เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
par·al·lax132pc_away
Moonscape's moonscape: ชวนส่องจันทร์ ใน "อยู่แชร์เฮาส์กับเหล่านักเขียน"
  •  อยู่แชร์เฮาส์กับเหล่านักเขียน 

    เรื่องและภาพ: Moonscape
    ภาพปก: Sherrae
    พิสูจน์อักษร: มกราพันธ์
    ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 - ธันวาคม 2562
    หาซื้อได้ที่ ร้านกลิ่นหนังสือ 
    ราคา 280 บาท จำนวน 232 หน้า (ขนาดB6)

    ADVERTISEMENT

    ADVERTISEMENT

    ADVERTISEMENT

    ADVERTISEMENT

    ADVERTISEMENT

    ADVERTISEMENT

    ADVERTISEMENT



    อยู่แชร์เฮาส์ฯ ค่อนข้างโด่งดังแพร่หลายในวงการหนังสือทำมือหรือ Self-publishing ที่มีรีวิวตามแท็กจำนวนมาก โด่งดังขนาดที่มีบทสัมภาษณ์กับทาง a day ด้วยความสดใส พลังบวก พลังแห่งความเยาว์ของอยู่แชร์เฮาส์ฯ หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือที่ให้กำลังใจแด่ผู้มีเวทมนตร์ทุกคน ไม่เกี่ยวว่าคุณจะเป็นนักเขียนที่ไม่เขียน เป็นนักวาดที่ไม่วาด นักสร้างสรรค์ที่หัวตื้อ เป็นนักตื่นที่ชอบนอนกลิ้ง หรือเป็นนักเหม่อที่หัวว่างเปล่า หนังสือเล่มนี้ก็ยังตบบ่า และบอกคุณด้วยเสียงสดใสเสมอ ว่าคุณนั้นแสนพิเศษและมีเพียงหนึ่งเดียว


     เรื่องย่อ ✦ 

    เรื่องเปิดมาด้วยการเล่าของหญิงสาวช่างพูดอย่างอารีย์ ผู้เป็นพนักงานร้านหนังสือ "พระจันทร์ตกน้ำ" และเป็นสมาชิกคนใหม่ของแชร์เฮ้าส์คุณนายการเวก

    เนื้อเรื่องแนว Slice of life จะเล่าเรื่องราวของกลุ่มชมคนหนังสือ รูมเมตอย่างย่านาง เพื่อนข้างห้องอย่างตุลและดิเรก หรือเหล่าหญิงสาว(ตามเพศกำหนด)ชั้น3 มีการแจมจากเรื่องบันทึกแท่งถ่านของนายคราม นักเขียนผี รวมทั้งและคุณเจ้าของร้านจากโบสถ์ของคนสิ้นหวัง ให้พอเห็นภาพ Moonscape Universe 

    ในท้ายที่สุด อยู่แชร์เฮ้าส์ฯก็จะมีปลายทางที่ไม่มีคำตอบตายตัวให้แต่ละตัวละคร เพียงแต่เห็นว่าพวกเขาได้ออกเดินทางแล้ว 

    สำหรับคนอ่าน: อยู่แชร์เฮ้าส์ฯ เป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อนจนน่าปวดหัว อ่านได้แบบสบายๆแม้ว่าคุณจะเป็นมือใหม่หัดอ่าน มีกลิ่นอายความลึกลับจับต้องไม่ได้อยู่บ้าง หนังสือเรื่องนี้จึงเหมาะกับทุกคน ทุกช่วงวัย ไม่ว่าคุณจะยังต้องแอบแม่ดื่มไวน์ หรือเทรดขายหุ้นเองได้แล้ว อยู่แชร์เฮ้าส์ฯก็ยังจะอยู่กับคุณได้เสมอ เพราะพวกคุณมีเวทมนตร์ในตนเอง 

    สุดท้าย(ในส่วนของการพูดเกี่ยวกับเนื้อเรื่องเพียวๆ) เราหวังว่าผู้ที่ได้อ่านจะซึบซับหนังสือเรื่องนี้เป็นดังปุ๋ยแห่งความหวัง บัวรดน้ำความฝัน งอกเงยและงดงามในแบบของพวกคุณเอง


     How I'll talk about Moonscape ✦ 

    ดูเผินๆเหมือนจะมาชวนเม้าท์นักเขียนเลย แต่อย่างที่จั่วหัวไปแล้ว Moonscape ของเรามีอยู่สองคำ สองความหมาย แน่นอนว่าหนึ่งสือ Moonscape ที่เป็นนามปากกาของนักเขียน แต่อีกหนึ่ง Moonscape ที่หมายถึงทัศนียภาพ หรือวิวของดวงจันทร์

    จะพูดถึงดวงจันทร์ก็ต้องขอยกโควทจากคำตาม หนังสือรวมเรื่องสั้น "Lunar Lunatic คุณคือดวงจันทร์ ฉันสิคนบ้า" เอาไว้เสียหน่อย (เรามีฉบับพิมพ์ครั้งที่1 และรู้สึกว่าต้องอวดเมื่อเห็นว่าพิมพ์ครั้งที่ 3 แล้ว)

    "ดวงจันทร์อาจจะเป็นสิ่งที่ถูกโรแมนติไซส์บ่อยที่สุดในจักรวาล (...) 
    บางครั้งเป็นตัวแทนของความหวังในช่วงเวลามืดมิด 
    บางครั้งกลายเป็นสิ่งปลุกเร้าความลับดำมืดของหญิงบ้าหรือผีสางบางจำพวก" 

     (หน้า 84) 

    แน่นอนว่าคุณฉัตรรวีผู้เขียน เธอเห็นว่าในความสัมพันธ์ก็มักจะมีคนหนึ่งเป็นดวงจันทร์เสมอ

    อย่างไรก็ตาม นั่นแสดงให้เห็นว่า พระจันทร์สามารถกลายเป็นสิ่งอื่นที่ไม่คล้ายเจ้าลูกกลมๆ สีนวลๆ ที่ลอยอยู่บนท้องฟ้าเลยสักนิด อย่าง "กระต่ายหมายจันทร์" พระจันทร์ก็กลายเป็น "สิ่งแทนความ" หรือ "ภาพแทนความ" (Representation) ของบุคคลสูงส่งเสมือนอยู่บนฟ้า เป็นที่หมายปองของหลายคนและยากจะไขว่คว้า ส่วนกระต่ายก็มีภาพแทนความของผู้ต่ำต้อยไป คล้าย "ดอกฟ้ากับหมาวัด" นั่นแหละ

    ทั้งหมดนี่ที่ปูมา ก็เพื่อจะบอกว่าผู้เขียน(132) กำลังจะเปลี่ยนพระจันทร์ในอยู่แชร์เฮ้าส์ฯ ให้เป็นอื่นไป ตามการตีความและความเข้าใจของตัวเอง (ที่พอจะมีพื้นฐานอยู่บ้าง) แล้วนะ 

     มาส่องดวงจันทร์ จากอีกด้านหนึ่งของดวงจันทร์กันเถอะ 


     To understand Moonscape ✦ 

    มีเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับพระจันทร์ ที่ไม่แน่ใจว่าหลายคนจะทราบหรือจดจำได้หรือเปล่า นั่นคือการโคจรรอบโลกและการหมุนรอบตัวเองของพระจันทร์ มีคาบการหมุนเท่ากันคือประมาณ 27 วัน ทำให้เราเห็นพระจันทร์ได้เพียงด้านเดียวจากโลก เรียกว่า "การหมุนสมวาร (Synchronous rotation)" โดยด้านที่มีกระต่ายและเรามักจะเห็นอยู่ตลอดจะเรียกว่า "ด้านใกล้ (Near side)" และด้านที่ไม่ได้เห็นจะเรียกว่า "ด้านไกล (Far side)"



    ดังนั้น หากดวงจันทร์หมุนเร็วกว่าเดิม ช้ากว่าเดิม หรือไม่หมุนรอบตัวเอง เราก็คงจะได้เห็นดวงจันทร์ครบทุกด้าน ซึ่งนี่เองที่ทำให้อีกด้านของดวงจันทร์มีความลึกลับ (ถ้าไม่นับว่าเราส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ได้แล้วล่ะนะ) ทั้งยังชวนให้ตีความพระจันทร์ในเรื่อง ให้เป็นสัญญะต่างๆ ขึ้นมา


     Far side Moonscape ✦ 

    มันก็ใช่ว่าอ่านปุ๊บ ปิ๊งปั๊บกับร้านพระจันทร์ตกน้ำ แน่นอนว่าเซตติ้งในจินตนาการดูงดงามน่าสนใจ แต่เรามาสะดุดกับร้านพระจันทร์ตกน้ำจริงจังก็ตอนช่วงท้ายของเรื่อง หลังจากที่หาเรื่องเขียนรีวิวแล้วกำลังอ่านรอบที่สอง

    ตอนที่เบื้องหน้าคือนิทรรศการและเหล่านักเขียนหนุ่มสาว ที่เบื้องหลังพระจันทร์กลับเงียบสงบและเป็นพื้นที่ของเหล่าผู้ไม่เยาว์แล้ว ที่ตรงนั้นคือบทสนทนาของผู้ผ่านโลกสองคน คนหนึ่งมีความสุขกับการชุบชีวิตอดีต อีกคนก็แฮปปี้กับการหนีเที่ยว แล้วเสียงกริ๊กของการชนแก้วโรเซ่ ก็เป็นสัญญาณการเดินทางอีกครั้งของพระจันทร์หลังตกน้ำ และไม่มีใครสังเกตอีก จนกว่าจันทร์จะพ้นน้ำอีกครั้ง

    "แล้วพวกเขาก็ชนแก้วโรเซ่ ดื่มให้กันหลังดวงจันทร์ดวงใหญ่ในร้านหนังสือพระจันทร์ตกน้ำ 
     ใต้แสงสลัวอบอุ่น แลกเปลี่ยนบทสนทนากันดั่งสหายสนิท 
     เหล่านักเขียนหนุ่มสาวไม่มีใครสังเกตเห็นพวกเขาอีกต่อไป  
     ราวกับว่าทุกสิ่งทุกอย่างได้อยู่ในที่ทางอันถูกต้องดีงามของมันแล้ว" 
     (หน้า 131) 

    เนี่ยแหละ วรรคนี้เลยที่เรารู้สึกว่า เอ๊ะ เราน่าจะมีเรื่องต้องคุยกันหน่อย


     Moonscape's Moonscape ✦ 

    ด้วยธีมเรื่องและเนื้อหาหลักที่วนเวียนอยู่กับเหล่านักเขียนหนุ่มสาวที่ผลัดกันมาเล่าเรื่องราวผ่านมุมตัวเอง มันทำให้เราในทีแรกก็เทมุมมอง เหมือนกล้องที่ซูมภาพเข้าไปที่พลังความเยาว์เช่นกัน พื้นที่ของพวกเขามักจะอยู่ที่หน้าร้าน หน้าดวงจันทร์ดวงโต ยืนคุยกับอารีย์บ้าง มารับอารีย์กลับบ้านบ้าง ที่ตรงนั้นมักจะคอยรับแขก รับพลังงานใหม่ และมีอีเว้นท์และอีไม่เว้นมากมายเกิดขึ้นเสมอ ในขณะที่เจ้าที่ประจำหลังร้านที่เรามักจะเห็นเสมอก็คือคุณเจ้าของร้าน ที่ปล่อยใจไหลไปกับการซ่อมหนังสือ 
    - (ก็ว่าไปเถิด หากจะมองแบบไม่คิดอะไรและอิงความจริงในเรื่องแต่ง คุณเจ้าของร้านก็แค่มีโต๊ะทำงานหลบลี้หนีผู้คนอยู่ตรงนั้นเฉยๆ แต่ทั้งนี้การวิจารณ์นิยายก็มีขึ้นเพื่อให้เราได้เปิดโลกการอ่าน มองหาสิ่งที่ไม่เคยเห็น สิ่งที่นักเขียนอาจจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจทำให้เห็นก็ตาม) -

    ความชัดเจนในเรื่องพื้นที่ ด้านหน้า-ด้านหลัง ของดวงจันทร์ยิ่งมากขึ้น เมื่อถึงอีเว้นท์งานนิทรรศการที่เกริ่นมานั่นแหละ ด้านหลังดวงจันทร์ ฟากที่หลายคนไม่เคยสังเกต กลับเป็นพื้นที่ของผู้มีอายุทั้งสองได้นั่งคุยกัน ถึงชีวิตและความเป็นจริงทั้งหลายที่ได้พัดผ่านไปแล้ว 

    ด้านใกล้ของดวงจันทร์ที่โลกจะเห็นหน้าเดิมเสมอ เกิดจากระยะการหมุนรอบตัวเอง ที่ต้องเท่าทันกับการหมุนรอบโลก ตามให้ทันโลก ทำให้ดวงจันทร์ด้านใกล้มีภาพแทนเป็น "ความเป็นปัจจุบัน" "การขยับเคลื่อนไหว" "คล่องแคล่ว" ในขณะเดียวกันด้านไกลของดวงจันทร์ก็ใช่จะแตกต่างสุดขั้ว หรือหมายถึงอดีตเลยเสียทีเดียว ควรจะเรียกว่าสิ่งที่ผลักดันและหนุนนหลัง ให้ปัจจุบันยังเคลื่อนไป จึงจะดูเข้าถึงความละเอียดอ่อนของความหมายมากกว่า ซึ่งก็สอดคล้องกับบทบาทของเหล่าผู้มีประสบการณ์มาก ในเรื่องที่คอยเป็นพลังและหนุนหลังให้เหล่านักเขียนอายุน้อย

    บทบาทของเหล่าผู้สูงประสบการณ์ในอยู่แชร์เฮ้าส์ฯที่คอยหนุนเนื่องอยู่ด้านหลังผู้เยาว์ให้โลดแล่นอยู่ด้านหน้า สร้างความประทับใจให้คนอ่านนี่เอง ก็ดูพอจะเป็นโครงเรื่องรอง (sub-plot) ของเหล่าผู้ชรา ที่ทำหน้าที่ซับพอร์ตโครงเรื่องหลักของเหล่าผู้เยาว์ได้แนบเนียน คลับคล้ายกับอีกด้านของดวงจันทร์ ที่แม้ว่าหลายคนอาจจะไม่ได้สังเกตเห็น แต่ความจริงแล้วที่อีกด้านหนึ่งเองก็มีความสำคัญ และทำให้ทุกอย่าง อยู่ในที่ทางอันถูกต้องดีงามของมัน และเป็นไปอย่างที่มันควรจะเป็น


    สุดท้ายเราหวังว่าการวิจารณ์ชิ้นนี้จะช่วยเปิดเผยมุมมองใหม่ และเป็นเพื่อนคุณในยามที่อยากจะหัดวิจารณ์แต่ยังเก้ๆ กังๆ ขอให้คุณรู้ไว้ว่า ยังมีเราที่เก้ๆ กังๆ ตรงนี้ีอีกคนนะคะ

    -ยินดี กับทุกช่วงของชีวิต


     "ชีวิตจงเจริญ" 
    (หน้า 59) 


    คำสำคัญสำหรับการศึกษาเพิ่มเติม: สัญวิทยา(Semiology), ชาร์ล เพียร์ส (C. Peirce), เฟอร์ดินันด์ เดอร์ โซซูร์ (Ferdinand de Saussure), โรลองด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes), โครงสร้างนิยม (Structuralism)




Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in