เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวหนังสือwatching
รีวิวหนังสือเรื่อง “ร้านขายเรื่องสั้นแด่ผู้ใฝ่ฝันจะมีชีวิตอยู่”
  • รีวิวหนังสือเรื่อง“ร้านขายเรื่องสั้นแด่ผู้ใฝ่ฝันจะมีชีวิตอยู่”


     

     

    ผู้แต่ง : กิตติศักดิ์ คงคา

    สำนักพิมพ์ : 13357

    ปีที่พิมพ์ : 2567

     

              ความคิดแรกเริ่มที่ตัดสินใจหยิบเล่มนี้ไปจ่ายเงินผู้รีวิวคาดหวังว่าหลังอ่านเล่มนี้จบจะมีขวัญกำลังใจในการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้นไม่น้อยเพราะชื่อเรื่องชวนให้คิดอย่างนั้นประกอบกับคำโปรยบนปกหลังที่สรุปได้ว่า ตัวละครหลักในเรื่องจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ในการสร้างผลงานเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางบรรยากาศที่ไม่เป็นใจนักจึงสร้างความสงสัยใคร่รู้เป็นอย่างมากว่า ตัวละครนักเขียนจะใช้วิธีใดในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ซึ่งขัดแย้งกับที่ความเชื่อยึดถือ

     

    เรื่องย่อ

              “ผม” เป็นเจ้าของร้านขายเรื่องสั้นที่ขายไม่ดีนักและมีอุดมการณ์ว่าจะไม่รับเขียนตามสั่งแต่ลูกค้ากลับขอให้เขาเขียนเรื่องสั้นที่ตอนจบไม่เศร้า เขาจึงตอบลูกค้าไปว่า “วรรณกรรมไม่ก้มหน้ารับใช้ใคร”ลูกค้าจึงสวนกลับว่า “หากคุณเป็นนักเขียนที่ไม่อยากก้มหัวรับใช้ใครคุณควรเขียนเก็บไว้อ่านเอง เมื่อคุณมีนักอ่าน คุณควรให้วรรณกรรมรับใช้นักอ่านด้วยผลงานจะรับใช้อย่างไรโดยคุณยังเป็นตัวเอง...นั่นก็เป็นหน้าที่ซึ่งคุณต้องหาคำตอบ” คำตอบของลูกค้าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้นักเขียนลงมือเขียนเรื่องสั้นทั้ง8 เรื่อง ขณะที่เขาเขียนเรื่องสั้นที่ต่างจากแนวเดิม สภาพแวดล้อมรอบตัวของเขาก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปด้วย

     

    ความคิดเห็นและวิเคราะห์

    หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเรื่องสั้นแนว Magic realism ที่ซ้อนเรื่องเล่าไว้สองชั้น ได้แก่ เรื่องหลักของนักเขียนผู้เคร่งอุดมการณ์และเรื่องสั้นอีกแปดเรื่องที่เขาเขียนขึ้น ซึ่งเล่าถึงความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ เช่น พี่-น้อง พ่อ-ลูก แม่-ลูก อา-หลาน เจ้านาย-ลูกน้องสะท้อนความหวังในการมีชีวิตอยู่ การให้อภัย แก่นแท้ของชีวิต และคุณค่าของครอบครัว

    กิตติศักดิ์เลือกใช้ภาษาที่เรียบง่ายแต่เปี่ยมอารมณ์ไม่เน้นคำสวยหรู ใช้จังหวะที่ไม่ได้เร่งเร้า บทสนทนาที่เป็นธรรมชาติ และใช้สัญลักษณ์ให้ผู้อ่านคิดตามซึ่งเหมาะกับแก่นเรื่องว่าด้วยการยอมรับความเปลี่ยนแปลงและความสัมพันธ์ในชีวิต

    ในเชิงแนวคิด ตัวละคร “ผม”แทนผู้ยึดถือแนวคิด “ศิลปะเพื่อศิลปะ” (Art for art’s sake) และตัวละครลูกค้าชายแทนผู้ยึดถือแนวคิด “ศิลปะเพื่อประชาชน” (Art for life’s sake) ซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงที่อยู่คู่โลกวรรณกรรมมาเนิ่นนาน

    อย่างไรก็ตามผู้รีวิวยังมีข้อสงสัยบางประการ โดยเฉพาะบริบทของโลกในเรื่องที่คล้ายสังคมนิยมกล่าวคือ รัฐจัดสวัสดิการพื้นฐานให้พลเมืองครบถ้วนการไม่มีลูกค้าไม่ได้ส่งผลต่อปากท้องโดยตรงซึ่งดูจะไม่สอดคล้องกับคำโปรยที่ระบุว่า “จะไม่มีกิน” จึงอาจสร้างความสับสนให้ผู้อ่านบางกลุ่มแม้ไม่ได้ส่งผลต่อเนื้อเรื่องโดยรวม แต่ทำให้ประเด็น “ต้องเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอด”เบาบางลงในแง่ความสมจริง

    แม้เรื่องนี้จะไม่ได้ตอบคำถามที่คาดหวังในตอนต้นแต่การเรียงลำดับเรื่องสั้นในเล่มกลับทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมเรื่องแรกเป็นเรื่องที่อ่านแล้วรู้สึกสะเทือนใจที่สุดอาจเพราะค่อนข้างใกล้เคียงกับประสบการณ์ส่วนตัว ทำให้อยากพลิกหน้าอ่านต่อไปเรื่อยๆ และน้ำตาไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว

    ส่วนเรื่องอื่น ๆแม้จะยังไม่ทำให้รู้สึกกระทบใจเท่าเรื่องแรก แต่ก็ให้ความรู้สึกอุ่นใจ เหมือนมีเพื่อนร่วมทางที่เข้าใจในวันที่เหนื่อยล้าหนังสือเล่มนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งกับนักอ่านที่กำลังเผชิญช่วงเวลาที่ยากลำบากหรือกำลังรอคอยบางสิ่งบางอย่างในชีวิต

    ผู้รีวิวเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้จะอยู่เป็นเพื่อนที่ดีกับนักอ่านทุกคนได้อย่างแน่นอน


     

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in