เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Sleeveless Loverainbowflick17☂️
Owen&Sasson เขียน-Aมิตร-สงคราม
  • จะมาเล่าเรื่องผ่านจดหมายและมุมมองต่อสนามรบที่ดึงทหารสองคนเข้าหากัน นอกจากจะพบกันเพราะผ่านสงครามมาเหมือนกันแล้ว ก็ยังสนิทกันได้จากการเขียนสงครามด้วย ทั้งคู่เป็นกวีสงคราม (War Poets) ชาวอังกฤษที่มีชื่อมาจนถึงทุกวันนี้

    สงครามโลกครั้งที่ 1 จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายพันธมิตร แต่ในความเป็นจริงไม่เคยมีใครชนะในสงคราม เพราะความสูญเสียจากความรุนแรงไม่สามารถประเมินค่าได้ 

    ภาพจาก

                  ฤดูร้อนปี 1917 วิวเฟรด โอเวน (Wilfred Owen) เข้ารับการรักษาโรคช็อกสงคราม หรือเชลล์ช็อก (Shell Shock) หรือปัจจุบันเรียกว่าภาวะผิดปกติทางจิตใจจากเหตุการณ์รุนแรง (Post traumatic Stress Disorder หรือ PTSD) ที่โรงพยาบาลเครกลอกฮาร์ต (Craiglockhart War Hospital) ใกล้อิดินเบิร์ก 

    โอเวนเกิดที่อังกฤษ สอบติดมหาวิทยาลัยลอนดอน แต่ไม่สามารถเรียนได้เพราะปัญหาด้านการเงิน 
    เขาทำอาชีพเป็นติวเตอร์สอนภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส จนกระทั่งต้องกลับอังกฤษเพราะถูกเกณฑ์ทหารในวัย 22 ปี หลังจากฝึกฝนแล้วเขาก็ถูกส่งไปรบที่ฝรั่งเศส

    โอเวนผ่านความล้มเหลวในชีวิตมาหลายอย่าง แต่คงไม่มีครั้งไหนฝังใจและหลอกหลอนเท่ากับการติดอยู่ในร่องลึกใต้ไฟหนักเป็นเวลาหลายวัน ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือเขาติดอยู่กับศพเพื่อนทหารที่เสียชีวิตไปต่อหน้าต่อตาจากการถูกโจมตีด้วยก๊าซพิษ 

    เหตุการณ์ในตอนนั้นเองทำให้เขาต้องเข้าโรงพยาบาลรักษาอาการช็อกจากสงคราม

    ช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ กระแสการเทิดทูนชัยชนะยิ่งใหญ่เสียจนคนกำลังจะตายในสมรภูมิก็อาจถูกมองผ่านไปง่าย ๆ จึงไม่แปลกที่ทหารสองคนจะมาพบกันในสถานพยาบาล แทนที่จะเป็นสนามรบ 

    ภาพถ่ายโดย George Charles Beresford 

    ในอีกด้านหนึ่ง ซีกฟรีด แซซซอน (Siegfried Sassoon) เจ้าของฉายา “mad jack”  ซึ่งมีคนตั้งให้หลังจากเห็นความกล้าหาญของเขาท่ามกลางเพลิงไฟในสนามรบ ได้รับการยอมรับว่าเป็นวีรบุรุษในสงคราม (decorated war hero) นอกจากนั้นยังเป็นกวีที่มีผลงานตีพิมพ์แล้วด้วย

    แต่แซซซอนผู้ได้รับการขนามนามว่ากล้าหาญเชื่อว่าสงครามนั้นไม่ต่างอะไรกับลานสังหารไม่มีสิ้นสุด และเขาก็เชื่อด้วยว่าลานสังหารที่ว่าควรจะยุติลงได้แล้ว

    ในปี 1917 ปีเดียวกับที่โอเว่นเข้าโรงพยาบาลนั้น แซซซอนซึ่งกำลังพักรักษาบาดแผลที่หัวไหล่ จึงได้เขียนจดหมายแสดงความไม่พอใจและการต่อต้านไปหาผู้บังคับบัญชา จดหมายฉบับนี้ชื่อว่า Finished with the War: A Soldier’s Declaration กล่าวว่าเขาเชื่อว่าสงครามนั้นถูกยื้อเวลาออกไปทั้ง ๆ ที่มีผู้ที่มีอำนาจสามารถยุติได้ ส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนจำนวนมาก เขาต่อต้านการเอาชีวิตคนที่ต่อสู้มาสังเวยให้กับข้อผิดพลาดทางการเมือง




    ด้วยความช่วยเหลือจากนักกิจกรรมต่อต้านความรุนแรงหลายคน เช่น เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ (นักปรัชญาที่ภายหลังโดนจับเพราะทำกิจกรรมต่อต้านสงคราม) ทำให้จดหมายฉบับนี้ได้ตีพิมพ์ใน London Times และถูกนำไปอ่านแถลงที่ British House of Commons 

    แน่นอนว่าประกาศชิ้นนี้มีผลย้อนกลับทางการเมืองอย่างหนัก ด้วยในช่วงนั้นรัฐก็พยายามสร้างค่านิยมให้คนนิยมสงคราม ให้เหล่าบรรดาผู้เข้าร่วมรบรู้สึกว่าได้ทำเพื่อแผ่นดิน ดังนั้นแซซซอนก็เลยถูกขู่จากศาลทหารและคาดว่าจะต้องรับโทษประหารด้วย 

    ภาพจาก Fitzwilliam Museum, Cambridge วาดโดย Glyn Warren Philpot
    (CC BY-NC-ND)

    ตอนนั้นเอง โรเบิร์ต เกรบ (Robert Graves) ผู้ที่เป็นทั้งเพื่อนทหารและเพื่อนนักเขียนของแซซซอนพยายามออกมาโต้แย้งช่วย โดยบอกว่าแซซซอนคงจะได้รับผลกระทบจากสงครามจนกระทบกระเทือนจิตใจ เป็นโรคช็อกสงคราม หรือเป็นโรคประสาทสงคราม (war neurosis) ควรจะส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลดีกว่า

    เพื่อเป็นการดิสเครดิตแซซซอนไปในตัว คนจะได้ไม่เชื่อถือสิ่งที่เขาเขียน แซซซอนก็เลยได้รับการวินิจฉัยหลอก ๆ ว่าเป็นโรคประสาทเปลี้ย (neurasthenic) และถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลเครกล็อกฮาร์ต ที่เดียวกับโอเวนนั่นเอง





  • โรงพยาบาลเครกล็อกฮาร์ต

    อย่างที่บอกว่าแซซซอนมีงานเขียนตีพิมพ์ โอเวนชื่นชมงานเขียนของแซซซอนมาก่อนอยู่แล้ว ในขณะที่ตัวเขาเองก็เขียนงานประพันธ์อยู่ด้วยเหมือนกัน ก็เลยอยากเจอนั่นเอง

    ในสมุดบันทึกของแซซซอนได้เล่าเรื่องตอนที่โอเวนมาเคาะประตูอย่างเหนียมอาย พร้อมเอาหนังสือที่แซซซอนเขียนมาขอลายเซ็นต์จากเขา 

    ทางด้านโอเวน ก็มีจดหมายที่เขียนไปหาญาติชื่อเลสลี เล่าเรื่องตอนที่เจอแซซซอนไว้


    WILFRED OWEN TO LESLIE GUNSTON

    22 August 1917

    My dear Leslie,
    At last I have an event worth a letter. I have beknown myself to Siegfried Sassoon. Went in to him last night (my second call). The first visit was one morning last week. The sun blazed into his room making his purple dressing suit of a brilliance – almost matching my sonnet! He is very tall and stately, with a fine firm chisl'd (how's that?) head, ordinary short brown hair. The general expression of his face is one of boredom. . . . the last thing he said was "Sweat your guts out writing poetry!" . . . He himself is 30! Looks under 25!
    SOURCE: © Oxford University Press 1967; reprinted from Wilfred Owen: Collected Letters edited by Harold Owen and John Bell (1967) by permission of Oxford University Press.
    เลสลีที่รัก,
    ในที่สุดก็มีเรื่องที่พอจะเอามาเขียนถึงได้บ้างเสียที ฉันได้เข้าไปทำความรู้จักกับซีกฟรีด แซซซอน เข้าไปหาเขามาเมื่อคืน (รอบที่สองแล้ว) เจอเขาครั้งแรกเช้าวันหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แสงอาทิตย์ที่สาดเข้ามาในห้องทำให้ชุดสีม่วงของเขาดูสุขใส - เกือบจะเข้ากันกับโคลงของฉันเลยทีเดียว เขาสูงและสง่าผ่าเผยมาก ศีรษะดูดีเหมือนแกะสลัก (ใช้คำนี้ดูเป็นไง) ผมสั้นสีน้ำตาลทั่วไป สีหน้าโดยรวมดูเบื่อหน่าย คำสุดท้ายที่เขาพูดคือให้เอาบทกวีจากใจข้างในออกมาเขียนให้เหงื่อแตกเสีย

    เขาอายุ 30 แล้ว แต่ดูเด็กกว่า 25 อีก

    *พวกจดหมาย เราก็พยายามแปลเท่าที่ทำได้นะคะ บางจุดอาจจะคลาดเคลื่อน บอกกันได้นะคะ 

    เมื่อพบกันแซซซอนก็ช่วยให้คำแนะนำเรื่องงานเขียน รวมถึงช่วยอ่านและตรวจทานบางงานให้ด้วย แซซซอนเชื่อว่างานเขียนจากประสบการณ์มักจะทรงพลัง การได้พบกันของทั้งคู่กลายเป็นจุดเปลี่ยนทิศทางานประพันธ์ของโอเวนไปเลย 


    Regeneration (1997) ภาพยนตร์ที่สร้างมาจากหนังสือที่ดัดแปลงมาจากเรื่องของทั้งคู่อีกที อันนี้เป็นฉากที่พบกันโดยสร้างผ่านฉากที่ดัดแปลงแล้ว (เพราะถ้าตามบันทึกต่างๆจะเป็นเคาะห้อง) 


    ทีแรกโอเวนไม่อยากเขียนกลอนเกี่ยวกับสงครามเพราะเขามองว่าสงครามมันอัปลักษณ์เกินไปสำหรับบทร้อยกรอง แต่ทั้งแซซซอนแล้วก็คุณหมอสนับสนุนให้เขาลองเขียนดู เพื่อจะได้ใช้การเขียนเป็นส่วนหนึ่งของการบำบัดไปในตัวด้วย เขาก็เลยเริ่มเขียน เป็นตอนนี้เองที่กลอนสงครามบทที่เป็นที่จดจำอย่างยิ่ง อย่าง Dulce et Decorum est และ Anthem for Doomed Youth  ได้ถูกร่างขึ้นมาเป็นครั้งแรก 

    Dulce et Decorum est ฉบับร่างแรก ๆ และมีการแก้ไขโดยแซซซอน
    ภาพจาก The British Library
    © The Wilfred Owen Literary Estate. 

    ภาพจาก The British Library
    © The Wilfred Owen Literary Estate. 


    การเขียนกลอนในช่วงสงครามไม่ได้ทำเพื่อสุนทรียะเป็นที่ตั้ง แต่เขียนเพราะมันเป็นช่องทางการแสดงออก กลอนต่อต้านสงครามแต่ละวรรคเป็นการตีแผ่ความจริงอันโหดร้ายในสงคราม เป็นความพยายามที่จะส่งเสียงกรีดร้องให้ดังขึ้นมาขัดกับเสียงแซ่ซ้องความยิ่งใหญ่ของการได้ครอบครองชัยชนะ
  • กลับเข้าลานสังหาร


    แม้จะผ่านความรุนแรงจากสงครามมา แต่ทั้งสองคนก็รู้สึกว่าบ่าสองข้างหนักอึ้งไปด้วยความรู้สึกรับผิดชอบต่อเพื่อนทหารที่ฝ่ายรบแนวหน้าที่พวกเขาจากมา และท้ายที่สุดก็ยืนยันว่าจะกลับไปที่สนามรบ แม้ว่าจะสามารถหลัีกเลี่ยงได้ก็ตาม 

    แซซซอนออกจากโรงพยาบาลในเดือนพฤศจิกายนของปีนั้น เขากล่าวคำอำลาแก่โอเวนรวมถึงให้จดหมายปิดผนึกไว้กับแซซซอนฉบับหนึ่ง ในจดหมายฉบับนั้นมีเงิน 10 ยูโร และที่อยู่ในลอนดอนของโรเบิร์ต รอส คนรักของออสการ์ ไวด์ คนที่พาเขาไปรู้จักกับนักเขียนที่มีชื่อหลายคน

    ต่อมาแซซซอนผู้กลับเข้าสนามรบอีกครั้งถูกส่งตัวกลับบ้านหลังจากบาดเจ็บจากการโดนยิงที่ศีรษะ เขาพยายามโน้มน้าวโอเวนไม่ให้กลับไปรบ 

    ส่วนหนึ่งของเนื้อความในจดหมายที่โอเวนเขียนหาแซซซอนข้างล่างนี้เป็นคำตอบว่าการโน้มน้าวอย่างหนักของแซซซอนเป็นผลหรือไม่

    Dearest of all Friends,
    ....
    Tell me how you are.
    With great & painful firmness I have not said you goodbye from England. If you had said in the heart or brain you might have stabbed me, but you said only in the leg [Sassoon annotates this letter: "I had told him I would stab him in the leg if he tried to return to the Front."]; so I was afraid.
    Perhaps if I "write" anything in dug-outs or talk in sleep a squad of riflemen will save you the trouble of buying a dagger.

    Goodbye W. E. O.
    SOURCE: © Oxford University Press 1967; reprinted from Wilfred Owen: Collected Letters edited by Harold Owen and John Bell (1967) by permission of Oxford University Press.

    สหายที่รักยิ่ง
    ...
    เป็นยังไง เล่าให้ฟังบ้าง

    ด้วยความตั้งใจที่ทั้งหนักแหน่นและทรมาน ผมไม่ได้บอกลาคุณจากอ้งกฤษ หากครั้งนั้นคุณพูดว่าจะแทงผมตรงหัวใจหรือตรงกบาล ก็คงได้แทงไปแล้ว แต่คุณบอกแค่ว่าจะแทงที่ขา ผมก็เลยกลัว
    [แซซซอนใส่หมายเหตุไวในจดหมายฉบับนี้ว่าเขาเคยพูดกับโอเวนว่าถ้าโอเวนจะกลับไปทำสงครามร่วมกับฝ่ายรบแนวหน้าละก็ เขาจะเอามีดมาแทงขาโอเวนนะ] ไม่แน่นะ ถ้าผมเขียน*อะไรซักอย่างตอนอยู่ในหลุมหลบภัย หรือละเมอพูดอะไรขึ้นมา พวกพลแม่นปืนอาจจะช่วยคุณประหยัดปัญหาเรื่องต้องไปซื้อมีดก็ได้
    ลาก่อน, ดับบลิว. อี. โอ. 

    แปลไทยเป็นไทยเผื่องง โอเวนบอกประมาณว่า ''วันที่เราคุยกันเรื่องไม่อยากให้กลับไปรบ ถ้าคุณบอกว่าจะแทงหัวหรือแทงอกหากผมกลับไปแนวหน้า ผมก็คงบอกไปตรงๆว่าจะไปและก็คงโดนแทงไปแล้ว แต่คุณบอกแค่ว่าจะแทงขาผมก็เลยกลัว [ไม่กล้าบอก] ยังไงก็เถอะ ถ้าผมไปเขียน*ตอนหลบอยู่ในหลุมหลบภัย หรือเผลอละเมอพูดอะไรขึ้นมาตอนนอนก็คงโดนยิงเองแหละ แบบนั้นคุณก็ไม่ต้องลำบากไปหาซื้อมีดมาแทงขาผมแล้ว" ซึ่งตัวโอเวนเองตอนที่เขียนไปบอกว่าจะกลับเข้าร่วมสงคราม ตอนนั้นก็คืออยู่ในสนามรบที่ฝรั่งเศสแล้ว 

    *น่าจะเพราะว่าโอเวนเขียนเรื่องต่อต้านสงคราม 


    สรุปแล้วโอเวนเองก็กลับเข้าไปร่วมสงคราม

    มีการวิเคราะห์ด้วยว่าอะไรเป็นสาเหตุทำให้โอเวนกลับไปร่วมสงคราม อาจจะด้วยความรู้สึกว่าต้องการจะเข้าไปอยู่ในสนามรบจริง ๆ เพื่อเอาความจริงออกมาเขียนต่อจากแซซซอนก็ได้ เพราะตอนที่แซซซอนจะกลับไปรบเขาบอกกับโอเวนว่าเขากลับไปเพื่อจะได้เอาความจริงของสงครามออกมาเล่าต่อได้ ตอนนี้แซซซอนไม่สามารถทำได้แล้ว โอเวนจึงอาจรู้สึกว่าเขาต้องสานต่อ 

    ไม่ว่าจะเป็นด้วยสาเหตุอะไร เขากลับไปที่แนวหน้าที่ฝรั่งเศสในเดือนกรกฎาของปี 1918  

    เรื่องที่น่าเศร้าที่สุดของโอเวน คือการเสียชีวิตลงในสนามรบ ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 1918 นับเป็นเวลาเพียงหนึ่งอาทิตย์ก่อนการประกาศสงบศึก เขาอายุ 25 ปี

    แซซซอนเชื่อวาตนเองมีส่วนในการทำให้โอเวนกลับไปรบ (จะเป็นเพราะห้ามไม่สำเร็จ หรือเป็นเพราะอิทธิพลของการกลับไปร่วมรบของเขาก็ไม่ทราบ) จึงรู้สึกผิดเป็นอย่างมาก และตั้งใจว่าจะตีพิมพ์ผลงานทั้งหมดของโอเวนให้ได้

    หลังจากที่สามารถทำได้สำเร็จ งานของโอเวนก็ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ 

    หนึ่งร้อยปีถัดมา โอเวนได้รับการยกย่องจากนัักวรรณคดีและจากหลายคนว่าเป็นกวีสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด (the greatest poet of the First World War)

  • เก็บตกจดหมายและความสัมพันธ์

    ความสัมพันธ์ของแซซซอนและโอเวนเป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน หลักฐานชั้นต้นอย่างพวกจดหมายและงานเขียนต่างๆของโอเวนก็ดันถูกเผาไปเสียก่อน (โอเวนขอให้คุณแม่เผาทิ้งไปหากเขาตาย จะเห็นว่าจดหมายที่ยกมาในตอนนี้มีแต่ที่โอเวนเขียนถึงแซซซอน คาดว่าที่แซซซอนเขียนให้โอเวนคงโดนเผาไปแล้ว) อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่พอเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็แสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่เหนียวแน่น และลึกซึ้ง ไม่ว่าคนจะมองไปในแง่ไหนก็ตาม 

    บางที่ก็ตีความเป็นเพื่อน บางที่ก็ตีความมากกว่านั้น 
    เกรบ เพื่อนคนที่ช่วยแซซซอนไม่ให้โดนโทษประหารไม่รู้เหมือนกันว่าความสัมพันธ์จริง ๆ เป็นอย่างไร แต่เขาเชื่อว่าทั้งสองคนมีความรักให้แก่กันไม่ว่าจะเป็นลักษณะใดก็ตาม

     เรื่องมิตรภาพลูกผู้ชาย*นี่ก็เป็นที่ถกเถียงกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะมิตรภาพช่วงสงคราม 

    *เริ่มยังไงดี บางคนก็มองว่ามันก็เป็นมิตรภาพเฉย ๆ จริง ๆ เพราะช่วงนั้นอาจจะเทิดทูนความเป็นชายด้วยมั้ง เรื่องผู้ชายกับผู้ชายด้วยกันสนิทกันมาก ๆ จึงไม่แปลก ในทางกลับกัันก็มีลักษณะที่บอกว่าเป็นเพื่อนกัน แต่จริง ๆ เป็นมากกว่าเพื่อน แล้วก็เอาคำว่าเพื่อนบังหน้าไปก่อนเพราะสมัยนั้นไม่ได้ยอมรับถึงขนาดอยู่จะมาบอกว่าเป็นเกย์ได้ที่ไหน โดยเฉพาะในหมู่ทหารที่ไม่พูดกันเลย (เคยอ่านจากหนังสือเกี่ยวกับภาพถ่ายคนรักเพศเดียวกันค่ะ) 
    ที่จริงแล้วเราก็ไม่ควรไปคาดเดาหรืออยากรู้รสนิยมทางเพศใครหรอก แต่ที่ยกเรื่องแซซซอนกับโอเวนมาเล่าเพราะมีประเด็นน่าสนใจ เป็นเรื่องที่ดังมาก มีภาพยนตร์ หนังสือ ละคร พูดถึงอยู่ตลอด ถ้าพูดถึงประวัติใครคนใดคนหนึ่งแล้ว ก็จะขาดอีกคนไปไม่ได้ และแซซซอนก็เป็นเกย์จริง ๆ แรก ๆ ปกปิด หลัง ๆ ค่อนข้างเปิดเผย ก็มีแฟนเป็นผู้ชายแหละ มีมากกว่าหนึ่งคนด้วย เคยเล่าไว้คนนึงชื่อตอน stephent tennant (ไทอิน 555) ถึงจะลงท้ายที่แต่งงานกับผู้หญิงก็ตาม ส่วนโอเวนก็เป็นที่รู้จักเรื่องกลอนที่ตีความออกมาเกี่ยวกับผู้ชายเยอะ อะไรทำนองนั้น ใดๆก็ตาม ฟังหูไว้หูละกันค่ะ

    หลายคนบอกว่าโอเวนมองแซซซอนเป็นเหมือนไอดอล เหมือนแรงบันดาลใจเสียมากกว่า

    ข้างล่างเป็นส่วนหนึ่งของจดหมายฉบับที่คนมักจะยกขึ้นมาเล่า เขียนขึ้นวันที่ 5 พฤศจิกายน 1917 (เดาว่าแซซซอนเพิ่งจะออกจากโรงพยาบาลมั้ง)


    My dear Sassoon,

    When I had opened your envelope in a quiet corner of the Club Staircase, I sat on the stairs and groaned a little....

    ... I thank you; but not on this paper only, or in any writing. You gave – with what Christ, if he had known Latin & dealt in oxymoron, might have called Sinister Dexterity. I imagined you were entrusting me with some holy secret concerning yourself. A secret, however, it shall be until such time as I shall have climbed to the housetops, and you to the minarets of the world.

              Smile the penny! This Fact has not intensified my feelings for you by the least – the least grame. Know that since mid-September, when you still regarded me as a tiresome little knocker on your door, I held you as Keats + Christ + Elijah + my Colonel + my father-confessor + Amenophis IV in profile. 

              What's that mathematically?
    In effect it is this: that I love you, dispassionately, so much, so very much, dear Fellow, that the blasting little smile you wear on reading this can't hurt me in the least.
    If you consider what the above Names have severally done for me, you will know what you are doing. And you have fixed my Life – however short. You did not light me: I was always a mad comet; but you have fixed me. I spun round you a satellite for a month, but I shall swing out soon, a dark star in the orbit where you will blaze...

    ...

              Your proud friend, Owen


    แซซซอนที่รัก

    ผมเปิดจดหมายของคุณที่มุมเงียบมุมหนึ่งในคลับ นั่งบนขั้นบันได และพึมพำคร่ำครวญอยู่บ้างเล็กน้อย....

    ...ผมขอบคุณคุณ ไม่ใช่แค่บนกระดาษแผ่นนี้ หรือในตัวอักษรอื่นใด สิ่งที่คุณให้ผมมานั้น ถ้าหากพระคริสต์รู้ภาษาละตินหรือเคยปวดหัวกับถ้อยคำยอกย้อนมาก่อนก็คงจะเรียกว่า ลางร้ายอันหลักแหลม

    ผมคิดว่าคุณมอบความไว้วางใจให้ผมด้วยการบอกความลับสำคัญบางอย่างเกี่ยวกับตัวคุณเองให้ผมฟัง มันจะเป็นความลับไปจนกว่าวันที่ผมต้องปีนขึ้นไปบนหลังคาบ้านคุณ และคุณต้องปีนไปยังหอคอยสุเหร่าของโลก 

    แต่ยิ้มไว้เถอะ  ความจริงข้อนั้นไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกกับคุณมากขึ้นแม้แต่น้อย คุณควรจะรู้เอาไว้ว่า ตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกาฯ ตอนที่คุณยังคิดว่าผมเป็นเสียงเคาะประตูอันน่าเหนื่อยหน่ายนั้น ผมมองคุณเป็นดัง คีท + พระคริสต์ + เอลิยา + พ.อ. + คุณพ่อผู้รับสารภาพบาป+ แอเคนาเทนที่ 4

    *คีท น่าจะหมายถึง จอห์น คีท (John Keat) เป็นกวีที่มีอิทธิพลกับโอเวน
    **เอลิยา เป็นผู้เผยพระวจนะชาวฮีบรูที่อยู่กับโมเสส ศาสนาของพระเยโฮวาห์ พ่อของโอเวนเป็นชาวยิว
    ***คุณพ่อผู้รับสารภาพบาป คือบาทหลวงที่ฟัังคนที่มาสารภาพบาป
    ****แอแคนาเทนที่ 4 เป็นฟาโรห์

    ทั้งหมดที่กล่าวมา เมื่อบวกกันแล้วได้ผลลัพธ์เท่าไหร่หรือ

    ผลลัพธ์ของข้อนั้นคือผมรักคุณ รักอย่างสันติ อย่างล้นพ้น อย่างยิ่งยวด เพื่อนเอย แม้แต่รอยยิ้มบางบนใบหน้าคุณขณะอ่านจดหมายฉบับนี้ก็ไม่อาจทำร้ายผมได้แม้แต่นิดเดียว

    ถ้าหากคุณตรองดูว่าชื่อต่าง ๆ ที่ผมยกมาเขียนข้างต้นให้อะไรแก่ผมบ้าง คุณก็จะรู้ว่าคุณทำอะไรอยู่  คุณช่วยชีวิตผม จะสั้นเท่าใดก็ตามที ผมเป็นดาวหางที่บ้าคลั่งมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่คุณไม่ได้จุดให้ผมติดไฟ  คุณช่วยผม

    ผมหมุนรอบคุณเสมือนดาวเทียมอยู่หนึ่งเดือน ไม่นานผมจะหลุดวงโคจรที่ว่าแล้ว เป็นดาวดับในวงโคจรที่คุณลุกโชน...

    เพื่อนผู้ภาคภูมิของคุณ, โอเวน


    เรื่องดาว อาจจะเป็นการเปรียบเทียบเกี่ยวกับชีวิตทั้งในด้านเป็นทหารและการประพันธ์ก็ได้ เพราะช่วงพฤศจิกายน 1917 น่าจะตรงกับช่วงที่แซซซอนกำลังจะกลับไปรบ คือเหมือนกับว่าไม่ว่าจะในสนามรบหรือในวงการงานประพันธ์ แซซซอนก็เป็นที่รู้จัก ในขณะที่โอเวนตอนนั้นยังไม่ค่อยมีผลงานตีพิมพ์
    พูดๆกันแล้วก็เป็นเรื่องที่แปลกดีเพราะหลังจากโอเวนเสียชีวิต แซซซอนนี่แหละเป็นคนผลักดันทำให้งานของเขาลุกโชนขึ้นมาได้


    แปลกลอนนิดหน่อยค่ะ

    เวลาพูดถึงผลงานก็อยากจะยกมาให้ดูด้วยค่ะ 

    ออกตัวก่อนว่าบทนี้ที่จะแปล เป็นแปลถอดความ พยายามให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับแต่คงเก็บได้ไม่หมดจริงๆ ส่วนตัวชอบบทนี้มาก ๆ ไม่อยากทำของเขาแปดเปื้อนเลย แต่ว่าอยากแปลให้พอเข้าใจว่าสิ่งที่เขาเขียนมันมีอะไร ทำไมเขาถึงดัง 5555 


    Anthem for Doomed Youth - Wilfred Owen


     What passing-bells for these who die as cattle?

    — Only the monstrous anger of the guns.
    Only the stuttering rifles' rapid rattle
    Can patter out their hasty orisons.
    No mockeries now for them; no prayers nor bells;
    Nor any voice of mourning save the choirs,—
    The shrill, demented choirs of wailing shells;
    And bugles calling for them from sad shires.

    ระฆังที่ใดจะส่งเสียงให้ผู้คนที่ตายดังฝูงสัตว์
    มีเพียงเสียงเดือดดาลของกระบอกปืน
    แลเสียงสั่นสะเทือนของปืนยาว
    ที่อาจสาดเสียงออกมาสวดภาวนา
    ไม่มีคำเยาะเย้ย อธิษฐาน หรือระฆังกังวาล
    ไร้เสียงเศร้าโศกประสานขับขานเพลง
    มีเพียงเสียงโหยหวนคลุ้มคลั่งของกระสุนและเสียงแตร

    *เวลามีคนตาย โบสถ์จะตีระฆังแต่คนที่ตายในสนามรบไม่มีใครตีระฆังให้ ไม่มีคนสวดมนต์ หรือร้องเพลงให้ (ธรรมเนียมงานศพแบบคริสต์) เสียงเดียวที่ได้ยินคือกระสุนปืน

    What candles may be held to speed them all?
          Not in the hands of boys, but in their eyes
    Shall shine the holy glimmers of goodbyes.
          The pallor of girls' brows shall be their pall;
    Their flowers the tenderness of patient minds,
    And each slow dusk a drawing-down of blinds.

    จะใช้เทียนไขเล่มใดส่งดวงจิตพวกเขาไปสวรรค์
    เหล่าเด็กชายไม่มีแสงเทียนในมือ
    มีเพียงแสงริบหรี่ในดวงตาเท่านั้น ที่อาจใช้แทนคำกล่าวอำลา
    ใบหน้าซีดเซียวของเหล่าเด็กสาวแทนผ้าปิดศพ
    จิตใจอ่อนโยนของผู้หยัดยืนแทนดอกไม้
    และแสงอาทิตย์ที่เคลื่อนตัวลงช้าๆยามย่ำค่ำ
    แทนการปิดตาผู้ล่วงลับ

    *ตามธรรมเนียมคริสต์ที่จะมีเด็กถือเทียน เหมือนกับเป็นแสงที่ช่วยส่งวิญญาณไปสวรรค์ แต่ในสนามรบไม่มีเทียน มีแค่แสงริบหรี่ในตาเท่านั้นที่พอจะใช้แทนกันในการกล่าวคำอำลาได้ ผ้าปิดศพก็ไม่มี มีแต่ความโศกเศร้าและซีดเซียวบนใบหน้าที่พอจะใช้แทนได้ ส่วนที่บอกว่าปิดตาคนตายก็คือธรรมเนียมที่ต้องปิดม่านลงนั่นเอง


    Dulce et Decorum Est - Wilfred Owen
    เอ่อ ไม่แปลแล้วกันค่ะ แต่ว่าขอเล่าคร่าวๆ บทนี้เขียนถึงเหตุการณ์ตอนที่เขาติดอยู่ในหลุมหลบภัยพร้อมศพเพื่อน บรรยายถึงว่าตอนนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง ใช้คำบรรยายแบบเห็นภาพชัดมาก รุนแรงอยู่พอควร บรรยายว่ามันหลอกหลอนแบบไหน แล้วก็พูดว่าถ้าหากใครมาเห็นอย่างที่เขาเห็น จะไม่มีทางกลับไปบอกลูกหลานที่บ้านแน่ว่า Dulce et decorum est pro patria mori. ซึ่งเป็นภาษาละตินแปลว่า It is sweet and fitting to die for one’s country. แปลเป็นไทยก็ประมาณว่า การได้ตายเพื่อประเทศชาตินั้นหอมหวานและเหมาะสม (เป็นวาทกรรมเกี่ยวกับการสละชีพเพื่อชาติช่วงนั้น) 


    ของแซซซอนเยอะมากเลยอะ ทีไ่ด้ยินบ่อย ๆ ก็เช่น  Suicide in the Trenches, Counter-Attack, The Death Bed, The Dug-out. 



  • แหล่งดูและอ่านเพิ่มเติม

    Wilfred Owen: A New Biography

    Selected Letters เป็นรวมจดหมายของโอเวนจริงๆ 



    นิยายเรื่อง Regeneration โดย Pat Barker ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องของโอเวน 


    ภาพยนตร์
    Regeneration ดัดแปลงจากนิยายอิงประวัติศาสตร์ชื่อเดียวกัน


    เรื่องนี้แบบเป็นละครเวทีก็มีนะคะ


    The burying Party เป็นภาพยนตร์เกี่นสกับประวัติของวิวเฟรด โอเวน


    • บทละครเวทีเรื่อง Not About Heroes 
    ก็มีเอามาเล่นหลายเวอร์ชันอยู่ค่ะ




    หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

  • References
    Feast Creative | http://feastcreative.com. (n.d.). Theatre Cloud. Retrieved from https://www.theatrecloud.com/news/sassoon-and-owen-a-meeting-that-changed-the-course-of-literature

    Finished with the War: A Soldier’s Declaration. (2007, March 11). Retrieved from https://en.wikisource.org/wiki/Finished_with_the_War:_A_Soldier%E2%80%99s_Declaration

    Gay Love Letters through the Centuries: Wilfred Owen. (n.d.). Retrieved from http://rictornorton.co.uk/owen.htm

    Poets of the Great War: Siegfried Sassoon and Wilfred Owen. (2011, March 15). Retrieved from https://theredanimalproject.wordpress.com/2011/03/09/poets-of-the-great-war-siegfried-sassoon-and-wilfred-owen/

    Wilfred Owen. (2002, March 29). Retrieved from https://en.wikipedia.org/wiki/Wilfred_Owen
    ภาพหน้าปกจากโปสเตอร์ภาพยนตร์ The Burying Party

    พบข้อผิดพลาดรบกวนบอกนะคะ
    Contact
    Twitter dm : @rainbowflick17
    gmail : rainbowflick37@gmail.com 
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in