เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
SEENPoonPun
‘ซงคังโฮ’ กับ 3 บทบาท ‘อิกนอแรนซ์’ ตอน 3 : ตำรวจ


  • เข่ียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2021
    **เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์**


    • Memories of Murder (살인의 추억) ออกฉายในเกาหลีใต้เมื่อ 2 พฤษภาคม 2003 กำกับโดย บงจุนโฮ 

    แม้หนังสัญชาติเกาหลีใต้ทั้ง 3 เรื่องจะสร้างและออกฉายต่างปี แต่เนื้อหาของหนังเหล่านี้มุ่งสำรวจหมุดหมายเดียวกันในประวัติศาสตร์ คือช่วงทศวรรษ 1980 ของประเทศเกาหลีใต้ และไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ หนังทั้งสามได้เล่าขานให้ผู้ชมรับรู้ว่า ก่อนได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันผลิบานเช่นในปัจจุบัน ชาวเกาหลีใต้ล้วนต้องดิ้นรนต่อกรกับอำนาจเผด็จการทมิฬ จนถึงขั้นดับดิ้นสิ้นชีวิตกันมาแล้ว

    จุดร่วมอีกประการที่น่าสังเกตคือ ตัวละครเอกของหนังทั้งสามต่างรับบทโดยคนเดียวกัน คือ ซงคังโฮ (송강호) นักแสดงจากจังหวัดคยองซังใต้ ตัวละครจากหนังทั้งสามของเขาถ่ายทอดให้เห็นบรรยากาศทางการเมืองอันเร่าระอุในเกาหลีใต้ช่วงปี 1980 ผ่าน 3 ชีวิต 3 อาชีพ 3 ชนชั้น ของประชาชน ที่อาจนิยามพวกเขาด้วยศัพท์ปัจจุบันได้ว่า ‘อิกนอแรนซ์’ (Ignorance) หรือ “ผู้วางเฉยทางการเมือง”

    ข้อเขียน 3 เรื่องต่อไปนี้จะสำรวจว่า จาก 3 เส้นทางชีวิตตัวละครของซงคังโฮ จะสามารถให้บทเรียนอะไรกับประชาชนผู้อยู่ท่ามกลางบทพิพาทระหว่างอำนาจเผด็จการและประชาธิปไตย ไม่ใช่เพียงในเกาหลีใต้ แต่รวมถึงไทย หรือกระทั่งทุกแห่งหนทั่วโลก

    และหนังลำดับสุดท้ายได้แก่ Memories of Murder


    ตำรวจ : เหยื่อของรัฐเผด็จการ

    ตำรวจมีไว้ทำไม?

    Memories of Murder ได้แรงบันดาลใจจากคดีฆาตกรต่อเนื่องรายแรกของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเกิดขึ้นจริงในจังหวัดคยองกี เมื่อปี 1986 

    ซงคังโฮรับบทเป็น พัคดูมาน นักสืบเลือดร้อนผู้หมายจะจับกุมฆาตกรรายนี้ให้จงได้ไม่ว่าด้วยวิธีการใด กระทั่งการเค้นขู่บังคับให้เด็กไม่สมประกอบยอมรับสารภาพเขาก็พร้อมทำ สะท้อนภาพความจริงแห่งยุคสมัยว่า การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรยังยุ่งเหยิง สะเปะสะปะ ขาดประสิทธิภาพ ใช้สัญชาตญาณมากกว่าใช้หลักตรรกะ ไปจนถึงขาด 'จรรยาบรรณ' เลยก็ว่าได้

    ทว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้เน้นจ้องจับผิดหรือตัดสินการกระทำของตำรวจในฐานะปัจเจกเท่านั้น ในทางกลับกัน หนังพาผู้ชมตั้งคำถามใหญ่ในระดับโครงสร้างสังคมและรัฐเลยทีเดียว


    เส้นเรื่อง ‘ตำรวจจับโจร’ อันเป็นเสมือนแก่นกระดูกหลักของหนัง นอกจากสามารถจำลองเหตุการณ์ในอดีตอันสะเทือนขวัญแล้ว ยังกอบกุมเอาบรรยากาศของยุคสมัยแห่งรัฐอัตตาธิปไตยไว้ด้วย 

    ความโศกสลดและโกรธเคืองของประชาชนจากเหตุสังหารหมู่โดยรัฐบาลทหารที่กวังจูเมื่อปี 1980 ยังคงไม่เลือนหายไป เสียงก่นด่าส่วนใหญ่พุ่งตรงไปที่ประธานาธิบดี พลเอก ชอนดูฮวาน ผู้ขึ้นสู่อำนาจด้วยการรัฐประหาร และมีส่วนสำคัญในการสลายการชุมนุมในกวังจู 

    ตลอด 6 ปีให้หลัง การเดินขบวนประท้วงกระจายตัวไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ นำโดยนักศึกษาผู้เรียกร้องประชาธิปไตย และผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งเพื่อเผด็จการชอนดูฮวานลงจากอำนาจ รัฐบาลจึงต้อนเกณฑ์กำลังตำรวจหลายกองร้อยเพื่อปราบม็อบเยาวชนเหล่านั้นด้วยกระบองและแก๊สน้ำตา การเข้าปะทะกันด้วยกำลังระหว่างสองฝ่ายเกิดขึ้นไม่เว้นวันจนแทบจะเป็นเรื่องปกติ 

    ราวกับว่าหน้าที่หลักของตำรวจคือ 'ผู้พิทักษ์สันติรัฐ' และปราบปรามราษฎรผู้เรียกร้องประชาธิปไตย

    ความพยายามธำรงรักษาอำนาจอันเปราะบางของรัฐบาล ส่งผลกระทบมาถึงชีวิตเล็กๆ ในหมู่บ้านฮวาซอง หญิงสาวถูกข่มขืนและปลิดชีวิตไปคนแล้วคนเล่า ขณะที่บรรดาตำรวจท้องถิ่นกำลังหัวหมุน จนปัญญา อีกทั้งไร้การสนับสนุนจากภาครัฐ เพราะการ ‘ปราบขบถนักศึกษา' ที่เมืองซูวอน ดูจะเร่งด่วนจำเป็นกว่าชีวิตของหญิงสาวบ้านนอกไม่กี่คน 

    เปิดโอกาสให้ภายใต้สายฝนพรำยามค่ำคืนมืดสนิท ฆาตกรโลดแล่นได้อย่างย่ามใจ

    ตำรวจอิกนอแรนซ์ เหยื่อในคราบผู้ล่า

    บงจุนโฮในกองถ่าย Memories of Murder (2003)
    “รู้สึกได้เลยว่าฆาตกรกำลังเย้ยหยันประเทศนี้อยู่” บงจุนโฮ เคยกล่าวไว้ในสารคดีเบื้องหลังการถ่ายทำ เขาออกตัวว่าไม่ได้ชอบอาชีพตำรวจนัก อาจเพราะในวัยเรียนเขาก็เคยเป็นหนึ่งคนในขบวนประท้วงที่เข้าปะทะกับตำรวจเหล่านั้น 

    แต่เมื่อเขาลงพื้นที่หาข้อมูลเพื่อเขียนบทหนังเรื่องนี้ เขาได้เห็น 'อดีตตำรวจ' หลั่งน้ำตา ขณะเล่าความคับแค้นใจในอดีตที่เขาไม่สามารถจับฆาตกรต่อเนื่องรายนั้นได้ หยาดน้ำตาในวันนั้นได้เปลี่ยนทัศนคติของผู้กำกับหนุ่ม 

    เขาได้เห็นแล้วว่าตำรวจไม่ใช่ ‘ผู้ล่า’ ทว่าคือ ‘เหยื่อ’ ของรัฐเผด็จการ


    พัคดูมานและบรรดานักสืบได้แต่วิ่งพล่านเป็นหนูติดจั่นตลอดหนังทั้งเรื่อง เขาคุมขังและทำร้ายผู้ต้องสงสัยให้ยอมรับสารภาพ เขาสร้างหลักฐานปลอม กระทั่งยอมซื้อเครื่องรางจากหมอดู ไปจนถึงเฝ้าเพ่งพินิจขนเพชรของผู้ชายนับไม่ถ้วนคนในโรงอาบน้ำเพื่อหาผู้ต้องสงสัย ทุกการกระทำล้วนสะท้อนความอับจนสิ้นหนทางของตำรวจภูธร ที่แม้จะทุ่มเทพยายามจนแทบจะสิ้นสติสมประดี ท้ายที่สุดฆาตกรยังคงลอยนวล 


    แม้จะน่าเสียดายที่อิกนอแรนซ์อย่างพัคดูมานคงไม่อาจมองเห็นโครงสร้างสังคมเน่าเฟะ ที่กดทับเขาให้ต้องเผชิญเคราะห์กรรม และยังคงตั้งหน้าตั้งทำหน้าที่ตำรวจต่อไป จนต้องพบกับความล้มเหลวที่จะหลอกหลอนเขาไปทั้งชีวิต

    รัฐได้ความมั่นคง แล้วประชาชนได้อะไร?

    “ผมอยากใช้หนังเล่าถึงข้อจำกัดของประเทศชาติและสังคมของเรา โดยถ่ายทอดออกมาผ่านความสูญเสียอันน่าเจ็บปวดของบรรดาตำรวจที่ตามสืบคดีนี้”  บงจุนโฮในวัย 30 กว่าปี เล่าถึงเบื้องหลังแนวคิดของ Memories of Murder ซึ่งเป็นมากกว่าหนังสืบสวนระทึกขวัญ หากคือจดหมายเหตุจารึกความล้มเหลวของรัฐอัตตาธิปไตย 

    รัฐที่เน้นรักษาความมั่นคงของชาติ แต่ไม่อาจปกป้องประชาชนให้พ้นภัย


    ตราบใดที่ตำรวจ ยังคงไม่ตระหนักว่าตนเป็นเหยื่อซึ่งกำลังถูกระบบกลืนกิน พวกเขาก็จะเป็นอาชีพที่ยืนหยัดปกป้องกลุ่มอำนาจภายในระบบนั้น แทนที่จะยืนหยัดเพื่อสวัสดิภาพของประชาชนดังที่ควรจะเป็น

    สุดท้ายแล้วประชาชนผู้บริสุทธิ์ก็จะเป็นได้แค่ 'เหยื่อ' อยู่ร่ำไป

    .

    อ้างอิง


    John B. (Mar 31, 1986). Thousands Protest Rule in South Korea. The Washington Post.

    Seongyong C. (May 23, 2012). A South Korean "Zodiac". RogerEbert.com



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in