เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เล่นแร่แปรวัตถุดิบ...รวมเรื่องชุดโดยนักเรียนเขียนเรื่องอ่าน-คิด-เขียน
ต้นไม้: "กระถิน" ปลูกลงดินไม่ได้

  • เรื่องสั้นโดย...จุฬารัตน์ กุหลาบ ผลงานลำดับที่ 3 ในคอลัมน์ "เล่นแร่แปรวัตถุดิบ" 

    คลิกเพื่ออ่าน.....บทนำ: เล่นแร่แปรวัตถุดิบ...รวมเรื่องชุดโดยนักเรียนเขียนเรื่อง 2018 ได้ที่นี่



     "ไม่มีอะไรที่อยากทำเลยสักอย่าง"

    "ไม่มีความฝันเหมือนคนอื่นๆ เขา"

    ...

    "ผมรู้ตัวว่ามันน่าสมเพช"

    ...

    แต่พวกเขาบอกกับผมว่า


    "แค่เข้ามหาลัยตามที่บอกเถอะ ทุกอย่างมันจะดีเอง"


              


    ความหวังของประเทศ คือคำนิยามและหน้าที่หลักของผมนอกจากการเป็นนักเรียน ผมเติบโตมาด้วยความรักของพ่อกับแม่ ความเอาใจใส่ของครอบครัว ความเมตตาและธารน้ำใจจากมิตรสหายร่วมโลก ผมเป็นเด็กที่มีความสุข ผมรู้สึกโชคดีที่สุด ผมมีโอกาสในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการศึกษา ผมรู้สึกขอบคุณและอยากตอบแทนพวกเขาเหล่านั้น พวกเขาที่คอยให้กำลังใจและอยู่เคียงข้างผมเสมอมา


    สิ่งที่ผมทำได้คือมอบความสุขให้แก่พวกเขา ความสุขที่พวกเขาได้ภูมิใจในตัวของผม ความสุขที่พวกเขาได้ในสิ่งที่หวังไว้จากผม ถึงจะยากแต่ไม่ต้องห่วง ผมจะพยายามทำให้ได้ แต่แล้วกลับกลายเป็นว่าพวกเขาและสังคมต่างนำความฝันมาบรรจุไว้ในตัวของผม รวมถึงเพื่อนร่วมชะตากรรมคนอื่นๆ ไร้ช่องว่างและเรี่ยวแรงที่ผมจะผลักมันออกไป สองแขนและสองขาของผมถูกมัดด้วยโซ่ที่เรียกว่าความกตัญญู ปากของผมถูกปิดด้วยเสียงของความหวังที่พวกเขายัดเยียด สมองของผมถูกบัญญัติคำศัพท์ไว้เพียงสองคำ คือ ตัวปัญหา และ อนาคตของชาติ  สิ่งที่พวกเขาใช้ตัดสินคนอย่างพวกผมคือกระดาษแผ่นเดียว ที่บรรจุตัวเลขไว้ท้ายกระดาษ ส่วนพวกผมไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะได้เปล่งเสียงออกไป


             ถึงแม้มันจะยากในการสร้างความพอใจให้กับพวกเขา แต่ในฐานะอนาคตของชาติ พวกผมยอมทำได้ทุกวิธี เพื่อหนีจากการเป็นตัวปัญหา การทุจริตข้อสอบกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย โกงนิดโกงหน่อยคง หากเทียบกับความกตัญญูที่ผมตั้งใจตอบแทนพวกเขา หลายๆ ครั้งผมก็เคยคิดว่า ในเมื่อสิ่งที่ปรากฏบนกระดาษแผ่นเดียวจะเป็นตัวกำหนดว่าดีหรือไม่ดี ผมก็ไม่จำเป็นต้องสนใจใคร


                ไม่ใช่ว่าความละอายใจไม่มีอยู่เลย แต่ความเครียดและความกดดันจากภายนอกทำให้คนที่มีโอกาสอย่างพวกผมต้องเลือกทำบางอย่าง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ ทั้งในสังคมและคนในครอบครัว การทำความผิดเป็นเรื่องที่ชินชาไปเสียแล้ว ผมก็ได้แต่หวังว่าเมื่อเติบโตขึ้นกว่านี้ ตรรกะที่มองว่าการทำผิดทุจริต การโกงเป็นเรื่องธรรมดานั้น จะไม่หยั่งรากลึกไปในจิตใจของผม




    “ต้นกระถินหน้าบ้านก็ยังเติบโตในแบบของมันไปเรื่อยๆ เพียงแต่ว่าวันนี้ ดินที่มันเคยอยู่เปื้อนไปด้วยกลิ่นสนิมเสียแล้ว กลิ่นของเลือดแห่งการมีชีวิต เลือดของตัวตนและความฝัน ไหลกองอยู่เต็มผืนดิน ” [1]



                พวกเขาอาจคิดว่าการศึกษาจะปูทางไปสู่อนาคตที่ดีกว่าแต่มันจะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไรในเมื่อพวกเขาเอาแต่ใส่ปุ๋ย ทว่าไม่เคยรดน้ำไม่เคยพรวนดิน ไม่เคยใส่ใจเกี่ยวกับความผิดพลาดในระบบการศึกษาอย่างแท้จริง พวกเขามองว่าพวกผมเป็นนักเรียน นักเรียนที่คอยแต่จะรับความรู้ที่เขายัดเยียด ปิดโอกาสทางความคิด และเมื่อใดที่เผลอเปิดเผยตัวตนออกมา ความคิดที่ย้อนแย้งก็จะถูกพวกเขาขยี้จนแหลก ชุดนักเรียนสีขาวจะถูกก็กระทืบซ้ำ จนเปื้อนรอยเท้าสีดำ สีดำที่พวกเขาใช้เป็นกรอบของการศึกษาไม่เหลือสีขาวที่เปิดโอกาสให้พวกผมได้แสดงตัวตน

     

                พวกเขาฝากความหวังให้เปลี่ยนแปลงสังคม แต่พวกเขาไม่เคยคิดที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง การปลูกฝังความคิดและการศึกษาเลย การบังคับเรียนและตัดสินความรู้ความสามารถผู้เรียนอย่างพวกผมใช้เพียงมาตรฐานเดียวในการวัดคุณค่าของความรู้ แต่ไม่สามารถใช้วัดความสามารถและความถนัดในสิ่งที่นักเรียนแต่ละคนสนใจได้เลย เพื่อนร่วมชะตากรรมของผมหลายคนถูกตราหน้าว่าเป็นปัญหาสังคม ทั้งๆ ที่ไม่ได้รับการชี้แนะอย่างถูกวิธีเมื่อมีคนออกจากระบบการศึกษาเช่นนี้แล้ว ใครบ้างที่พร้อมจะรับฟังและร่วมแก้ปัญหาไปกับเพื่อนของผม ใครบ้างที่จะชี้แนะและเปิดโอกาสให้พวกผมได้คิดและแสดงความเห็นมีเพียงข้อกล่าวหาที่ว่าหากเรียนไม่จบตามภาคบังคับ เด็กเหล่านั้นจะกลายเป็นปัญหาของสังคมเป็นประชากรที่ไม่สร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ


                ...ข้อเรียกร้องเพียงอย่างเดียวในมุมมองของผู้ที่กำลังวิ่งหนีคำว่าตัวปัญหา” คือการขอโอกาสให้พวกเขาเปิดใจรับฟังความคิดของพวกผม ยอมรับพวกผมในสิ่งที่เป็นและช่วยชี้ทางให้พวกผมได้ก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กับอนาคตที่จะเปลี่ยนไป





                หากไม่เป็นเช่นนั้นแล้วต้นตอความหวังของพวกผมต่อการศึกษาอาจทรุดจมกลับไปในดิน มีเพียงตรรกะการเอาตัวรอดจากการเรียนเท่านั้นที่จะทำให้เป็นที่ยอมรับในสังคม โดยไม่สนสำนึกผิดถูก โดยไม่สนถึงผลกระทบที่จะตามมาในอนาคตข้างหน้า แล้วก็ได้แต่ก้มหน้ายอมรับสิ่งที่พวกเขายัดเยียดเข้ามาให้ ความฝันและความหวังของเด็กรุ่นใหม่ก็จะหายไป เหลือเพียงร่างกายที่ถูกชักจูง ถูกยัดความรู้ที่ใช้ไม่เป็นและอยู่ในโรงงานของการศึกษาจอมปลอมต่อไป


                จนถึงวันที่สำเร็จการศึกษา พวกผมคงทำได้แค่นอนกอดใบปริญญาฯ แต่ไม่รู้คุณค่าของการทำงานเป็นเพียงฟันเฟืองตัวเล็กๆ ของสังคมทุนนิยม ไร้มาตรฐานชีวิตและความสุขที่ควรได้รับจากการชี้แนะตั้งแต่ช่วงชีวิตการศึกษา เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไร้คุณภาพ เป็นทั้งเด็กที่เคยเป็นอนาคตของชาติและกำลังจะก้าวไปเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นปัญหาของสังคม

    ....



    “…ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ไปตามสายน้ำจะไปถึง

    ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ไปเท่าที่แสงแดดส่องไปถึง

    ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย ลอย” [2]




    --------------------------

    [1] เขียนขึ้นเองโดยได้รับแรงบันดาลใจจากความเรียงเรื่อง "กระถิน" ใน รักษิตา. เรื่องเล่าของดอกไม้. กรุงเทพฯ: ฟรีฟอร์ม, 2552.   
    [2] บางส่วนจากบทกวีคำซ้ำเรื่อง "ลอย" ใน จ่าง แซ่ตั้ง. คำซ้ำ (ฉบับสองภาษา: ไทย - อังกฤษ). PAMELA ARCHER and GIOVANNI CUTOLO , บรรณาธิการ. แปลโดย MAYARA VISEKUL และ PRAKIN ZUMSAI(อัดสำเนา), 1967-1968.
    [3] กว่าจะเป็นงานเขียนชิ้นนี้

    เริ่มต้นจากการที่ได้โจทย์แตกต่างกันไปตามวัตถุดิบแต่ละชิ้น จึงยากที่จะนำเสนอส่วนที่คิดว่าสำคัญในแต่ละวัตถุดิบออกมา แต่เมื่อได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันกับเพื่อนๆ ในกลุ่ม ก็รู้สึกว่าบางจุดที่ดูจะกว้างๆ เราก็ยังมีความรู้สึกและมุมมองบางอย่างคล้ายๆ กัน มุมมองของเด็กในยุคของพวกเรา มุมมองวัยรุ่นในยุคของพวกเรา และสิ่งที่อีกหลายคนกำลังเผชิญอยู่ จึงอยากถ่ายทอดงานออกมาไม่ใช่เพียงแต่ชวนให้คิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราในปัจจุบัน แต่เป็นการนำเสนอการคิดและหาทางออกให้กับสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่

    หลังจากทำงานจบเหมือนได้เป็นตัวแทนของนักเรียนที่ออกไปอ่านเรียงความหน้าห้องและรู้สึกว่าจะโดนครูหักคะแนนความไม่ร้อยเรียง และทัศนะคติแย่ๆ ต่อการศึกษา แต่ก็โล่งใจที่ได้เขียนงานออกมา จริงๆ แล้ว แรงบันดาลใจอีกอย่างที่ทำให้เขียนงานได้คือเพลง So Far Away - BTS อยากให้ผู้ใหญ่และผู้ที่เกี่ยวข้องทางการศึกษายกเลิกความคิดที่ว่าเกรดสวยๆ เข้ามหาวิทยาลัยดีๆ จะเป็นสิ่งที่ดีกับตัวเอง เป็นการตอบแทนพ่อแม่ เพราะจริงๆ แล้ว ถ้าผู้เรียนต้องเจอความกดดันและต้องทนอยู่กับสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเอง นั่นแหละจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ และส่งผลต่อการเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตด้วยเช่นกัน

    จุฬารัตน์ กุหลาบ


    ----------------------

    ผู้สนใจสามารถคลิกที่ชื่อเรื่องเพื่อเข้าถึงงานเขียนเรื่องนั้นๆ  

    ผลงานชุด “ต้นไม้” ประกอบด้วยเรื่อง 
    - เรื่องสั้น “พักพิง” โดย บุญฑริกา จิตพินิจกุล
    - เรื่องสั้น  “ต้นไม้โตขึ้นบ้าง หรือ กระถางเล็กลงหน่อย” โดย ธีรศักดิ์ คงวัฒนานนท์
    - เรื่องสั้น  “ ‘กระถิน’ ปลูกลงดินไม่ได้” โดย จุฬารัตน์ กุหลาบ

    วัตถุดิบ

    - บทกวีคำซ้ำเรื่อง “ลอย” ของ จ่าง แซ่ตั้ง
    - บทกวีเรื่อง “ไม่ใช่ในนามพระเจ้าองค์ใด” ของ โรสนี นูรฟารีดา
    - ความเรียงเรื่อง “แม่ดอกกระถินริมรั้ว” ของ รักษิตา
    - คำว่า “เพาะ” ในคลังคำ ของ รศ.ดร.นววรรณ พันธุเมธา

    ----------------------

    ผลงานเรื่องอื่นๆ สืบเนื่องจากกิจกรรม "เล่นแร่แปรวัตถุดิบ"

    ผลงานชุด “หมู่บ้านล้านดอก” ประกอบด้วย

    - เรื่องสั้น “ดอกบัว”  โดย นันทวัน มงคลสถิต                                                                                                 - เรื่องสั้น “กะฮอม”   โดย เมธินี โสภา                                                                                                                  - เรื่ิองสั้น “ดาวเรือง”  โดย ณฐพร ส่งสวัสดิ์ 

    ผลงานชุด “ชะตากรรม” ประกอบด้วยเรื่อง 
    - เรื่องสั้น “กรำชะตา” โดย พิชญา วินิจสร
    - เรื่องสั้น “กำชะตา” โดย ณิชมน จันทวงศ์

    ผลงานชุด “เด็กเด็กเด็ก” ประกอบด้วย
    ความเรียง ฉันผิดที่เป็นเด็กสายศิลป์” โดย ธนวิชญ์ นามกันยา 
    - เรื่องสั้น คุยกับเด็กในความทรงจำ”  โดย ปิยภัทร จำปาทอง 
    - เรื่องสั้น ดอกแก้วแลดาวเหนือ”  โดย กัลยรัตน์ ธันยดุล  

    ผลงานชุด “LUNCH” ประกอบด้วย
    - เรื่องสั้น “อาหารกลางวันบนชั้น 21” โดย วรันพร ตียาภรณ์  
    - เรื่องสั้น อาหารฝันกลางวัน” โดย ชัญญานุช ปั้นลายนาค  
    - เรื่องสั้น “อาหารกลางวันที่เจ้าบ้านหายไป” โดย ณิชา เวชพานิช


    ผลงานชุด “ความทรงจำ” ประกอบด้วย
    - ความเรียงเรื่อง “ให้ความทรงจำเป็นเหมือน ‘ขยะ’” โดย สิริโชค โกศัลวิตร   
    - เรื่องสั้น “ชื่อที่ไม่มีวันลืม” โดย ปุณยาพรสุข ศาลาสุข 
    - เรื่องสั้น This white dog and that white wolf โดย พิมพ์ภาณิณ โชติมา

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in