งกับเราได้ เช่น บริษัท Thai Summit จะมีเทคโนโลยีที่เป็น Know How ของ Thai Summit เท่านั้นทำให้ไม่มีใครสามารถลอกเลียนแบบ พร้อมกับสร้างความแตกต่างของธุรกิจจนสามารถสร้างความสามารถทางการแข่งขันได้ (Competitive Advantage)
วันนี้กลับมานั่งเขียนรายงานไดอารี่บันทึกสิ่งที่ได้เรียนรู้จาก StudyTrip ที่เวียดนาม ทำให้รู้ว่าจริงๆแล้ว มุมมองเวียดนามในตอนนี้กับวันก่อนออกเดินทางไม่เหมือนเดิม ก่อนออกเดินทางเคยคิดว่าคนเวียดนามชอบของไทยมากถ้าจะทำธุรกิจอะไรที่เวียดนามก็คงไม่ยากหรอก เคยคิดว่าไทยกับเวียดนามคนก็เหมือนๆกันแหละไม่น่ามีอะไรที่ต่างจากไทยเท่าไร แต่ตลอดช่วงเวลาที่อยู่เวียดนามได้ฟังวิทยากรอย่าง Thai Summit พูดถึงความยากลำบากในช่วงก่อตั้งธุรกิจที่เวียดนามหรือแม้กระทั่งผู้จัดการของโรงงานผลิตเต้าหู้ที่บอกถึงปัญหาที่เขากำลังเผชิญอยู่ทั้งปัญหาคน ปัญหาการเมือง ปัญหาด้านการตลาด ทำให้วันนี้ยืนมอง(ธุรกิจ)เวียดนามไม่เป็นเช่นเคย...(อีกต่อไป)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in