กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีไวรัสที่ชื่อว่าโควิด-19 ได้คร่าชีวิตคนไปมากมายนับไม่ถ้วน แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ไวรัสได้จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ หากแต่เพียงทิ้งร่องรอยของความสูญเสีย ความลำบาก และความสิ้นหวังเอาไว้ในใจของมนุษย์ทุกคน.
ทว่าลองพิจารณาให้ดี ๆ ชีวิตนี้สั้นนัก ถึงไม่มีไวรัสโควิด-19 ยังไงเราทุกคนก็ต้องเกิด และตายอยู่ดี ซึ่งยังไงก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงไปได้อย่างแน่นอน.
แต่เมื่อเรามองกลับย้อนดูความเป็นไปของมวลมนุษย์กลับพบว่า ไวรัสโควิด-19 ไม่ใช่แค่มาทำให้เราลำบาก แต่กลับมาเปิดเผยธาตุแท้ของมนุษย์ในยุคปัจจุบันนี้อย่างหมดจด ผู้คนมากมายกำลังก่นด่ากับโชคชะตาอย่างไม่หยุดหย่อน ผู้คนมากมายกำลังอดตาย ไม่ใช่เพราะว่าไวรัส แต่อดตายเพราะมัวแต่เสียเวลาไปกับการพร่ำบ่นกับชะตาชีวิตที่น่าหดหู่และท้อแท้.
เหตุการณ์ที่เรียกว่า ‘วิกฤต’ อาจจะนำพา ‘โอกาส’ มาก็เป็นได้นะ เหมือนกับคำพูดที่ว่า “ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ” ซึ่งตอนแรก ก็คงไม่มีใครเชื่อหรอกว่า “วิกฤตเนี่ยนะจำนำพาโอกาสมาหาเราจริง ๆ” หรือ “ไร้สาระเปล่า ๆ เหมือนนิทานหลอกเด็ก” แต่หากเราน้อมนำวิกฤตนี้ด้วยใจที่โอบกอดมันอย่างแท้จริง มองดูไวรัสโควิด-19 ด้วยจิตใจที่เปิดกว้าง เราทุกคนจะต้องพบว่า “ทุกสิ่งล้วนแต่ต้องการที่พักพิงกันทั้งนั้น”.
หากเรายังมองไวรัสโควิด-19 แตกต่างกับมนุษย์ ก็อยากให้ทุกคนย้อนเวลากลับไปตั้งแต่โลกนี้ไปอุบัติขึ้น สัตว์เซลล์เดียวเป็นสิ่งมีชีวิตแรกที่ครองโลกใบนี้ หลังจากนั้นต่อมาหลายล้านล้านปี ก็ได้มีสิ่งมีชีวิตมากกว่าเซลล์เดียว ต่อมาหลังจากนั้นอีกก็ได้มีสัตว์น้ำที่อยู่ใต้ท้องทะเลลึก สักพักก็เริ่มมีสัตว์บก สักพักก็เริ่มมีไดโนเสาร์ ต่อมาอีกไม่นาน (สองแสนปี) ก็ได้อุบัติสิ่งที่เรียกว่ามนุษย์ขึ้นมาบนโลก.
ทว่ามองกันให้ดี ๆ สัตว์เซลล์เดียวในวันนั้น ก็คือเราในวันนี้ เพียงแต่การ ‘วิวัฒนาการ’ ทำให้เราหลงลืมไปว่า เรากับไวรัสต่างก็มีเจตจำนงในชีวิตเหมือนกันก็คือ “ปรับตัวเพื่อการอยู่รอด” และทุกสิ่งมีชีวิตก็ล้วนแต่ทำหน้าที่นั้น ไม่ยกเว้นสิ่งมีชีวิตใดชีวิตหนึ่งเลย.
ถัดมาสู่ยุคของระบบทุนนิยมที่มีลำดับขั้นอย่างชัดเจน ว่ามีนายจ้างผู้มีเงิน สามารถจ้างลูกจ้างที่ต้องการเงิน เพื่อเกิดวัฏจักรที่สมบูรณ์ที่สุด ก็คือมีระบบของการจ้างงาน ทุกคนจะได้มีหน้าที่ในการประกอบอาชีพต่าง ๆ เกิดขึ้นมาได้ โดยการที่ใช้ระบบนี้อย่างสมบูรณ์ทุกคนก็จะต้องพึงกระทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสุดความสามารถ หากมีคนใดคนหนึ่ง หรือผู้ใดผู้หนึ่ง ไม่ทำตามหน้าที่ระบบนี้จะพังทลายอย่างรวดเร็ว.
ความเหลื่อมล้ำย่อมแสดงให้เห็นว่า เงินส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในมือของทุกคน แต่กลับอยู่กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างที่เรียกว่า ‘กระจุก’ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว การกระจุกไม่ได้มีความหมายที่ไม่ดี แต่หากว่าถ้ามันเกิดกระจุกอยู่กับกลุ่มคนที่ไม่มีจริยธรรม หรือศีลธรรมเพียงพอ มวลมนุษย์อีกหลายพันล้านคนจะต้องจบชีวิตไปอย่างน่าอเนจอนาถ.
เมื่อนำระบบเศรษฐศาสตร์ผสมเข้ากับการเอาตัวรอด แน่นอนว่าคนรวยย่อมมีความสุขมากกว่า ย่อมมีอายุที่ยืนยาวกว่า หากแต่เพียงคนรวย (ที่ไม่มีปัญญา) จะมองอยู่ด้านเดียวอย่างนั้นว่า “รวยสิดี จะได้มีความสุขสบาย” แต่เขากลับไม่พบว่า “ความรวยจะสำคัญเท่ากับระบบที่วางไว้อย่างดีแล้วได้อย่างไร” เมื่อนายจ้าง (คนรวย) จำเป็นต้องจ้างลูกจ้าง (คนจน) เพื่อให้คนจนนั้นทำงานให้กับเขา ต่อมาถ้าไม่มีลูกจ้างทำงานให้ นายจ้างเหล่านั้นก็แค่ตายจากโลกนี้ ‘ช้ากว่า’ ผู้ที่เป็นลูกจ้างก็เท่านั้นเอง.
โลกนี้ออกแบบกฎที่เรียกว่า ‘กฎธรรมชาติ’ ซึ่งไม่ว่าใครก็ตามไม่สามารถหลีกเลี่ยงไปได้ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า “ถ้าเรารวยแล้วเราจะสามารถมีความสุข” ก็ในเมื่อ ‘เงิน’ คือกระดาษที่เอาไว้แลกเปลี่ยนเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำให้เรามีกินมีใช้ ไม่ใช่เงิน แต่คือคนระดับรากหญ้ามิใช่หรือ คนชนชั้นกลางก็ย่อมมีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจมิใช่หรือ ความคิดที่จะมีกระดาษไว้ครอบครอง คือคนที่ไม่มีปัญญาและจะตายลงไปช้า ๆ เพราะคนเหล่านั้นไม่มีการปรับตัวใด ๆ มานานมากแล้ว.
ทว่าการจะใช้หุ่นยนต์ในการแก้ปัญหาตรงจุดนี้ ก็จะเป็นตัวทำลายระบบอีกเช่นกัน เพราะนายจ้างจะไม่มีผู้คนมาซื้อผลิตภัณฑ์ หรือบริการใด ๆ จากนายจ้างได้อีก ก็เพราะเงินจะไปอยู่ที่หุ่นยนต์ ไม่ได้คืนกลับไปสู่แหล่งเดิมคือลูกจ้าง หลังจากนั้นโลกนี้ก็จะมีแต่นายจ้างกับหุ่นยนต์แค่นั้น.
หากย้อนกลับไปในประโยคที่ว่า “ปรับตัวเพื่อการอยู่รอด” นี่ก็คือสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณคือสิ่งมีชีวิตที่ยอดเยี่ยมที่สุดในจักรวาล ก็เพราะไม่มีสิ่งมีชีวิตใด ที่อยู่รอดด้วยการนั่งเฉย ๆ หรือว่ามีชีวิตรอดด้วยการก่นด่าโชคชะตา แต่หากเพียงมีชีวิตรอดด้วยการ พยายามทุกวิถีทางในการเอาตัวรอดให้ได้.
ณ เวลานี้มิใช่เวลาหาเงิน แต่เป็นหาทักษะในการนำมาปรับใช้กับชีวิต ส่วนคน (ไม่มีปัญญา) เท่านั้นที่คิดว่าเงินคือทุกสรรพสิ่ง เพราะมีแต่มนุษย์เท่านั้นที่หลงเชื่อไปว่า ‘เงิน’ คือสิ่งที่บันดาลความสุข ความสบายมาให้ ทว่าไวรัสโควิด-19 มาย้ำเตือนเราว่า “พวกมนุษย์ที่ไร้การปรับตัว ย่อมเจอศึกครานี้ใหญ่หลวงนัก หากยังคงมีพฤติกรรมแบบเดิม เราจักมาอีกในอนาคตกาล”.
อนึ่ง มนุษย์อาจจะครองโลกใน ณ ตอนนี้ ก็ไม่ได้แปลว่า มนุษย์ยังคงครองโลกแบบนี้ต่อไปได้อีก ถ้าขืนมนุษย์ยังไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ไม่มีศีลธรรมมาเป็นครรลองของชีวิต ขาดการตระหนักรู้เชิงกว้างว่า “ทุกคนต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เหมือนที่ไวรัสช่วยกันแพร่เชื้ออย่างสามัคคีกัน” เราก็จะต้องร่วมแรงร่วมใจผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้.
จงปรับตัวตั้งแต่วันนี้ มันคือโอกาสที่สำคัญ เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดแล้ว การล้มหายตายจากของมนุษย์ในครั้งนี้ มาเป็นสัญญาณเตือนว่า การนิ่งนอนใจต่อการดำรงชีวิตอยู่เป็นสิ่งที่ประมาทอย่างมาก และที่สำคัญคือควรยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม รู้จักในการทำความดี คิดดี และพูดดีอยู่เสมอ เพราะการจะเป็นมนุษย์ที่ใจสูงนั้นก็จะต้องประกอบด้วยศีลเป็นสรณะ.
ใช้ความดีเป็นที่พึ่ง ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เงินทอง ลาภยศ หรือสรรเสริญใด ๆ หากมีความดีแล้วไซร้ ถึงแม้จะตายจากโลกนี้ไปก็จะตายจากไปด้วยจิตใจที่อิ่มเอม ไม่ได้ทุกข์ระทมอะไร รวมถึงเปลี่ยนเป็นใช้ความเชื่อเรื่อง ‘ความดี’ แทนเรื่อง ‘เงิน’ ยังดีเสียกว่า.
สุดท้ายนี้มนุษย์จะมีความสลักสำคัญต่อโลกใบนี้ ก็หาเพียงแค่มีฐานะอันร่ำรวยไม่ หากเพียงเราสร้างสิ่งที่สร้างสรรค์แก่โลกใบนี้ต่างหาก ที่จะเพิ่มความสลักสำคัญต่อมวลมนุษย์ได้ ความแตกต่างเพียงหนึ่งเดียวที่เราแตกต่างจากสัตว์อื่นทั่วไป ก็เพราะเราเป็นผู้มีปัญญา และสามารถสั่งสอนได้ จงเรียนรู้เหตุการณ์ในชีวิตให้มาก ประสบการณ์เหล่านั้นจะมาทำให้เราเป็นสัตว์ประเสริฐอย่างแท้จริง.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in